
สภาพัฒน์ฯ เผยหนี้ครัวเรือนไตรมาส2/67 ลด – NPLs พุ่ง ห่วงแบงก์คุมเข้มปล่อยกู้ ประชาชนหันพึ่งหนี้นอกระบบ หนุน ‘NIT’ แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ ชี้คนไทยกินเหล้า สูบบุหรี่เพิ่ม 1.3% ขณะที่ ‘ของเถื่อน’ ทะลักกว่า 6 เท่าตัว แนะรัฐส่งเสริมอุตฯ รีไซเคิล รองรับซากแบตเตอรี่รถ EV
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 พบความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การจ้างงานทรงตัว หนี้สินครัวเรือน (ไตรมาส2 ปี 2567) ขยายตัวในอัตราชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่แย่ลง ขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง และการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ได้แก่
-
(1) Negative Income Tax : ระบบภาษีแบบใหม่ ไทยต้องทำอย่างไร?
(2) ซากแบตเตอรี่รถ EV จัดการอย่างไร?
(3) เมื่อต้องฝากชีวิตไว้บนรถสาธารณะ?
รวมทั้งนำเสนอบทความเรื่อง “โรคไตเรื้อรัง : บทเรียนการออกแบบนโยบายของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ”
สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ค่อนข้างทรงตัว โดยการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่อง ด้านค่าจ้างเพิ่มขึ้นทั้งภาพรวม และภาคเอกชน ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยอยู่ที่ร้อยละ 1.02
ไตรมาส 3 ปี 2567 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 0.1 จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.4 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์อุทกภัย ส่วนสาขานอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.4 โดยสาขาการขนส่ง และเก็บสินค้าขยายตัวได้มากที่สุดที่ร้อยละ 14.0 และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ร้อยละ 6.1 ขณะที่สาขาการผลิตหดตัวร้อยละ 1.4 โดยเฉพาะในการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์ ชั่วโมงการทำงานโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังต้องการทำงานเพิ่ม โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 43.3 และ 47.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ โดยผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลงร้อยละ 32.9 และผู้ทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 1.02 หรือ มีผู้ว่างงานจำนวน 4.1 แสนคน
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่
-
1) การส่งเสริมการปรับตัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิม ให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิมไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานทั้งการเลิกจ้าง การลด OT ตลอดจนการใช้มาตรา 75 การสมัครใจลาออก และการเกษียณก่อนกำหนด
2) การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่ง BOI เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ และอาจมีการจ้างแรงงานไทยประมาณ 1.7 แสนคน ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน เพื่อให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการการลงทุนดังกล่าว และ
3) ผลกระทบต่อค่าครองชีพจากสถานการณ์อุทกภัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะพืชระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ควรตรวจสอบ และควบคุมราคา ไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ประสบภัยน้ำท่วม
หนี้ครัวเรือนลด – NPLs พุ่ง ห่วงแบงก์คุมเข้มปล่อยกู้ต้องหันพึ่งหนี้นอกระบบ
ส่วนหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2567 ขยายตัวชะลอลง จากการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการก่อหนี้ เพื่ออุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น ลูกหนี้บ้านที่มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงในการพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน และการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาอุทกภัย
โดยไตรมาสที่ 2 ปี 2567 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับลดลงจากร้อยละ 90.7 ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 89.6 โดยหนี้สินครัวเรือนเกือบทุกประเภทมีการปรับตัวชะลอลง หรือ หดตัว ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งมาจากการมีภาระหนี้ที่สูง ประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อสะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.5 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด มีการหดตัวเป็นครั้งแรก ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPLs) ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรมีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 8.48 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.01 ของไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์
สุขภาพคนไทย-สังคมแย่ลง
สำหรับประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่
-
1) แนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หากครัวเรือนไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้ หรือไม่มีวินัยทางการเงิน จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้
2) ความเสี่ยงจากการต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน จากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว
3) แนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะบ้านที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า รายได้ของครัวเรือนบางกลุ่มยังไม่ฟื้นตัว และสถานะทางการเงินยังตึงตัว จากการเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้านก่อนสินเชื่อประเภทอื่น แม้ว่าบ้านจะถือเป็นสินทรัพย์จำเป็น และ
4) ผลกระทบของอุทกภัยต่อสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งภาครัฐอาจต้องติดตามการเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือของผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงต้องเร่งฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่อให้รายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวโดยเร็ว
การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาส 3 ปี 2567 เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งตับจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เพิ่มขึ้น และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ไตรมาส 3 ปี 2567 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วย ด้วยโรคปอดอักเสบ โรคมือ เท้า ปาก และโรคไข้หวัดใหญ่ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่สถานการณ์สุขภาพจิต พบว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น โดยในด้านสุขภาพมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1) ความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งตับจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เพิ่มขึ้น และ 2) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น และการไม่ใช้ถุงยางอนามัย
คนไทยกินเหล้า-สูบบุหรี่เพิ่ม-ความปลอดภัยในทรัพย์สินลดลง
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ในไตรมาสสาม ปี 2567 เพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การผลิตแอลกอฮอล์ เพื่อการบริโภคที่อาจไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการปราบปรามการลักลอบค้าบุหรี่ผิดกฎหมายผ่านผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.8 ขณะที่การบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1) การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริโภคของประชาชนที่อาจไม่ได้มาตรฐาน ทั้งจากกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะและส่วนผสมจากวัตถุดิบอันตราย ซึ่งสามารถนำไปสู่การเสียชีวิต และ 2) การลักลอบค้าบุหรี่ผิดกฎหมายผ่านผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ซึ่งตรวจสอบได้ยาก อาจเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเด็กและเยาวชน
ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 แย่ลง โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การเฝ้าระวังการบริโภคดอกบัวสีน้ำเงิน การหลอกลวงจากการทำบุญหรือช่วยเหลือทางออนไลน์ และการให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่
ไตรมาส 3 ปี 2567 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นทั้งจากคดียาเสพติด คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ ด้านการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนน มีการรับแจ้งผู้ประสบภัยสะสมรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้บาดเจ็บสะสมและผู้ทุพพลภาพสะสม ขณะที่ผู้เสียชีวิตสะสมลดลง ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่
-
1) การเฝ้าระวังการบริโภคดอกบัวสีน้ำเงิน เนื่องจากอาจกลายเป็นสารเสพติดชนิดใหม่ในไทย โดยในหลายประเทศขึ้นทะเบียนให้พืชชนิดนี้เป็นสารเสพติดผิดกฎหมาย
2) การหลอกลวงจากการทำบุญ หรือ ช่วยเหลือทางออนไลน์ในปี 2566 พบผู้ถูกหลอกลวง โดยอาศัยความสงสาร หรือ ความสัมพันธ์จำนวน 2.65 ล้านคน มูลค่าความเสียหาย 2.3 พันล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้เสียหายถูกหลอกลวงจากการขอรับบริจาคช่วยเหลือ หรือ การระดมเงินการกุศล รวมถึงในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมมิจฉาชีพกระทำการหลอกลวงให้โอนเงินช่วยเหลือผ่าน QR Code หรือ “บัญชีม้า” และการแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหลอกลวงให้ผู้ประสบภัยกรอกข้อมูลลงทะเบียนบนเว็บไซต์/ลิงก์ปลอม เพื่อรับเงินเยียวยา และ
3) การให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ พร้อมทั้งการกำกับดูแลการชักชวนทางโซเชียลมีเดีย จากผลการศึกษาของ DSI ร่วมกับ สกสว. ในปี 2565 พบว่า ผู้เสียหายคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.0 ทราบ หรือ ควรทราบอยู่แล้วว่าเป็นการลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ แต่ยังคงเลือกตัดสินใจลงทุน เนื่องจากได้รับผลตอบแทนสูง นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังระบุว่าถูกชักชวนให้ลงทุนผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือ อินฟลูเอนเซอร์ การร้องเรียนผ่าน สคบ. และสำนักงาน กสทช. เพิ่มขึ้น
‘ของเถื่อน’ ทะลักกว่า 6 เท่าตัว
นอกจากนี้มีประเด็นที่ต้องติดตามเกี่ยวกับการระบาดของสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน มอก. และการรับมือกับอาหารปนเปื้อนสารเคมีอันตรายไตรมาส 3 ปี 2567 การร้องเรียนเกี่ยวกับผู้บริโภคในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 9.1 โดยทั้งการร้องเรียนสินค้า และบริการผ่าน สคบ. และสำนักงาน กสทช. เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 9.3 และ ร้อยละ 4.4 นอกจากนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ
-
1) การระบาดของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมากถึง 3.7 แสนชิ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 6.3 เท่าตัว ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายในระดับที่ยากต่อการรับผิดชอบ และ
2) การรับมือกับอาหารไม่ปลอดภัยที่มีการจำหน่ายในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอาหารกลุ่มผลไม้ที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีอันตราย อาทิ การปนเปื้อนของสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคทเกินค่ามาตรฐานกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของสารพิษตกค้างที่ตรวจพบ ยังเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของไทยที่ยังไม่มีการควบคุมอีกด้วย
หนุน ‘NIT’ แก้จน – ลดเหลื่อมล้ำ
ภาษีเงินได้แบบติดลบ หรือ “NIT” เป็นกลไกให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และเป็นการรวมระบบการหารายได้ และการให้ความช่วยเหลือไว้ในระบบเดียว ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำได้รูปแบบหนึ่ง โดยมีข้อค้นพบจากการนำ NIT มาประยุกต์ใช้ในประเทศต่าง ๆ ดังนี้
1) แต่ละประเทศนำ NIT มาประยุกต์ใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน อาทิ ประเทศออสเตรเลีย นำ NIT มาใช้ในรูปแบบภาษีสำหรับครอบครัว (Family Tax Benefit: FTB) เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อยในการเลี้ยงดูบุตร
2) การกำหนดขนาดของสิทธิประโยชน์/เงินช่วยเหลือกับผู้มีรายได้น้อยที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการลดความยากจนแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร อาทิ โครงการ Earned Income Tax Credit (EITC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เครดิตภาษีคืนตามการมีบุตร ทำให้สัดส่วนคนจนของครัวเรือนที่ไม่สมรส และมีสมาชิกที่เป็นเด็ก 3 คน ลดลงถึงร้อยละ 20.2 ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่สมรส และไม่มีเด็กลดลงเพียงร้อยละ 1.5
3) NIT มีส่วนในการกระตุ้นให้ผู้มีรายได้น้อยทำงาน แต่เงื่อนไขบางประการอาจลดแรงจูงใจในการทำงานเพิ่ม อาทิ กรณี Workfare Income Supplement (WIS) ของประเทศสิงคโปร์ ประเมินคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับ WIS จากรายได้รวมต่อเดือน ซึ่งครอบคลุมถึงค่าล่วงเวลา โบนัส และค่าคอมมิชชั่น จึงส่งผลให้แรงงานส่วนหนึ่งลดการทำงานล่วงเวลาลงจากเดิม
4) เงื่อนไขและระบบที่ซับซ้อนเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงการช่วยเหลือของประชาชน อาทิ เงื่อนไข FTB ของประเทศออสเตรเลีย มีการตรวจสอบทั้งรายได้สุทธิ จำนวนและอายุบุตร ระยะเวลาที่ใช้ในการดูแลบุตร การนำบุตรไปรับวัคซีนตามกำหนด ทำให้ครัวเรือนบางส่วนเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อแม่แยกทางกัน และ
5) ประเทศที่สามารถนำ NIT มาประยุกต์ใช้และยังสามารถดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบต่ำ อาทิ ประเทศสวีเดนที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.3 ขณะที่ประเทศที่เคยนำ NIT มาประยุกต์ใช้ แต่ปัจจุบันยกเลิก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ
ทั้งนี้ แม้การนำ NIT มาปรับใช้จะมีประโยชน์ทั้งกับประชาชนและภาครัฐ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ได้แก่
-
1) การกำหนดวัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ความช่วยเหลือให้มีความชัดเจน บนพื้นฐานบริบทของประเทศไทย
2) การกำหนดเกณฑ์รายได้ และระดับการช่วยเหลือให้มีความเหมาะสม โดยต้องมีการศึกษาเพื่อให้สามารถกำหนดเกณฑ์รายได้ที่สามารถจูงใจให้คนทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่ม รวมถึงต้องมีการทบทวนเกณฑ์เป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ และ
3) การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินการ NIT และศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและภาระทางการคลัง อาทิ การพิจารณายกเลิกบางมาตรการที่มีความซ้ำซ้อนของสวัสดิการ โดยรวมการช่วยเหลือเป็นระบบเดียว ควบคู่ไปกับการดึงผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ให้เข้าระบบภาษี พร้อมกับกำหนดบทลงโทษและบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันแรงจูงใจในการกระทำผิด (Moral hazard)
แนะรัฐส่งเสริมอุตฯรีไซเคิล รองรับซากแบตเตอรี่รถ EV
ประเทศไทยมุ่งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน จึงมีทั้งนโยบายด้านการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตรถ EV ของไทยอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคันต่อปี และมียอดการจดทะเบียนรถ EV ในประเทศ ในปี 2566 โดยเฉพาะรถ BEV เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 16 เท่า ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ ในอีกด้านหนึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาขยะอันตรายที่มาจากแบตเตอรี่ โดยเฉพาะลิเทียมไอออนที่คาดว่า ภายในปี 2583 จะมีซากแบตเตอรี่ประเภทดังกล่าวมากถึง 7.8 ล้านตันต่อปี โดยหากจัดการอย่างไม่ถูกต้องจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่งผลให้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการแบตเตอรี่อย่างถูกต้องและเป็นระบบ คือ
-
1) การกำหนดมาตรฐานการจัดการแบตเตอรี่ เพื่อควบคุมและจัดการซากแบตเตอรี่อย่างครบวงจร อาทิ สหภาพยุโรป (EU) ออกระเบียบว่าด้วยแบตเตอรี่ที่ครอบคลุมวงจรชีวิตของแบตเตอรี่เต็มรูปแบบ รวมทั้งมีการกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำในการรีไซเคิลแบตเตอรี่ และการออกมาตรการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าแบตเตอรี่รถ EV มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการและรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพควบคู่ไปด้วย
2) การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งมีความจำเป็น เนื่องจากธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่รถ EV ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นส่งผลให้ได้ผลกำไรไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อาทิ ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่สามารถนำส่วนประกอบและวัตถุดิบกลับมาใช้ได้ในอัตราที่สูง และ
3) การพัฒนาระบบการติดตามสำหรับการจัดการแบตเตอรี่ เพื่อช่วยสนับสนุนให้มีการรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน supply chain อาทิ ประเทศจีน มีการบังคับใช้นโยบายการติดตามข้อมูลอายุการใช้งานแบตเตอรี่ เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถ EV ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการรีไซเคิล
สำหรับประเทศไทย การกำจัดซากแบตเตอรี่ยังเป็นประเด็นท้าทาย เนื่องจาก 1) การขาดกฎหมายและข้อบังคับที่เฉพาะเจาะจง 2) ปัญหาการขาดแนวทางในการจัดการซากแบตเตอรี่ที่ชัดเจน ส่งผลให้การจัดการซากแบตเตอรี่ยังถูกจัดรวมอยู่ในประเภทขยะอันตรายทั่วไป 3) ปัญหาการขาดการต่อยอดทางเทคโนโลยี ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไทย ต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม คือ
-
1) การศึกษาและกำหนดมาตรฐานการจัดการซากแบตเตอรี่ที่มีความรัดกุม ปลอดภัย และครอบคลุมวงจรชีวิตของแบตเตอรี่ อาทิ การนำหลัก EPR มาปรับใช้เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การมีข้อกำหนดให้ผู้ใช้รถต้องมีส่วนในการรับผิดชอบตั้งแต่ซื้อรถจนเลิกใช้รถ
2) การสนับสนุนและส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การจูงใจให้มีการลงทุน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิล อาทิ มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีด้านการรีไซเคิล การให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน และการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่สำหรับรองรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่ และ
3) การมีระบบติดตามแบตเตอรี่ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการ และรีไซเคิลแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อต้องฝากชีวิตไว้บนรถสาธารณะ?
รถโดยสารสาธารณะ เป็นหนึ่งในรูปแบบของขนส่งมวลชนพื้นฐานสำคัญในการเดินทางของประชาชน โดยในปี 2566 มีอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.5 จากปี 2565 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บรวมกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 105.2 หรือ กล่าวได้ว่าสถานการณ์เริ่มมีความรุนแรง โดยพบประเด็นน่ากังวลที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะไทย อาทิ การมีพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่ดีเป็นสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ข้อมูลจากสำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก ปี 2566 พบว่า อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเกิดขึ้นจากความบกพร่องของผู้ขับขี่มากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 81.1
นอกจากนี้ สภาพการทำงานที่ไม่ดีบนรถโดยสาร ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและสมรรถนะการขับขี่ เนื่องจากต้องปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จำกัดเป็นเวลานานตามสภาพการจราจร ทำให้ผู้ปฏิบัติงานบนรถโดยสารประสบปัญหาทางอารมณ์ และการละเลยต่อความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการปรับปรุงสภาพรถโดยสาร สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่
-
1) รถสาธารณะส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานนาน และมีสภาพทรุดโทรม ยกตัวอย่างสถานการณ์รถโดยสารสาธารณะประจำทางของ ขสมก. ที่ในปี 2567 กว่าร้อยละ 52.6 ของจำนวนรถโดยสาร ขสมก. ยังเป็นรถธรรมดา (สีครีม – แดง) อายุการใช้งานนานถึง 33 ปี และ
2) การดัดแปลงสาระสำคัญของรถที่ไม่ได้มาตรฐาน ยกตัวอย่าง กรณีการติดตั้งก๊าซ CNG ที่ไม่ได้มาตรฐาน อาทิ จำนวนถังก๊าซเกินจากรายการที่จดทะเบียนไว้ ถังก๊าซหมดอายุ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือ ระเบิดรุนแรง
สำหรับการจัดการเกี่ยวกับรถสาธารณะในต่างประเทศ พบว่า มีการบริหารจัดการระบบรถสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีการตรวจสอบพนักงานก่อนขับรถทุกครั้ง และมีการฝึกอบรมขับขี่เชิงรุกเมื่อเกิดเหตุ รวมทั้งมีโปรแกรมฝึกอบรมทัศนคติการขับขี่ และการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ประเทศสิงคโปร์ ภาครัฐได้เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางที่อายุการใช้งานนาน พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกฎหมายการขนส่ง และบทลงโทษเข้มงวด ประเทศกลุ่มภูมิภาคยุโรป ไม่อนุญาตให้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนในรถโดยสารขนาดใหญ่ ทั้งนี้ จากปัญหาของรถสาธารณะไทยและการจัดการในต่างประเทศ นำมาสู่แนวทางสำหรับประเทศไทยได้ ดังนี้
-
1) การพัฒนาคุณภาพของพนักงานขับรถ จัดให้มีการฝึกอบรม การประเมินคุณภาพ และการตรวจสุขภาพร่างกายจิตใจประจำปี
2) การสนับสนุนจากภาครัฐในการปรับปรุงสภาพรถโดยสาร ภาครัฐควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจการขนส่งที่ต้องการเปลี่ยนรถโดยสารหรือการติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้า อีกทั้ง การพัฒนาระบบตรวจสอบสภาพรถให้ทันสมัย และ
3) ความเข้มงวดต่อการบังคับใช้กฎหมายมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสาร และการทบทวนกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากอาจมีการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย อาทิ การดัดแปลงสภาพรถและเครื่องยนต์โดยใช้อาศัยคำว่า “ดุลยพินิจ” ของนายทะเบียน