ThaiPublica > สู่อาเซียน > สถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan เปิดสำนักงานในไทย ยกระดับความสัมพันธ์สู่พันธมิตรอาเซียน

สถาบันบริหารธุรกิจ MIT Sloan เปิดสำนักงานในไทย ยกระดับความสัมพันธ์สู่พันธมิตรอาเซียน

1 พฤศจิกายน 2024


นายเดวิด คาโพดิลูโป ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลกของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน(MIT Sloan School of Management)

สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน(MIT Sloan School of Management) สถาบันด้านการบริหารธุรกิจระดับโลก ได้เลือกประเทศไทยตั้งสำนักงานแห่งที่ 2 นอกประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นายเดวิด คาโพดิลูโป ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลกของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลนได้ให้สัมภาษณ์แบบกลุ่มกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ แนวทางการดำเนินงาน และเป้าหมายของสำนักงานเอ็มไอที สโลน ในประเทศไทย ที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในอีก 2 เดือน

นายเดวิด คาโพดิลูโป มีประสบการณ์ในระดับผู้บริหารมากว่า 40 ปีทั้งในด้านการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า การพัฒนากระบวนการเชิงกลยุทธ์ตลอดจนการขายและการวางแผนการตลาดกับบริษัทด้านการลงทุนชั้นนำ ผลงานอันโดดเด่นครอบคลุมทั้งการเพิ่มประสิทธิกระบวนการทำงาน การจัดการการเปลี่ยนแปลงการบริหารโครงการ และการเป็นผู้นำทีมในภาคบริการทางการเงินและการศึกษาระดับอุดมศึกษา

นายเดวิดเคยดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ และฝ่ายการขายและการตลาดโดยมีหน้าที่รับผิดชอบหลากหลายด้าน อาทิ บริการนายหน้า บริการสำนักงานครอบครัวบริการผู้ถือหุ้นและบัญชีเกษียณแผน 401(k) ตลอดจนการกำกับดูแลการดำเนินการของกองทรัสต์(Trust)

“ผมร่วมงานกับ MIT Sloan School of Management มาร่วม 15 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านั้นทํางานอยู่ทางด้านภาคธุรกิจเอกชนภาคธุรกิจการเงิน ประสบความสําเร็จมีความก้าวหน้าในหน้าที่การเงินมาตลอดและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ได้หันเหมาทำงานในภาคการศึกษา เนื่องจากได้รับการติดต่อจากสถาบัน ซึ่งโอกาสนั้นบางครั้งมันมาหาเราโดยที่เราไม่คาดฝัน” นายเดวิดกล่าว

นายเดวิด เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารหลักสูตรบริหารธุรกิจ และหลักสูตรบริหารการจัดการของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน
ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลกในปัจจุบัน โดยมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือกับหลักสูตรระดับปริญญาโทและสถาบันการศึกษาจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลี ออสเตรเลีย โปรตุเกส อินเดีย รัสเซีย ตุรกี ไต้หวัน ชิลี และบราซิล นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในโครงการ MIT Regional Entrepreneurship Acceleration Program (MIT REAP) และโครงการ Visiting Fellows รวมถึงเป็นผู้ริเริ่มและบริหารสำนักงานสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน ประจำภูมิภาคลาตินอเมริกาในเมืองซานติอาโก ประเทศชิลี

นอกเหนือจากบทบาทในสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน เดวิดยังได้ก่อตั้งบริษัท แอสเพน คอนเซ็ปต์จํากัด (Aspen Concepts, LLC) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในสิ่งแวดล้อมร่วมกับรัฐบาลจีนและบริษัท ไทร์บไฮฟ์ จำกัด (TribeHive, LLC)
ที่มุ่งเน้นพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการฝึกอบรมผู้บริหารและการสรรหาบุคลากร

นายเดวิดบอกว่า การทำงานที่ MIT Sloan School of Management ได้พบคณาจารย์ นักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ ทําให้มีความรู้สึกตื่นตัว แล้วก็มองโลกได้กว้างขึ้น และคิดว่ายังมีสิ่งต่างต่างในโลกอีกมากมายที่ต้องทํา มีปัญหาต่างต่างมากมายที่สามารถแก้ไขได้

นายเดวิดกล่าวอีกว่า มุมมองได้เปลี่ยนไปหลังจากโยกย้ายจากภาคเอกชนภาคการเงินไปสู่ภาคการศึกษา ก็คือ เห็นว่า สิ่งที่ดำเนินการอยู่แล้วนั้นสามารถเปลี่ยนแนวไปทำให้แตกต่างออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในแง่การศึกษา ยกตัวอย่าง หลักสูตร MBA ในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ถ้ายังคงแบบเดิมไว้ก็จะไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ ข้อดีของการศึกษาคือ การได้ลองหลายอย่าง และลองสิ่งใหม่ๆ ซึ่งผู้ที่มีความรู้ความสามารถของ MIT ก็สามารถศึกษาและสร้างสรรค์ขึ้นมาได้

“การมาเปิดสำนักงานแห่งใหม่ในไทย ก็เป็นการทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน และเราก็สามารถพูดได้ว่า เป็นการร่วมกันที่มีประสิทธิผลในด้านการศึกษา มีผลกระทบมากขึ้น” นายเดวิดกล่าว

นายเดวิด กล่าวว่า สำนักงานเอ็มไอที สโลน ในประเทศไทย ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะประเทศไทย แต่ครอบคลุมประเทศในอาเซียน และโดยปกติแล้ว MIT Sloan ไม่ได้เปิดสํานักงานทั่วโลก แต่การเปิดสำนักงานที่ประเทศไทยถือว่าเป็นกรณีพิเศษ และนับเป็นสำนักงานแห่งที่สองนอกสหรัฐอเมริกา สำนักงานแห่งแรกอยู่ในภูมิภาคละตินอเมริกา

“การเลือกประเทศไทยในอาเซียน ตอนแรกเราก็มองหาสักประเทศหนึ่ง และเราพบว่าเรามีศิษย์เก่าในภูมิภาคนี้จำนวนมาก และเราคิดว่าเรามีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น ก็เลยตัดสินใจเริ่มที่นี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้บริจาค ที่สำคัญคือ อยู่ในอาเซียน ซึ่งที่นี่อาจเป็นเหมือนศูนย์(hub) มีสำนักงานย่อยแตกออกไปในภูมิภาค” นายเดวิดกล่าว

อาเซียนมุ่งเดินหน้าขยายอิทธิพลในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการอภิปรายด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านความสามารถในการบริหารจัดการในระดับสากล รวมถึงความแตกต่างทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความท้าทายในการเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืนในภูมิภาค

ทั้งนี้ เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตได้อย่างเต็มที่ การพัฒนาศักยภาพในด้านการบริหารจัดการ และการเปิดรับแนวทางของธุรกิจระดับโลก จึงถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน มีความพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรอันแข็งแกร่งในการส่งเสริมโอกาสนี้ผ่านความร่วมมือระหว่างผู้บริหารและผู้ประกอบการชั้นนำในภูมิภาค รวมไปถึงเครือข่ายศิษย์เก่าและพันธมิตรที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เอ็มไอที สโลนมีความสัมพันธ์กับประเทศไทย และอาเซียนมาหลายปีแล้ว ด้วยความร่วมมือกับผู้บริจาค ศิษย์เก่า และพันธมิตรของ MIT ก็ต้องการที่จะมียกระดับความสัมพันธ์ให้เป็นทางการเพื่อให้ประเทศในเอเชีย รวมถึงกรุงเทพฯ รับรู้ถึงวิธีที่ MIT Sloan จะทำงานเพื่อยกระดับโลกให้ดีขึ้นร่วมกัน” นายเดวิดกล่าว

ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที่ สโลน ได้เคยร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพเพื่อจัดการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคในหัวข้อ ‘Buiiding Resilient Chies for the Future’ ซึ่งมุ่งเน้นด้านการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน โดยการสัมนาครั้งนี้ได้มีการเชิญคณาจารย์จากสถาบันเอ็มไอที และผู้นำในประเทศมาร่วมกันนำเสนอแนวทางเชิงกลยุทธ์ การแสวงหาพันธมิตรร่วม และการเตรียมความพร้อมให้กับผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผ่านการปรับปรุงศูนย์กลางเมืองที่มีอยู่เดิมและเมืองใหม่ทั่วภูมิภาคอาเชียน

นอกจากนี้ยังมีสถาบัน Asia School of Business (ASB) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อตั้งขึ้นด้วยการสนับสนุนจากธนาคารกลางมาเลเซียและสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน โดยมีจุดมุ่งหมายในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับโลกที่ผสมผสานความเชี่ยวชาญและมุมมองเฉพาะของภูมิภาคให้เข้ากับเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยนักศึกษารุ่นแรกของสถาบัน ASB ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561

สำหรับแนวทางในด้านความร่วมมือและการสนับสนุนของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน เพื่อมุ่งผลักดันอนาคตของภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย การผนึกกำลังอันแข็งแกร่ง สู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยโอกาสในการเติบโตและความร่วมมือระหว่างสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน กับผู้บริหารและองค์กรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนนั้นกว้างขวางและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Fund) ทั้งในรูปแบบการสมทบทุนและ/หรือเงินสนับสนุนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางด้านวิชาการและการวิจัยในภูมิภาค รวมถึงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคอาเซียนที่สนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในระยะยาวของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลนต่อภูมิภาคนี้ มากไปกว่านั้น ยังช่วยให้สถาบันสามารถสร้างการยอมรับและเป็นศูนย์กลางในการผนึกกำลังของสมาชิก พร้อมสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้นายเดวิดกล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมาย คือ การให้คณาจารย์ของ MIT ทำงานร่วมกับอาจารย์ นักการศึกษา และผู้มีความรู้ความสามารถ ในภูมิภาคอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“บางด้านเราเริ่มดําเนินการที่จะทํางานไปเรียบร้อยแล้ว อย่างเช่น การปรับสภาพเมืองให้เป็นเมืองที่มีความยั่งยืน(sustainable city) ด้านพลังงาน ด้านน้ํา เรื่องเฮลธ์แคร์ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งมีความสำคัญ และการวิเคราะห์ข้อมูล( data analytics) และการที่เรามาตั้งสํานักงานในอาเซียน เราเชื่อว่าจะมีการพัฒนางานของเราให้ได้เร็ว และก็จะได้มีโอกาสได้เห็นถึงช่องทางโอกาสใหม่ๆ ในการขยายการพัฒนาความริเริ่ม ความร่วมมือกับหลายหน่วยงานซึ่งอาจจะยังไม่รู้จักเราอีกเท่าที่ควร”

นอกจากนี้ยังเห็นว่าการดำเนินการด้านการศึกษาในภูมิภาคที่บางภาคส่วนอาจจะเข้าถึงได้ยาก เช่น ในภาคส่วนของผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ก็ให้การสนับสนุนในการเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อพัฒนาความคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรม ชี้แนะถึงความยั่งยืนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านการออกแบบ แนวทางในการเข้าตลาด และการเข้าสู่เวทีระดับโลกให้ประสบความสําเร็จ

นายเดวิด กล่าวว่า เคยมีคำกล่าวว่าวินัยสร้างผู้นำ การที่ผู้นำจะนำได้ดีนั้น ต้องมีแนวทางการสร้างผู้นำที่ดี โดยในวิถีของ MIT นั้น มาจากหนึ่งในปรัชญาที่สําคัญมาก ของ MIT คือ วลีที่ว่า mens et manus ในภาษาลาติน หรือ Mind and Hand ในภาษาอังกฤษ หมายถึงการนำความรู้ในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ เรียนดีแล้วก็ต้องนำไปในได้จริงนอกห้องเรียน นอกสถาบัน เพื่อให้เกิดผล

“เพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างเราต้องการทํางานร่วมกับทุกภาคส่วน พันธมิตรทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ที่ปรึกษา ผู้ประกอบการ ไปจนถึงนักลงทุนเราต้องการทํางานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เราเชื่อว่าจะประสบผลสําเร็จในวงกว้างมากขึ้น เมื่อได้ทุกภาคส่วนมาร่วมกัน” นายเดวิดกล่าว

นายเดวิดกล่าวว่า ประเด็นสำคัญของภารกิจของสำนักงาน คือ ต้องเข้ามาทําศึกษาว่าประเด็นเรื่องที่สําคัญของภูมิภาคอาเซียน ประเด็นเฉพาะของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน เรื่องที่เป็นประเด็นร่วมกันของภูมิภาค เพื่อให้คณาจารย์ของ MIT รวมทั้งนักศึกษา สามารถประเมินแนวทางการทำงานและลงมือปฏิบัติได้ในพื้นที่จริง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิยัติตามปกติของ MIT

นอกจากนี้ส่วนหนึ่งของพันธกิจของ MIT Sloan คือ การทำให้โลกดีขึ้น ซึ่งทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมีการทำงานร่วมกัน และไม่เชื่อว่าการทำงานอยู่ในที่ตั้งของสถาบันคือ เคมบริดจ์ รัฐแมสซาซูเส็ท โดยไม่มาพื้นที่จริงจะช่วยแก้ไขปัญหาในภูมิภาคนี้ได้

นายเดวิดยกตัวอย่าง การจัดงานเสวนาที่มีขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม ภายใต้หัวข้อ Beyond Years: The Future of Longevity การมีอายุยืนยาวและการมีสุขภาพดีว่า การที่เลือกประเด็นนี้มาเสวนา เพราะเป็นประเด็นร่วมของทุกคน การมีอายุยืนยาวอย่างเดียวคงไม่พอก็ต้องมีสุขภาพดีด้วย แล้วก็มีองค์ประกอบอื่นอื่นอีกมากมายในชีวิตของเราที่ต้องคํานึงถึง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่ต้องการ และมีความสุข

สำหรับความคิดริเริ่มและภารกิจของ MIT นายเดวิดกล่าว คือ การทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น มีคนที่ต้องการที่จะตั้งบริษัทของตัวเอง ก็ต้องคิดว่าจะต้องทำอะไรและอย่างไร เป้าหมายคืออะไร? จะหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนได้อย่างไร และจะประกอบธุรกิจให้มีความเจริญเติบโต สามารถเปลี่ยนจากผู้ประกอบการไปสู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมไปจนถึงเป็นผู้ที่มีความยอดเยี่ยมในด้านการเงิน ใช้อัลกอริธึมใหม่ ใช้การวิเคราะห์ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น มลพิษทางน้ำ การเป็นหน่วยงานภาครัฐ ครอบคลุมทุกคน

“เราเห็นว่าการศึกษาควรเป็นของทุกคน พร้อมกับปัญหาที่เราพยายามจะแก้ไข และการเป็นตัวแทนของประเทศในภูมิภาคเอเชียก็จะช่วยเราเช่นกัน เราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ดังนั้นจึงเป็นความพยายามร่วมกัน” เดวิดกล่าว

อย่างไรก็ตามมีคำถามเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในภูมิภาคแก่ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดย MIT ซึ่งก่อตั้งมานานและเป็นที่รู้จักกันดี ว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนก็ค่อนข้างแพงสำหรับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มาจากภูมิภาคนี้ MIT จะมีแผนการที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยให้มีการเข้าถึงการศึกษาได้เพิ่มขึ้นหรือไม่

นายเดวิดกล่าวว่า สิ่งที่ทำได้คือ การใช้การเรียนการสอนแบบ Hybrid โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย ดังนั้นจึงไม่ใช่การเรียนในห้องเรียนเท่านั้น โดยแนวคิดหนึ่งคือ ใช้การเรียนการสอนโมเดลแบบ hybrid กับการเรียนออนไลน์ เพื่อเปิดให้คนที่พอจะจ่ายได้เข้าถึงการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนจากบริษัท ผู้บริจาค ผู้สนับสนุนที่เห็นว่าควรลงทุนเพื่อให้โอกาสแก่ผู้คน ซึ่งก็ต้องพิจารณาแนวทางต่างๆกัน

สำหรับแผนงานของสำนักงาน MIT ในไทยได้จัดลำดับความสำคัญไว้อย่างไรว่าจะทำอะไรก่อนหรือหลัง และจะทำการศึกษาวิจัยอะไรบ้างในแต่ละปีส่วนที่อาเซียนมีปัญหาหรืออุปสรรคอยู่

นายเดวิดกล่าวว่า แผนงานของสำนักงาน MIT ในไทยมีด้วยกัน 3 ส่วน ส่วนแรกประกอบด้วย การศึกษาวิจัย(research) การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติของนักศึกษา(Action Learning) และกลยุทธ์องค์กร(strategy) เช่น การจัดเสวนา

ในส่วนงานวิจัยงานวิจัยของสถาบันนั้น คณาจารย์จากสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน กำลังดำเนินการจัดทำงานวิจัยอันล้ำสมัยในภูมิภาคอาเซียน โดยงานวิจัยของ จอห์น อี. เฟร์นันเดซ (John E. Fernandez) ศาสตราจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม และผู้อำนวยการกลุ่มเกษตรในเมืองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเมือง (Urban Metabolism) และมิโฮ เมซเซอเรียว (Miho Mazereeuw) รองศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรม และผังเมืองและผู้ก่อตั้งโครงการ Urban Risk Lab ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประชุม “Building Resilient Cities for the Future”

โครงการ ”Building Resilient Cities for Future to Thailand” ของรองศาสตราจารย์มิโฮ เมซเซอเรียว มุ่งเน้นด้านการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายที่สุดของการพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบัน ผ่านการค้นหานวัตกรรมในด้านเทคโนโลยี เทคนิค วัสดุ กระบวนการ และระบบต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด ยังได้พัฒนาระบบให้สามารถติดตามความพร้อมของวัคซีนได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน โครงการ “The Urban Metabolism of Bangkok, the EEC and Korat” ของศาสตราจารย์จอห์น อี. เฟร์นันเดซ ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างเครื่องมือวิเคราะห์และกระตุ้นความสนใจให้เกิดการขับเคลื่อนในสังคมไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างอนาคตเมืองที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

โครงการวิจัยเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Fund) โดยหากได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม จะยิ่งช่วยเปิดโอกาสให้คณาจารย์จากสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน สามารถขยายหัวข้องานวิจัยไปยังประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคอาเซียนได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนทางด้าน Action Learning นั้น โครงการ MIT Sloan Action Learning ออกแบบมาเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรในภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และองค์กรต่างๆ โดยโครงการเหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน นำความรู้ ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ พร้อมให้คำปรึกษาแก่บริษัทขนาดเล็กถึงขนาดกลางในภูมิภาค ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเศรษฐกิจอาเซียน และยังช่วยให้เหล่าพันธมิตรได้เข้าใจทฤษฎีการจัดการ แนวทาง และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอนของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โครงการ MIT Sloan Action Leaning ได้ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ในหลากหลายหัวข้อมากกว่า 600 โครงการ ครอบคลุม 5 ระดับหลักสูตรการศึกษา และได้ร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในประเทศกัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ไทย และเวียดนาม

ส่วนที่สอง จะมีการจัดตั้งสภาคณะที่ปรึกษา(Advisory Council)ที่มีสมาชิก 6 คน โดยเป็นตัวแทนจากผู้มีส่วนได้ส่วน ผู้บริจาคเงินสนับสนุนสถาบัน และศิษย์เก่า ซึ่งสภาคณะที่ปรึกษาจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจว่าจะจัดลำดับความสำคัญของงานให้กับทรัพยากรที่มี ประเด็นสำคัญของแต่ละประเทศคืออะไร และจะใช้ทรัพยากรอย่างไร

ส่วนที่ 3 คือศิษย์เก่าของสถาบัน ที่มีสมาคมศิษย์เก่า MIT ในไทย ซึ่งสำนักงานจะทำงานร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า “เป้าหมายสูงสุดคือสิ่งต่างๆ ควรที่จะเกิดขึ้นเองตามครรลอง แทนที่จะผ่านสำนักงานเพียงแห่งเดียว”

สถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน ได้มีหลักสูตร Thailand Summer Lab เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศิษย์เก่า เพื่อมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน ได้รับประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงใช้เพื่อสนับสนุนโครงการในอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ธุรกิจบริการอาหาร ธุรกิจผู้ประกอบการ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยหลักสูตรนี้จะประกอบไปด้วยนักศึกษาจากหลากหลายหลักสูตรปริญญาของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน และนักศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนโครงการได้มีรายงานว่าผู้เข้าร่วมโครงการได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานอย่างดีเยี่ยม เห็นได้จากการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก รวมถึงการมอบข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและแสดงขอบเขตที่ชัดเจนของการดำเนินงานในโครงการ

สำหรับประเด็นที่อ่อนไหวหรือที่ควรพัฒนามากที่สุดในอาเซียน นายเดวิดกล่าวว่า คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้านน้ำ ระบบชลประทานเพื่อการเกษตร และการจัดการอุทกภัย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำนักงานมองว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ รองลงมาคือด้านพลังงาน การใช้พลังงาน และเฮลธ์แคร์

“มันจะดีไม่น้อยในภูมิภาคอาเซียน หากเราคิดหาวิธีที่จะช่วยแก้ไขได้ ซึ่งก็จะกลายเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ” นายเดวิดกล่าวปิดท้าย