ThaiPublica > คอลัมน์ > ลีกวนยู เซย์ โน ทู กาสิโน

ลีกวนยู เซย์ โน ทู กาสิโน

13 พฤศจิกายน 2024


ธนากร คมกฤส

Integrated Resort ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons

กาสิโนซีรีส์ตอนที่แล้ว(จากบ่อน 1.0 ถึงกาสิโน 5.0) ได้พูดถึงวิวัฒนาการของบ่อนพนันในบ้านเรา

จากยุค 1.0 “ยุคบ่อนบ้าน” ที่มีมาแต่อดีตกาล

มายุค 2.0 “ยุคบ่อนเบี้ย” ที่ยาวนานจากสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

มาถึงยุค 3.0 “ยุคของการปิดบ่อน” ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 ที่ต้องใช้เวลานานร่วม 30 ปี กว่าจะปิดบ่อนเบี้ยได้ทั่วราชอาณาจักร

และมาถึงยุค 4.0 “ยุคของกาสิโนโดยรัฐบาล” หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ในปี พ.ศ.2475 ที่นำมาสู่การออกพ.ร.บ.การพนันในปี พ.ศ.2478 และนำมาสู่การทดลองเปิดกาสิโน 11 แห่งทั่วประเทศในปี 2481 ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จ แต่กลับมาเปิดจริงจังในอีก 7 ปีต่อมาในปี 2488 ที่ปราณบุรี ที่เปิดได้เพียง 82 วันก็ต้องปิดตัวลง เพราะ “เอาไม่อยู่”กับปัญหาสังคมที่เกิดตามมา

ก้าวสู่ยุค 5.0 “ยุคกาสิโนโดยกลุ่มทุน” กรณีศึกษาที่ทั่วโลกยอมรับมากที่สุด คือ “สิงคโปร์”

มีเรื่องเล่าพาดพิงถึงชีวิตของบุคคล 2 คน คนแรกคือ “ลีกวนยู” แห่งสิงคโปร์ คนที่สอง คือ “สแตนลีย์ โฮ” แห่งมาเก๊า คนหนึ่งคือผู้นำประเทศ คนหนึ่งคือเจ้าพ่อกาสิโน คนหนึ่งปฏิเสธกาสิโน คนหนึ่งร่ำรวยเพราะกาสิโน ทั้งคู่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ต่างกันเพียง 2 ปี

สแตนลีย์ โฮ เกิดก่อนเมื่อปี พ.ศ.2464 ที่ฮ่องกงในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกจากภาวะสงครามโลก ทำให้ครอบครัวเขาได้รับผลกระทบ โฮไม่ทันได้เรียนจบมหาวิทยาลัยก็ต้องเลิกเรียน ชีวิตต้องระหกระเหิน จนต้องลี้ภัยมาทำมาค้าขายอยู่ที่มาเก๊า

อายุ 27 ปี โฮได้แต่งงานกับลูกสาวของทนายความใหญ่ในมาเก๊าที่มีสายสัมพันธ์กับเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส 10 ปีต่อมาพ่อตาได้ใช้เส้นสายช่วยให้โฮได้สัมปาทานกาสิโนในมาเก๊า เป็นสัมปทานผูกขาดที่ยาวนานถึง 40 ปี สแตนลีย์ โฮ จึงเป็นเจ้าพ่อกาสิโนในมาเก๊ามาจนถึงปี 2002 จนหมดอายุสัมปทาน เขาเป็นเจ้าของกาสิโนถึง 19 แห่ง

การได้รับสัมปทานคือจุดสำคัญที่ทำให้โฮกลายเป็นมหาเศรษฐีขึ้นมา

จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ โฮกล่าวว่า “ผมไม่เล่นพนัน” และเตือนด้วยว่า “อย่าหวังรวยจากการพนัน มันเป็นแค่เกมเท่านั้น”

โฮจึงเหมือนคนปลูกผักที่ไม่กินผักที่ตัวเองปลูก เพราะรู้ดีว่ามันมีสารพิษ

ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจกาสิโน ทำให้โฮมองหาลู่ทางขยายอาณาจักรธุรกิจของตนเอง และพบที่หนึ่งที่น่าสนใจ เป็นประเทศเกิดใหม่ที่เพิ่งได้รับเอกราชและกำลังสร้างชาติ นั่นคือ สิงคโปร์ ที่มีผู้นำชื่อ “ลีกวนยู”

วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรท์ เขียนถึงเรื่องราวการสร้างชาติสิงคโปร์ของลีกวนยูในหนังสือ “สร้างชาติจากศูนย์” ว่า

ปี พ.ศ.2508 เกาะสิงคโปร์ถูกมาเลเซียปฎิเสธ “ไม่ให้ไปต่อ” ไม่รับสิงคโปร์เป็นรัฐหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียอีกต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ลีกวนยู ที่ขณะนั้นอยู่ในวัยเพียง 35 ปี และเพิ่งชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้บริหารรัฐสิงคโปร์ได้เพียง 2 ปีคาดไม่ถึงว่าจะถูกมาเลเซียตัดขาด เป็นเอกราชที่ไม่ได้ปรารถนา เพราะสิงคโปร์เป็นเพียงเกาะเล็ก ๆ เป็นเพียงเมืองท่าที่เต็มไปด้วยชาวจีนอพยพกับยุง

ณ เวลานั้น ลีกวนยู กล่าวว่า “สิงคโปร์ไม่ควรจะดำรงอยู่ เราไม่มีฐาน ไม่มีพื้นที่ ไม่มีเงินทุน ไม่มีวัตถุดิบอะไรเลยที่จะสร้างประเทศ” สิงคโปร์มีแต่ความเป็นเมืองท่าและมีคน

ในอดีตสมัยเป็นอาณานิคมอังกฤษ สิงคโปร์เต็มไปด้วยชาวจีนอพยพ และแน่นอนเต็มไปด้วยการเล่นพนัน

3 ปีหลังจากเป็นเอกราช ลีกวนยูประกาศให้การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

วินทร์ เรียววาริณ เล่าว่า “ลีกวนยูมองเห็นหายนะของการพนันมาตั้งแต่เด็ก พ่อของเขาติดพนัน และขอเครื่องทองของแม่ไปจำนำเพื่อเล่นการพนัน ลีกวนยูจึงไม่เคยเล่นการพนัน และต่อต้านเรื่องนี้”

ลีกวนยู จึงปฏิเสธข้อเสนอขอสร้างกาสิโนในสิงคโปร์ของสแตนลีย์ โฮ อย่างไม่สนใจใยดี และประกาศว่า “ขอสร้างชาติด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และจะไม่ขอพึ่งเงินจากการพนัน”

สิงคโปร์เองในสมัยนั้นน่าจะไม่ต่างจากมาเก๊า ตรงที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากเป็นเมืองท่า หรืออาจจะไม่ต่างจากสปป.ลาวหรือกัมพูชา ที่บอบช้ำกับสงครามคอมมิวนิสต์

เพียงแต่ ลีกวนยู ไม่เลือกง้อเงินพนัน ขณะที่ผู้ปกครองมาเก๊า ลาว และกัมพูชาคิดต่างออกไป

ลีกวนยู ตั้งใจจะทำให้สิงคโปร์เป็น “First World Oasis” เป็นจุดแวะพักจุดแรกของชาวตะวันตกที่เดินทางมาทวีปเอเซีย

ไม่น่าเชื่อว่า เพียง 8 ปีหลังจากได้รับเอกราชที่คาดไม่ถึง ลีกวนยู และชาวสิงคโปร์ทำงานอย่างหนัก เพื่อพัฒนาตัวเองเป็นเมืองท่าปลอดภาษี เป็นศูนย์กลางการบินและการเดินเรือ เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า และเป็นศูนย์กลางการเงิน

ความสำเร็จของสิงคโปร์ นอกจากการทำงานหนักแล้วก็คือ

  • การมุ่งสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ดี เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
  • การบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาด ไม่มีสองมาตรฐาน
  • การปราบคอรัปชั่นอย่างจริงจัง
  • และการให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” เพราะทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียวที่สิงคโปร์มีคือ “คน”
  • การพยายามสร้างตัวเองให้เป็น “First World Oasis” ทำให้สิงคโปร์พยายามสร้างจุดดึงดูด นักท่องเที่ยวด้วยโปรเจคมากมาย ถมทะเลเพื่อสร้างสนามบิน ถมทะเลเพื่อสร้างอ่าว ปลูกต้นไม้ทั้งเกาะให้เป็น “อุทยานนคร” และสร้างเมืองให้สะอาดและปลอดภัย สิงคโปร์จึงเต็มไปด้วย “ข้อห้ามและค่าปรับ” จนถูกกระแนะกระแหนว่า “Singapore is Fine country”

    จวบจนปลายทศวรรษ 1990 เมื่อทำทุกอย่างจนแทบไม่เหลืออะไรให้ทำอีกแล้ว จนประเทศมีระบบที่มีประสิทธิภาพและสะอาดมากจนเป็นที่เลื่องลือ สิงคโปร์จึงยอมรับข้อเสนอเรื่องการเปิด “Integrated Resort” หรือรีสอร์ตแบบบูรณาการที่รวมเอากิจการหลาย ๆ อย่างไว้ด้วยกัน รวมทั้งกาสิโน

    แต่นั่นไม่ใช่ในสมัยของลีกวนยู เป็นยุคของผู้นำรุ่นที่ 3 ที่มีชื่อว่า “ลีเซียนลุง” บุตรชายของเขาเอง ซึ่งลีกวนยู ก็ยังคงไม่เห็นด้วยกับการหวังเงินจากการพนันเช่นเคย

    สิ่งที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลีกวนยู ยอมให้ลูกชายที่เป็นนายกรัฐมนตรีเปิดกาสิโน คือ งานวิจัย

    เพราะใช่ว่าชาวสิงคโปร์ทั้งหมดจะเห็นด้วยกับโปรเจคนี้ ถึงขนาดฝ่ายคัดค้านกดดันให้ ลีเซียนลุง จัดทำประชามติ แต่เขาปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่เรื่องความอยู่รอดของประเทศ แต่ลีเซียนลุงเลือกให้ทำวิจัยแทน

    เขามอบให้นักวิจัยที่เป็นกลางและมีฝีมือที่น่าเชื่อถือทั้งจากสถาบันในประเทศและนอกประเทศรับงานวิจัยนี้ โดยให้ศึกษาอย่างละเอียดทุกด้านทั้งผลดีผลเสีย

    ทีมวิจัยใช้เวลาศึกษาถึง 10 ปี และพบว่ากาสิโนจะสร้างรายได้ให้สิงคโปร์เพียง 3% ของรายได้จากภาษี แต่ที่น่าสนใจคือ Integrated Resort ที่จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 50% เพราะอยากจะมาดูตึก Marina Bay Sand ที่จะสร้างเป็นรูปเรือสำปั้นขนาดใหญ่ อยากมาดูสวนน้ำขนาดยักษ์ที่จะอยู่บนดาดฟ้า หรืออยากจะมาเที่ยวสวนสนุก Universal Studio ที่จะสร้างที่เซนโตซา

    ลีกวนยู จึงไม่ได้สนใจที่กาสิโนเป็นหลัก แต่สนใจที่ Integrated Resort มากกว่า เพราะกาสิโนมีสัดส่วนเพียง 2% ของพื้นที่ทั้งหมด อีก 98% ที่เหลือ คือ โรงแรม 5 ดาว ห้างสรรพสินค้าระดับหรู ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ สวนสนุกชื่อดัง และสวนพฤกษศาสตร์

    ลีกวนยูให้เหตุผลว่า “การเป็น First World Oasis เริ่มไม่พอแล้วในศตวรรษใหม่ สิงคโปร์เริ่มขาดแรงดึงดูดสำหรับชาวต่างชาติ เพื่อที่จะอยู่รอดสิงคโปร์ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นเมืองที่มีสีสัน ต้องสร้างจุดขายใหม่”

    แต่ลี กวนยู ก็กำชับอย่างแข็งขันกับรัฐบาลที่ลูกชายของตนเป็นผู้นำว่า “ต้องควบคุมผลกระทบทางสังคมให้ได้” (Limit the social-fallout) ซึ่งเขาเชื่อว่าสิงคโปร์ทำได้

    สิงคโปร์ใช้เวลาอีก 5 ปีในการเตรียมการรับมือกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดตามมา โดยตั้งหน่วยงานขึ้น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่ 1 ฝ่ายกำกับกิจการกาสิโน ที่ชื่อว่า Casino Regulator Authority หรือ CRA ฝ่ายที่ 2 คือ ฝ่ายดูแลป้องกันปัญหาและผลกระทบ ที่ชื่อว่า National Council on Problem Gambling หรือ NCPG รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาและเยียวยาผู้ประสบปัญหาจากการพนัน ที่เรียกว่า NAHM

    นี่คือต้นแบบของกาสิโนยุค 5.0 ที่น่าสนใจที่สุดและประสบปัญหาน้อยที่สุด

    นี่คือการรับมืออย่างรัดกุมตามสไตล์ของสิงคโปร์ ที่น่าจะเรียกได้ว่า อยู่ในระดับความเชื่อมั่นสูงสุด

    คำถามคือ “ที่อื่นสามารถทำถึงแบบสิงคโปร์หรือไม่?” เพราะถ้าทำไม่ถึง ปัญหาเกิดขึ้นมากมายแน่นอน

    ข่าวจากทั่วทุกสารทิศทั่วโลกต่างรายงานถึงผลกระทบจากการมีกาสิโน

    ที่สหรัฐอเมริกา การเปิดกาสิโนมากมายที่เมืองแอตแลนติกซิตี้ มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ตามรอยของลาสเวกัส ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในปีเดียว และปัจจุบันกาสิโนหลายแห่งทะยอยปิดตัวลง

    ที่มาเก๊า เมื่อมีการเปิดกาสิโนเพิ่มขึ้นจาก 19 แห่งในยุคสแตนลีย์ โฮ ขยายเป็น 35 แห่งในยุคหลัง กาสิโนนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาประชากรแออัด ปัญหาจราจร มลพิษทางอากาศ เงินเฟ้อพุ่ง ค่าครองชีพและมูลค่าอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้น ยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในสังคมตามมา สำนักงานตำรวจของมาเก๊า เปิดเผยว่าอาชญากรรมเกี่ยวกับการพนัน เพิ่มขึ้นถึง 37.8% ในช่วงเวลาเพียง 3 ปี
    ที่สปป.ลาว รัฐบาลมีกฎหมายห้ามไม่ให้คนลาวเข้าเล่นการพนันในกาสิโนเด็ดขาด แต่การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ ทำให้กาสิโนตามตะเข็บชายแดนรอบประเทศกลายเป็นสถานที่คุ้นเคยของประชาชนลาว ที่ “คิงส์โรมัน” สถานกาสิโนชื่อดัง พบว่านักพนันกว่า 60% ที่เข้าไปเล่นเป็นนักพนันชาวลาว เช่นเดียวกับที่กัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาไม่อนุญาตให้คนกัมพูชาเข้ากาสิโน แต่พบว่าคนกัมพูชาในท้องถิ่นที่กาสิโนตั้งอยู่ต่างกรูกันเข้าไปเล่น

    นี่คือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ กับมาเก๊า สปป.ลาว กัมพูชา รวมถึงสหรัฐอเมริกา

    กาสิโนในยุค 5.0 จึงเป็นความท้าทายของผู้บริหารประเทศว่า จะสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ กับความสงบสุขทางสังคมได้อย่างไร?