ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จินต์ อโณทัย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ช่วงเดือนกันยายนจนถึงต้นเดือนตุลาคม 2567 มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่พร้อมขี้โคลนมหาศาลในหลายจังหวัดของประเทศไทย การท่วมครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากน้ำป่าที่ไหลบ่ามาจากบนภูเขาหัวโล้นและชะเอาดินเลนมาด้วย ไม่เหมือนกับน้ำท่วมที่ราบลุ่มเจ้าพระยาที่มีน้ำหลากจากด้านบนไหลลงมาจนเอ่อนองเป็นวงกว้างบนพื้นที่ราบน้ำท่วม (flood plain) แบบอภิมหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ซึ่งแน่นอนที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกและน่าจะถี่ขึ้นด้วย ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรที่จะต้องเตรียมการไว้แต่เนิ่น ๆ และนี่เป็นสิ่งที่จะขอพูดถึงในวันนี้
การท่วมอย่างหลังนี้เกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำมหาศาลที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ นั่นหมายถึงว่าจะมีบ้านเรือนของประชาชนบางแห่งที่อยู่ไกลจากชุมชนมาก ๆ รวมอยู่ด้วย การเข้าถึงกลุ่มบ้านพวกนี้เพื่อนำความช่วยเหลือไปให้ย่อมลำบากกว่ากรณีบ้านน้ำท่วมในเขตเมือง
สิ่งที่เป็นปัญหามากและด่วนที่สุดคือการดำรงชีวิตในช่วงนั้น คือเรื่องอาหารและน้ำจะเอามาจากไหน
ส่วนเรื่องไฟฟ้าเป็นปัญหารองเพราะชาวบ้านยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามสมควร สำหรับอาหารหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือควรให้เป็นอาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้กินได้หลายวัน แต่เรื่องน้ำกินถ้าเอาเข้าไปช่วยก็มักนำไปเป็นขวดพลาสติกซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาเมื่อกินเสร็จ คือคงต้องทิ้งลงไปในน้ำ อันทำให้เกิดการอุดตันของระบบระบายน้ำออกจากพื้นที่ หรือปริมาณน้ำที่ส่งไปช่วยนั้นไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตเป็นเวลาหลาย ๆ วันก่อนที่ความช่วยเหลือครั้งต่อไปจะมาถึง
เราได้รับทุนจากสภาวิศวกร ให้มาคิดชุดผลิดน้ำดื่มกินเองขึ้นมาเมื่อปี 2552 (ดังรูป) ก่อนท่วมใหญ่ปี 2554 เสียอีก ครั้งนั้นเรามีจุดประสงค์ให้ชาวบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างในภาวะวิกฤติ สามารถผลิตน้ำกินขึ้นได้เองอย่างง่าย ๆ โดยใช้น้ำที่ท่วมอยู่หน้าบ้านนั้นเป็นแหล่งน้ำดิบที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ในถังแกลลอนมีแคปซูลที่บรรจุสารเคมีต่าง ๆ ที่เราเตรียมไว้ให้ มีทั้งสารฆ่าเชื้อโรค สารทำให้ตกตะกอน ทำให้น้ำใสน่ากิน มีสารปรับความเป็นกรดด่างที่จะทำให้ปฏิกิริยาเกิดขึ้นได้สมบูรณ์อยู่อย่างเพียบพร้อม ตลอดจนมีคู่มือการใช้อย่างง่ายมาให้ด้วย (ดูรูป)
เมื่อทำชุดผลิตน้ำดื่มเองได้แล้ว เราก็ได้มีการลงพื้นที่ ทดสอบให้ชาวบ้านลองผลิตน้ำด้วยตัวเอง ผลที่ได้ไม่ต่างกับที่ทีมวิจัยทำ คือ ใส ไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะดื่มกิน (ดูรูป) และที่สำคัญคือปราศจากเชื้อโรคด้วย โดยมีผลวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการยืนยัน
เราได้คำนวณว่าชุดผลิดน้ำดื่มเองนี้สามารถผลิตน้ำดื่มให้สำหรับบ้านที่มีคน 3-5 คน ได้มีน้ำกินได้นานถึง 5-7 วัน ซึ่งน่าจะเป็นเวลานานเกินพอในการที่จะให้ภาคราชการ ภาคธุรกิจเอกชนทำเป็น CSR หรือแม้กระทั่งภาคประชาสังคมจะได้เวียนกลับเข้าไปให้ความช่วยเหลือครั้งต่อไป
ส่วนในการช่วยเหลือในภาคสนามจริง ภาครัฐอาจใช้เรือไปส่งชุดผลิตน้ำดื่มนี้พร้อมกับอาหารแห้ง ส่วนถ้าเป็นพื้นที่ที่มีการกระจายตัวของบ้านเรือนไปมากการเอาเรือเข้าไม่สะดวกก็อาจใช้เฮลิคอปเตอร์ไปโปรยทั้งอาหารแห้งและชุดผลิตน้ำดื่มทำเองที่มีข้อดีอีกข้อคือมีน้ำหนักเบามากและลอยน้ำได้ ให้ลงตามตำแหน่งบ้านดังที่เคยได้ทำกันมาอย่างได้ผลในช่วงอภิมหาน้ำท่วม 2554 ครั้งนั้น
ขอออกตัวก่อนว่า สิ่งที่นำเสนอนี้ไม่ใช่เป็นคำตอบเบ็ดเสร็จ เพราะหากเป็นชุมชนที่อยู่กลางเมืองความช่วยเหลือเข้าไปถึงง่าย ชุดผลิดน้ำดื่มเองนี้ก็ไม่ใช่คำตอบ แต่ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านั้นชุดผลิตน้ำกินเองนี้จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ได้
ขอความฝากความคิดและสิ่งประดิษฐ์นี้ไว้ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องที่จะพิจารณานำไปใช้ในการวางแผนและเตรียมการ
หมายเหตุ : ผู้ใด บริษัทใด หรือหน่วยงานใดสนใจอยากได้ข้อมูลเชิงลึก เช่น ปริมาณสารเคมีที่ต้องใช้ หาซื้อได้จากที่ใด จะนำไปบรรจุในแคปซูลได้อย่างไร ติดต่อได้ที่ [email protected]
ขอขอบคุณสภาวิศวกรที่ได้ให้ทุนทำวิจัยเทคโนโลยีชาวบ้านครั้งนี้