‘Express’ อ่วม – จ่ายค่าธรรมเนียมใบขนสินค้าให้กรมศุลฯเพิ่มกว่า 5 เท่า ผู้ประกอบการขนส่งเล็งผลักภาระให้ผู้บริโภค – เปลี่ยนช่องทางนำเข้าผ่านตู้คอนเทรนเนอร์โดนสุ่มตรวจ 30% – สมอ.เล็งใช้ ‘Social Listening’ ตรวจสินค้าออนไลน์ – อย.ลดปริมาณนำเข้าเครื่องสำอางลง 50% – 3 เดือน หิ้วของเข้าประเทศได้ครั้งเดียว – สคบ.เร่งคลอด ‘Lemon Law’ เรียกค่าเสียหายจากคนขายสินค้าชำรุด
จากปัญหาสินค้าราคาถูกเกรดต่ำ ไม่มีมาตรฐาน ละเมิดลิขสิทธิ์ ไหลทะลักเข้ามาวางขายกันเกลื่อนเมืองทั้งในตลาดออนไลน์ และออฟไลน์ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ผลิตสินค้าขึ้นมาแล้ว ขายไม่ได้ เพราะสู้ราคาไม่ไหวต้องปิดกิจการกันไปหลายราย ได้ทำเรื่องร้องเรียนผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ส่งไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นำเรื่องนี้เสนอ ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปหามาตรการมาแก้ปัญหาดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ครบทุกมิติ โดยให้คำนึงถึงข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย รวมทั้งหาแนวทางยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้
หลังจากนายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ช่วงที่นายภูมิธรรม เวชยชัย ปฏิบัติหน้าที่แทนนายเศรษฐา ก็ได้นำ 5 มาตรการ 63 แผนปฏิบัติ ในการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เสนอ ครม.ผ่านความเห็นชอบ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว หลักๆประกอบด้วย
-
1. ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบ และกฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มข้น
2. ปรับปรุงแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต
3. มาตรการภาษี
4. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้แข่งขันในโลกการค้ายุคใหม่ได้
5. สร้างและต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อผลักดันสินค้าและบริการไทยไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้า e-Commerce ในระดับภูมิภาค เป็นต้น
นายกฯขีดเส้นตาย ‘พิชัย’ แก้ของเถื่อนเกลื่อนเมือง 1 เดือน
จากนั้นแต่ละหน่วยงานก็กลับไปดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้า และธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ฯ ช่วงการประชุม ครม.นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมการชุดนี้ ติดตามและเร่งรัดมาตรการแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน มอก. , อย. และ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายของชาวต่างชาติในประเทศไทย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 เดือน
เก็บ VAT สินค้านำเข้าไม่เกิน 1,500 บาท 6 เดือน ปั้มรายได้เพิ่ม 200 ล้าน
โดยที่ผ่านมาหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็ได้ใช้กฎหมายที่อยู่ออกระเบียบมาสกัดกั้นสินค้านำเข้าราคาถูกต่ำเกรดต่ำอย่างเข้มข้นตามนโยบายของรัฐบาล ไล่จากเบาไปหาหนักมีรายละเอียดดังนี้ เริ่มจากกรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานด่านหน้าทำหน้าที่นายทวาร นอกจากภารกิจในการจัดเก็บภาษีแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิต และผู้บริโภคในประเทศด้วย โดยกรมศุลกากรได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เป็นการชั่วคราว (เดิมยกเว้น) ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2567 แทนกรมสรรพากรที่กำลังเร่งยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ต้องจ่ายค่า VAT เช่นเดียวการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ คาดว่าถึงสิ้นปี 2567 กรมศุลกากรน่าจะเก็บ VAT จากสินค้านำเข้ากลุ่มนี้ได้ประมาณ 200 ล้านบาท
นำเข้า ‘ของเร่งด่วน’ ใช้ X-Ray สแกนทุกชิ้น – ตู้คอนเทรนเนอร์สุ่มตรวจ 30%
นอกจากนี้กรมศุลกากรยังเพิ่มเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่ไม่มีใบอนุญาต หรือ ใบรับรอง จากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสินค้าผิดกฎหมาย โดยใช้เครื่อง X – Ray ตรวจสินค้าที่ผ่านช่องทางเร่งด่วน หรือที่เรียกว่า “Express” ทุกรายการ (100%) ส่วนการนำเข้าสินค้าทั่วไป ก็ใช้วิธีสุ่มตรวจ โดยปรับเพิ่มอัตราการสุ่มเปิดตู้คอนเทรนเนอร์ตรวจ (Full Container Load : FCL) จากเดิมเลือกสุ่มตรวจแค่ 20% เพิ่มเป็น 30% และกำกับผู้ประกอบการของเร่งด่วน ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้ลงนามในประกาศกรมศุลกากร 4 ฉบับ ปรับลดจำนวนรายการสินค้าที่ผู้นำเข้าสำแดงในใบขนสินค้าเร่งด่วน (Express) ประเภท 2 อันได้แก่ การนำเข้าของเร่งด่วนในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ , การนำเข้าของเร่งด่วนทางอากาศยาน , การนำเข้าของเร่งด่วนเขตปลอดอากรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ EEC และการนำเข้าของเร่งด่วนทางบก จากเดิมกรมศุลกากรอนุญาตให้ผู้ประกอบการ Express สำแดงรายการสินค้าในใบขนฯได้ 250 รายการ ปรับลดลงเหลือ 40 รายการต่อใบขน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
อ่านรายละเอียด ประกาศกรมศุลกากรที่ 192-195 ที่นี่
‘Express’ อ่วม – จ่ายค่าธรรมเนียมใบขนฯเพิ่มกว่า 5 เท่า เล็งผลักภาระให้ผู้บริโภค
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการของเร่งด่วน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวนี้จะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการของเร่งด่วนมีต้นทุนสูงขึ้นกว่า 5 เท่า จากเดิมกรมศุลกากรให้สำแดงรายการสินค้าในใบขนฯได้ 250 รายการต่อใบขนสินค้า แต่ระเบียบใหม่กำหนดให้สำแดงรายการสินค้าได้แค่ 40 รายการต่อใบขนสินค้า หมายความว่าถ้านำเข้าสินค้าเร่งด่วนในปริมาณเท่าเดิม ก็ต้องยื่นใบขนสินค้าเพิ่มเป็น 6 ใบ แต่ละใบกรมศุลกากรจะคิดค่าธรรมเนียมในการยื่นใบขนฯฉบับละ 200 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 1,200 บาท จากเดิมเสียค่าธรรมเนียมใบขนฯแค่ 200 บาท เท่ากับต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 500% โดยเฉพาะผู้ประกอบการ Express รายใหญ่อย่าง Fed Ex, UPS, DHL และ TNT หรือที่เรียกว่า “Big 4” และถ้านำเข้ามานอกเวลาทำการ ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ถือเป็นรายได้นอกงบประมาณ ไม่ได้ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่กรมศุลกากรจะนำไปจัดสรรปันส่วนเป็นรายได้เสริมเจ้าหน้าที่ศุลกากรนอกเหนือจากเงินเดือน
“หลังจากที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ช่วงแรก ๆผู้ประกอบการของเร่งด่วนคงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไปก่อน แต่ในระยะต่อไปก็คงต้องผลักภาระไปให้ผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้จะทำให้สินค้าราคาถูกเกรดต่ำ โดยเฉพาะสินค้าจีนมีราคาแพงขึ้นเช่นเดียวกับมาตรการจัดเก็บ VAT กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ช่วยให้ผู้ผลิตในในประเทศสามารถแข่งขันได้ แต่ก็ไปกระทบกับการนำเข้าสินค้าเร่งด่วนปกติที่มีคุณภาพสูงจากประเทศอื่นด้วย ส่วนผู้นำเข้าสินค้าราคาถูกเกรดต่ำจากจีน ก็อาจจะปรับเปลี่ยนวิธีการนำเข้า เช่น จากเดิมเคยนำเข้าของเร่งด่วนทางบก ก็อาจจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการนำเข้าปกติ ขนสินค้าผ่านตู้คอนเทรนเนอร์ทั้งทางบกและทางเรือ เพื่อลดต้นทุน หรือ อาจจะมีการลักลอบนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
สมอ.เล็งใช้ ‘Social Listening’ ตรวจสินค้าออนไลน์
นอกจากกรมศุลกากรแล้ว ทางสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ก็ได้ดำเนินมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานไป 4 มาตรการดังนี้
1. แก้ไขประกาศ สมอ.ปรับลดจำนวนสินค้านำเข้าที่ไม่มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำมาขายในประเทศ พร้อมกับยกเลิกการใช้รหัส “Exempt – 5” สำแดงในใบขนสินค้าว่าเป็นการนำเข้าสินค้าที่มีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ที่ สมอ.กำหนด และไม่ได้นำเข้าสินค้ามาขายในประเทศจะได้รับสิทธิยกเว้น ไม่ต้องมาขอใบอนุญาต หรือ ใบรับรองจาก สมอ. หลังจากที่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าสินค้า 144 รายการ ที่อยู่ในความคุมของ สมอ.จะต้องมาติดต่อขออนุญาตนำเข้ากับ สมอ.ทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้น
2. เร่งรัดการบังคับใช้มาตรฐานสินค้าเพิ่มเติมอีก 58 มาตรฐานสินค้า
3. หารือกับกรมศุลกากร เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการบังคับใช้ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ในเขตปลอดอากร หรือ “Free Zone” กรณี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 152 ระบุว่า “สินค้าในเขต Free Zone ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมาตรฐานการประทับตรา หรือ เครื่องหมายใดๆ แก่ของนั้น การปล่อยสินค้าข้างต้นออกจากเขตปลอดอากร เพื่อใช้ หรือ จำหน่ายในราชอาณาจักร จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร” ส่งผลทำให้เขต Free Zone อาจถูกใช้เป็นที่พักสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และมีความเสี่ยงสูงในการลักลอบนำเข้าในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าจาก สมอ.
4. ตั้ง Cyber Team ตรวจสอบสินค้า 144 มาตรฐานบังคับที่นำไปโพสต์ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งสมอ.เริ่มดำเนินการตรวจสอบสินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567
-
4.1 แผนระยะสั้น : เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ จากเดิม 1,080 URL/เดือน เพิ่มเป็น 1,620 URL/เดือน
4.2 แผนระยะยาว : พัฒนาระบบ AI เข้ามาช่วยลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยใช้โปรแกรม “Social Listening” กวาดข้อมูลสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์มาวิเคราะห์และตรวจสอบ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างรอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานประมาณ
อย.ลดปริมาณนำเข้าเครื่องสำอางลง 50% – 3 เดือน หิ้วของเข้าประเทศได้ครั้งเดียว
ส่วนทางด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ดำเนินการป้องกันการลักลอบยนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานดังนี้
-
1. ขอความร่วมมือกรมศุลกากร ,บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และผู้ประกอบกการขนส่งสินค้าเอกชน ให้เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ
2. ขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Shopee และ Lazada ตรวจสอบสินค้าที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องเป็นสินค้าที่มีใบอนุญาตและคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด
3. ตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ให้เป็นไปตามาตรฐานที่กำหนดอย่างเข้มงวด
4. ปรับลดปริมาณ และความถี่ในการนำเข้าอาหาร หรือ เครื่องสำอาง “กรณีเพื่อใช้เฉพาะตัว” โดยบุคคลธรรมดาที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาจำหน่าย ทั้งกรณีนำติดตัว และไม่ติดตัว ได้แก่ การส่งทางพัสดุ , ไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ไม่ต้องมาขออนุญาตจาก อย. หรือ ไม่ต้องแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อ อย.
“ยกตัวอย่าง กรณีเครื่องสำอาง อย.ได้ปรับลดปริมาณการขออนุญาตนำเข้าลง 50% จากเดิมไม่เกิน 6 ชิ้น/รายการ สูงสุดไม่เกิน 30 ชิ้น ปรับลดลงเหลือ นำเข้าได้ไม่เกิน 3 ชิ้น/รายการ สูงสุดไม่เกิน 15 ชิ้น รวมทั้งปรับลดความถี่ในการนำเข้าเครื่องสำอางลง จากเดิมไม่กำหนดความถี่ในการนำเข้า ปรับเป็น รายการเครื่องสำอางนั้น ต้องไม่เคยมีการนำเข้ามาก่อนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การนำเข้าสินค้าอาหารจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป”
5. กำหนดให้ผู้นำเข้าอาหาร หรือ เครื่องสำอาง เพื่อใช้เฉพาะตัว ต้องยื่นข้อมูล e-Submission เพื่อให้ อย.ได้จัดเก็บข้อมูล หากพบว่าผู้นำเข้ารายใดมีการนำเข้าสินค้ามาบ่อยครั้งเกินไป จะไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้า สำหรับเพื่อใช้เฉพาะตัว
6. ในระยะต่อไป อย.จะปรับลดประมาณ และความถี่ในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และวัตถุอันตราย สำหรับกรณีเพื่อใช้เฉพาะตัวด้วย
7. แจ้งสถานทูตประเทศต้นทางของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่พบปัญหา เพื่อให้เข้าใจข้อกฎหมายของไทย และควบคุมการส่งออกผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เนไปตามที่กฎหมายกำหนด
8. เชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าที่เป็นพัสดุของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อให้มีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้
9. สั่งการให้ อย.จังหวัด ร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ จากข้อมูลผลการตรวจสอบร้านค้า 470 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2567 พบร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 80 แห่ง คิดเป็น 17.02% เฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัด ตรวจพบผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 1,170 รายการ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 1,151 รายการ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 20 รายการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้อายัดผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว
สคบ.เร่งคลอด ‘Lemon Law’ เรียกค่าเสียหายจากคนขายสินค้าชำรุด
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้า โดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทาง เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน (Cash on Delivery : COD) และให้ผู้ประอบการขนส่งที่เก็บเงิน ต้องถือเงินไว้ 5 วัน ก่อนนำส่งเงินค่าสินค้าให้กับผู้ส่งสินค้า ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้แจ้งคืนสินค้า หรือ ขอเงินคืน รวมทั้งให้ผู้บริโภคเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ โดยสามารถบันทึกภาพ หรือ วิดีโอไว้เป็นหลักฐาน หากสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ หรือ ไม่ได้สั่งซื้อสินค้า ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงิน และไม่รับสินค้าดังกล่าวได้ โดยมาตรการดังกล่าวนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ทาง สคบ.กำลังเร่งยกร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ… หรือ ที่เรียกว่า “Lemon Law” เพื่อให้ผู้บริโภคสินค้า ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า , อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ , รถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล สามารถเรียกร้องให้ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าดังกล่าวรับผิดชอบ และชดใช้ค่าเสียหายกรณีขายสินค้าชำรุดบกพร่อง