เครือข่ายหมอเรียกร้องกระทรวงสาธารณสุข ออกกฎกระทรวงกำหนดชั่วโมงการทำงาน 8 ชม.ต่อวัน แก้ปัญหาภาระงาน ลดแพทย์ลาออก สร้างสมดุลการทำงานแพทย์และการรักษาผู้ป่วยให้เหมาะสม
ข้อถกเถียงเรื่องแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์ที่จบใหม่ลาออกเพราะรับภาระงานหนักและค่าตอบแทนที่ต่ำ ยังเป็นประเด็นที่เครือข่ายแพทย์เรียกร้องการแก้ไขปัญหาต่อกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มทีมเพื่อแพทย์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่จะลงชิงกรรมการแพทยสภาวาระปี2568-2570 ได้จัดเสวนารับฟังปัญหาและข้อเสนอทางออก หัวข้อ “ปัญหาแพทย์และระบบการแพทย์ไทย” เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมรับฟัง
นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ หัวหน้าทีมเพื่อแพทย์ ผู้สมัครกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ปัญหาแพทย์อินเทิร์น หรือแพทย์ที่จบใหม่ลาออกปีละสูงถึง 900 คน จากแพทย์จบใหม่ทั้งหมด 3,000 คน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทราบปัญหาแต่ยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
“ในแต่ละปีมีสถิติแพทย์เสียชีวิต รวมถึงปัญหาแพทย์ลาออกจำนวนมาก จนถึงวันนี้ปัญหานี้ก็ยังมีอยู่ เสียงสะท้อนปัญหาจากหมอส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของภาระงานที่หนักเกินไป มีเวลาทำงานต่อเวร 8 ชั่วโมง ต้องทำงานต่ออีก8ชั่วโมง และทำงานต่ออีก8 ชั่วโมง บางคนทำงานเกิน 32 ชั่วโมงถือเป็นภาระงานที่หนักมากเกินไป จึงอยากเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข จำกัดชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยเสนอให้ประกาศเป็นกฎกระทรวง เพื่อลดปัญแพทย์ลาออก”

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาภาระงานที่หนักเกินไปทำให้มีแพทย์เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้มีสถิติจากแพทยสภาตั้งแต่ปี 2564-2567 มีแพทย์เสียชีวิตไปกว่า 601 คน แต่ปัญหานี้กระทรวงสาธารณสุขเบี่ยงเบนสาเหตุมมาจากการแพทย์ขาดแคลน และมีความพยายามจะผลักดันให้เกิดการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น(ต้องเสนอครม.พิจารณา) โดยมีกรอบอัตรากำลังในช่วงปี 2569-2574 จำนวน 72,000 คน ปัจจุบันมีนักศึกษาแพทย์จบปีละ 3,500 คน ตนจึงมีถามว่าการผลิตแพทย์เพิ่มสมเหตุสมผลหรือไม่ จากข้อมูลแพทย์อยู่ใน กทม. 35,000 คน และกระจุกอยู่ต่างจังหวัดใหญ่ ๆ จำนวนมาก แพทย์ไม่ได้ขาดแคลนแต่มีปัญหาเรื่องของการกระจายแพทย์ ในพื้นที่ห่างไกล
การผลิตแพทย์เพิ่มจึงไม่สมเหตุสมผลเพราะการผลิตแพทย์ใช้เวลา 6 ปีใช้เงินประมาณปีละ 2 ล้านบาทต่อคน แต่ใช้ทุนแค่ 4 แสนบาท ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนผลิตแพทย์ 4 สถาบันใช้เงิน1.5 ล้านบาทต่อคน และมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นผลิตแพทย์หลักสูตรอินเตอร์ปีละ 21 คนใช้ปีละ 2 ล้านบาทต่อคน ดังนั้นปัญหาใหญ่ของแพทย์ลาออกไม่ใช่เรื่องของแพทย์ขาดแคลน แต่เป็นเรื่องของจำนวนชั่วโมงทำงานที่สูงเกินไปจนทำให้รับภาระไม่ไหว
“ผมอยากเรียกร้องขอความเป็นคนของแพทย์กลับมาใช้ชีวิตที่สมดุล และใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเหมือนคนอื่น ไม่ใช่ทำงานเป็นทาสอย่างปัจจุบัน ซึ่งหากเทียบการทำงานของแพทย์โรงพยาบาลเอกชนมีเวลาชัดเจนทำงาน 8 ชั่วโมงแล้วจบ แต่แพทย์ของโรงพยาบาลรัฐทำงาน 8 ชั่วโมงแล้วต่ออีก 24 ชั่วโมงต่ออีก 8 ชั่วโมงแล้วก็ไปขับรถเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต ผมคิดว่าเรื่องเวลาทำงานของหมอสำคัญมาก เพราะแพทย์ไม่มีชีวิตของตัวเอง ผมขอให้แพทย์ เขาได้ใช้ชีวิตและทำงานอย่างมีความสุขขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง”
นพ.ฐาปนวงศ์ บอกว่าจะนำเสนอปัญหาแพทย์ลาออกไปยังกระทรวงสาธารณสุขและขอให้กำหนดชั่วโมงทำงานของแพทย์ใน 8 ชั่วโมง โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาเป็นกฎกระทรวงเพื่อให้บังคับใช้ได้จริงเพื่อให้แพทย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ขณะที่นพ.สมนึก ศิริพานทอง รองหัวหน้าทีมเพื่อแพทย์ กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจที่บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ทำงานหนักอยู่เวรติดต่อกันไม่ได้พักผ่อนจนเกิดอุบัติเหตุ โดยจะเห็นได้จากข้อมูลแพทยสภา พบว่าอัตราการเสียชีวิตของแพทย์ 130 คนต่อแพทย์ 100,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากกว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง จนทำให้วิชาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่เสี่ยง
“ผมไม่แน่ใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังชินชาต่อการเสียชีวิตของแพทย์ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือไม่ เพราะตอนนี้เราพูดกันเรื่องงบประมาณในการสร้างตึกใหม่ แต่ไม่ได้มองถึงการแก้ปัญหาตรงนี้ เราสร้างตึกขึ้นมากมาย แต่ถ้าไม่มีแพทย์รักษาได้หรือไม่ รัฐบาลอาจมองว่าใช้ AI เข้ามาช่วยได้ แต่ไม่สามารถทดแทนแพทย์ได้ เพียงแต่มาช่วยแพทย์แบ่งเบาภาระเท่านั้นเอง”
นพ.สมนึก กล่าวอีกว่า คุณภาพชีวิตของแพทย์เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในส่วนตัวของตนแล้วก็เผชิญกับเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ จากกรณีลูกชายเพื่อนที่เป็นแพทย์ จังหวัดอุบลราชธานีไปทำงานที่ศรีสะเกษ ออกเวร ขับรถหลับในข้ามเลนไปชนกับกระบะเสียชีวิต จึงเห็นว่าต้องหาทางแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะแพทย์ภาครัฐลาออก แพทย์เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เป็นปัญหาระบบการแพทย์ของประเทศ
กระทรวงสาธารณสุขรับข้อเสนอแก้แพทย์ลาออก
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้มาร่วมรับฟังข้อเสนอ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่มีแพทย์มากที่สุด ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และภาระงานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล ปัจจุบันประชาชนที่เจ็บป่วยมารับการรักษา รวมถึงมาใช้บริการในการป้องกันหรือควบคุมโรคครอบคลุมประชากรถึง 70% ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีภาระงานที่มากขึ้น โดยปัญหาในเรื่องนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญอย่างมากให้หาแนวทางการแก้ไข
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการนำเสนอปัญหาเรื่องของเวลาทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลว่าไม่ให้เกินพอดี เพราะจะทำให้เกิดผลเสียได้ทั้งผู้ป่วยและแพทย์เองเหมือน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของความอ่อนล้าจากการทำงานจนทำให้เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต
“เราคงต้องหาเวลาทำงานที่เหมาะสมของแพทย์ เพราะในระหว่างการปฏิบัติงานของแพทย์ก็ต้องมีความรับผิดชอบสูงอาจจะผลกระทบต่อผู้ป่วย ส่วนเรื่องการทำงาน 8 ชั่วโมงนั้น คงต้องหาแนวทางที่จะทำให้การทำงานใน 8 ชั่วโมงนั้นเกิดประโยชน์มากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีเรื่องจริยธรรมในการดูแลผู้ป่วยให้ได้มาตรฐานไม่ทอดทิ้ง ซึ่งหากเราพิจารณาทั้งเรื่องเวลาทำงานของแพทย์และผู้ป่วยให้สมดุล เชื่อว่าการจัดการเชิงระบบน่าจะทำให้ปัญหาบรรเทาลงได้ แต่ต้องมีการคุยกันอีกครั้ง” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ อธิบายอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขเข้าใจปัญหาภาระงานของบุคลากรและมีข้อเสนอเรื่องการจำกัดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ มีการหารือในเรื่องภาระงานที่หนักในแต่ละวันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการทำงานหนักส่งผลให้แพทย์มีเวลาพักผ่อนน้อย มีโอกาสเกิดผลเสียเพิ่มความเสี่ยงของตัวแพทย์เอง รวมถึงส่งผลต่อผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลไม่เต็มประสิทธิภาพ การกำหนดชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมต้องมาดูกันในรายละเอียด ต้องหารือจนตกผลึกก่อนจะออกเป็นกฎระเบียบหรือกฎกระทรวง
นอกนจากนี้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข กำลังหาแนวทางเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ ทั้งค่าตอบแทนที่เหมาะสม การมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในระยะยาว และมีการดูเรื่องสิทธิอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินโดยตรง
ส่วนในเรื่องของแพทย์ลาออก นพ.โสภณ กล่าวว่า เป้าหมายของกระทรวงคือการลดการทำงานที่หนักเกินคนทำงานปกติของแพทย์ลง โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย One Province One Hospital หรือ 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล ซึ่งทำให้โรงพยาบาลจังหวัดเดียวกันเป็นหนึ่งเดียวกัน มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเล็กไปยังโรงพยาบาลใหญ่ มีการให้คำปรึกษาและคำแนะนำ ให้บุคลากรทางการแพทย์รู้สึกเป็นทีมเดียวกัน ช่วยกันดูแลผู้ป่วย
“ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ พบว่า บรรยากาศของแพทย์ใช้ทุนได้รับการดูแลที่ดีขึ้น บุคลากรทางการแพทย์มีเป้าหมายร่วมกันให้แพทย์ใช้ทุนทำงานอย่างมีความสุข ไม่ลาออกก่อน เพื่อไม่ให้ขาดแคลนแพทย์ ส่วนการแก้ไขอย่างเป็นระบบขณะนี้กระทรวงได้รวบรวมปัญหาและอยู่ในแผนกำลังดำเนินการ แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาแพทย์ลาออกมีความซับซ้อน แต่เรากำลังหาทางออกและวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้แพทย์ทำงานด้วยความมั่นใจ สบายใจ ลดการลาออกได้” นพ.โสภณ กล่าว
แพทย์เฉลี่ยต่อประชากรของไทย 1:2,000 คน-ของโลก1:1000
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานถึงสถานการณ์แพทย์ในปัจจุบันจำนวนแพทย์ทั้งหมดมีประมาณ 50,000-60,000 คน เป็นแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข 24,649 คน หรือคิดเป็น 48% แต่ภาระงานเราที่ดูแลคนในระบบหลักประกันสุขภาพฯประมาณ 45 ล้านคน โดยแพทย์เฉลี่ยต่อประชากรจะอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ซึ่งมาตรฐานโลกกำหนดให้ 3 ต่อ 1,000 คน
ส่วนข้อมูลการลาออกของแพทย์ 10 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2556-2565 พบว่า มีแพทย์บรรจุรวม 19,355 คน โดยแพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก 226 คน คิดเป็น 1.2% เฉลี่ยปีละ 23 คน ขณะที่แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 อยู่ที่ 1,875 คน คิดเป็น 9.69% เฉลี่ยลาออกปีละ 188 คน แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คน คิดเป็น 4.4% เฉลี่ยปีละ 86 คน ส่วนแพทย์ลาออกหลังพ้นภาระชดใช้ทุน 1,578 คน คิดเป็น 8.1% เฉลี่ยปีละ 158 คน โดยสรุปภาพรวมเฉลี่ยลาออกปีละ 455 คน นอกจากนี้ยังมีเกษียณปีละ 150-200 คน รวมประมาณปีละ 655 คน
แพทย์ 9 รพ.ทำงานเกิน 40 ชั่วโมง
สำหรับในเรื่องของภาระงานหนัก กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2565 จากโรงพยาบาลที่แพทย์ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 65 แห่งดังนี้
1.มากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 9 แห่ง
2.มากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 4 แห่ง
3.มากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 11 แห่ง
4.มากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 18 แห่ง
5.มากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 23 แห่ง