ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เส้นทางของประเทศไทยในกรอบโลกที่เปลี่ยนแปลง

การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เส้นทางของประเทศไทยในกรอบโลกที่เปลี่ยนแปลง

15 ตุลาคม 2024


“ปัญหาเรื่องสภาพอากาศเป็นประเด็นสำคัญและจะอยู่คู่กับประชาคมโลกไปอีกยาวนาน โดยภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) : COP 22 หรือความตกลงปารีส ประเทศสมาชิกให้คำมั่นว่าจะช่วยกันลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ซึ่งในการประชุมเดือนพฤศจิกายนปี 2567 นี้ ทุกประเทศต้องเปิดเผยข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปี ตาม Nationally Determined Contribution : NDC หรือการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น แต่เชื่อว่าหลายประเทศไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ซึ่งจะส่งผลให้ NDC มีความเข้มข้นมากขึ้นและกระทบต่อหลายวงการ โดยเฉพาะต้นทุนทางการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยทุกองคาพยพขับเคลื่อนไปด้วยกัน”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และผู้อำนวยการหลักสูตร RoLD Program กล่าวนำเข้าสู่เวทีเสวนาในหัวข้อ “Navigating the Climate Action Landscape: Thailand’s Path in a Changing Global Framework” ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นําเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567

ข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎระเบียบใหม่ด้านสภาพภูมิอากาศ

นายแดเนียล ลีโอ ฮอร์น-พัธโนทัย อดีตผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสำหรับแอฟริกา ผู้ก่อตั้ง Asia Just Transitions Lab ระบุว่าเมื่อ 10 ปีก่อน มีการพูดถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ด้านสภาพภูมิอากาศที่ดูห่างไกล แต่ปัจจุบันทั่วโลกต่างตระหนักว่า ผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้ว เช่น ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นอย่างสวีเดน อะแลสกา ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตหนาว

ขณะเดียวกันการรับมือกับปัญหานี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยความตกลงปารีสในปี 2558 ประเทศต่าง ๆ ได้ตั้งเป้าของตัวเองในการลดปล่อยมลพิษลงและต้องมีรายงานความคืบหน้าเรื่องนี้ โดยทุก ๆ 5 ปี จะมีการประชุมกันเพื่อเสริมสร้างมาตรการต่าง ๆ ให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีความตกลงปารีส โลกมีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้น 3-4.5 องศาเซลเซียส แต่หลังจากที่มีการดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกลดลงมาอยู่ที่ 2.5 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังถือว่าสูงเกินไป โดยระบบเศรษฐกิจโลกมีอัตราการลดการปล่อยคาร์บอนลงที่ 1.5% ต่อปี ในช่วงเวลา 20 ปี แต่จำเป็นต้องเพิ่มอัตรานี้ขึ้นเป็น 5 เท่าตัว

ปัจจุบันได้มีการพูดถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ “Net Zero” และเป้าหมายนี้ได้กลายเป็นตัวกำหนดกรอบการทำงานไปแล้ว หากสามารถทำได้ภายในกลางศตวรรษนี้ ก็จะช่วยให้จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5-2.0 องศาเซลเซียสได้ นั่นหมายความว่าต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 45% ภายในปี 2573 จากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 25%

นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ราว 9,000 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าตลาดราว 40% ของทั้งโลก ได้ตั้งเป้าให้สอดคล้องกับความตกลงปารีส และยอมให้บุคคลที่สามตรวจสอบความก้าวหน้าในการทำตามเป้าหมายนี้ด้วย และเมืองกว่า 1,000 แห่งทั่วโลกก็รับปากที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายแดเนียล ลีโอ ฮอร์น-พัธโนทัย อดีตผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสำหรับแอฟริกา ผู้ก่อตั้ง Asia Just Transitions Lab

ส่วนในด้านการเงินในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกรุงกลาสโกว์เมื่อปี 2564 หรือ COP 26 ได้มีการรับปากที่จะมอบเงินทุน 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero และการกำหนดราคาคาร์บอนได้ครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกราวหนึ่งในสี่ นอกจากนี้ เขตอำนาจรัฐทั่วโลกซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่าครึ่งของโลกก็ได้ยอมรับมาตรฐานการรายงานของ International Sustainability Standards Board หรือ ISSB ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สร้างมาตรฐานการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว กลไกราคาคาร์บอนที่ครอบคลุมเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาคาร์บอนมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีต่อจากนี้ เช่นเดียวกับแรงกดดันจากสังคมในการเร่งแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างกรณีของสหราชอาณาจักรที่ลดการใช้ถ่านหินลงภายในช่วงเวลา 12 ปี โรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแห่งสุดท้ายจะปิดตัวลงในต้นเดือนตุลาคม 2024 สัดส่วนการปล่อยมลพิษจากถ่านหินลดลงจาก 40% ในปี 2012 มาอยู่ที่ 0% และภาคพลังงานได้ลดการปล่อยมลพิษลง 74% เป็นผลมาจากการลงทุนมหาศาลด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้สหราชอาณาจักรลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานได้เร็วที่สุดในโลก และนำไปสู่การแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากการปล่อยมลพิษ

ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรมีจีดีพีเพิ่มขึ้น 80% ขณะที่การปล่อยมลพิษที่เกิดจากการบริโภคลดลงมากกว่า 40% โดยขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกก็กำลังดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน โดยในรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ด้านจีนก็อาจมีการปล่อยคาร์บอนผ่านพ้นระดับสูงสุดแล้ว เร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้เกือบ 10 ปีจากที่เคยปล่อยคาร์บอนคิดเป็นสัดส่วน 30% ของทั้งโลก แนวโน้มเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นเพราะราคาพลังงานหมุนเวียนที่ลดต่ำลงอย่างมาก ขณะที่การประชุม COP28 ในนครดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อปีที่แล้วได้มีการให้คำมั่นเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

นายแดเนียลกล่าวอีกว่า การหลีกเลี่ยงผลที่เลวร้ายที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ใช่เพียงแค่นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ แต่คือ นโยบายด้านอุตสาหกรรม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงิน โดยหากพิจารณาจาก 1,500 นโยบายในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา นโยบายที่ได้ผลดีที่สุดคือ นโยบายที่อยู่เบื้องหลังเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรและจีน ส่วนในสหรัฐฯ ก็คือรัฐบัญญัติการลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของต้นทุนที่ลดต่ำลงของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ การมีรถยนต์ไฟฟ้า นั่นเป็นผลมาจากนโยบายที่มุ่งเน้นด้านการลงทุน ซึ่งอาจจะใช้เงินมหาศาลแต่ก็ถือว่าประหยัดกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

โดยในปี 2568 ประเทศต่าง ๆ มีโอกาสส่งสัญญาณที่ชัดเจนใน NDCความสำคัญด้านการทูตต่อการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศก็มีความสำคัญ โดยยังมีโอกาสที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ ส่วนประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนได้ จะต้องมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจในเรื่องที่ยากและคำนึงถึงระยะยาว โดยจำเป็นต้องมีกระบวนการตัดสินใจที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน

นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ซ้ายสุด),ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กลาง และ นายสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ (ขวาสุด)

ไทยกับร่างกฎหมายในการดูแลสภาพภูมิอากาศ

นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มุมมองว่า ข้อบังคับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในไทยเป็นการนำผลของการเจรจาในเวที COP ซึ่งแต่ละประเทศมีการหารือกันพบว่า เรื่องเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นกฎและกติกาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็มักจะอิงไปกับเรื่องการค้าขายเป็นส่วนใหญ่ แต่อีกมุมมองหนึ่งคือ การพัฒนาที่ยั่งยืนก็เป็นอีกสิ่งสำคัญหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานไปควบคู่กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อสหประชาชาติ ซึ่งมีนโยบายต่าง ๆ ค่อนข้างชัดเจน โดยมีแผนในการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ NDC ในเฟสแรก ซึ่งกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 ให้ได้ประมาณ 30-40% และบวกเพิ่มอีกประมาณ 6% ในกรณีที่มีข้อแลกเปลี่ยนในการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ กรมฯ ได้ร่วมงานกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคพลังงาน ภาคขนส่ง การเกษตร อุตสาหกรรม และกำจัดของเสียในการรายงานตัวเลขการปล่อยก๊าซ หรือ NDC ฉบับแรกซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2573 แต่ประเด็นที่เป็นความท้าทายกว่า คือในปี 2568 ไทยจะต้องส่ง NDC ฉบับที่สองบังคับใช้ปี 2578 เพราะทั่วโลกต่างบอกว่าการหยุดโลกร้อนไม่สามารถจะเดินบนเส้นทางการพัฒนาได้ ดังนั้น ต้องมาทบทวนว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศได้อย่างไร

นายปวิช กล่าวอีกว่า ในประเทศไทย ต้องหันกลับมาดูว่าต้องทำอย่างไร นโยบายต่าง ๆ ที่ออกไปแล้วและถูกขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งกรมฯ ได้จัดทำร่างกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศ (ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ….) มีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว 1 ครั้ง ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา โดยบรรจุเนื้อหา 3 ประเด็นหลัก คือ

ประเด็นแรก บททั่วไป เป้าหมายในการดำเนินงาน คณะกรรมการนโยบาย และแผนแม่บทการดำเนินงาน ประเด็นที่สอง การลดก๊าซเรือนกระจก และสาม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยอยู่ระหว่างการรอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนตุลาคมปีนี้และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้อีก 2 ปี

นอกจากนั้น ไทยได้ดำเนินการต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ โดยอยู่ระหว่างการรอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีช่วยให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ

ในส่วนของกรอบกฎหมาย แบ่งเป็น 11 หมวด แต่หมวดที่มีความท้าทาย คือหมวดที่เกี่ยวข้องกับกองทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หมวด 4) ซึ่งการระดมทุนจะมาจาก การจัดเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน หรือค่าธรรมเนียมในสิทธิการปล่อยคาร์บอนฯ ของผู้ประกอบการ ซึ่งสหภาพยุโรปบังคับใช้อยู่ หรือ EU ETS (European Union Emissions Trading System) แต่สำหรับไทยการบังคับใช้กฎหมายอาจจะอยู่ในรูปแบบไฮบริดระหว่างการซื้อขายสิทธิการปล่อยคาร์บอน และการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งจะแยกส่วนกันชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการเก็บภาษีซ้ำซ้อน

ขณะนี้ภาคเอกชนมีการปรับตัวไปก่อนภาครัฐแล้ว เพราะมองถึงความแข็งแกร่งทางการค้าและต้นทุนทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และด้วยกฎระเบียบจากนานาประเทศที่ทยอยออกมา เช่น อียู กำลังจะออกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของกฎระเบียบของโลกที่จะเข้ามาล้อมรอบไทย ขณะที่การลงทุนภาครัฐก็เป็นเรื่องสำคัญต่อการบูรณาการงบประมาณของกระทรวง ทบวง กรม ในประเด็นโลกร้อนซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกัน แต่ยังไม่ได้ข้อยุติและออกมาในรูปแบบใด

มุมมองตลาดทุนต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและตลาดคาร์บอน

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลท. ได้ใช้มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการออกแบบกลไกในด้านตลาดทุน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. รวมทั้งบริษัทที่เป็น Supply Chain ของบริษัทเหล่านี้ และกลุ่มนักลงทุนรายย่อย

ทั้งนี้ หากบริษัทจดทะเบียนไม่ทำตามก็จะกระทบต่อการค้าขายในต่างประเทศ หรือจากการถูกระงับเงินทุนจากต่างประเทศซึ่งหันมาให้ความสำคัญต่อการลงในหุ้นของบริษัทที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น โดยบริษัทเหล่านี้จะต้องจัดทำรายงานความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น IFRS ( International Financial Reporting Standards : มาตรการครอบคลุมความหลากหลายกิจกรรมทางบัญชี) ซึ่งสิงคโปร์บังคับใช้แล้ว ส่วนไทยจะมีการประชุมเร็ว ๆ นี้

นอกจากนั้น ไทยยังมี พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.… ที่จะบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะนำมาสู่เครื่องมือใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายหุ้น ภาษีสรรพสามิตทั้งแบบเดิมและแบบใหม่ที่ต้องพิจารณามากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีกฎเกณฑ์มาบังคับใช้มากขึ้น แต่ถือว่าเป็นโอกาสของบริษัทใน ตลท. ต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ธุรกิจใหม่เป็นธุรกิจสีเขียว หรือเกี่ยวกับคาร์บอน โดยบทบาทของ ตลท. พยายามที่จะสร้างให้เห็นมูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้น ชี้ให้เห็นโอกาสในเชิงธุรกิจ สร้างโอกาสในการรองรับกฎข้อบังคับใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพราะกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากขึ้น เช่น เฉพาะกฎการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน (ESG) ก็มีมาก

ส่วนกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ตลท. ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในบริษัทคำนึงถึงความยั่งยืนนั้น ความเสี่ยงในการลงทุนก็ลดลงไปด้วย โดยสามารถค้นหาข้อมูลของบริษัทเหล่านั้นได้ในรายงาน ESG ซึ่ง ตลท. มีบริษัทจดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 800 บริษัท ครึ่งหนึ่งมีการจัดส่งรายงานดังกล่าว ขณะที่ 1 ใน 4 รายงานอย่างสมบูรณ์และผ่านการตรวจสอบอย่างถูกต้อง แต่มีเพียง 62 บริษัทเท่านั้น ที่มีการจัดทำรายงานอย่างสมบูรณ์และมีการกำหนดเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง ตลท. ต้องเร่งรัดให้มีมากขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่บริษัทจดทะเบียนเท่านั้น แต่มีบริษัทที่เป็น Supply Chain อีกกว่าแสนบริษัทที่จะถูกกระทบจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นความตระหนักรู้และเครื่องมือซึ่งมีแล้ว ก็จะช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ไทยจะเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มองไว้ 5 ด้านหลักคือ 1) การสร้างความตระหนักรู้ 2) ความชัดเจนของกฎระเบียบจากหน่วยงานที่กำกับ 3) ต้นทุนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้น (Compliance cost) 4) ปัจจัยกระตุ้น (Incentive) เช่น สิทธิพิเศษด้านภาษีทั้งในตัวบริษัทและนักลงทุนในหลักทรัพย์ และ 5) เรื่องคน ด้วยการส่งเสริมให้บริษัทพัฒนาบุคคลากรด้านความยั่งยืนให้มากขึ้น

นายสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ (ขวา)

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงกับการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าว่า เดิมแม่ฟ้าหลวงไม่ได้ทำเรื่องคาร์บอนเครดิตตั้งแต่เริ่มต้น แต่เป็นการดูแลรักษาป่าและพื้นที่ทำกินของชุมชนซึ่งได้รับมรดกจากสมเด็จย่าและในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ 36 ปีที่แล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของคนบนดอยตุงอยู่ที่ 109,211 บาทต่อคนต่อปี สูงกว่ารายได้ต่อหัวประชากรพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ที่ 39,696 บาทต่อคนต่อปี

ปัจจุบันการพัฒนาป่าดอยตุง ซึ่งมีคนอาศัยอยู่จำนวน 2.8 ล้านคน จาก 13,000 ชุมชน ได้ช่วยกันดูแลป่า 6.85 ล้านไร่ และเริ่มทำโครงการการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตั้งแต่ปี 2564 โดยได้ขึ้นทะเบียนการขายคาร์บอนเครดิตต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 54,000 ไร่ และได้รับรองแล้วว่ามีปริมาณ 419,513 ตันคาร์บอน หรือเท่ากับ 80,000 กว่าคนที่ปล่อยคาร์บอนต่อปี ส่งผลให้มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งแม่ฟ้าหลวงสามารถเอามาดูแลป่าได้

นอกจากนั้น การเข้าสู่กลไกของคาร์บอนเครดิต ยังได้ร่วมงานกับป่าชุมชนจำนวน 11 จังหวัดครอบคลุมทุกภาคของประเทศ พื้นที่ร่วมประมาณ 258,186 ไร่ มีผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 150,000 คน โดยแม่ฟ้าหลวงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนดูแลป่า มีการตั้งกองทุนดูแลป่าและพัฒนาชุมชนในหมู่บ้านแล้ว ด้วยทุนประเดิม 70 ล้านบาท ประเด็นสำคัญของการทำงานร่วมกับภาคประชาชน คือ ต้องทำให้เห็นความสำคัญ ตระหนักถึงคุณค่าของป่า เพราะนอกจากเป็นพื้นที่แหล่งอาหารแล้ว ยังเป็นพื้นที่ดูดซับคาร์บอน ซึ่งแม่ฟ้าหลวงร่วมมือกับชุมชนและ
กรมป่าไม้ จัดทำแผนที่ดาวเทียมของป่าเพื่อกำหนดขอบเขตข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่ป่าห้ามรุกล้ำเพิ่มและพื้นที่ทำกิน นอกจากนั้น ยังต้องยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นในป่า ไม่ว่าการรุกล้ำ การทิ้งขยะ และนำประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อถกหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สร้างความกังวลในเรื่องคาร์บอนเครดิต คือ การแย่งชิงทรัพยากรชุมชนจากภาคเอกชนที่ต้องการมาตัดโควตาป่าสงวนหรือป่าชายเลนมาเป็นการปลูกป่าเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก รวมทั้งประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การนำต้นไม้ภาคเหนือไปปลูกภาคใต้ซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศ สุดท้ายก็จะกระทบต่อแหล่งอาหารของคนทั้งประเทศ ซึ่งเดิมป่าชุมชนคือการเป็นแหล่งอาหารของชุมชน ดังนั้น ภาคใหญ่ซึ่งไปมุ่งเพียงการชดเชยทางคาร์บอน หรือ Carbon Offset เพียงด้านเดียว ไม่ได้ทำ Carbon Reaction ก็ทำให้ภาพรวมของคาร์บอนไม่ได้ลดลง