ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > “pep+” โครงการ Greenhouse Accelerator เฟ้นหานวัตกรรม-เทคโนโลยี – “Alterno” สตาร์ทอัปเวียดนามใช้ “ทราย” ผลิตพลังงาน

“pep+” โครงการ Greenhouse Accelerator เฟ้นหานวัตกรรม-เทคโนโลยี – “Alterno” สตาร์ทอัปเวียดนามใช้ “ทราย” ผลิตพลังงาน

4 ตุลาคม 2024


ความท้าทายของ “PepsiCo” หนึ่งในผู้ผลิตน้ำดำ เครื่องดื่ม และอาหารรายใหญ่ของโลก คือการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2040 (พ.ศ. 2583) เร็วกว่าเป้าหมายหลักของโลกคือปี 2050 (พ.ศ. 2593) และปี 2065 (พ.ศ. 2609) สำหรับบางประเทศ และด้วยเป้าหมายที่เป๊ปซี่เรียกว่า “pep+” นำมาสู่ความท้าทายในการสร้างซัพพลายเชนที่ยั่งยืน รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติ (greenhouse gas)

วิธีการที่เป๊ปซี่โคทำคือ การหานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงแนวคิดความยั่งยืนจากทั่วทุกมุมโลก ผ่านโครงการ “Greenhouse Accelerator” ดึงกลุ่มคนและสตาร์ทอัปที่มีความสามารถต่างๆ เข้ามาร่วมกันทำงาน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความต้องการ 3 ด้านขององค์กร คือ

  1. ลดการใช้พลาสติกใหม่จากแหล่งที่ไม่สามารถหมุนเวียนได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการใช้พลาสติกใหม่ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคลง 50% ภายในปี 2573 และคิดค้นบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่สามารถลดความต้องการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
  2. มองหาผู้ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่สามารถร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมากกว่า 40% ตลอดห่วงโซ่คุณค่า
  3. ภายในปี 2568 บรรจุภัณฑ์ 100% จะต้องสามารถรีไซเคิลได้ ย่อยสลายได้ ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้

อลัน ชอย รองประธานอาวุโส และซีเอฟโอ เป๊ปซี่โค เอเชียแปซิฟิก ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า โครงการ Greenhouse Accelerator มีเป้าหมายที่จะสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัปเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเป็นความร่วมมือกันแบบ win-win และในปี 2024 นับเป็นปีที่ 8 ของโครงการ Greenhouse Accelerator

อลันกล่าวถึงรูปแบบโครงการว่า โครงการจะมุ่งเน้นการให้คำปรึกษา โดยจะมีทีมผู้บริหารของเป๊ปซี่โคเป็นพี่เลี้ยงให้กับสตาร์ทอัป ผ่านการให้คำปรึกษาทางธุรกิจและการทำงานร่วมกัน โดยที่ปรึกษาของโครงการ Greenhouse Accelerator และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ จะแนะนำผู้ร่วมโครงการในทุกแง่มุมของการพัฒนาธุรกิจภายในระยะเวลา 4 เดือน พร้อมเงินสนับสนุนจำนวน 20,000 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 700,000 บาท เป็นทุนสำคัญในการยกเครื่องโมเดลธุรกิจ

อลันให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นสตาร์ทอัปเกิดใหม่กว่า 86 แบรนด์จากโครงการนี้ มีการเติบโตของยอดขายรวมกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 700 ล้านบาท

อลัน ชอย รองประธานอาวุโส และซีเอฟโอ เป๊ปซี่โค เอเชียแปซิฟิก

Alterno สตาร์ทอัปเวียดนาม ใช้ “ทราย” แทนพลังงานทางเลือกอื่น

โครงการดังกล่าวได้เริ่มมองหาสตาร์ทอัปในเอเชียแปซิฟิกเมื่อปี 2023 ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือปี 2021 อเมริกาเหนือปี 2019 และยุโรปปี 2017

อลันกล่าวต่อว่า ในปี 2024 ได้เพิ่มเรื่องเกษตรกรรมที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในโจทย์ของโครงการ และมีผู้ส่งไอเดียเข้าประกวดมากกว่าปีก่อนถึงสองเท่า ด้วยการขยายขอบเขตความร่วมมือไปยังผู้บรรจุขวดและนักลงทุน VCs

สำหรับผู้เข้ารอบสุดท้ายในโครงการ Greenhouse Accelerator ปี 2024 ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วยบริษัทต่างๆ ดังนี้ (1) AllEV จากประเทศไทย (2) CIRAC จากประเทศไทย (3) Alterno จากประเทศเวียดนาม (4) Grac จากประเทศเวียดนาม (5) Mi Terro จากประเทศจีน (6) Takachar จากประเทศฟิลิปปินส์ (7) ELIoT Energy จากประเทศออสเตรเลีย (8) Wildfire Energy จากประเทศออสเตรเลีย (9) X-Centric จากประเทศออสเตรเลีย และ (10) Captivate Technology จากประเทศนิวซีแลนด์

โดยผู้ชนะ Alterno จากประเทศเวียดนาม นำทีมโดยฮาย โฮ​ ผู้ร่วมก่อตั้ง และเคนต์ เหงียน​ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดย Alterno เป็นสตาร์ทอัปที่คิดค้นโซลูชันที่ลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และความร้อนในบ้านเรือน ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะสร้างโซลูชันการกักเก็บพลังงานความร้อนต้นทุนต่ำแห่งแรกของเอเชีย เพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนและตั้งเป้าที่จะขยายการใช้งานออกไปทั่วภูมิภาคภายในปี 2050

ฮาย โฮ​ ผู้ร่วมก่อตั้ง Alterno

ฮาย โฮ​ ผู้ร่วมก่อตั้ง ให้สัมภาษณ์ว่า Alterno สร้างเทคโนโลยีแบตเตอรี่ทางเลือกใหม่จากทรายทุกประเภท ตั้งแต่ทรายจากทะเลทราย จากทะเล หรือทรายสำหรับก่อสร้าง และเชื่อว่าเทคโนโลยีขององค์กรมีส่วนช่วยในระบบนิเวศได้ แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วพบว่ามีหลายอย่างที่ต้องปรับปรุง จนกระทั่งพบกับโครงการ Greenhouse Acceralator

“เทคโนโลยีจากทรายถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1970 (พ.ศ. 2513) โดย NASA ที่ผ่านมาเทคโนโลยีไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก แต่เมื่อโลกเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพลังงานเนื่องจากโลกร้อน เราจึงมองหาเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสร้างบริษัทขนาดเล็กเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อน และได้ไอเดียจากทรายที่ถูกใช้สร้างความร้อนมานับพันปี รวมถึงการใช้ทรายทำอาหาร เช่น กาแฟตุรกี”

ฮาย กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงพลังงานทางเลือก คนส่วนใหญ่จะนึงถึงพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งต้องใช้ลิเทียมในการช่วยกักเก็บพลังงาน ทางเลือกนี้อาจได้ผลดีเมื่อใช้กับโทรศัพท์หรือรถยนต์ แต่ไม่ใช่กับโรงงานที่ต้องทำงานตลอดเวลา ส่วนในกรณีของเป๊ปซี่มีหลายขั้นตอนแต่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรไฟฟ้า และเป็นโอกาสที่จะสร้างความร้อนโดยยังรักษาต้นทุนให้ต่ำด้วย

“ในการทำอาหารเราต้องทำให้น้ำมันร้อนถึง 70-80 องศาเซลเซียส และในการทดลองเราสามารถทำได้ถึง 100 องศา เมื่อได้มาทดลองทำในโรงงานของเป๊ปซี่เราสามารถดันอุณหภูมิได้ถึง 180 และ 200 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิระดับเดียวกับที่เป๊ปซี่ใช้ โดยเราสามารถขจัดกระบวนการอบแห้งและการทอดได้อย่างสมบูรณ์ด้วยเทคโนโลยีของเรา”

จากแนวคิดและกระบวนการทำงานทั้งหมด ทำให้ Alterno เป็นสตาร์ทอัปที่มุ่งสร้างความยั่งยืนลดผลกระทบเชิงลบ รวมถึงการสเกลเทคโนโลยีต่อได้ในภูมิภาค และถ้าเทคโนโลยีได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้ว ก็จะสามารถใช้ทรายจากทุกที่บนโลกที่มีทรายได้

“ไม่ว่ารัฐบาลจะให้โจทย์อะไรก็ตาม เราก็รับมันและทำให้มันกลายเป็นแนวทางแก้ไข ทุกวันนี้เราพยายามเป็นส่วนหนึ่งที่จะชะลอสภาวะโลกร้อนให้มากที่สุด” ฮายกล่าว

Powered Carbon สตาร์ทอัปจีนผลิตปุ๋ยคาร์บอนต่ำ

ขณะที่ผู้ชนะโครงการ Greenhouse Accelerator ปี 2023 คือ บริษัทสตาร์ทอัป Powered Carbon จากประเทศจีน กับโครงการ Powered Carbon ของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสีเขียว โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียเพื่อใช้เป็นปุ๋ยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มการดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าการให้ปุ๋ยแบบเดิม ด้วยปุ๋ยสูตรใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เมื่อโครงการในปี 2023 สิ้นสุดลง Powered Carbon ได้จัดหาปุ๋ยอินทรีย์คาร์บอนต่ำให้กับไร่มันฝรั่งมากกว่า 2,000 เอเคอร์ของ PepsiCo China ทั่วทั้งมณฑลกวางตุ้ง ซานตง กานซู่ และมองโกเลีย ผ่านการสนับสนุนจาก PepsiCo ให้สามารถขยายเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรได้ ทำให้สตาร์ทอัปมีรายได้เพิ่มขึ้น 6 เท่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 และเป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น

ส่วนประเทศไทย มีสตาร์ทอัปที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายคือ Green2Get แพลตฟอร์มดิจิทัลและแอปพลิเคชันเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน นำทีมโดยเปรม พฤกษ์ยานนท์

แม้ Green2Get จะไม่ใช่ผู้ชนะอันดับ 1 ของโครงการ แต่ก็ได้มีการทำงานร่วมกันกับเป๊ปซี่ คือ เป็นผู้ออกแคมเปญโซเชียลมีเดีย โดยใช้ Lays ในประเทศไทยขับเคลื่อนการรวบรวมบรรจุภัณฑ์ฟิล์มให้นำกลับมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และผู้บริโภคต้องเก็บถุงพลาสติก Lays ที่ใช้แล้วและส่งไปยังโรงงานรีไซเคิล/อัปไซเคิล ด้วยแอปพลิเคชัน Green2Get