ThaiPublica > เกาะกระแส > กกร.ส่ง ‘สมุดปกขาว’ ชงนายกฯแก้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ

กกร.ส่ง ‘สมุดปกขาว’ ชงนายกฯแก้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ

28 ตุลาคม 2024


เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เปิดสมุดปกขาว กกร. ชง นายกฯ 4 แนวทาง แก้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ ดัน GDP กลับมาขยายตัว 3-5% ต่อปี ระยะสั้นจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหารถกระบะถูกยึด – สกัดกั้นสินค้านำเข้าราคาถูก ไม่ได้มาตรฐาน – พร้อมจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วย SMEs พร้อมโปรโมทสินค้า “Made In Thailand” เป็นซอฟต์พาวเวอร์ – แนะรัฐจัดโครงการ ‘คนละครึ่ง’ อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะพบปะหารือกับคณะกรรมการร่วมเอกชน ซึ่งจากการรับฟังครั้งก่อนได้รับประโยชน์และนำไปปรับปรุง ในการบริหารงานของรัฐบาลได้อย่างมาก ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหาศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี ส่งผลกระทบต่อประชาชน และเกิดหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น จึงต้องการให้ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันในทุกมิติ ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้เพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายหารายได้ใหม่ ๆ เข้าประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ที่ผ่านมาไม่กี่เดือนรัฐบาลได้เร่งทำเรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” โดยได้ร่วมมือกับเอกชนจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นภาคสำคัญในการทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งรัฐบาลและภาคเอกชนจะทำงานร่วมกันเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมสนับสนุนและรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพื่อนำไปปรับให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาลต่อไป”

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมเสนอรายงานผลจากการระดมความเห็นจากตัวแทนภาคธุรกิจในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลนำไปประกอบเป็นแนวทางกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดรับกับสถานการณ์ของโลกและภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลางและระยะยาว เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยมีเป้าหมายไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 2. การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 3. การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ และ 4. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายสนั่น ได้ขอให้รัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมประชาชนที่ใช้รถเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถกระบะในการทำมาหากิน โดยขอให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน อาทิ การขยายเวลาการผ่อนชำระ การยกเว้นดอกเบี้ยปรับ ค่างวดรถที่ค้างชำระ และขอให้ผ่อนปรนในการยึดรถ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีรถใช้ทำมาหากินได้ต่อไป

ส่วนด้านการท่องเที่ยว นายสนั่น ขอให้รัฐบาลเร่งประชาสัมพันธ์เทศกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะงานพืชสวนโลก ซึ่งจังหวัดอุดรธานีจะเป็นเจ้าภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

สำหรับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ นายสนั่นขอให้รัฐบาลพิจารณานโยบายในสมัยของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำมาต่อยอดเดินหน้าโครงการต่อไป เพื่อประโยชน์ต่อประชาชน และต่อพื้นที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ และขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลังเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ พร้อมเสนอให้มีการพบปะหารือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันกับนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลทุก ๆ 6 เดือน

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่าขอให้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยเสนอให้รัฐบาลจัดทำโครงการ “คนละครึ่ง” ต่อเนื่องจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ เพื่อเป็นการกระตุ้นในระยะเร่งด่วน โดยเฉพาะต้นปีหน้านี้ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงที่ประชาชนต้องจับจ่ายซื้อของและเดินทางท่องเที่ยว พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

“สุดท้ายนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณภาคเอกชนสำหรับข้อเสนอและแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยจะนำข้อเสนอไปพิจารณา และจะติดตามการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ ในรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำไว้ดีอยู่แล้ว ให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ให้สะดุด ในส่วนของกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดต้นทุนแฝงและกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ขอให้ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาล ซึ่งพร้อมพิจารณาดำเนิน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังตอบรับข้อเสนอของภาคเอกชนในการพบปะหารือร่วมกันอย่างน้อย 6 เดือนอีกด้วย” นายจิรายุ กล่าว

สำหรับข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจัดทำโดย กกร.มีรายละเอียดดังนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทาย และปัญหาหลากหลายมิติ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย , สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ระดมความเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่าง ๆ และจัดทำเป็นสมุดปกขาวข้อเสนอทางเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการพิจารณาดำเนินการ ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีประเด็นข้อเสนอเป็น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 2) การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 3) การบริหารจัดการน้ำ และ 4) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีรายละเอียดดังนี้

1. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัว กระทบการส่งออกในภาคเกษตรและการผลิต หนี้ครัวเรือนสูง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมยังพึ่งพาการผลิตต้นทุนต่ำ ขาดนวัตกรรม และ การพัฒนาทักษะแรงงานยังไม่ทันต่อความต้องการ

ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่

    1.1 มาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐานและบริการที่จำเป็น การตรึงราคาค่าไฟฟ้า น้ามันดีเซล เพื่อลดต้นทุน ผู้ประกอบการและลดภาระของประชาชน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และ คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ (กระบะ) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน จำเป็นต้องมีมาตรการผ่อนผัน เพื่อบรรเทาภาระของประชาชนให้สามารถกลับมาประกอบกิจการได้

    1.2 การลดราคาพลังงาน และปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ตลอดจนผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน)

    1.3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแยกวิธีการให้เหมาะสม และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (1) มุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจไปยังกลุ่มเปราะบางเป็นสิ่งเร่งด่วนก่อน ซึ่งรัฐบาลได้ดาเนินการไปแล้ว (2) ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกาลังซื้อ สามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสอง เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก (3) สำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการ Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่น ๆ โดยรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ

    1.4 กระจายงบประมาณไปยังภูมิภาคอย่างทั่วถึง กระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งใช้จ่ายงบประมาณตามแผนงานโครงการที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นส่วนเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

ข้อเสนอระยะกลาง ได้แก่

    1.5 การหาแนวทางผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบ โดยพิจารณา incentive จูงใจให้ประชาชน และภาคธุรกิจที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ การเชื่อมโยงข้อมูล ทั้งรัฐและเอกชนให้ธุรกิจมีตัวตนในระบบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ในระบบได้ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ Rule of law และการบังคับใช้กฎหมาย

    1.6 มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบ ควบคู่กันอย่างเหมาะสม โดยมี pathway ของการลดลงของหนี้ที่ชัดเจน

2. การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งปัจจุบัน SMEs ยังประสบปัญหา ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ตลอดจนขาดการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตภัณฑ์

ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่

    2.1 การเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยการศึกษาผลกระทบของสินค้าที่ทะลักเข้ามาในประเทศอย่างจริงจัง การใช้ Data Driven ส่งเสริมสินค้าไทยผ่าน Platform E-Commerce ควบคู่ไปกับการผลักดันสินค้าไทยออกไปในต่างประเทศ การจัด Priority สินค้าบางประเภทของไทยที่จำเป็นต้องมีมาตรการปกป้อง และใช้เป็นมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ การเพิ่มมาตรการด้านการลงทุน โดยเน้นใช้ Local Content ให้มากที่สุด ตลอดจนมีมาตรการควบคุมระบบชำระเงิน Payment ต่างชาติให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ภายใต้ การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ

    2.2 สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และกองทุนต่าง ๆ ทั้ง สสว., บสย. และธนาคารแห่งประเทศไทย

    2.3 การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ได้แก่ 1) มาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับ SME ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาเครดิตบูโร และอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ โดยควรจัดสรรวงเงินเฉพาะเพื่อช่วยเหลือเพื่อประคองธุรกิจ และการผ่อนปรนเงื่อนไขการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ สำหรับกลุ่มที่สามารถดำเนินกิจการได้ปกติ รัฐบาลควรมีมาตรการสินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำ ปรับเพิ่มระยะเวลาการผ่อนเป็นทางเลือก และการปรับลดค่าธรรมเนียมค้าประกันสินเชื่อ 2) มาตรการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการสู่ Smart SME เช่น จัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การจัดหาตลาดรองรับสินค้านวัตกรรม การจัด Event แสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ สนับสนุนเงินทุนสำหรับการขอการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมแก่ SME 3) การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business

    2.4 Corporate digital ID ระบบพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับนิติบุคคล เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่จดเป็นทะเบียนนิติบุคคล ในการแก้ปัญหาบัญชีม้าที่เป็นบัญชีนิติบุคคล

3. การบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก

ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่

    3.1 มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการทางด้านการเงินและการลงทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบกิจการได้ในกรณีที่ประสบสถาการณ์ที่เกิดจากภัยพิบัติ

    3.2 การบูรณาการหน่วยงานภาครัฐในการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาระบบแจ้งเตือน แบบ Real time ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ

    3.3 การจัดตั้ง War Room ของรัฐบาล เพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ

    3.4 ผลักดันให้มีการพัฒนาและเชื่อมต่อแหล่งน้ำทั่วประเทศ

ข้อเสนอระยะกลาง ได้แก่

    3.5 การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างความต้องการน้ำ (Demand) และการจัดหาน้ำ (Supply) อย่างสอดคล้องและเหมาะสม

    3.6 ขยายผลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้นแบบไปสู่พื้นที่อื่นๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

    3.7 ส่งเสริมองค์ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจด้านเทคโนโลยี และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอระยะยาว ได้แก่

    3.8 นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ (Infrastructure and Water Management) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทันสมัยและยั่งยืน เพื่อรองรับการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และชุมชน อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถรับมือกับปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน

4. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั่วประเทศ ส่งผลให้คนไทยมีงานที่มีคุณภาพ รายได้สูง และเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ข้อเสนอระยะเร่งด่วน ได้แก่

    4.1 ผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนใน EEC โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน การจัดทำสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจและดึงดูดการลงทุน และเสนอให้เพิ่มจังหวัดปราจีนบุรี เป็นอีก 1 จังหวัด ที่รวมอยู่ในพื้นที่ EEC

    4.2 การอำนวยความสะดวกด้านการถ่ายลำทางเรือในระบบคอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยขอพิจารณาจัดทำ Transshipment Sandbox เป็นระยะเวลา 1 ปี

    4.3 การปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพ และการทุ่มตลาด การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย สินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) และการส่งเสริมสินค้าไทยด้วยการโปรโมทซอฟต์พาวเวอร์

    4.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ และการส่งเสริมการค้าชายแดน โดยเฉพาะการเจรจากับเพื่อนบ้าน เพื่อยกระดับจุดผ่านแดนทางการค้า การแก้ไขข้อจำกัด และอุปสรรคการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการนำเข้า – ส่งออกสินค้าทางอากาศ

    4.5 เร่งรัดการปรับปรุง – ทบทวน กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมดของภาครัฐ

ข้อเสนอระยะกลาง ได้แก่

    4.6 ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต โดยรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์ ICE การผลักดันนโยบาย ZEV ให้มีความต่อเนื่องทั้ง Eco System การส่งเสริมนโยบาย Part Transformation เข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ฯลฯ

    4.7 ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) ภายใต้แนวคิด BCG Model ทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ส่งเสริมการนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ เป็นวัสดุหมุนเวียน (Circular Materials) และการใช้ประโยชน์ใหม่ (waste symbiosis) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) รวมถึงบูรณาการแนวทางการออกกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติต่อเรื่อง Climate Change ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

    4.8 เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และก้าวทันกระแสโลก ทั้งการเจรจากับประเทศคู่ค้าให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินและการค้าระหว่างกันในภูมิภาค การส่งเสริม Cashless & digital economy การสนับสนุน tax incentive สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้ Transition finance และการลงทุนที่เกี่ยวกับ Green ฯลฯ

ข้อเสนอระยะยาว ได้แก่

    4.9 เร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค การเพิ่มสิทธิประโยชน์ การอำนวยความสะดวก เรื่องการครองที่ดินในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะ หรือ ความเชี่ยวชาญระดับสูง

“ในการนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด จะมีส่วนช่วยผลักดันข้อเสนอดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยมีเป้าหมายให้ GDP ของไทยกลับมาเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 – 5% ในอนาคตอันใกล้ต่อไป…”