
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เกิดขึ้นในหลายจุดพร้อมกันทั่วโลก เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและพันธมิตรในตะวันออกกลาง สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมถึงสงครามกลางเมืองในอีกหลายประเทศ ถือเป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของโลกในปัจจุบัน โดยมี 3 ตัวแปรสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามในการวางแผนและตัดสินใจทางธุรกิจ
ตัวแปรแรกคือ เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง (Unexpected Events) เช่น โศกนาฏกรรม 911 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไปจนถึงการเปลี่ยนอำนาจในเมียนมาที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกระทบต่อเสถียรภาพของประเทศ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยากและอยู่นอกเหนือการควบคุม
ประการถัดมาคือ ฉากทัศน์ที่เลวร้าย (Worst Case Scenario) แม้ว่า Worst Case Scenario ส่วนใหญ่จะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิด (Probability) ค่อนข้างต่ำ แต่จะมีผลกระทบสูงและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ในหลายกรณีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น Worst Case Scenario ที่ได้วิเคราะห์ไว้ ทำให้การดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจในปัจจุบันมีความยากลำบากและต้องเผื่อใจมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น
ตัวแปรสำคัญสุดท้ายคือ การเปลี่ยนกฎระเบียบและอำนาจโลกใหม่ (New World Order) หากมองทิศทางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะพบว่า Geopolitics ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกเท่านั้น แต่เป็นการประกอบรวมหลายเหตุการณ์เข้าด้วยกันซึ่งนำไปสู่ประเด็นสำคัญที่ยิ่งใหญ่กว่าคือ การเกิดการเปลี่ยนแปลงและท้าทายขั้วอำนาจโลกเดิมที่มีสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเป็นผู้นำของโลก โดยขั้วอำนาจตรงข้ามอย่างจีนและรัสเซียกำลังแสดงอิทธิพลเพิ่มขึ้น และอาจผลักดันให้เกิด New World Order ได้ในอนาคต
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การตัดสินใจทำการค้าการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทั่วไป เช่น ขนาดตลาด และการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศหรือเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศของประเทศนั้น ๆ ได้อีกต่อไป แต่ต้องนำบริบทความเสี่ยงใหม่ ๆ เหล่านี้เข้ามาอยู่ในสมการการตัดสินใจด้วย ขณะเดียวกัน การวางแผนธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มความถี่มากขึ้น เนื่องจากการวางแผนธุรกิจระยะยาวในรูปแบบเดิม เช่น แผน 5 ปี อาจไม่ตอบโจทย์กับภาวะในปัจจุบัน
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ตัวอย่างของผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อไทยในเวลานี้คือ สถานการณ์ความไม่สงบในทะเลแดงที่กลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือขนส่งสินค้า ทำให้เรือขนส่งสินค้าส่วนหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้เส้นทางเดินเรือที่ไกลและใช้เวลานานขึ้น โดยไปอ้อมทวีปแอฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮปแทนเส้นทางตัดผ่านคลองสุเอซ ซึ่งมีระยะทางไกลขึ้นราว 6,400 กิโลเมตรและใช้เวลาในการเดินเรือนานขึ้นเกือบ 2 สัปดาห์ ส่งผลให้ค่าระวางเรือแพงขึ้น โดยทำให้ ณ เดือนกันยายน 2567 ค่าระวางเรือเส้นทางไทย-ยุโรปอยู่ที่ราว 4,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ (40 ฟุต) แพงขึ้นกว่า 4 เท่าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกัน สงครามการค้าระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย จากการที่สหรัฐฯ หันไปทำการค้ากับประเทศอื่น ๆ แทนจีน ทำให้สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีน ในทางกลับกันไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นจากการที่จีนต้องระบายสินค้าส่วนเกิน (Overcapacity) ออกมายังประเทศอื่นรวมถึงไทย

นอกจากนี้ การเมืองโลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้วยังเปลี่ยนทิศทางของเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญจากการที่เม็ดเงินลงทุนของสหรัฐฯ ไหลออกจากจีนไปสู่ประเทศอื่น ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน เม็ดเงินจากผู้ประกอบการจีนเองก็มีการ Relocation ไปหาประเทศ Conflict-free มากขึ้น ซึ่งไทยมีแนวโน้มจะได้อานิสงส์ดังกล่าวเช่นกัน
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากความเสี่ยงของเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้กลยุทธ์ป้องกัน บริหารจัดการความเสี่ยงเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น การเลือก Term การชำระเงินให้เหมาะสม หากลูกค้ามีความเสี่ยงสูง ผู้ประกอบการควรเลือกวิธีการชำระเงินแบบ L/C ที่มีธนาคารผู้ซื้อมาเป็นผู้รับรอง หรือควรให้ผู้ซื้อชำระเงินล่วงหน้า (Advance Payment) นอกจากนี้ ยังควรทำความรู้จักลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถประเมินสถานะการค้าและการเงินของคู่ค้าว่าอยู่ในระดับปลอดภัยหรือไม่ โดยสามารถใช้บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อของ EXIM BANK ที่จะช่วยผู้ประกอบการเช็กสถานะทางการเงินของคู่ค้าปลายทางก่อนที่จะตกลงทำการค้ากันได้
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมีบริการประกันการส่งออกซึ่งถือเป็นการประกันความเสี่ยงที่ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้าส่งออก ทำให้สามารถการันตีได้ว่าถ้าส่งออกแล้วได้เงิน โดยมีบริการที่ครอบคลุมทั้งบริการประกันการส่งออกระยะสั้น ซึ่งมีเงื่อนไขการชำระเงินไม่เกิน 180 วัน และบริการประกันการส่งออกระยะกลางและระยะยาว ซึ่งมีเงื่อนไขการชำระเงินที่มากกว่า 180 วัน
ในกรณีที่ผู้ส่งออกมีความพร้อมมากขึ้นและต้องการขยายธุรกิจในรูปแบบการลงทุนเพื่อรุกตลาดมากขึ้น EXIM BANK ยังมีบริการประกันความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งเป็นการประกันความเสี่ยงทางการเมืองจากการที่โครงการลงทุนของผู้ลงทุนได้รับความเสียหายในการดำเนินนโยบาย กฎระเบียบ หรือการดำเนินการใด ๆ ของรัฐบาลประเทศที่ผู้ลงทุนไปลงทุน ตลอดจนภัยทางการเมือง ซึ่งมีผลกระทบในทางลบต่อโครงการลงทุนของนักลงทุนและความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ของนักลงทุน
จากประสบการณ์ของ EXIM BANK พบว่า ความเสี่ยงที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญบ่อยที่สุดคือ ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้าหรือชำระไม่ครบถ้วน ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะมีความยากลำบากและต้นทุนสูงมากในการติดตามหนี้ กลายเป็นหนี้สูญเพราะผู้ซื้อในต่างประเทศขาดสภาพคล่องหรือล้มละลาย EXIM BANK พร้อมเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการของ EXIM BANK สามารถปรึกษา EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999