รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา ไต้หวันจัดงาน “การแสดงดอกกล้วยไม้นานาชาติครั้งที่ 20” ขึ้นที่เมืองไถหนาน พร้อมกับการจัดการประชุมกล้วยไม้โลก (World Orchid Conference) ในแต่ละปี งานแสดงกล้วยไม้ไต้หวันจะดึงคนมาเข้าชมกว่า 300,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้ซื้อจากต่างประเทศกว่า 1,000 รายด้วย
เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไต้หวันเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมดอกกล้วยไม้ ชาวสวนที่ปลูกกล้วยไม้สามารถพัฒนาการเก็บรักษาต้นกล้า เพื่อส่งออกไปยังตลาดที่อยู่ไกล อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา แต่ละปีไต้หวันส่งออกกล้วยไม้เป็นมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 7,000 ล้านบาท ผลิตต้นกล้าดอกกล้วยไม้ปีหนึ่ง 100 ล้านต้น 80% ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเวียดนาม
จากไร่อ้อยสู่ “เรือนกระจก” กล้วยไม้
เมื่อปี 2004 The New York Times (NYT) ได้รายงานการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมกล้วยไม้ไต้หวันไว้ว่า ครั้งหนึ่ง พื้นที่ส่วนหนึ่งของไต้หวันเป็นไร่อ้อยของอุตสาหกรรมน้ำตาล แต่พื้นที่เหล่านี้ได้กลายเป็น “สายพานการผลิตกล้วยไม้” ไปแล้ว เช่น “เรือนกระจก” ขนาดใหญ่ ห้องแสดงสินค้า และห้องทดลองการแต่งพันธุกรรม สิ่งเหล่านี้เป็นก้าวแรกในแผนการของไต้หวันที่จะครองตลาดกล้วยไม้ ซึ่งปีหนึ่งมีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ หากความพยายามของไต้หวันประสบความสำเร็จ กล้วยไม้จะสูญเสียภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่ราคาแพง กลายมาเป็นสิ่งของราคาถูกลง เหมือนกับไม้ประดับอื่นๆ ในเทศกาลฤดูหนาว
เมื่อครั้งอังกฤษอยู่ในสมัยวิกตอเรีย หรือศตวรรษที่สิบเก้า กล้วยไม้เป็นของสะสมเพื่อแสดงความมั่งคั่งอย่างหนึ่ง เพราะกล้วยไม้มีรูปแบบลี้ลับ สีสันหลากหลาย ขึ้นอยู่ตามป่าเขาในป่าเขตร้อนที่คนเข้าไปไม่ถึง นักผจญภัยจึงเดินทางไปทั่วโลก เพื่อตามล่าหาสายพันธุ์ต่างๆ ของกล้วยไม้ป่า ที่ในปัจจุบันบางชนิดยังมีราคาหลายพันดอลลาร์
การปลูกกล้วยไม้เชิงพาณิชย์ในเรือนกระจก จึงเป็นการลิดรอนเกียรติยศศักดิ์ศรีบางอย่างของกล้วยไม้ การปลูกกล้วยไม้เชิงพาณิชย์ของไต้หวันจะทำให้กล้วยไม้เป็นดอกไม้ของคนทั่วไป ทางการไต้หวันต้องการเอาพืชเศรษฐกิจมาทดแทนการผลิตน้ำตาล เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ รัฐบาลมีแผนที่จะใช้งบประมาณอย่างมากกับอุตสาหกรรมกล้วยไม้ ที่เดิมปล่อยให้เป็นเรื่องเอกชนดำเนินการเอง อุตสาหกรรมกล้วยไม้ไต้หวันนิยมปลูกสกุล “ผีเสื้อกลางคืน” (Phalaenopsis) ที่ปลูกง่ายและนิยมปลูกลงกระถาง


รายงาน NTY กล่าวว่า กระแสโลกาภิวัตน์และการรับช่วงการผลิต (outsourcing) ทำให้กล้วยไม้มีราคาถูกลง กล้วยไม้หลายชนิดมีจุดเริ่มต้นจากห้องทดลองในสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น จากนั้นก็บรรจุในขวดทดลอง ส่งทางอากาศไปพื้นที่เพาะปลูก เช่น ในประเทศไทย แล้วส่งกลับมาสหรัฐฯ เพื่อดูแลให้เติบโตในเรือนกระจกที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาด โดยจะใช้เวลา 6-8 เดือนก่อนที่จะออกดอก
รัฐบาลไต้หวันลงทุน 65 ล้านดอลลาร์ไปกับการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในจังหวัดไถหนาน เช่น สถานที่แสดงพันธุ์ไม้ ห้องทดลองการแต่งพันธุกรรม สถานที่ป้องกันโรค พื้นที่การบรรจุภัณฑ์ และสถานีขนส่ง ให้เงินกู้ดอกเบี้ย 2% นาน 10 ปีแก่ภาคเอกชน ในการสร้างเรือนกระจก ในเวลานั้น ก็เกิดเรือนกระจกกล้วยไม้ทางพาณิชย์มากถึง 200 แห่ง
เกษตรกรที่ปลูกกล้วยไม้ในไถหนานกล่าวกับ NYT ว่า แม้จะต้องการให้มีการผลิตกล้วยไม้ในปริมาณมาก แต่ก็เอาใจใส่อย่างดีกับกล้วยไม้ที่ปลูก เช่น คนงานจะรดน้ำด้วยมือให้กล้วยไม้ได้รับน้ำมากพอ ไม่อนุญาตให้คนมาซื้อกล้วยไม้สูบบุหรี่ เพราะกล้วยไม้อ่อนไหวต่ออากาศเป็นพิษ เกษตรกรบอกว่า การส่งออกกล้วยไม้ปลูกในกระถางไปเอเชีย ยุโรป และลาตินอเมริกา โดยไม่มีปัญหาโรคหรือแมลง
การที่ไต้หวันส่งออกกล้วยไม้ปลูกในกระถางแทนที่จะบรรจุอยู่ในกล่อง ทำให้ไต้หวันสามารถส่งออกกล้วยไม้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้เวลาน้อยลงกว่าที่อยู่ในเรือนกระจกในอเมริกา ก่อนที่จะโตมีดอกบานขึ้นมา หลังจากที่ไต้หวันประสบความสำเร็จ เนเธอร์แลนด์ที่ครองตลาดดอกไม้ในยุโรป ก็ร้องเรียนให้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ อนุญาตแบบเดียวกันกับเกษตรกรชาวดัชต์
เกษตรกรปลูกกล้วยไม้ในฮาวาย ได้ร้องเรียนเรื่องการส่งออกกล้วยไม้ที่ปลูกในกระถาง รวมทั้งกล้วยไม้ตัดจากไทย ไทยไม่มีการส่งออกกล้วยไม้ที่ยังมีชีวิตมากนัก กล้วยไม้ที่มอบให้นักท่องเที่ยว หรือประดับตามภัตราคารล้วนนำเข้าจากไทย ทำให้เกษตรกรฮาวายต้องหันไปปลูกกล้วยไม้ในกระถางแทน แต่ในปี 2005 เกษตรกรฮาวายแพ้คดีที่เสนอให้ศาลห้ามการนำเข้ากล้วยไม้ปลูกในกระถางจากไต้หวัน

ตัวอย่าง “นโยบายอุตสาหกรรม” ไต้หวัน
ในบทความชื่อ Industrial Policy for the Twenty-Fist Century นั้น Dani Rodrik นักเศรษฐศาสตร์การเมืองของฮาร์วาร์ด ได้หยิบยกตัวอย่างความสำเร็จ “อุตสาหกรรมกล้วยไม้” ของไต้หวันมาสะท้อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาให้สูงขึ้น รวมทั้งบทบาท “นโยบายอุตสาหกรรม” (industrial policy) ของรัฐบาล ในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ
Dani Rodrik กล่าวว่า แนวคิดเดิมของการพัฒนาเศรษฐกิจ คือแนวคิดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ที่เสนอให้ประเทศแต่ละประเทศ ผลิตสิ่งของที่ตัวเองชำนาญเฉพาะด้าน (specialization) ตัวอย่างคลาสสิกในอดีต ถ้าโปรตุเกสชำนาญในการผลิตเหล้าไวน์ ก็นำสิ่งนี้ไปแลกเปลี่ยนกับเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่อังกฤษมีความชำนาญในการผลิต
แต่แนวคิดเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันเห็นว่า สิ่งที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นไม่ใช่การผลิตเฉพาะด้าน แต่คือความสามารถในการผลิตที่ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่กว้างขวาง คำถามมีอยู่ว่า ทำไมประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าประเทศอื่น หรือทำไมบางประเทศสามารถกระจายการผลิตจากภาคเศรษฐกิจดั่งเดิมมูลค่าต่ำ มาสู่ภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และการกระจายเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
จากจุดนี้ Dani Rodrik นำเอาการพัฒนา “อุตสาหกรรมกล้วยไม้” ของไต้หวันมาเป็นตัวอย่าง ที่สะท้อนแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน คือการกระจายเศรษฐกิจออกจากภาคเศรษฐกิจดั้งเดิมที่มีมูลค่าต่ำ มาสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น
ในอดีต ไต้หวันมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบแก่อุตสาหกรรมน้ำตาลและการส่งออก เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลง จนเป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจชนบทซบเซา ครัวเรือนมีหนี้สินมากขึ้น และเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจโดยรวม คำถามคือ อะไรจะมาเป็นพืชเศรษฐกิจทดแทนอ้อย ที่เป็นแหล่งรายได้ดั้งเดิมของครัวเรือนจำนวนมากมาย

ในไต้หวัน คำตอบคือการลงทุนของรัฐบาลมูลค่า 65 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมกล้วยไม้ระดับโลก รัฐบาลเป็นฝ่ายลงทุนในเรื่องห้องทดลองการพัฒนาพันธุกรรม สถานีป้องกันโรค พื้นที่บรรจุภัณฑ์และขนส่ง การสร้างถนน แหล่งน้ำและไฟฟ้า ป้อนเรือนกระจกกล้วยไม้ของเอกชน รวมทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร ที่จะสร้างเรือนกระจก
ข้อสรุปของ Dani Rodrik ก็คือว่า นโยบายอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาจะได้ผล ต้องเป็นความพยายามร่วมกันของภาครัฐกับภาคเอกชน ที่จะกระจายการผลิต (diversification) ของเศรษฐกิจ จากภาคการผลิตมูลค่าต่ำ มาสู่ภาคการผลิตมูลค่าสูง
เอกสารประกอบ
Orchids and advance chips: How Taiwan’s soft power is evolving, March 17, 2024, the Strait Times.
Once Elusive, Orchids Flourish On Taiwanese production Line, August 24, 2004.
Industrial Policy for the Twenty-First Century, Dani Rodrik, John F Kennedy School of Government, 2004.