ThaiPublica > เกาะกระแส > ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล “ปลดปล่อยพลังชุมชน–เฟ้นผู้นำที่ใช่” หัวใจพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง–มั่นคง

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล “ปลดปล่อยพลังชุมชน–เฟ้นผู้นำที่ใช่” หัวใจพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง–มั่นคง

16 กันยายน 2024


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

วันที่ 13 กันยายน 2567 สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสดำเนินงานขึ้นสู่ปีที่ 14 ในหัวข้อ “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก…Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” โดยมีการแสดงปาฐกถาพิเศษจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand”, ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “คนจนลดลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It”, ‘ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา’ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในหัวข้อ “สร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีส่วนร่วม…Big Heart Big Impact” พร้อมกับเสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” จากต้นแบบความสำเร็จการร่วมมือระหว่างองค์กรกับคนตัวเล็ก เพื่อพัฒนาต่อยอดและขับเคลื่อนพลังท้องถิ่น ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อเศรษฐกิจฐานราก ให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยคุณบวร วรรณศรี ผู้จัดการรัฐกิจชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด, คุณชาญ อุทธิยะ ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง, คุณชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, คุณอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด, คุณสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup คุณสุวภี อุ่มไกร (ดัมส์) รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนบัวโฮมสเตย์, คุณประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), คุณสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านเตาไหเหนือ, คุณมนัทพงศ์ เซ่งฮวด วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณ และ รศ. ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย กลุ่มเลน้อยคราฟ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “คนจนลดลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It” ว่า “ผมขอเริ่มจากภาพนี้ ‘ภาพลวงตาของความสำเร็จที่ไม่ยั่งยืน’ เป็นงานศึกษาที่ผมเคยทำในช่วงที่ผมเรียน วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ผมทำงานวิจัยในหัวข้อเรื่องของความเหลื่อมล้ำ และก็อยากจะรู้จริงๆ ว่าพี่น้องประชาชนฐานะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน”

“ผมได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า จริงๆ แล้วตัวเลขที่รัฐบาลบอกว่าคนจนลดลงจากประมาณ 4 ล้านครัวเรือน เหลือ 1 ล้านครัวเรือนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา หากเราหักเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลใส่เข้าไปเพื่อให้คนกลุ่มนี้มีเงินพอใช้จ่าย จริงๆ แล้วจำนวนของครัวเรือนที่ยากจนแทบจะไม่ลดลงเลย”

รัฐบาลชอบบอกว่าเราชนะแล้ว เราจัดการเรื่องคนจนไปหมดแล้ว แต่จริงๆ สิ่งที่จบไปนั้นเป็นเพราะว่าเราแจกเงินให้เขาไปใช้จ่าย แล้วก็บอกว่าเขารวยแล้ว หรือพ้นเส้นความยากจนแล้ว การแจกเงินลักษณะนี้เริ่มต้นตั้งแต่ประมาณปี 2550 หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% ของเงินได้ครัวเรือน แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่จนที่สุดมีรายได้ประมาณ 60% ของเงินเดือนจากเงินช่วยเหลือของรัฐบาลทั้งนั้น

และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือว่า คนที่ดีขึ้นมากว่า 3 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้ 64% ของครัวเรือนส่วนนี้ มีหัวหน้าครัวเรือนที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งก็หมายความว่าเราต้องช่วยคนกลุ่มนี้ตลอดไป และเราก็หลอกตัวเองว่าเขาอยู่ได้แล้ว นี่คือภาพที่ผมอยากจะบอกว่าเป็นภาพลวงตาอย่างหนึ่ง และเป็นภาพที่เราปลอบใจตัวเองว่าเราได้แก้ปัญหาแล้ว แต่ความจริงปัญหายังอยู่ตรงนั้น

หากเราไปดูค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (gini coefficient) ด้านรายได้ของเรา 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขดีขึ้นเรื่อยๆ (มีแนวโน้มลดลง) แต่ถ้าหักเงินช่วยเหลือของรัฐบาลออกไปจะเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยไม่ได้ลดลงเลย

แต่ที่น่าตกใจมากก็คือรัฐบาลใช้เงินเยอะมากเลย แต่ละปีใช้งบประมาณรวมกันกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปีเพื่อหยุดเรื่องของความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว และถ้ารวมงบประมาณในหมวดยุทธศาสตร์ด้านอื่นแล้วจะมีวงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท

เงิน 1 ล้านล้านบาทต่อปี ใช้ติดต่อกันมาทุกๆ ปี แต่ความเหลื่อมล้ำของประเทศไม่ได้ลดลงเลย และความยากจนจริงๆ ก็ไม่ลดลงด้วย ถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งผมมาพูดเรื่องนี้ในงานของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ผมก็ได้หาทางออกหรือแนวทางในการแก้ปัญหาเอาไว้ด้วย

อีกประเด็นที่ผมอยากจะพูดตั้งแต่แรกเลย คือ เรื่องของการเมือง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง นักการเมืองก็อยากจะช่วยคนแบบถ้วนหน้า หรือจัดสวัสดิการถ้วนหน้า universal income support โดย “การแจกเงินประชาชน” ซึ่งมันยากที่จะเป็นไปได้

ถามว่าทำไมถึงยาก ผมอยากให้ดูตัวเลขก่อนเอา 66 คูณ 2,997 คูณ 12 หมายความว่า หากเราให้เงินประชาชนเท่ากับเส้นความยากจน คือ ต้องแจกเงิน 2,997 บาทต่อเดือนให้กับคน 66 ล้านคนทุกๆ เดือนเป็นเวลา 12 เดือน รัฐบาลต้องใช้เงินเกือบ 2.4 ล้านล้านบาทถึงจะสามารถเลี้ยงเขาให้พ้นจากเส้นความยากจน ซึ่งการให้เงินประชาชน 3,000 บาทอาจจะอยู่ได้ แต่ไม่ค่อยดีในสภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน

ขณะนี้มีความพยายามจากหลายฝ่ายที่บอกว่า รัฐบาลต้องแจกเงินคนจนเพื่อให้เขาอยู่ให้ได้ แต่มันยากที่จะเป็นไปได้ นี่คือความพยายาม อย่างเช่น อยากจะทำนโยบายเงินบำนาญให้กับประชาชนอย่างถ้วนหน้า 13 ล้านคน แจกคนละ 3,000 บาท ต้องใช้เงินไปประมาณเกือบ 4 แสนล้านบาท นี่คือความพยายามที่ยากที่จะเป็นไปได้ และที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะนำไปสู่คำตอบที่ว่า แล้วทางออกคืออะไร หากรัฐบาลมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายลักษณะนี้

“ทางออกในการแก้ปัญหาความยากจนที่ผมมาพูดในวันนี้ก็คือ เรื่องการปลดปล่อยพลังของชุมชน ผมอยากจะเล่าให้ฟังคร่าวๆ สมมติผมมีลูก 5 คน ถ้าผมต้องเลี้ยงทุกคน แจกเงินให้เขาใช้ชีวิตทุกๆ เดือน ผมคงตายแน่ๆ เลย แต่ถ้าเขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ พ่อก็จะสบายใช่หรือไม่ ตรงนี้คือหัวใจเลย เราต้องพยายามปลดปล่อยพลังของลูกของเรา เพื่อให้ลูกของเรายืนอยู่บนขาของตนเองให้ได้ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องรับภาระ และสามารถเข้าไปช่วยคนที่เขามีปัญหาจริงๆ ได้ โดยเปลี่ยนจากแนวคิดที่ว่า เขารอให้เราไปช่วย เป็นให้เขาช่วยตัวเองให้ได้ ถ้าเริ่มจากแนวคิดที่ใช่ เราจะสามารถตอบโจทย์เรื่องความยากจนของประเทศได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงเรื่องการจัดระบบสวัสดิการมาดูแล”

ผมอยากจะเริ่มจากตัวอย่างในกรุงเทพฯ ไปที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ตลาดน้ำนี้เป็นที่นิยมมากเลย ผู้ที่ริเริ่มคือลุงชวน ซึ่งผมรู้จักลุงชวนมาสักพัก ลุงชวนเล่าให้ฟังว่า ตอนแรกมีคนว่าผมบ้า เรียกผมว่าชายแก่บ้านริมคลอง พายเรือเก็บขยะในคลองอยู่คนเดียว ซึ่งผมคิดว่าถ้าจะทำตลาดน้ำให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่น่าสนใจ จะมีขยะลอยน้ำอยู่ได้อย่างไร ตลาดน้ำจะอยู่กับคลองที่สกปรกไม่ได้”

“ตลาดน้ำลัดมะยม นี่คือความพยายามของคนคนหนึ่ง ที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่จากที่ไม่มีอะไรเลย มีแต่ขยะ ให้กลายเป็นตลาดน้ำที่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ และมีคนนับร้อยสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เพราะเขามีความเชื่อว่า ถ้าปลดปล่อยพลังของชุมชน เขาจะยืนอยู่บนขาของตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องรอใครมาช่วย นี่คือหัวใจ”

ทั้งหมดนี้เป็นงาน ตอนที่ผมทำงานอยู่ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ในสมัย ดร.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เราเชื่อว่าพี่น้องประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องรอ แต่ก็มีนักการเมืองบางท่านบอกว่า “รอนิดนะป้า เดี๋ยวเอาเงินมาแจก แต่เลือกผมไปก่อน เดี๋ยวผมจะหามาให้ แต่สุดท้าย แต่พอหลังเลือกตั้งเสร็จได้พบกันอีก เขาบอกป้าว่าความจริงรัฐบาลมีเงินน้อย ไม่สามารถแจกได้ พยายามแล้วป้า นี่คือหัวใจเลย” ซึ่งผมก็มีสิทธิ์พูด เพราะผมเคยเป็นนักการเมืองมาก่อน แต่เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า ชุมชนสามารถทำเองได้อย่างไร

นี่คือสถาบันการเงินออมทรัพย์เพื่อการผลิตของชุมชนดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนเก็บออมวันละ 1 บาท ผมเคยพูดคุยกับชาวบ้านที่นั่น เขาบอกว่าเก็บเดือนละ 30 บาทเก็บไม่ได้ แต่คนจนถ้าเก็บวันละ 1 บาทตลอด 30 วัน เก็บได้ ผมถามว่าทำไมครับ เขาบอกว่าถ้าเก็บ 30 บาท เขาต้องเอาไปซื้อเหล้า ซื้อบุหรี่ ซื้อหวย เล่นกันพนัน แต่ถ้าเก็บวันละ 1 บาท มันเอาไปทำอะไรไม่ได้ และที่สำคัญ ถ้าเราเก็บวันละ 1 บาท เก็บทุกๆ วัน มี 3,000 คน ครบ 1 ปี ได้เงิน 1.06 ล้านบาท ถ้า 10 ปี ได้เงิน 10.6 ล้านบาท

“สถาบันการเงินที่นี่เริ่มต้นจากเงินประมาณ 1,000 บาท ตอนนี้มีเงินประมาณ 160 ล้านบาท โดยไม่ต้องรอเงินจากรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว เก็บจากสมาชิกในพื้นที่วันละ 1 บาท สามารถปลดหนี้ครัวเรือนได้ ที่นี่จะมีตู้เหล็ก 3 ชั้น เอาไว้เก็บโฉนดที่ดินของชาวบ้านประมาณ 100 กว่าฉบับ เป็นที่ดินที่กำลังจะหลุดมือจากชาวบ้านไปสู่ในทุน แต่ว่าสถาบันการเงินออมทรัพย์แห่งนี้ช่วยซื้อไว้ เพื่อรอให้ชาวบ้านนำเงินกลับมาซื้อคืน”

ที่ทำการของสถาบันการเงินออมทรัพย์แห่งนี้ ชาวบ้านในชุมชนทำด้วยตัวของเขาเอง เป็นออฟฟิศเล็กๆ มีพนักงาน 2-3 คน เครื่องคอมพิวเตอร์ได้รับจากอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในขณะเดียวกัน พอมีกำไรเกิดขึ้นก็สามารถจัดสวัสดิการไปให้กับพี่น้องประชาชนได้ ตั้งแต่การเกิด การศึกษา แต่งงาน เจ็บป่วย พิการ ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ เสียชีวิต สามารถจัดสวัสดิการโดยที่รัฐบาลไม่สามารถจัดให้ได้

สถาบันการเงินระดับชุมชนที่ชาวบ้านทำกันเองทั่วประเทศมีประมาณ 30,000 แห่ง แบ่งเป็นเก็บออมชุมชน 20,000 แห่ง และที่เป็นสวัสดิการประมาณ 10,000 แห่ง แล้วก็ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้จำนวนมาก

ที่นี่คือชุมชนบ่อนไก่ อดีตเคยเป็นสลัมมาก่อน เกิดเหตุไหม้ไฟไป 2 ครั้ง เราบอกชาวบ้านที่นี่ว่า อย่ากลับไปเหมือนเดิมเลย ทำบ้านมั่นคงกันเถอะ เราก็ทำบ้าน 2 ชั้นครึ่งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ในราคาหลังละ 250,000 บาท แต่ว่าตัวบ้านเป็นของชุมชน หากจะออกจากบ้าน ต้องคืนให้ชุมชน แต่เราไม่ได้ให้แค่บ้าน เหมือนกับการเคหะแห่งชาติ เราให้ชุมชนแล้วบวกบ้านไปให้ด้วย

จากแนวคิดเดียวกันนี้ ปัจจุบันเราก็นำแนวคิดดังกล่าวมาทำบ้านมั่นคงที่ริมคลองลาดพร้าว เปลี่ยนจากคลองที่สกปรกกลายเป็นบ้านสวยๆ อย่างนี้ตลอดทางริมคลอง

เราร่วมกับชาวบ้านทำโครงการที่เรียกว่า “ป่าชุมชน” ป่าที่รัฐบาลทำแล้วหัวโล้น แต่พอชาวบ้านเข้าไปดำเนินการ สามารถเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้ ผมอยากให้ดูภาพชุมชนแห่งนี้อยู่ที่กาฬสินธุ์ นี่คือพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์

แต่เห็นอะไรไหมครับว่า นอกเขตพื้นที่ที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ มันหัวโล้นหมดเลย แต่ที่ชาวบ้านดำเนินการเองมันเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ในป่าพวกนี้สามารถเก็บเห็ดมาขายได้ปีละ 10 ล้านบาท

“ผมอยากจะขอให้เปลี่ยนมุมมองอย่างง่ายๆ ว่า เราต้องการให้ชาวบ้านปลดปล่อยความสามารถในการดูแลพื้นที่ด้วยตัวของเขาเอง จากอดีตชาวบ้านบุกรุกเข้าไปก็ติดคุก แต่ปัจจุบันเราเขียนกฎหมายป่าชุมชนให้ชาวบ้านสามารถดำเนินการลักษณะนี้ได้ ก็สามารถนำพลังของชุมชนออกมาใช้ได้ แล้วก็กลายเป็นรายได้ที่ยิ่งใหญ่ของเขา บางพื้นที่เก็บเห็ดเผาะได้ปีละ 20 ล้านบาท และก็ยังมีผลประโยชน์ด้านอื่นๆ อยู่ในพื้นที่นี้อีกด้วย”

พื้นที่นี้เมื่อก่อนเป็นป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม ชาวบ้านตัดสินใจร่วมมือกันทำป่าชายเลนชุมชน 3,000 ไร่ แล้วก็เปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ หลังจากนั้นก็ทำธนาคารปูม้า ผมถามชาวบ้านว่าได้เงินเท่าไหร่ เขาบอกว่าเก็บปูม้าได้ 4,000 บาทต่อวัน นำไปทำเป็นอาหารเสิร์ฟบนภัตตาคารลอยน้ำ

หลักการธนาคารปูม้าของชาวบ้าน ง่ายๆ ปูม้า 1 ตัวออกไข่ 1 ล้านฟอง ถ้าปล่อยออกไป ไม่ยอมขายเท่ากับทองคำ 2 บาท แต่ถ้าปล่อย 100 ตัว ก็เท่ากับทองคำ 200 บาท โดยเขาทำด้วยวิธีง่ายๆ ก็คือมีแม่ปู ก็โยนใส่ถังนี้ พอเสร็จปุ๊บก็เปิดให้ลูกปูไหลไปตามคลอง อย่างที่แหลมผักเบี้ยเมื่อก่อนแทบจะไม่มีปู แต่เมื่อเร็วๆ นี้ลูกน้องของผมเพิ่งไปมา เขาบอกมีปูเต็มไปหมดเลย ตอนนี้ส่งไปขายที่กรุงเทพฯ ได้กิโลกรัมละ 2,000 บาท ชาวบ้านได้ประมาณ 500 บาท

ฝายมีชีวิต นี่ก็เป็นความคิดของชาวบ้านเอง ใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000-50,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด แต่ว่าช่วยชะลอน้ำ ทำให้น้ำซึมลงไปใต้ดิน ป่าก็ดีขึ้น

อีกตัวอย่างเป็นธนาคารต้นไม้ คนนี้เคยทำงานอยู่ที่ ธ.ก.ส. มาก่อน เขาบอกว่า ตอนนี้ผมรวยแล้ว ผมมียางนา ไม่มาก ไม่น้อย ปลูกคันคู่ 20,000 ต้น มีเงินอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท เป็นเงินเก็บออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งทั้งหมดนี้ชาวบ้านสามารถทำได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงการคันนาทองคำ คันนาคู่ และโครงการธนาคารต้นไม้

“ตัวอย่างที่ผมนำมาแสดงทั้งหมดนี้ก็คือ การปลดปล่อยพลังของชุมชนให้เขายืนอยู่บนขาของตนเอง ซึ่งชาวบ้านสามารถทำได้ แต่เราชอบบอกว่าเขาทำไม่ได้ๆ แต่พอเราทำร่วมกันกับเขาจะเห็นว่าสามารถยกระดับชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และบริหารจัดการตนเองได้”

คำถาม แล้วจะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศไทย ทำอย่างไรจะช่วยคนตัวเล็กให้ไปสู่การพัฒนาที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน หัวใจที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมีผู้นำ ประเทศไทยโชคดีที่เราเคยมีโครงการมิยาซาวาเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน โครงการนี้เปลี่ยนชีวิตของคนหลายคน

อย่างคุณครูมุกดาเมื่อก่อนเป็นผู้นำชุมชน ทุกคืนเธอมีการประชุมกันว่าจะจัดการดูแลผู้หญิงจังหวัดพะเยาที่มาทำงานที่กรุงเทพฯ แล้วติดโรคกลับไป ทำอย่างไรจะช่วยเขาได้ ทุกคืนคุยจบก็กลับไปนอน วันรุ่งขึ้นก็มาคุยต่อ เพราะไม่มีเงิน แต่วันหนึ่งครูมุกดาได้รับทุนจากโครงการมิยาซาวา เธอจึงทำเป็นโครงการขึ้นมาดูแล ตอนนี้กลายเป็นผู้นำชุมชน จนกระทั่งเธอได้รับรางวัลจากสหประชาชาติ (UN) ในฐานะผู้นำชุมชนดีเด่นของโลก ประเทศไทยมีผู้นำแบบนี้เยอะมาก อย่างเช่น คุณไมตรีทำเรื่องฝายมีชีวิต คุณสมสุขทำเรื่องบ้านมั่นคง คุณยายถนอมทำเรื่องบ้านมั่นคงในชนบท คุณด้วงทำเรื่องของชุมชนชาติพันธุ์ และคุณลุงศิวโรจน์ทำเรื่องธนาคารในชุมชน

ดังนั้น สาเหตุที่รัฐบาลใช้เงิน 8 แสนล้านบา ไปทำงานช่วยชุมชนแล้วไม่เกิดผล ก็เพราะว่าเราไม่มีผู้นำชุมชนที่ดีไปทำโครงการ ซึ่งผมก็พูดได้เหมือนกัน เพราะผมอยู่กับรัฐบาลมานาน ยกตัวอย่างเช่น เราไปทำโครงการตลาดหมานอน รู้จักโครงการนี้หรือไม่ครับ คือ โครงการที่รัฐบาลสั่งให้ไปทำตลาดชุมชนทั่วประเทศไทย สั่งให้ทำตลาดตรงนู้นตรงนี้ แต่พอสร้างเสร็จแล้วไม่มีคน มีแต่หมานอน ตอนเปิดงานคนมาร่วมงานคึกคักเลย แต่พอสร้างเสร็จไม่มีคน สาเหตุคือมันไม่ควรจะมีตลาดอยู่ที่นี่แต่ต้น ก็เลยกลายเป็นอย่างนั้น

“จากการศึกษาของผมพบว่า ถ้าชุมชนมีผู้นำที่ดี เอาโครงการที่ดีไปให้ ปลูกป่าก็เกิดขึ้น แต่ถ้าผู้นำไม่ดี ต่อให้เอาเงินไปให้ ก็ไม่เจริญรุ่งเรือง มันกลายเป็นตำน้ำพริกละลายน้ำ นี่คือหัวใจในเริ่มต้น ดังนั้น เราต้องพยายามสร้างผู้นำ”

เราต้องสร้างผู้นำ และสร้างเครือข่ายของผู้นำ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะแต่ละคนทำเรื่องที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งทาง พอช. ก็มีโครงการที่พยายามสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะคุณป้าถนอม คุณครูมุกดา เขาบอกฉันแก่แล้ว และใครจะรับไม้ต่อ เราก็ต้องสร้างโครงการผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ขึ้นมา เป็นผู้นำองค์กรชุมชนจริงๆ เพื่อขับเคลื่อนโครงการลักษณะนี้ เช่น โครงการการออม สวัสดิการบ้าน เรื่องน้ำ ธนาคารต้นไม้ ธนาคารปูม้า ธนาคารที่ดิน เรื่องป่าชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน สินค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก และนักบริบาล เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อผู้นำเหล่านี้ได้ฝึกฝีมือในการเป็นผู้นำ

ฝึก 1 โครงการ ถือเป็นการฝึกมืออย่างหนึ่ง เหมือนกับเป็นช่างปั้น เราให้เขาฝึกเท้าก่อน มือก่อน หัวก่อน สักระยะหนึ่งเขาจะกลายผู้นำที่ยิ่งใหญ่ นำโครงการเหล่านี้มาเรียนรู้แล้วก็เดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันเราก็มีผู้นำจำนวนมาก นี่ก็เป็นอีกโครงการที่เราทำ หรือ “คนเห็นทาง” นำคนที่เคยทำโครงการที่สำเร็จมากระจายความรู้ ให้ชาวบ้านเรียนรู้จากกันเอง

แต่ที่สำคัญคืออะไร เราต้องช่วยชุมชน 3 ก้าว ก้าวแรก คือ “ลุกยืนได้” ชาวบ้านมีปัญหาหนี้นอกระบบมาก เหมือนปลิงดูดเลือด ทำอย่างไรถึงจะเอาปลิงออกไป โดยกำจัดหนี้นอกระบบออกไป และส่งเสริมการออม

หลังจากนั้น อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องกำจัดออกไป คือ “คนกลาง” ชาวบ้านขายของได้รับเงินแค่ 3-4 บาท พ่อค้าคนกลางที่กรุงเทพฯ เอาไปบวกกำไรกินส่วนต่างไปหมด ทำอย่างไรถึงต่อเชื่อมให้ชาวบ้านขายสินค้ากับผู้บริโภคได้โดยตรงอย่างที่ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว หากกำจัดพวกปลิงออกไป ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นยืนได้ ก้าวต่อไปคือทำอย่างไรให้ชาวบ้าน “แข็งแรง” เราก็จะมีโครงการ เช่น โครงการสุขภาพปฐมภูมิชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก นักบริบาลชุมชน หากคนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี ชุมชนก็เข้มแข็ง ในที่สุดเขาก็คือ “วิ่งได้”

ปัญหาของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา คือ เขาชอบให้ชุมชนยืนขึ้นมาได้ แต่พอถึงเวลาให้เขาวิ่ง ปรากฎว่าเขาวิ่งไม่ได้ และก็เอาคนที่ไม่ใช่เข้าไปช่วย ทั้งมหาดไทย เกษตร หลายคนปลูกมะเขือเทศยังไม่ออกลูกเลย ปลูกข้าวก็ไม่ไม่ออกดอกออกผล แต่ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอนชาวบ้านว่า พื้นที่ตรงนี้ต้องปลูกอ้อย ตรงนี้ต้องปลูกมันสำปะหลัง โกโก้ด้วย นอกจากนี้ยังไปให้ป้าต้องทการตลาด ทำบรรจุภัณฑ์ ทำโลจิสติกส์ และต้องทำนวัตกรรม ใช่ไหมครับ ป้าบอกว่า “ป้าบ่ฮู้เด้อ” ซึ่งคนพูดก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ไปสอนให้ป้าทำ สุดท้ายป้าก็ได้ทำ แต่ป้าขายสินค้าไม่ได้ ป้าต้องเป็นหนี้ ตอบคำถามว่าทำไมเราทำโครงการในลักษณะนี้แล้วเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปหมดเลย ซึ่งประเด็นนี้ผมมีคำตอบ คือ เราต้องพยายามหาทางให้เขาเชื่อมกับตลาดให้ได้ อย่างที่ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว ทำอย่างไรให้เขาวิ่งได้ เชื่อมกับตลาดได้ ทำรายได้ได้อย่างแท้จริง นี่คือบทบาทของเอกชน

สินค้านี้ หลายๆ คนเคยกินมาแล้ว ผมขอแนะนำขนม “ปั้นขลิบ” ของน้องหนึ่งวางจำหน่ายที่ Cafe Amazon เมื่อก่อนขายได้เดือนละประมาณ 80,000 บาท ขายเองทำไปทำมาได้เดือนละ 1 ล้านบาท แต่พอบริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “OR” ตัดสินใจเข้ามาเป็น partnership อย่างที่ผู้ว่าการ ธปท. บอก ปัจจุบันปั้นขลิบของน้องหนึ่งขายได้เดือนละ 20 ล้านบาทต่อเดือน

ยอดขายเดือนละ 20 ล้านบาท ชาวบ้านบอกว่าทำเป็นครัวกลางเลยไหม ทาง OR บอกว่าขอให้ทำที่ชุมชนก็แล้วกัน ภาพที่นำมาแสดงก็จะเห็นชาวบ้านมาช่วยกันทำปั้นขลิบวันละเป็นล้านก้อน รายได้ของชุมชนก็เปลี่ยนไป ทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาได้

ตัวอย่างถัดมาเป็น “ไก่ย่าง จีระพันธ์” เคยขายได้ 4 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันเขาทำซุ้มเล็กๆ ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. ประมาณ 100 ซุ้ม ยอดขายเปลี่ยนจาก 4 ล้านบาทมาเป็นประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี โดยที่ไม่ต้องใช้เงินอะไรเลย

“หากเราสามารถจับคู่ partnership ที่ใช่ และก็เชื่อว่าชาวบ้านทำได้ เราจะสามารถเปลี่ยนชีวิตของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง ตรงนี้ผมคิดว่าคือหัวใจสำคัญ เพราะนี่คือสิ่งที่จะทำให้เขาวิ่งได้ หากเราช่วยให้เขาลุกขึ้นยืนได้ แต่โลกมันเปลี่ยนไปเร็วมาก แล้วเขาไปต่อไม่ได้ เราก็ต้องหาคนที่ใช่มาช่วยเขา เพื่อให้เขาสามารถสร้างรายได้ที่แท้จริง”

ภาพนี้เราได้จัดงานขึ้นมาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมี ก.ล.ต., BOI, วิสาหกิจเพื่อสังคมหลายคนเข้ามาร่วมงานนี้ เราพยายามโฆษณาประชาสัมพันธ์ “มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม” ของ BOI ที่เชิญชวนภาคเอกชนมาช่วยกันพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่เอกชนสนใจมาก คือ ช่วยชุมชน และรัฐบาลก็ช่วยต่อ ซึ่งโครงการนี้ดีจริง ตอนนี้เขาทำได้แล้วประมาณ 400 ล้านบาท แต่ผมบอกเขาว่าควรจะทำได้สัก 20,000 ล้านบาท ถามว่าทำไม เหตุผลก็คือโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลจ่ายภาษีคืนไป โดยนำเงินออกจากมือของกระทรวงต่างๆ ที่ทำไม่เป็นแล้วไปให้เอกชนทำ เช่น ให้ OR ทำให้ OR ก็จะได้ภาษีคืนไป 1 ล้าน เงิน 1 ล้านบาทที่ OR ทำจะมีค่ามากยิ่งกว่า 1 ล้านบาท ที่กระทรวงต่างๆ ทำ เพราะว่า OR จะเอาทั้งคนและเครือข่าย เอาทุกอย่างเข้าไปช่วยชาวบ้าน

โครงการนี้ที่เราพยายามขับเคลื่อน เป็นโครงการ “ศูนย์เด็กเล็ก” ตอนนี้มีประมาณกว่า 100 กว่าศูนย์ เราตั้งใจจะทำ ตอนนี้เราคุยกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งทาง มช. อยากทำทั้งจังหวัดเชียงใหม่กว่า 600 ศูนย์ โดยศูนย์เด็กเล็กในสมัยก่อนก็คือศูนย์ที่เด็กๆ ถูกนำมาฝากเลี้ยง แต่ปัจจุบันนี้เราเปลี่ยนเป็นมุมต่างๆ เช่น มุมวาดรูป มุมวิทยาศาสตร์ มุมเครื่องครัว มุมอาชีพ มุมเลโก้ มุมนิทาน เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียนอย่างสนุกสนานตั้งแต่เช้าถึงเย็น พอเล่นเสร็จ ก็ต้องมารายงานให้เพื่อนๆ ฟังว่าเขาเล่นอะไรมาบ้าง เช่น เขาบอกว่าเพิ่งวาดรูปผีเสื้อ ทุกคนก็จะถามว่าตัวผู้ ตัวเมีย อายุเท่าไหร่ มีลูกแล้วหรือยัง จากภาพที่นำมาแสดงจะเห็นว่าเด็กๆ ยกมือขึ้นทุกคนเลย ปกติเด็กไทยไม่ชอบยกมือในลักษณะนี้

นี่คือสิ่งที่เราดำเนินการแล้ว ก็เดินหน้าต่อไป เราก็อยากจะทำศูนย์อย่างนี้ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนประเทศไทย ซึ่งใช้เงินลงทุนทั้งหมด 60,000 บาทต่อแห่ง เงิน 60,000 บาทสามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กๆ ได้เลย

สุดท้ายผมอยากจะพูดต่ออีกนิด คือ เมืองไทยที่เป็นปัญหามากก็เพราะว่าเราชอบทำโครงการประเภทนำร่อง หรือ “pilot project” พอลงมือทำเสร็จแล้วก็มีปัญหาเรื่องการขยายผล ทำให้แพร่หลาย ทำให้เต็มพื้นที่ ผมบอก พอช. ว่าเรามีหน้าที่ 2 อย่างเท่านั้น อย่างที่ 1 เราต้องสร้างผู้นำ เป็นจุดเริ่มต้น อย่างที่ 2 เราต้อง acquire skills หรือ เราต้องหาทักษะของการขยายผลให้เต็มพื้นที่ให้ได้ เพราะนี่คือปัญหาของประเทศไทย ทุกโครงการทำเป็น pilot project เมื่อพ่อไม่อยู่ ลูกตายหมด หมายถึงว่า พ่อออกจากตำแหน่งไป ลูกก็ขาดใจตาย เพราะไม่มีงบประมาณ

ความท้าทายคือ ทำอย่างไรเราจะสามารถทำให้โครงการดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และสามารถกระจายไปได้เต็มพื้นที่ อันนี้คือความยาก ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านเรียนรู้การออมเงินโดยที่รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเลย มีอยู่ 30,000 แห่งทั่วประเทศไทย อันนี้คือตัวอย่างที่เราพยายามคิด แม้กระทั่งศูนย์เด็กเล็ก เราก็กำลังพยายามทำให้ได้ 4,000 ศูนย์ภายในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า ตอนนี้เรามีหลากหลายวิธี ซึ่งภูเก็ตก็อยากทำทั้งจังหวัด เชียงใหม่อยากทำทั้งจังหวัด หากทำที่เชียงใหม่ได้ ขอนแก่น สงขลา ก็คงอยากทำ

แนวทางการพัฒนาทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความความสำเร็จในการพัฒนาที่แท้จริง เข้มแข็ง และยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “strength from bottom” สมัยก่อนตอนผมเรียนหนังสืออาจารย์ บอกว่า strength from the top แต่ strength from the top มันไม่เคยลงไปถึงข้างล่างเลย ดังนั้น แนวคิดใหม่เราจึงต้องเริ่มจาก strength from bottom โดยทำกับชุมชน ที่สำคัญที่ผมอยากจะบอกทุกคนว่าชาวบ้านเขาทำได้ เขามีศักยภาพ เพียงแต่เราต้องเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยศักยภาพของเขา หากเราทำได้ สิ่งที่จะเกิดตามมาคืออะไร

หากชุมชนทั้งประเทศไทยเข้มแข็ง ยืนอยู่บนตัวเองได้ เราก็จะมีโจทย์อีกแบบหนึ่ง คือ 10 คูณ 6,000 คูณ 12 หมายความว่า คนที่เราต้องช่วยไม่ใช่ 66 ล้านคน แต่อาจจะเหลือแค่ 10 ล้านคน จริงๆ แล้วเราก็สามารถช่วยเขาได้ในจำนวนเงินที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่ 3,000 บาท แต่อาจจะเป็น 6,000 บาท 12 เดือน คิดเป็นเงินงบประมาณแค่ประมาณ 720,000 ล้านบาท ผมคิดว่าถ้าช่วยได้เต็มที่แบบนี้ ก็โอเคแล้ว

…ทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ คือวิธีการช่วยอย่างมีศิลปะ เลือกช่วย โดยใช้พลังของเขา ช่วยตัวเองบางส่วนด้วย และก็ช่วยเฉพาะคนที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้จริงๆ แล้วก็ช่วยให้เต็มที่ ทั้งหมดจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาที่แท้จริง ผมคิดว่าเราพัฒนามานาน ยิ่งพัฒนาชุมชนยิ่งอ่อนแอ คนตัวเล็กยิ่งผอมลงไปเรื่อยๆ ขอบคุณครับ…

ป้ายคำ :