ThaiPublica > คอลัมน์ > ‘ทักษิณ’ จะเวนคืนรถไฟฟ้าเพื่อ…?

‘ทักษิณ’ จะเวนคืนรถไฟฟ้าเพื่อ…?

1 กันยายน 2024


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ที่มาภาพ : https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1138881#google_vignette

“ทักษิณ ชินวัตร” พ่อของนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ไปโชว์วิสัยทัศน์ในงานดินเนอร์ทอลฺก์หัวข้อ Vision for Thailand 2024 ที่ เครือเนชั่น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา ลีลา’ทักษิณ’ในคืนวันนั้นเสมือนเป็นผู้นำมาเอง อดีตนายกฯ นำเสนอหลายแนวคิดมีทั้งสิ่งที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว หรือแก้ปัญหาจุดหนึ่งแต่จะไปสร้างปัญหาอีกจุดหนึ่งขึ้นมาแทน

เช่น กรณีปัญหา หนี้ครัวเรือน ‘ทักษิณ’ เสนอให้ ปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน โดยให้แบงก์ชาติ ลดเงินที่แบงก์ จ่ายเข้ากองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ( FIDF ) และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมอยู่ที่ 0.46 – 0.47 % ลงครึ่งหนึ่ง หรือ 0.23 % เพื่อให้แบงก์นำภาระจ่ายที่ลดลงมา แฮร์คัด หรือ ลดหนี้ ให้กับลูกหนี้โดยเฉพาะหนี้รถยนต์ และหนี้ที่อยู่อาศัย

ประเด็นนี้ สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติให้ข้อมูลกับสื่อว่า เงินที่แบงก์นำส่ง กองทุนฟื้นฟูฯ 0.46 % จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี จากยอดเงินต้นพันธบัตรที่ออก 5.8 แสนล้านาท และจะลดลงเหลือ 5.5 แสนล้านบาท ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ หากลดลงครึ่งหนึ่งจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5 พันล้านบาท ส่งผลให้ยอดคงค้างหมดช้าลง

แต่แนวคิดที่ สร้างความประหลาดใจ คือ การที่ ทักษิณ เสนอให้เวนคืนรถไฟฟ้ากลับมาเป็นของรัฐซึ่งเป็นแนวทางแตกต่างจากช่วงเขาเป็นนายกฯอย่างสิ้นเชิง

‘ทักษิณ’ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ส่วนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายคงต้องทำ เพราะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า เราพูดไปแล้วต้องทำให้ได้ เราอาจต้องเวนคืนที่เอกชนบริหารกลับมาเป็นของรัฐแล้วจ้างเอกชนบริหาร และเราต้องกำหนดค่าต๋วไม่เช่นนั้นเอกชนจะมุ่งเน้นเรื่องกำไร เป็นสิ่งที่เราต้องทำ” ( ไทยรัฐ 23 ส.ค. 67 )

‘ทักษิณ’ พูดไม่ทันข้ามวัน ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รักษาการ รองนายกฯและรมว.กระทรวงคมนาคม ที่ไปนั่งซึมซับวิสัยทัศน์อยู่ด้วย ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า

เรื่องนี้ (เวนคืนรถไฟฟ้า ) มีแนวทาง เบื้องต้นกระทรวง ( คมนาคม ) จะต้องมีการศึกษาให้เกิดความชัดเจน เท่าที่ปรึกษากับกระทรวงการคลังมีแนวทางตั้งกองทุนขึ้นเพื่อระดมเงิน รวบรวมสำหรับการเข้าซื้อ กิจการรถไฟฟ้าที่เอกชนยังบริการภายใต้สัญญาสัมปทาน และกองทุนนี้จะแยกกับกองทุนที่จะเอาไปอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า ตาม ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ. …ด้วย

เข้าใจว่าที่ สุริยะยังไม่ระบุว่าจะระดมเงินจากไหนมาตั้งกองทุนซื้อกิจการรถไฟฟ้าจากเอกชน เพื่อบรรลุเป้าหมายค่าโดยสาร 20 บาท เพราะยังนึกไม่ออก เนื่องจากเงินที่จะระดมทุนมาตั้งกองทุนเวนคืนรถไฟฟ้าจากเอกชน หากทำจริงต้องเป็นกองทุนที่มีขนาดมหึมา มีมูลค่าไม่น้อยไปกว่า งบประมาณโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลเศรษฐา เคยวางไว้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการอยู่ 14 เส้นทางระยะทางรวม 276.8 กิโลเมตร (142.54 กม.ขยายในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ )โดยระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งฉวัดเฉวียนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล สัมปทานเกือบทั้งหมด ถือโดยเอกชน 2 ราย คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ในกลุ่ม ช.การช่าง และ บมจ.ระบบขนส่งมวลกรุงเทพ BTSC ในกลุ่มบีทีเอส

รถไฟฟ้าแต่ละสายมูลค่าโครงการหลัก หมื่นล้านกลางๆขึ้นไปทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย – มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม.ที่เปิดบริการไปเมื่อเร็วๆนี้ มูลค่าโครงการ 55,691 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) ระยะทาง 29.1 กม. มูลค่าโครงการ 56,691 ล้านบาท

หรือสายที่กำลังขุดทะลุทะลวงในหลายจุดของกรุงเทพฯอยู่เวลานี้ อย่างสายม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กม.มูลค่าโครงการ 128,235 ล้านบาท สายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กม. (เปิดบริการ 2571) สายสีส้มตะวันตก (บางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) 13.4 กม. รวม 2 ส่วน มูลค่าโครงการราว 1.4 แสนล้านบาท สัมปทานดังกล่าวอายุ 30 ปี เป็นการเปิดให้เอกชนลทุนแบบ PPP หรือ เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ

คำถามคือรัฐบาลจะหาเงินมาจากไหน ? เพื่อนำมาหนุนสวัสดิการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายโดยไม่ต้องปฏิรูปภาษีเพิ่มรายได้เข้าคลัง

แนวคิด เวนคืนรถไฟฟ้าจากเอกชนมาเป็นของรัฐ แตกต่างกับสิ่งที่’ทักษิณ’เคยทำในช่วงเป็นนายกฯอย่างสิ้นเชิง ช่วงนั้นรัฐบาลทักษิณได้แปรรูป รัฐวิสาหกิจ หลายแห่ง ตามที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กำหนดเงื่อนไขให้ไทยปฎิรูปเศรษฐกิจ แลกกับเงินกู้พยุงฐานะเศรษฐกิจหลังไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัด เป็นส่วนหนึ่งในแนวคิด ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่เชิดชูเอกชนพร้อมรณรงค์ให้ลดขนาดรัฐ ซึ่งครอบงำความคิดผู้นำการเมืองค่อนโลกในช่วงเวลานั้น ที่เชื่อมั่นว่าการแปรรูปกิจการรัฐเป็นบริษัทจำกัดคือหนทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ

ในปี 2544 รัฐบาลทักษิณ ผลักดันให้แปรรูป การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็น บมจ.ปตท. (PTT) ช่วงนั้น มีการประจายหุ้นผ่านโบรกเกอร์และแบงก์ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์กว่า 10,000 เครื่องทั่วประเทศที่ดูเหมือนว่า ความมั่งคั่งจากสมบัติของชาติที่ถูกเปลี่ยนเป็น “ หุ้น “น่าจะกระจายผู้ประชาชนรายย่อยอย่างทั่วถึง แต่ปรากฎว่าหุ้นที่กระจายออกมาส่วนใหญ่กลับไหลไปอยู่ในมือกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาลเวลานั้น

จากนั้นมีการแปรรูป การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เป็น บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) การสื่อสารแห่งประเทศไทย ( กสท.) เป็น บมจ. กสท.โทรคมนาคม องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ( อสมท.) เป็น บมจ.อสมท (MCOT) เป็นต้น

ในปี 2548 รัฐบาลทักษิณ ผลักดันให้มีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็น บมจ. กฟผ. ที่นำไปสู่การประท้วงจากภาคประชาสังคมหลายกลุ่ม ที่ชูสโลแกน ไม่อยากให้รัฐบาลขายสมบัติชาติ ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเพิกถอนการแปรรูปในปี 2549

น่าสนใจว่า ทักษิณ ที่เคยเชื่อว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนคือทางออกของรัฐ เหตุใดจึงมีแนวคิด เวนคืนรถไฟฟ้าจากเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ ?