สุนิสา กาญจนกุล รายงาน

โดยทั่วไปแล้ว คนส่วนใหญ่ลงทุนเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหลัก แต่มีคนบางกลุ่มที่เชื่อว่านักลงทุนสามารถแสวงหาผลกำไรไปพร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกของเรา
หากแนวคิดการลงทุนโดยคำนึงถึง ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล) คือกระแสที่เชี่ยวกรากจนเป็นที่พูดถึงในแวดวงธุรกิจทั่วโลก การลงทุนโดยอิงหลักศาสนา (faith-based investing) ก็คงเป็นธารน้ำที่ไหลรินและเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ที่สำคัญก็คือ ทั้งสองแนวทางต่างก็ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน่าชื่นใจ
แม้จะไม่มีตัวเลขอ้างอิงอย่างชัดเจน ว่าสินทรัพย์รวมที่นักลงทุนถือครองโดยอิงหลักศาสนามีมูลค่ามากเพียงใด เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนตามหลักความเชื่อทางศาสนาและศรัทธาเติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับการลงทุนแบบดั้งเดิม จนผู้เชี่ยวชาญการลงทุนประมาณกันว่ามีมูลค่าโดยรวมหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐ
แนวโน้มน่าสนใจ
ในทางทฤษฎี ตลาดนี้มีศักยภาพการเติบโตที่ชวนตื่นตะลึงหากจุดกระแสติด เพราะจำนวนประชากรผู้นับถือศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจนั้นมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยข้อมูลของศูนย์วิจัยพิวระบุว่า ในปี 2010 ประชากรโลกมีประมาณ 8 พันล้านคน ชาวคริสเตียนคิดเป็นสัดส่วนถึง 31.4% ของประชากรโลก ขณะที่ชาวมุสลิมมีสัดส่วนราว 23.2% และผู้นับถือศาสนาคริสต์และมุสลิมมีบทบาทอย่างสำคัญในตลาดการลงทุนโดยอิงหลักศาสนา
โรเบิร์ต เนตซ์ลี ประธานของอินสไปร์ อินเวสติง ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารราว 2.25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาเห็นความสนใจและการยอมรับการลงทุนตามหลักพระคัมภีร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยชาวคริสเตียนทั่วโลกกำลังตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารการลงทุน ให้สอดคล้องกับค่านิยมตามหลักพระคัมภีร์ที่พวกเขายึดถือ
การลงทุนโดยอิงหลักศาสนายังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจอีกด้วย คริส แมกมาฮอน ประธานคณะผู้บริหารของอควินัส เวลท์ แอดไวเซอรส์ กล่าวว่า พอร์ตการลงทุนโดยอิงหลักศาสนาของบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าพอร์ตการลงทุนทั่วไปในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่เนตซ์ลีชี้ให้เห็นว่ามอร์นิงสตาร์ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกที่มีชื่อเสียงด้านการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินและการลงทุน จัดอันดับให้กองทุนรวมดัชนีของอินสไปร์บางกองทุนได้คะแนนถึง 5 ดาว อีกทั้งยังมีผลตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของหมวดหมู่เดียวกัน
ไม่ใช่เรื่องใหม่
การลงทุนโดยอิงหลักศาสนาและศรัทธามีประวัติอันยาวนานที่สามารถสืบย้อนไปหลายศตวรรษ โดยมีรากฐานมาจากแนวคิดที่ว่า การตัดสินใจทางการเงินควรสอดคล้องกับหลักศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม
ในยุคโบราณและยุคกลาง ตำราทางศาสนาโบราณหลายฉบับทั้งของศาสนาคริสต์ อิสลาม และยิวมีการกล่าวถึงแนวทางการจัดการเงิน การค้า และการลงทุนในลักษณะที่สอดคล้องกับคุณค่าทางจิตวิญญาณและจริยธรรม
ตัวอย่างเช่น พระคริสต์ธรรมคัมภีร์กล่าวถึงการหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บดอกเบี้ยมากเกินไป กฎหมายอิสลามก็ห้ามการเก็บดอกเบี้ยและห้ามลงทุนในบางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการพนัน
ในศตวรรษที่ 18 กลุ่มเควกเกอร์ซึ่งเป็นคณะย่อยของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ผสมผสานความเชื่อทางศาสนาเข้ากับการลงทุน โดยหลีกเลี่ยงการลงทุนในบางอุตสาหกรรม เช่น อาวุธ ทาส และแอลกอฮอล์ เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 กลุ่มเมธอดิสต์ซึ่งเป็นคณะย่อยของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์เช่นกัน เริ่มขยายขอบเขตไปเน้นย้ำถึงจริยธรรมในเรื่องการเงินด้วย จอห์น เวสลีย์ ซึ่งเป็นผู้นำของคณะเมธอดิสต์ สนับสนุนให้ลงทุนอย่างมีจริยธรรม โดยแนะนำผู้ติดตามให้หลีกเลี่ยงธุรกิจที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือธุรกิจที่ส่งเสริมความชั่วร้าย
รูปแบบเริ่มแจ่มชัด
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 การลงทุนแบบรับผิดชอบต่อสังคมเริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่มักมีแรงบันดาลใจมาจากข้อกังวลทางศาสนาหรือจริยธรรม ตัวอย่างเช่น ระหว่างขั้นตอนการเลิกทาสในสหรัฐฯ นักลงทุนจำนวนมากปฏิเสธที่จะลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสหรือบริษัทที่ได้กำไรจากการค้าทาส
เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 การลงทุนโดยยึดหลักศรัทธาเติบโตควบคู่ไปกับขบวนการสิทธิพลเมือง เนื่องจากกลุ่มศาสนาและนักเคลื่อนไหวพยายามใช้อำนาจทางการเงินของตนเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม นักลงทุนจำนวนมากเริ่มหลีกเลี่ยงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ หรือบริษัทที่สนับสนุนการเลือกปฏิบัติ
เหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในปี 1971 เมื่อคริสตจักรเอพิสโคปัลเรียกร้องให้เจเนอรัล มอเตอรส์ ยุติการผลิตในแอฟริกาใต้ในช่วงที่รัฐบาลแอฟริกาใต้เริ่มใช้นโยบายแบ่งแยกเชื้อชาติ ชาวคาทอลิกและคริสตจักรอื่นๆ เข้าร่วมขบวนการนี้และก่อตั้งศูนย์ศาสนสัมพันธ์เพื่อความรับผิดชอบต่อกิจการองค์กร (Interfaith Center for Corporate Responsibility หรือ ICCR) ในปัจจุบัน ICCR ประกอบด้วยผู้ลงทุนสถาบันมากกว่า 300 รายทั่วโลกที่คอยบริหารจัดการสินทรัพย์มากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน การถือกำเนิดของกองทุนรวมและเครื่องมือการลงทุนอื่นๆ ที่ปรับให้เข้ากับหลักเกณฑ์ทางจริยธรรมและศาสนาก็พบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ กองทุนรวมที่ประกาศเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างชัดเจนกองทุนแรกคือกองทุนแพ็กซ์เวิลด์ฟันด์ (Pax World Fund) ซึ่งเปิดตัวในปี 1971 เช่นกัน โดยกองทุนนี้จะไม่ลงทุนในบริษัทที่สนับสนุนสงครามเวียดนาม
ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 การเงินอิสลามมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการจัดตั้งธนาคารและสถาบันการเงินอิสลาม เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมมีโอกาสในการลงทุนที่สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม
และเมื่อก้าวล่วงมาถึงศตวรรษที่ 21 การเติบโตของกองทุนที่ลงทุนโดยอิงหลักศาสนาก็ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดและค่อยๆ ก้าวหน้าขึ้นในอัตราที่น่าสนใจ กองทุนเหล่านี้ลงทุนครอบคลุมสินทรัพย์หลายประเภท รวมถึงหุ้น ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์ โดยมีทั้งองค์กรทางศาสนาและสถาบันการเงินเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน
คล้ายแต่ไม่ใช่ ESG
ในบางแง่มุม การลงทุนโดยอิงหลักศาสนาถือว่ามีความคล้ายคลึงกับการลงทุนโดยคำนึงถึง ESG ทั้งคู่ถือเป็นแนวคิดการลงทุนแบบคำนึงถึงคุณค่า (value-based investing) ที่ใส่ใจผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากผลตอบแทนทางการเงิน แต่ทั้งสองแนวคิดนี้มีพื้นฐานและเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
การลงทุนโดยอิงหลักศาสนาจะมุ่งเน้นการลงทุนที่สอดคล้องกับค่านิยมและหลักการทางศาสนาของผู้ลงทุนเป็นหลัก เช่น ลงทุนในกิจการที่ส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคม การช่วยเหลือชุมชนที่ด้อยโอกาส หรือการสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมที่มีความสำคัญในแง่ของศาสนา และหลีกเลี่ยงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมทางศาสนา เช่น อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ การพนัน หรือการผลิตอาวุธ
ในทางตรงกันข้าม การลงทุนโดยคำนึงถึง ESG จะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์และประเมินผลกระทบโดยใช้ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสิทธิมนุษยชน และการมีการกำกับดูแลกิจการที่โปร่งใส ปัจจัยเหล่านี้ถูกนำมาวิเคราะห์ควบคู่กับปัจจัยทางการเงิน เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนในระยะยาวโดยคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดจากปัจจัยเหล่านี้ สรุปง่ายๆ ว่าเป้าหมายการลงทุนโดยคำนึงถึง ESG คือการหาผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยรวมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิเคราะห์และตัดสินใจ
สิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์ชัดเจน
การคัดเลือกบริษัทที่จะลงทุนโดยอิงหลักทางศาสนามีหลักการสำคัญคือ คัดกรองบริษัทที่ลงทุนทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ การคัดกรองเชิงลบอาจรวมถึงการหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพนัน แอลกอฮอล์ ยาสูบ การทำแท้ง อาวุธปืน และกระสุนปืน ในขณะที่การคัดกรองเชิงบวกอาจพิจารณาถึงการจัดการที่ดี ความหลากหลายทางเชื้อชาติและเพศ รวมถึงการบริจาคเพื่อการกุศล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้จะไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการลงทุน แต่กระบวนการคัดกรองทำให้กลุ่มนักลงทุนโดยอิงหลักศาสนา เข้าไปมีบทบาทที่ค่อนข้างสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมไปโดยปริยาย เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้จำนวนมากเลือกที่จะไม่ลงทุนในบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่เน้นเรื่องการสร้างมูลค่าในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เช่น การบรรลุเป้าหมายเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการลดของเสีย จึงเป็นการผลักดันให้เกิดการปรับใช้แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน
ที่สำคัญ นักลงทุนโดยอิงหลักศาสนามีความตื่นตัวอย่างมาก ที่จะเข้าไปมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมขององค์กรโดยผ่านการเคลื่อนไหวในฐานะของผู้ถือหุ้น และใช้สถานะของตนเพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายขององค์กร พวกเขาอาจยื่นข้อเสนอในฐานะผู้ถือหุ้นหรือเจรจากับผู้บริหารบริษัท เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวิธีการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขององค์กร
ดังจะเห็นตัวอย่างล่าสุดได้จากการที่คณะแม่ชี Sisters of St. Joseph of Peace ใช้บทบาทการเป็นผู้ถือหุ้นธนาคารซิตี้แบงก์เพื่อเรียกร้องสิทธิของชนพื้นเมืองและความยุติธรรมเรื่องสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากซิตี้แบงก์ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่หลายบริษัท ที่กำลังก่อสร้างโครงการเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลบนที่ดินของชนพื้นเมือง
จึงอาจกล่าวได้ว่า การเติบโตของการลงทุนโดยอิงหลักศาสนาเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาของนักลงทุน ที่อยากให้การลงทุนของพวกเขาสอดคล้องกับค่านิยมและความเชื่อส่วนบุคคล แต่พร้อมกันนั้น ก็ยังต้องการผลตอบแทนที่น่าพอใจไปพร้อมๆ กัน ในเมื่อมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีผลประกอบการที่น่าสนใจ การลงทุนโดยอิงหลักศาสนาจึงเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในโลกแห่งการลงทุนยุคปัจจุบัน
แหล่งข้อมูล:
https://www.investmentnews.com/investing/news/faith-based-investing-on-the-rise-as-world-grows-more-chaotic-245237
https://apnews.com/article/catholic-benedictine-nuns-esg-shareholder-activism-e8d8111e8d2c00ced463db40863ec45b
https://www.morningstar.com/sustainable-investing/matter-faith
https://www.feg.com/insights/faith-based-investing-rise
https://www.elitetrader.com/et/threads/what-would-jesus-buy.369811/