รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 บริษัท Seven & I เจ้าของบริษัทร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ได้รับข้อเสนอซื้อกิจการจากบริษัทคู่แข่งแคนาดา Alimentation Couche-Tard (ATC) ที่เป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ Circle K และมีร้านสะดวกซื้อ และสถานีเติมน้ำมัน 16,700 แห่งใน 31 ประเทศ ส่วน 7-Eleven มีร้านสะดวกซื้อ 84,000 แห่งใน 19 ประเทศ ในญี่ปุ่นมี 22,000 แห่ง
ทั้งสองบริษัทไม่ได้เปิดเผยวงเงินที่มีการเสนอขอซื้อกิจการ แต่ Nikkei ที่เสนอข่าวเรื่องนี้เป็นรายแรกกล่าวว่า บริษัทแม่ Seven & I มีมูลค่าในตลาด 5 ล้านล้านเยน (34 พันล้านดอลลาร์) โดยทั่วไป ข้อเสนอซื้อกิจการจะให้ราคาที่สูงกว่าตลาด 30-40% ซึ่งจะทำให้การเสนอซื้อครั้งนี้สูงกว่า 6 ล้านล้านเยน การซื้อกิจการที่มูลค่าสูงสุดในญี่ปุ่น มีขึ้นในปี 2018 เมื่อบริษัท Brain Capital ซื้อกิจการ Toshina Memory เป็นเงิน 2 ล้านล้านเยน
7-Eleven คือสมบัติของชาติ
บทความของ The New York Times ชื่อ Why 7-Eleven Is a National Treasure กล่าวว่า ในญี่ปุ่น ร้านสะดวกซื้อเป็นสถานที่ได้รับการยกย่องชื่นชมจากคนทั้งหลายว่า มีความสะอาดและสีสรรค์สดใส มีกล่องอาหารสดขายและในราคาที่คนซื้อได้ แอนโธนี โบร์เดน (Anthony Bourdain) พ่อครัวที่โด่งดังและเสียชีวิตไปแล้ว เคยพาบารัค โอบามาไปนั่งทานร้านก๋วยเตี๋ยว ริมถนนของฮานอย ก็เคยกล่าวว่า การเข้าร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น “เป็นนิสัยอย่างหนึ่งที่เลิกไม่ได้”
สำหรับคนญี่ปุ่นจำนวนมาก ร้านสะดวกซื้อ ที่คนญี่ป่นเรียกว่า Konbini มีอยู่ทั่วญี่ปุ่นกว่า 55,000 ร้าน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ขาดไม่ได้ ในแต่ละวัน คนหลายล้านคนเข้าร้านสะดวกซื้อ เพื่อเลือกซื้ออาหาร ไปส่งวัสดุสิ่งของทางไปรษณีย์ และเป็นจุดชำระเงินค่าบริการต่างๆ 7-Eleven เป็นร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุด และเป็นที่รู้จักมากที่สุด
การที่ 7-Eleven กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่ในสังคม และชีวิตประจำวันคนญี่ปุ่นไปแล้ว ทำให้ญี่ปุ่นคงไม่เต็มใจที่จะให้ 7-Elevan เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อของต่างชาติ แม้จะเกิดปัจจัยแรงกดดันในเรื่องนี้ ต่อบริษัทญี่ปุ่นที่มีผลกำไรและมีมูลค่าในตลาด
เมื่อปีที่แล้ว ทางการญี่ปุ่นปรับปรุงแนวทางเรื่องการควบรวมกิจการ โดยส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นพิจารณาข้อเสนอควบรวมกิจการอย่างจริงจัง เพื่อความเป็นธรรมและความโปร่งใสของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนทำให้บริษัทญี่ปุ่น มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง
Hiroaki Watanabe นักวิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีกกล่าวกับนิวยอร์กไทม์สว่า…
“7-Eleven เป็นธุรกิจค้าปลีกแบบมีตัวตนเป็นร้านค้า ที่ดีที่สุดในโลก สำหรับญี่ปุ่นแล้ว การขาย 7-Eleven ให้กับ Couche-Tard จะเท่ากับว่าโตโยต้ากำลังกลายเป็นบริษัทต่างประเทศ”

บุกเบิกการปฏิวัติการค้าปลีก
บทความ The New York Times ชื่อ Masatoshi Ito, 98, the King of Convenience Store in Japan, Dies เขียนไว้ว่า Masatoshi Ito คือพ่อค้าร้านขายของชำ ที่นำเอา 7-Eleven ร้านสะดวกซื้อของอเมริกา เข้ามายังญี่ปุ่น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น เขาเริ่มต้นจากทำธุรกิจร้านขายเสื้อผ้าของครอบครัวในโตเกียว
เวลาต่อมา เขาเริ่มทำธุรกิจสร้างเครือข่ายร้านขายของชำชื่อ Ito-Yokado และในปี 2005 บริษัทนี้กลายเป็นบริษัท Seven & I แต่ Ito-Yokado คือรากฐานที่ทำให้กับ 7-Eleven กลายเป็นอาณาจักรร้านสะดวกซื้อ ที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลก และยังได้รับความชื่นชมจากผู้รู้ด้านการบริหารจัดการ ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
การริเริ่มการปฏิวัติการค้าปลีกของ Masatoshi Ito เกิดขึ้นในปี 1973 เมื่อผู้ร่วมงานคนหนึ่งแนะนำให้เขานำเอาร้าน 7-Eleven เข้ามายังญี่ปุ่น การทำข้อตกลงกับบริษัท Southland Company ที่เป็นเจ้าของ 7-Eleven ทำให้เขาตั้งร้าน 7-Eleven เป็นร้านแรกในโตเกียว แต่สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นการปฏิวัติการค้าปลีกของญี่ปุ่น ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในด้านการค้าปลีก ตั้งแต่วิธีการที่บริษัทนำสินค้าออกสู่ตลาด มาจนถึงวิธีการบริโภคของผู้ซื้อ
ปี 1978 7-Eleven นำข้าวปั้นพร้อมรับประทาน (rice ball) วางในชั้นจำหน่าย จนทำให้ข้าวปั้นกลายเป็นอาหารจานด่วนของคนญี่ปุ่น ในหลายสิบปีต่อมา 7-Eleven และร้านสะดวกซื้ออื่นๆของญี่ปุ่น ก็ขยายกิจการเป็นหลายหมื่นร้านทั่วประเทศ ร้านจะเปิดขาย 24 ชม. และเปิดทุกวัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศว่า ร้านสะดวกซื้อเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานของชาติ

“ร้านค้าเล็ก” คืออนาคตการค้าปลีก
ในปี 1961 ญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวจากสงคราม Masatoshi Ito เดินทางไปสหรัฐฯ และเกิดความรู้สึกสับสนขึ้นมาว่า ในอเมริกา แทบทุกคนมีฐานะได้อย่างไร ต่อมาเขาให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเองเห็นถึงขนาดใหญ่โตของสังคมผู้บริโภคอเมริกัน และวิธีการจัดจำหน่ายที่ทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นได้
เนื่องจากเชื่อว่า ญี่ปุ่นจะเดินตามเส้นทางการพัฒนาของอเมริกา Masatoshi Ito จึงทุ่มเทสร้าง Ito-Yokado ให้เป็นเครือข่ายร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ในโมเดลแบบเดียวกับในอเมริกา ช่วงปี 1970 Ito-Yokado กลายเป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกชั้นนำของญี่ปุ่น ปี 1972 ก็เข้าตลาดหุ้น
แต่ในปี 1973 ชะตากรรมของบริษัทเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อ Toshifumi Suzuki ผู้บริหารหนุ่ม เดินทางไปสหรัฐฯ มองหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ เขาเชื่อว่าร้านค้าปลีกเล็กๆอย่าง 7-Eleven สามารถเป็นอนาคตของธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่น เขาจึงพูดกับ Masatoshi Ito ให้ลองเสี่ยงกับนำธุรกิจโมเดลนี้มาใช้ในญีปุ่น ในที่สุดก็เกิดร้าน 7-Eleven ร้านแรกในโตเกียวในปี 1974
ต่อมาไม่นาน ร้าน 7-Eleven ก็ขยายตัวไปทั่วญี่ปุ่น มีการนำความคิดใหม่ๆมาใช้กับการทำธุรกิจค้าปลีก เช่น การใช้ระบบแฟรนไชส์มาเป็นวิธีขยายธุรกิจ และการเปิดบริการ 24 ชม. ในปี 1989 7-Eleven ของญี่ปุ่นก็เข้าไปดำเนินงานร้าน 7-Eleven ในเกาะฮาวาย แหล่งท่องเที่ยวของคนญี่ปุ่น ที่มักบ่นว่า ร้าน 7-Eleven ในอเมริกามีของในร้านเทียบไม่ได้เลยกับร้านในญี่ปุ่น
ในอีกปีต่อมา บริษัท Southland ที่เป็นเจ้าของ 7-Eleven ในอเมริกา ประสบปัญหาการเงิน บริษัท Ito-Yokado จึงใช้เงิน 430 ล้านดอลลาร์เข้าซื้อหุ้น 70% ของ Southland ในการให้สัมภาษณ์กับ Nikkei เมื่อปี 1996 Masatoshi Ito กล่าวว่า ที่เข้าไปซื้อ Southland เพราะกลัวว่า การบริหารงานที่ตกต่ำของ Southland อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าของ 7-Elevan ในญี่ปุ่น ปลายทศวรรษ 1990 Masatoshi Ito ได้รับเลือกเป็นประธานกิติมศักดิ์ของ Ito-Yokado ในปี 2005 เปลี่ยนชื่อเป็น 7-Eleven & I โดยเอาชื่อร้านสะดวกซื้อกับอักษรตัวแรกของบริษัทเดิมมารวมกัน เขาดำรงตำแหน่งนี้จนถึงแก่กรรมในปี 2023 อายุ 98 ปี
ในปี 1988 เมื่อให้สัมภาษณ์กับวารสารการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น Masatoshi Ito ให้สัมภาษณ์อย่างถ่อมตน เรื่องความสามารถของตัวเองว่า “ผมถามตัวเองเสมอว่า ผมประสบความสำเร็จ เพราะตัวเองทำงานหนัก หรือเพราะตัวเองโชคดี คำตอบก็คือบางส่วนของทั้งสองอย่าง”
เอกสารประกอบ
Masatoshi Ito, 98, the King of Convenience Stores in Japan, Dies, March 13, 2023, nytimes.com
Why 7-Eleven Is a National Treasure in Japan, August 24, 2024 nytimes.com