รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา The New York Times (NYT)ได้เสนอรายงานข่าว 2 เรื่อง เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย รายงานแรกเรื่อง ญี่ปุ่นได้สร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยขึ้นมา แต่จีนกำลังพยายามอย่างหนัก ที่จะเข้ามาแทนที่ และรายงานที่สองเรื่อง ผู้ผลิตรถยนต์ EV จีนเร่งบุกตลาดรถยนต์ในไทย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สำคัญ ขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯใช้มาตรการภาษี มากีดกันให้รถยนต์ EV จีนอยู่นอกตลาด
บุกไทยเป็นชาติแรกด้วยรถ EV จีน
NYT รายงานว่า เมื่อปีที่แล้ว คณะทำงาน 9 คนของบริษัท GAC Aion ผู้ผลิตรถ EV จีน ได้เดินทางมาบุกเบิกงานในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในไทย เวลานั้น พวกเขายังไม่มีสำนักงาน โรงงานผลิต หรือพนักงานคนไทยแม้แต่คนเดียว โดยใช้โรงแรมเป็นที่ทำงาน แต่มีงานต้องทำหลายอย่าง ตั้งแต่หาสำนักงาน มองหาดีเลอร์ และวางกลยุทธ์ธุรกิจ หลังจากทำงานได้ 74 วัน พวกเขาก็ขายรถ Aion ได้คันแรก Ma Haiyang ผู้จัดการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Aion บอกกับ NYT ว่า “โอกาสสำหรับ ‘รถพลังงานใหม่’ ของจีน มีอยู่ไม่นาน ทำให้เราต้องรีบเร่ง”
การรีบบุกตลาดรถ EV จีนในต่างประเทศ ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ผู้ผลิตรถ EV จีนหลั่งไหลเข้ามา จนทำให้ไทยประสบปัญหาที่ว่า ความมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จ และความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นอยู่ของไทย โดยการบุกไทยของบริษัทผู้ผลิต EV จีน มีให้เห็นทั่วประเทศไทย ผ่านป้ายโฆษณาต่างๆ
ตลาดรถยนต์ของไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยังสะท้อนถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีน ได้ก้าวรุดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่น ที่ยังหลีกเลี่ยงการผลิตรถ EV และบริษัทจากสหรัฐฯ ที่ Tesla ครองตลาดรถไฟฟ้า ในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ของ Nissan, Mazda และ Mitsubishi ตกลงอย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคหันไปซื้อรถ EV จากจีน ดีเลอร์ที่เคยขายรถยนต์ญี่ปุ่นมาหลายสิบปี ก็เปลี่ยนโชว์รูมไปขายรถ EV จีน เมื่อตลาดรถ EV แออัดไปด้วยรถหลายยี่ห้อ ผู้ผลิตรถยนต์จีนก็หั่นราคารถ EV ลง

ยุทธศาสตร์ที่พลิกดุลอำนาจ
NYT บอกว่า ยุทธศาสตร์ระยะยาวของการผลิตรถยนต์ “พลังงานใหม่” หรือ EV ของจีน คือการบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการพลิกผันดุลอำนาจอุตสาหกรรมรถยนต์ หลังจากได้รับการสนุบสนุนจากรัฐบาลจีน ผู้ผลิตรถ EV จีนก็มีความชำนาญในการผลิตรถ EV ในปริมาณมาก สร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งรับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถแก้ปัญหาการผลิตต่างๆ เพื่อให้ราคารถถูกลง
แต่การบุกตลาดรถ EV จีนในตลาดใหญ่ต่างประเทศ 2 แห่ง ต้องเผชิญกับปัญหาอัตราภาษีนำเข้าที่สูง เพราะไม่ต้องการให้การทุ่มตลาดรถ EV จีน สร้างความเสียหายแก่ผู้ผลิตในประเทศของตัวเอง กลุ่มอียูประกาศที่จะเก็บภาษี 38% กับรถ EV จีน ส่วนสหรัฐฯเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว
เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 ตลาดดังกล่าว ตลาดรถยนต์ไทยเล็กกว่า แต่ไทยเป็นตลาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของภูมิภาค การมีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้บวกกับการมีความสัมพันธ์การค้าที่หนาแน่นกับจีน ทำให้นำเข้ารถยนต์จากจีนได้อย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนไม่สูง Tu Le ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษา Sino Auto Insights กล่าวว่า ไทยมีฐานะเป็นตลาดหัวหาด ที่เหมาะกับตราสินค้าจีน เพราะมีราคาถูกกว่า
ครั้งหนึ่งถือกันว่า ไทยเป็นตลาดรถยนต์ที่ญี่ปุ่นครอบครองอยู่ แต่การเปลี่ยนฐานะนำกำลังเกิดขึ้น ในปี 2022 รถยนต์ญี่ปุ่นมีสัดส่วน 86% ของรถยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ แต่ปี 2023 ลดลงมาเหลือ 75% โดยรถยนต์ EV จีนจาก BYD Great Wall Motor และ SAIC Motor เข้ามายึดตลาดได้มากขึ้น
ในปี 2021 รัฐบาลไทยประกาศว่า เมื่อสิ้นทศวรรษ 2020 นี้ ต้องการให้รถยนต์ EV มีสัดส่วนการผลิต 30% ของรถยนต์ทั้งหมด เป้าหมายดังกล่าวคงจะไม่บรรลุ หากไม่มีผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ปัจจุบัน มีผู้ผลิตรถ EV จากจีน 6 บริษัท ที่ขายรถยนต์ EVในไทย อีก 3 บริษัทกำลังจะเข้าตลาดในปีนี้ บริษัทรถยนต์จีนที่เปิดโรงงานแล้ว หรือกำลังสร้างโรงงานในไทยได้แก่ BYD, Aion, Great Wall, Hozon Auto’s Neta และ Chery

ปฏิกิริยาตอบโต้ของญี่ปุ่น
NYT รายงานว่า บริษัทญี่ปุ่นสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยขึ้นมา จากที่ไม่มีอะไรเลยมาก่อน การครองตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยของญี่ปุ่น ย้อนไปตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เมื่อ Nissan และหุ้นส่วนท้องถิ่นสยามมอเตอร์ ตั้งโรงงานรถยนต์แห่งแรก ปลายทศวรรษ 1970 รถญี่ปุ่นครองตลาด 90% ของยอดขาย บริษัทญี่ปุ่นลงทุนสร้างห่วงโซ่อุปทานขึ้นในไทย
แต่ปัจจุบัน ฐานที่มั่นของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นไม่ได้ถูกยึดกุมอย่างเหนียวแน่นอีกต่อไป เมื่อผู้ผลิตรถยนต์จีนเสนอในสิ่งที่ฝ่ายญี่ปุ่นไม่มี คือรถยนต์ EV ในราคาที่คนพอจะซื้อได้ บริษัทญี่ปุ่นที่ไม่เต็มใจยอมรับรถยนต์ EV ทำให้ตกอยู่ในสภาพภาวะถดถอยทางตลาดของไทย Mazda Mitsubishi Nissan Suzuki และ Isuzu ได้รับผลกระทบมากสุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีรถยนต์แบบไฮบริดหรือรถ EV อยู่จำกัด ปี 2023 ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในไทยทั้งหมดลดลง 9% แต่ยอดขายรวมกันของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ลดลง 25%
Honda ประกาศว่า ในปีหน้าจะยุติการผลิตรถจากโรงงานแห่งหนึ่งลง Suzuki ก็จะปิดโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีแห่งเดียวในไทย แต่บริษัทญี่ปุ่นก็กำลังดำเนินการ ที่จะปกป้องตลาดรถในไทย โดยแจ้งกับนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เมื่อครั้งไปเยือนญี่ปุ่นว่า จะลงทุน 4.3 พันล้านดอลลาร์ใน 5 ปีข้างหน้า ในการเปลี่ยนโรงงานไปผลิตรถ EV เมื่อปลายปีที่แล้ว Honda เริ่มผลิตรถ EV ในไทย
นับตั้งแต่เริ่มเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย ในช่วงต้นทศวรรษศ 1960 บริษัทญี่ปุ่นมองว่าไทยเป็นฐานการส่งออกรถยนต์ของภูมิภาค โดยใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และสร้างเครือข่ายการขาย โดยเฉพาะการผลิตรถปิกอัพเพื่อส่งออกและขายในประเทศ
กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จในทศวรรษ 1980 และ 1990 เมื่อญี่ปุ่นได้ประโยชน์จากความต้องการรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่บริษัทรถยนต์ของสหรัฐฯและเยอรมัน หันไปสนใจตลาดในยุโรปตะวันออก
แต่การที่บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญกับรถไฮบริดและรถ EV ก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่าเกรงขามจากจีน GAC Aion ของ Guangzhou Automobile Group ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ได้ดำเนินงานอย่างรวดเร็ว ในการตั้งโรงงานและสร้างระบบการขายขึ้นในไทย และต้องการเจาะตลาดรถแท็กซี่ ที่ Toyota ครองตลาดมานาน
Aion ได้ออกรถยนต์ EV เพื่อตลาดแท็กซี่โดยเฉพาะ ในปีที่ผ่านมา Aion ขายรถโมเดลนี้ได้หลายพันคันในไทย ในราคาคันละ 25,000 ดอลลาร์ (875,000 บาท) โดยรับประกัน 9 ปี Huang Yongjie ประธานบริษัท Gold Integrate ที่จัดจำหน่ายรถ Aion กล่าวกับ NYT ว่า Toyota ตอบโต้การบุกตลาดแท็กซี่ของ Aion โดยการลดราคาเกือบคันละ 3,000 ดอลลาร์ (105,000 บาท) ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะ Toyota ไม่เคยตัดราคามาก่อน
เอกสารประกอบ
Chinese EV Makers Rush in and Upend a Country’s Entire Aoto Market, July 30, 2024, nytimes.com
Japan Built Thailand’s Car Industry. Now China Is Gunning for It, July 30, 2024, nytimes.com