EXIM BANK ผนึกกำลังตลาดหลักทรัพย์ฯ หนุนเอกชนไทยใช้โมเดล ESG ทำธุรกิจแบบ Go Green ตลอด Supply Chain แลกเปลี่ยนข้อมูลส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investing) เป็นแนวคิดการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) ของธุรกิจประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เมื่อผนวกเข้ากับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำโดยวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 ทำให้ภาคธุรกิจ รวมถึงผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตตลอด Supply Chain เพื่อให้เป็นไปตามกติกาการค้าของโลกยุคใหม่
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ขณะที่ภาคการเงินการธนาคารมีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) มีบทบาทสำคัญต่อการเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวและเติบโตได้มากถึง 1 ใน 3 ของมูลค่า Climate Finance ของโลก EXIM BANK ในฐานะ Green Development Bank ได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovation) ที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว โดยจัดโครงสร้างการจัดการผลิตภัณฑ์สนับสนุนธุรกิจสีเขียวหรือธุรกิจที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยให้มีสัดส่วน 50% ของพอร์ตสินเชื่อรวมภายในปี 2570 และระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
“ปัจจุบันภาคเอกชนตื่นตัวในการนำโมเดล ESG มาเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อให้เติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยข้อมูล เช่น นโยบายและข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เป้าหมายการดำเนินงานต่อพนักงาน ชุมชน และสังคม รวมถึงการจัดการประเด็นสิทธิมนุษยชนในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน และการวัดผลสำเร็จที่ได้จากโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมด้วย” ดร.รักษ์ กล่าว
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ได้เปิดให้จดทะเบียนหุ้นยั่งยืนตั้งแต่ปี 2558 ในช่วงแรกมีหุ้นที่ขอจดทะเบียนหุ้นยั่งยืนเพียง 51 บริษัท แต่ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 168 บริษัท โดยแบ่งเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ SET จำนวน 155 บริษัท และในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) 13 บริษัท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มบริการ (33 บริษัท) กลุ่มทรัพยากร (28 บริษัท) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (27 บริษัท) มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 73% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ MAI (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 10 เมษายน 2566)
ดร.รักษ์ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนหุ้นยั่งยืนสะท้อนว่า ภาคเอกชนมุ่งมั่นจะพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจด้วยโมเดล ESG อย่างครบถ้วนทุกมิติ EXIM BANK จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลมาตรฐานสากลสำหรับใช้เป็น Input ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเงินการธนาคาร จะช่วยให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภาคธุรกิจก็ได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และสิทธิประโยชน์ทางการเงินต่าง ๆ ตลอดจนการเข้าร่วมอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของการส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) สามารถวางแผนจัดการก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ พร้อมปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“EXIM BANK นับเป็นธนาคารแรก ๆ ที่มี Solution ทางการเงินช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ครบทุก Scope ทั้ง 1-2-3 สนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดขึ้น ใช้พลังงานหมุนเวียน และช่วยให้ Suppliers ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม EXIM BANK มีสินเชื่อสนับสนุน Green Export Supply Chain อัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้นที่ 3.85% ต่อปี ให้แก่ Suppliers และผู้ซื้อปลายทางของผู้ประกอบการตลอด Supply Chain ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้” ดร.รักษ์ กล่าว
ด้าน ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นถึงความต้องการข้อมูลด้าน ESG ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ลงทุน และสถาบันการเงินที่นำข้อมูล ESG ไปใช้ จึงได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มรองรับข้อมูล ESG ซึ่งปัจจุบันมีระบบจัดการข้อมูลด้าน ESG เช่น ระบบ SET ESG Data Platform ที่ให้บริการข้อมูลตั้งแต่ปี 2566 โดยรวบรวมข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กว่า 700 บริษัท อีกทั้งพัฒนาระบบ SET Carbon ที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้ระบบโดย บจ. นำร่องในปี 2567 และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2568 ซึ่งจะช่วยให้ บจ. และบริษัทในห่วงโซ่อุปทานสามารถจัดทำและทวนสอบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพบนระบบงานเดียว
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนและนำข้อมูลไปใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ข้อมูล ESG เพื่อการระดมทุนและการลงทุน ความร่วมมือกับ EXIM BANK ครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่า จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินมากยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินที่ยั่งยืนของประเทศไทย
ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า การวางแผนปรับธุรกิจสู่ ESG กลายเป็นไฟลท์บังคับสำหรับการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากลในปัจจุบัน ผู้บริโภคทุกกลุ่มไม่ใช่เฉพาะที่มีรายได้สูงให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและยอมที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อสนับสนุนสินค้ารักษ์โลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนยานยนต์ใช้น้ำมัน การลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ประกอบการรายใดที่นำ ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจก็จะมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้นในสายตาผู้บริโภคด้วย
ด้วยความมุ่งมั่นจะเป็นมากกว่าธนาคาร EXIM BANK ยังได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกระตุ้นให้ภาคธุรกิจขึ้นทะเบียนลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นในประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนเวทีการค้าโลก สามารถปรึกษา EXIM Contact Center โทร 0 2169 9999