ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ กางข้อมูลสว. ถามดังๆเป็นตัวแทนประเทศจริงหรือ!!

‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ กางข้อมูลสว. ถามดังๆเป็นตัวแทนประเทศจริงหรือ!!

1 กรกฎาคม 2024


ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’กางข้อมูล สว. ชี้ “ระบบออกแบบเลือกผิดตั้งแต่ต้น” ไม่สามารถเป็นตัวแทนประเทศได้จริง  ระบุกลุ่มสตรี และผู้สูงอายุไม่ใช่กลุ่มอาชีพ  แต่มีผู้สมัครเกือบหมื่นคน ขณะที่กลุ่ม 5 อาชีพสำคัญ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมรวมผู้สมัครแค่หลักพัน  ส่วนผลการเลือก สว.ยิ่งตอกย้ำระบบที่ไม่ยึดโยงประชาชน จ.อ่างทอง ประชากร 2.7 แสนคนมี สว.6 คน ขณะที่อุดรธานี ประชากร 1.56 ล้านคนไม่มี สว.เลย

เมื่อเวลา 03.30 น. ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 หลังกระบวนการนับคะแนนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ของทุกสายทุกกลุ่มอาชีพเสร็จสิ้นลง นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับประเทศ ได้ลงนามประกาศผลการนับคะแนนเลือกผู้สมัคร สว.ในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน แบบไขว้ครบทั้ง 20 กลุ่ม

โดยได้ สว.จำนวน 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ และจากผู้สมัครจำนวนกว่า 48,117 คน  ซึ่งว่าที่ สว. ชุดนี้จะเข้ารับหน้าที่แทน 250 สว.ชุดเฉพาะกาลที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งดำรงตำแหน่งครบวาระไปเมื่อ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

การเลือกสว.ที่ถูกออกแบบภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปแบบที่มีความซับซ้อน และพิสดารมาอย่างต่อเนื่อง  ยิ่งเมื่อผลการเลือกสว.ชุดใหม่ออกมายิ่งสะท้อนการออกแบบวิธีเลือกสว.ที่มีความซับซ้อน

มาตรา 11 ในหมวด 1 ผู้สมัครและการสมัครรับเลือก ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 กำหนดว่าผู้สมัคร สว.สามารถเลือกสมัครเป็นตัวแทนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้รวมทั้งหมด 20 กลุ่ม

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) บอกกับ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ว่า หลังผลการเลือก สว.ออกมาได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสว.มาวิเคราะห์

“ผมลองเอาข้อมูลตัวเลขมาดู คนอื่นเขาจะดูว่าการเลือก สว.มีความถูกต้องเที่ยงธรรม  มีการทุจริตหรือไม่ แต่ผมจะดูในภาพใหญ่ของการเลือกทั้งหมด 20 กลุ่มอาชีพก่อน” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ดร.ศุภวุฒิ บอกว่า หลังจากวิเคราะห์ตัวเลขผู้สมัครจากกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม พบว่า ทั้งหมดไม่ได้สะท้อนอาชีพของคนไทยที่แท้จริง เช่น กลุ่มอาชีพที่ 14 ระบุว่า  กลุ่มสตรี ซึ่งในอาชีพของคนไทยไม่มีอาชีพสตรี และกลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์ ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุก็ไม่ใช่อาชีพเช่นกัน

“การแบ่งกลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรีไม่ใช่อาชีพ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงอายุ ก็ไม่ใช่อาชีพ ที่สำคัญคือ 2 กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มอาชีพ แต่มีจำนวนผู้สมัครทั้ง 2 กลุ่มรวม 9,800 คน ก็คือกลุ่ม 14 กลุ่มสตรีมีผู้สมัคร 4,589 คน และกลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุ มีผู้สมัคร 5,211 คน การตั้งกลุ่มแบบนี้ไม่น่าจะถูก ในหลักการไม่ใช่กลุ่มอาชีพ” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิ ยังเห็นว่า ภาพรวมการออกแบบการเลือก สว.ต้องยึดโยงตรรกะหรือลักษณะของประเทศ แต่เป็นการเลือกกันเองที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่เมื่อดูจากจำนวนผู้สมัคร  48,117 คนในแต่ละกลุ่มสาขาอาชีพ พบว่าไม่ได้สะท้อนลักษณะหรือตรรกะประเทศ

โดยเห็นได้ว่าในจำนวนผู้สมัครทั้งหมด มี 5 กลุ่มใหญ่แรก ได้แก่กลุ่ม 6 คืออาชีพทำสวน และกลุ่ม 5 กลุ่มอาชีพทำนาเป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากเป็นอาชีพเหมือนกัน คืออาชีพเกษตรกรรม แต่การเลือกได้ออกแบบกลุ่มอาชีพแยกออกจากกัน  โดยรวมผู้สมัครทั้ง 2 กลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ที่สุด7,050 คน ขณะที่มีผู้สมัครกลุ่มผู้สูงอายุอีก 5,211คน กลุ่มสตรีอีก 4,589 คน กลุ่มการศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา 4,477 คน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 3,816 คน รวมผู้สมัคร 5 กลุ่มใหญ่นี้ จำนวน 20,554 คน จาก 48,117 คน  หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้สมัครทั้งหมด

“ถามว่าตัวเลขผู้สมัครเป็นตัวแทนคนไทยอย่างไร  ซึ่งไม่ใช่ เพราะว่ามี 5 กลุ่มที่มีคนสมัครน้อยที่สุดคือ กลุ่ม 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม 609 คน  กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ 867 คน และ กลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ 1,039 คน กลุ่ม 11 ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ผู้สมัคร 1,177 คน และ สุดท้าย กลุ่ม 8 ผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหา สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน ผู้สมัคร 1,180 คน”ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ดร.ศุภวุฒิ ย้ำว่า จำนวนผู้สมัครไม่สามารถ represent ประเทศไทยได้ เนื่องจากแต่ละกลุ่มเป็นกลุ่มที่สำคัญต่อประเทศ ทั้งสิ่งแวดล้อม ท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์  อุตสาหกรรม  หรือแม้กระทั่ง สื่อสารมวลชนก็สำคัญมาก รวมผู้สมัครแล้วมีแค่ 4,871 คนจำนวนเท่ากับผู้สมัครเท่ากับกลุ่มสตรีกลุ่มเดียว หรือประมาณ 10 % ของผู้สมัครทั้งหมด

“แม้จะเป็นกลุ่มที่สำคัญมากกับประเทศแต่มีผู้สมัครแค่ 10% เพราะฉะนั้นผมคิดว่าแค่เริ่มตรงนั้นก็ผิดแล้ว  แล้วอย่างนี้จะเป็น represent ประเทศนี้ได้ยังไง หรือ represent ปัญหาของประเทศได้อย่างไร เพราะว่ากฎเริ่มมาก็ผิดแล้ว ผิดตั้งแต่ต้น” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ดร.ศุภวุฒิ  บอกว่า เมื่อการออกแบบผิดตั้งแต่ต้น ผลการเลือกสว.ออกมายิ่งสะท้อนว่ากฎการเลือกสว.ไม่ถูกต้อง โดยจากข้อมูลจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีประชากร 1.58 ล้านคน ได้ สว.จำนวน 14 คน  แต่จังหวัดอุดรธานีมีประชากรจำนวนรองลงมา 1.56 ล้านคน ได้ สว. 0 คน

“ผลการเลือก สว.ควรจะยึดโยงจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด ซึ่งหากดูข้อมูลพบว่า จังหวัดบุรีรัมย์มี 1.58 ล้านคนได้สว.14 คน ซึ่งแบบนี้ผิดแล้ว ยังไงก็ผิด เพราะทั้งประเทศมี สว.200 คน มีประชากร 66 ล้านคน หรือควรจะมี 1 สว.ต่อประชากร 330,000 คน แต่อุดรธานีที่มีประชากร 1.56 ล้านคนไม่มี สว.เลย”

นอกจากนี้สิ่งที่ตอกย้ำว่าการออกแบบระบบการเลือกไม่ถูกต้อง คือ จังหวัดที่ได้ที่หนึ่งมีจำนวนสว.มากที่สุดต่อประชากร  คือจังหวัดอ่างทอง ซี่งมีประชากร 270,000 แสนคน แต่ได้ สว.6 คน เท่ากับว่ามี 1 สว.ต่อประชากร 45,000 คน รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรสงครามมีประชากร 200,000 มี สว. 4 คน

“นอกจากนี้เรายังมี 14 จังหวัดที่ไม่มี สว.เลยแม้แต่คนเดียว ทั้ง 14 จังหวัดรวมแล้วมีประชากรประมาณ 13.59 ล้านคน  แต่ไม่มี สว.แม้แต่คนเดียว เพราะฉะนั้นเป็นระบบเลือก สว.ที่ผิด”

ดร.ศุภวุฒิ สรุปว่า ระบบการเลือก สว.น่าจะผิดใน 2 ประเด็นคือ 1) ระบบคัดคนดี เด่นดัง ออกไป ตั้งแต่รอบแรก   2) การออกแบบอาชีพก็ไม่ใช่อาชีพที่เป็นจริง และสุดท้ายเมื่อผลออกมา ก็ไม่ได้ represent ประเทศได้เลย ซึ่งชัดเจนว่า การออกแบบการเลือก สว.ผิด

ผู้สมัคร สว. แบ่งตามกลุ่ม 20 อาชีพประกอบด้วย

กลุ่ม 1 กลุ่มการบริการราชการแผ่นดินและความมั่นคง เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ผู้สมัคร 2,478 คน

กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายหรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ผู้สมัคร 1,869 คน

กลุ่ม 3 กลุ่มการศึกษา ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ผู้สมัคร 4,477 คน

กลุ่ม 4 กลุ่มการสาธารณสุข ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ผู้สมัคร 1,628 คน

กลุ่ม 5 กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ผู้สมัคร 3,422 คน

กลุ่ม 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ผู้สมัคร 3,628 คน

กลุ่ม 7 กลุ่มพนักงานหรือถูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงานหรืออื่นๆ 2,440 คน

กลุ่ม 8 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภก ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ 1,180 คน

กลุ่ม 9 กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่นๆ 1,844 คน

กลุ่ม 10 กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม ข้อ 9 1,200 คน

กลุ่ม 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ 1,177 คน

กลุ่ม 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม 609 คน

กลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ 1,039 คน

กลุ่ม 14 กลุ่มสตรี 4,589 คน

กลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ 5,211 คน

กลุ่ม 16 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ 1,819 คน

กลุ่ม 17 กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ 2,168 คน

กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ 867 คน

กลุ่ม 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ 3,816 คน

กลุ่ม 20 กลุ่มอื่นๆ 2,656 คน

6 กลุ่มอาชีพที่ผู้สมัครสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 42.7% – 20,554 คน

กลุ่ม 15 ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธ์ อัตลักษณ์อื่นๆ 5,211 คน

กลุ่ม 3 การศึกษา ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา 4,477 คน

กลุ่ม 14 สตรี 4,589 คน

กลุ่ม 19 ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 3,816 คน

กลุ่ม 6 อาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ 3,628 คน

กลุ่ม 5 อาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ 3,422 คน

กลุ่มอาชีพที่ผู้สมัครน้อยสุด 5 กลุ่ม คิดเป็นสัดส่วน 10.01% – 4,871 คน

กลุ่ม 12 ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้สมัคร 609 คน

กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ผู้สมัคร 867 คน

กลุ่ม 13 ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร ผู้สมัคร 1,039 คน

กลุ่ม 11 ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ผู้สมัคร 1,177 คน

กลุ่ม 8 ผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหา สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน ผู้สมัคร 1,180 คน

ผลการเลือกโดยเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อประชากร

ทั้งนี้จำนวนสว. 200 คน ต่อประชากร โดยประชากรไทย 66 ล้านคน 77 จังหวัด เฉลี่ย สว. 2.6 คนต่อจังหวัด หรือ สว. 1 คน ต่อประชากร 330,000 คน โดย 13 จังหวัดที่มีประชากรสูงสุด ประกอบด้วย

1.กทม 5.49 ล้านคน  ได้ สว. 9 คน

2.นครราชสีมา 2.63 ล้านคน  ได้สว. 2 คน

3.อุบลราชธานี 1.87 ล้านคน ได้ สว. 2 คน

4.เชียงใหม่ 1.79 ล้านคน  ได้ สว. 2 คน

5.ขอนแก่น 1.78 คน ได้ สว. 2 คน

6.ชลบุรี 1.59 ล้านคน ได้ สว. 2 คน

 7.บุรีรัมย์ 1.58 ล้านคน – สว. 14 คน

8.อุดรธานี 1.56 ล้านคน ได้ สว. 0 คน

9.นครศรีธรรมราช 1.55 ล้านคน ได้สว. 5 คน

10 ศรีสะเกษ 1.45 ล้านคน ได้  สว. 5 คน

11.สงขลา 1.43 ล้านคน ได้ สว. 6 คน

12.สุรินทร์ 1.37 ล้านคน -ได้ สว. 7 คน

13.สมุทรปราการ 1.36 ล้านคน ได้ สว. 2 คน

ขณะที่จังหวัดได้ที่มีจำนวนประชากรน้อย  คือ จังหวัดอ่างทอง มีประชากร 2.7 แสนคน  มี สว.6 คน หรือเท่ากับว่ามี 1 สว.ต่อ 4.5หมื่นประชากร รองลงมาคือ จังหวัดสมุทรสงครามมีประชากร2 แสนคน มี สว. 4 คน

  • รายชื่อว่าที่ 200 สว. ปี 2567
  • การแบ่งกลุ่มผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา

    เว็บไซต์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้เผยแพร่องค์ความรู้การเลือกตั้ง เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 โดยระุบุที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่า

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด จำนวน 200 คน ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี เป็นได้วาระเดียว สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม จาก 20 กลุ่มอาชีพ ตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 200 คน

    ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นสว.ในกลุ่มใดกลุ่มหนี่งในกลุ่ม 20 อาชีพกลุ่มได้

    พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 หมวด 1 ผู้สมัครและการสมัครรับเลือก มาตรา 11 ระบุว่าวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวนสองร้อยคนซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางาน ด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้
    (1) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (2) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (3) กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา
    บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (4) กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์
    สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (5) กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (6) กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (7) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน
    หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (8) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค
    ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (9) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่น ๆ
    ในทำนองเดียวกัน
    (10) กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (9)
    (11) กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว
    มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (12) กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (13) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ
    ในทำนองเดียวกัน
    (14) กลุ่มสตรี
    (15) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ
    ในทำนองเดียวกัน
    (16) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (17) กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (18) กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (19) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
    (20) กลุ่มอื่น ๆ การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด