ThaiPublica > คอลัมน์ > ปลาหมอคางดำ: อาคันตุกะตัวเล็กสู่ปัญหาระดับชาติ

ปลาหมอคางดำ: อาคันตุกะตัวเล็กสู่ปัญหาระดับชาติ

27 กรกฎาคม 2024


ปิติคุณ นิลถนอม

ปลาหมอคางดำ ที่มาภาพ : https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20170809092205_file.pdf

ช่วงที่ผ่านมานอกเหนือจากข่าวร้อนแรงอย่างประเด็นดิจิทัลวอลเล็ต ปรากฏการณ์ #เซฟทับลาน หรือฟุตบอลยูโรแล้ว ยังคงมีข่าวการรุกรานของพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นอย่างปลาหมอคางดำ ที่ผู้ประกอบการเอกชนเคยขออนุญาตนำเข้ามาศึกษาเมื่อราวทศวรรษที่แล้ว โดยหวังว่าจะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่ไม่เป็นผลจึงได้ล้มเลิกไป

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ปลาหมอคางดำในฐานะอาคันตุกะผู้มาเยือน กลับกลายเป็นเครื่องจักรทำลายล้างระบบนิเวศในฐานะ “ผู้รุกราน”
ปลาตัวไม่โตแต่รวมตัวกันจำนวนมากกลืนกินทุกอย่างที่ขวางหน้า มิพักรวมถึงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของเรา ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปรากฏการณ์ดังกล่าว

ปลาหมอคางดำแพร่พันธุ์เร็วได้ครั้งละมากๆ แถมยัง “อึด ถึก ทน” เพราะอยู่ได้ถึง 4 น้ำ คือ น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด แม้กระทั่งน้ำเน่า!

อันที่จริงชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ Alien Species เช่น สัตว์ พืช ที่มาจากต่างแดนนั้นไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะบางอย่างก็ “เวิร์ค” จนทุกวันเราขาดมันไม่ได้แล้วก็มีให้เห็น เช่น พริกขี้หนู มะละกอ ยางพารา ที่ข้ามโลกมาจากฝั่งละตินอเมริกาเลย

แต่เมื่อพืชหรือสัตว์กลับแพร่พันธุ์และส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศท้องถิ่น ก็จะถูกจัดเป็น “พันธุ์ต่างถิ่นรุกราน” หรือ Invasive Alien Species ดังเช่นเจ้าปลาหมอคางดำ ที่ต้องจัดการโดยด่วน ทั้งการหาต้นตอ การแก้ไขเยียวยา และการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นอีก

จากข่าวมีข้อถกเถียงว่าทางเอกชนได้ทำลายและฝังปลา ตลอดจนส่งโหลตัวอย่างปลาให้กรมประมงตามหน้าที่แล้ว แต่กรมประมงก็ชี้แจงว่าตรวจสอบทะเบียนคุมแล้วไม่พบว่าได้รับแต่อย่างใด แม้ในวันที่เขียนบทความนี้ คณะอนุกรรมการของสภาผู้แทนราษฎรได้ขอให้กรมประมงแสดง “ครีบ” ปลา หลังจากที่พบว่า หลักเกณฑ์กำหนดให้กรมประมงต้องตัดครีบปลาหมอคางดำแล้วเก็บไว้ แต่กรมก็ยังแจังว่าต้องกลับไปตรวจสอบก่อน ทำให้ความคาใจของสังคมยัง “ค้างเติ่ง” อยู่!

ในขณะที่มีการถกเถียงและรอความกระจ่างถึง “ต้นตอ” ว่าเกิดจากใคร และมีผู้ต้องรับผิดหรือไม่ อีกทางหนึ่งคือการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาเพื่อปล่อยพันธุ์ปลาหมอคางดำพิเศษที่จะทำให้ปลาหมอคางดำที่อยู่ในธรรมชาติเป็นหมันลงสู่แหล่งน้ำ (แต่ก็ต้องใช้เวลา) หรือการจูงใจให้คนนำไปบริโภค โดยเชิญชวนเชฟระดับประเทศมารังสรรค์เมนูตัวอย่างให้ประชาชนนำไปปรุงอาหาร หรือแม้แต่ความพยายามในการปล่อยปลากะพงขาวไซส์ 4 นิ้วลงในแหล่งน้ำโดยหวังว่าเจ้าปลากะพงจะลงไปหม่ำบุฟเฟต์ลูกปลาหมอคางดำ แต่นโยบายที่เรียกว่าน่าจะเป็นสีสันที่ดึงดูดให้ประชาชนร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำก็คือการรับซื้อปลาในราคากิโลกรัมละ 15 บาท

ขนาดของปลาหมอสีคางดําในกระเพาะอาหารปลากะพงขาว ที่มาภาพ : https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20170809092205_file.pdf

ฟังดูผิวเผินแล้วก็ดูจะเข้าท่าแต่ต้องไม่ลืมว่าการใช้เงินซื้อดังกล่าวก็มาจากเงินภาษีพวกเราทั้งสิ้น หากมันแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริงก็คงไม่มีใครว่า แต่หากมันส่งผลในทางกลับกันก็จะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือหากเป็นฟุตบอลก็เรียกว่า “เตะวืด” ก็เป็นได้

ทั้งนี้เรื่องลักษณะดังกล่าวเคยมีกรณีศึกษาในประวัติศาสตร์โลกให้ระลึกถึงอยู่ ดังจะเห็นได้จากยุคอาณานิคมอินเดียราว ต้นทศวรรษ 1900 ที่อังกฤษมีปัญหากับเจ้างูเห่าซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่มิได้ข้ามแดนมาจากไหน โดยอังกฤษหมายมั่นปั้นมือที่จะกำจัดงูเห่าที่มักจะเพ่นพ่านไปทั่วพื้นที่เดลีเมืองหลวงแห่งใหม่ จึงได้ออกมาตรการให้ประชาชนจับงูเห่ามาขายให้กับรัฐบาล

ในช่วงแรกก็ดูดีอยู่ แต่สุดท้ายมา “โป๊ะแตก” โดนจับได้ว่ามีพวกหัวหมอเปิดฟาร์มเลี้ยงงูเห่าเพื่อที่จะให้ขยายพันธุ์ครั้งละมากๆแล้วนำมาขายเอาเงินจากรัฐบาล จนสุดท้ายต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวไป ผลพวงจากการยกเลิกมาตรการดังกล่าวทำให้บรรดาคนเลี้ยงงูที่เพาะพันธุ์ปล่อยงูสู่ธรรมชาติเป็นผลให้งูเห่ามีจำนวนมากกว่าเก่าอีก!

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่มาของทฤษฎีก้องโลกที่เรียกว่าปรากฎการณ์งูเห่า หรือ Cobra Effect ที่ใช้อธิบายการวางมาตรการใดๆเพื่อหวังผลเชิงบวกประการหนึ่ง แต่เมื่อลงมือปฏิบัติกลับส่งผลในทางตรงกันข้ามหรือในทางลบ ที่เรียกว่า Perverse Incentive

นอกจากเรื่องงูเห่าแล้วยังมีเรื่องที่รัฐบาลฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคมในอินโดจีนใช้มาตรการทำนองเดียวกันกับอังกฤษเพื่อที่จะกำจัดหนูในฮานอย โดยเปิดรับซื้อหางหนู ปรากฏว่ามีประชาชนเอาหางหนูมาขายมากมาย แต่กลับกลายเป็นว่าในท้องถนนมีแต่หนูที่ไร้หาง ทำให้รู้ว่าประชาชนตัดมาแค่หางไม่ได้กำจัดหนูอย่างที่รัฐบาลตั้งใจให้ทำ

สองเรื่องแรกเกิดขึ้นนานแล้ว แต่เมื่อไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมาก็มีกรณีทำนองเดียวกันคือ การรุกรานของหมูป่ายักษ์ (Feral Pig) ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างหมูบ้านกับหมูป่า ที่มักเข้ามาทำลายข้าวของในเขตอเมริกาเหนือ ทำให้ในช่วงปี ค.ศ. 2007-2008 กองทัพบกสหรัฐโดยค่าย Benning มลรัฐจอร์เจีย ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงิน 40 เหรียญสหรัฐเพื่อซื้อหางหมู 1 หางจากนักล่า โดยหวังจะลดประชากรหมูป่ายักษ์ลง อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏว่าจำนวนประชากรของหมูป่ายักษ์ลดลงแต่อย่างใด ซึ่งจากรายงานการตรวจสอบพบว่าหางที่นำมาขายให้กองทัพบกเป็นหางที่ซื้อมาจากร้านขายเนื้อสัตว์

ตัวอย่างข้างต้นทำให้เห็นว่าการใช้มาตรการลักษณะดังกล่าวจะต้องมีความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ จึงอาจต้องรับซื้อแบบจำกัดระยะเวลา และมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

นอกเหนือจากการแก้ไขเยียวยาแล้ว จำเป็นที่จะต้องวางมาตรการป้องกันไปในคราวเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ซึ่งจากประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยเกิดปัญหานี้อย่างประเทศแทนซาเนีย ก็เป็นหนึ่งต้นแบบที่น่าศึกษา โดยเมื่อปีกลายสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแทนซาเนีย หรือ สตง. แทนซาเนีย ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Performance Audit) ของหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาพันธุ์ท้องถิ่นรุกราน แบบทั้งระบบ ทั้งวัชพืชพิษ (Noxious weed ) นกอีแก (Indian House Crow) หนอนกระทู้ฟอลอามี่ หรือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm)

รายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Performance Audit) ของหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาพันธุ์ท้องถิ่นรุกราน ของ สตง. แทนซาเนีย ที่มา : https://www.nao.go.tz/uploads/Performance_Audit_on_the_Management
_of_Invasive_Alien_Species_in_Terrestrial_Environment.pdf

โดยตรวจสอบพบว่ากองสิ่งแวดล้อม สำนักงานรองประธานาธิบดี (VPO-DoE), ฝ่ายบริหารภูมิภาคและรัฐบาลท้องถิ่น สำนักงานประธานาธิบดี (PO-RALG), กระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตร (MoA), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยว (MNRT) ไม่มีมาตรการที่ดีพอในการป้องกันชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังไม่ได้พัฒนาฐานข้อมูล (Database) ชนิดพันธุ์รุกรานแห่งชาติ ปัญหานี้เกิดจากการขาดการประสานงานระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมาตรการติดตามและประเมินผล (Monitoring and Evaluation) ไม่ดีพอ นอกจากนี้การตรวจสอบยังพบว่ามีการใช้ตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญในการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน ท้ายที่สุด สตง. แทนซาเนีย จึงได้แนะนำให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อลดภัยคุกคามจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน

เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว เรื่องฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นปัจจุบัน น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลในมือที่ตรงกันเพื่อติดตามและตรวจสอบ รวมถึงตัดสินใจในการทำหน้าที่ต่างๆได้ดี ดังจะเห็นได้จากกรณีโต้แย้งกันระหว่างเอกชนและกรมประมงของไทยที่ต่างคนต่างอ้างว่าได้ส่งมอบตัวอย่างปลาให้ตามระเบียบแล้ว แต่อีกฝั่งหนึ่งกลับบอกทะเบียนคุมที่กรมไม่มีข้อมูลการรับจากฝั่งเอกชน

การแก้ไขให้ถูกจุด และการวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคตอย่างเป็นระบบโดยมองอย่างรอบทิศ ทั้งมาตรการป้องกัน มาตรการควบคุม การประสานงาน และการติดตาม ประเมินผล เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพราะการตั้งรับอย่างเดียว แล้วคอยคิดแก้ปัญหาเวลาเกิดขึ้นมันมีต้นทุนที่สูงลิ่ว และส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างมาก

ที่มา https://ocm.iccrom.org/sdgs/sdg-15-life-land/sdg-158-prevent-invasive-alien-species-land-and-water-ecosystems

เรื่องนี้นอกจากเป็นการปกป้องระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจปากท้องของเกษตรกรแล้ว ยังเป็นหมุดหมายร่วมกันของมนุษยชาติภายใต้เป้าหมายที่ 15 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDG ที่ทุกชาติมีพันธกิจในการวางมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานที่มีต่อระบบนิเวศทั้งบกและน้ำ รวมถึงการควบคุม กำจัดอีกด้วย

ข้อมูลประกอบการเขียน
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1136044
https://www.nao.go.tz/uploads/Performance_Audit_on_the_Management_of_Invasive_Alien_Species_in_Terrestrial_Environment.pdf
https://ocm.iccrom.org/sdgs/sdg-15-life-land/sdg-158-prevent-invasive-alien-species-land-and-water-ecosystems