ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ชี้ธุรกิจครอบครัวถึงเวลาต้อง M&P และ revalue องค์กร

“กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” ชี้ธุรกิจครอบครัวถึงเวลาต้อง M&P และ revalue องค์กร

29 กรกฎาคม 2024


ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนโยบายในการสร้างองค์ความรู้และระบบนิเวศเรื่องธุรกิจครอบครัว เพื่อผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวที่ดีที่อยู่นอกตลาด เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มากขึ้น เพราะธุรกิจครอบครัวถือเป็นฐานลูกค้าสำคัญของบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะเดียวกันปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 800 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีกว่า 450 กว่าเป็นธุรกิจครอบครัว คือครอบครัวถือหุ้นเกิน 50% และในระยะหลังบริษัทที่เข้ามาใหม่ในตลาดหลักทรัพย์แทบจะเป็นธุรกิจครอบครัวทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นธุรกิจครอบครัวจึงมีความสำคัญกับตลาดทุนมาก

“ถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำเรื่องนี้ได้ดี บริษัทก็เข้ามาจดทะเบียนในตลาดได้ เพราะธุรกิจครอบครัว เป็นคนที่ขายของให้กับบริษัทใหญ่ๆในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าเขาเป็นซัพพลายเชนที่ดี ก็ดีกับตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ต้องใช้เวลา อันนี้เป็นโจทย์หนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องหาทางว่าบริษัทดีๆ ที่จะเข้าตลาด ให้เขาเข้ามา แล้วเขาได้อะไร คือต้องอธิบายให้เขาฟังว่า เข้าแล้วมีประโยชน์อะไร”

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ชี้ว่า ข้อดีของการที่ธุรกิจครอบครัวเมื่อเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้หลายรุ่น มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สามารถดึงคนเก่งๆ ข้ามาร่วมงานได้ และมีเงินทุนที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

สร้างระบบนิเวศ มุ่ง “merger and partnership”

ขณะเดียวกัน การสร้างระบบนิเวศต้องเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้ก่อน มีกองทุน venture capital หรือมีบริษัทที่เข้าไปซื้อกิจการครอบครัวที่ดี ที่เขาหรือลูกหลานไม่อยากทำต่อ หรืออยากทำแต่เงินไม่พอ ในรูปแบบ merger and partnership หรือ M&P โดยยังให้สิทธิ์เจ้าของกิจการเดิมถือหุ้นร่วมด้วยก็ได้

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์กล่าวว่าปัญหาหนึ่งของธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่คือ เจ้าของยุคบุกเบิกไม่ยอมปล่อยวาง พร้อมเล่าตัวอย่างว่า “เคยเจอเคสหนึ่ง ให้ลูกทำ แต่พ่อยังไม่ปล่อย ผมก็บอกว่าต้องปล่อยวาง ถ้ามัวแต่ไปสั่งเขา ลูกไม่มีทางมีอิสรภาพในการตัดสินใจ อาจจะผิดบ้าง ถูกบ้าง ไม่เป็นไร ต้องปล่อยให้เขาทำ เพียงแต่อย่าให้ออกนอกทางไปเยอะมาก ถ้ามีกฎกติกา มีคนเก่งๆ มาอยู่ในบริษัท มีกรรมการอิสระ มีมืออาชีพ ธุรกิจมันก็รอดได้เอง”

“การเปลี่ยนทัศนคติคน ต้องมีความรู้ ต้องให้เขาเห็นตัวอย่าง ผมชอบหาตัวอย่างที่มันล้มเหลวเยอะๆ ว่าทำอย่างนี้แล้วเจ๊ง เพราะคนเรามันกลัว ยกตัวอย่าง วอลล์สตรีตเจอร์นัล เจ้าของเดิมไม่ได้เป็นเจ้าของแล้ว ตอนนี้รูเพิร์ต เมอร์ด็อก ซื้อหมดแล้ว เพราะพี่น้องทะเลาะกัน ไม่ยอมเปลี่ยน ดังนั้น ต้องไม่เข้าไปยุ่ง ให้มืออาชีพทำ”

หรือในแง่ของสถาบันการศึกษา ปัจจุบันหอการค้าเขามีศูนย์อยู่ แต่ไม่ได้สอนเป็นวิชา ใครมาปรึกษาเขาก็จัดหลักสูตรอบรมให้ แต่ส่วนตัวมองว่า ต้องสอนกันตั้งแต่มหาวิทยาลัย หรือจริงๆ ควรจะเป็นสหวิทยาการ เช่น คณะจิตวิทยาสอนเรื่องการสื่อสารกันของครอบครัว มีสอนเรื่องกฎหมาย คณะบัญชีสอนเรื่องการเงินในธุรกิจครอบครัว

“ถ้าทำได้ เอาคนมาเล่าให้ฟัง ซึ่งอันนี้ก็จะดีที่สุดสำหรับคนที่ฟัง แต่ผมพูดเสมอว่าความสำเร็จมันก็ดี เหมือนที่คุณธนินท์ (เจียรวนนท์) ของซีพี เขียนหนังสือความสำเร็จ ‘ดีใจได้วันเดียว’ แต่ว่าความล้มเหลวต่างหากที่เป็นบทเรียนให้ได้เรียนรู้ ว่าฉันผิดยังไง ตรงนี้ยังไม่ค่อยมีใครมาเล่าให้ฟัง”

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

“นี่คือสาเหตุที่บอกว่าทำไมการสร้างระบบนิเวศของธุรกิจครอบครัวจึงสำคัญ เดี๋ยวนี้มีที่ปรึกษาเยอะแยะ มีหน่วยงานศึกษา มีหอการค้า ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็กำลังพยายามขับเคลื่อนให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรื่องธุรกิจครอบครัว โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมาช่วยดู ซึ่งก็คุยกันอยู่ เอาอาจารย์เก่งๆ ในโลกนี้มาสอน”

“สมัยหนึ่งศศินทร์จัดหลักสูตรเรื่องธุรกิจครอบครัว ผมไปพูดช่วงนั้นมีคนมาฟังเยอะ ผมก็บอกว่าศศินทร์เหมาะที่สุดที่จะจัดเป็น regional ตอนนั้นสิงคโปร์ยังไม่มีเลย แต่วันนี้มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์มีการสอนเรื่องธุรกิจครอบครัวใน regional หมดแล้ว ฮ่องกงก็มี ประเทศไทยยังไม่มีอะไร”

“เมื่อก่อนเมืองไทยใครก็อยากมา แต่วันนี้ผมเชื่อว่าเขาก็อยากมาอีก คุณชวนโปรเฟสเซอร์ดังๆ เข้ามาช่วงปิดเทอม ประมาณเดือนสิงหาคม ให้อยู่เมืองไทย 3 เดือน มาสอนเรื่องนี้ เชื่อว่าเราจะได้ความรู้มากขึ้น การวิจัยธุรกิจครอบครัวไทยก็จะได้มีมากขึ้น ทุกวันนี้คุณไปดูไฟแนลเชียลไทม์ หรือผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เขาวิเคราะห์ธุรกิจครอบครัวแต่ละอันพวกนี้เขียนลงลึก ผมว่าการให้ความรู้คน เป็นเรื่องสำคัญ”

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์เล่าว่า ที่สหรัฐอเมริกามีกองทุน venture capital ไปซื้อธุรกิจครอบครัวที่ไม่อยากทำ แล้วนำมามัดรวมขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนที่ญี่ปุ่นมีแอปพลิเคชันหาข้อมูลธุรกิจที่ไม่อยากทำ เช่น ธุรกิจเรียวกัง ธุรกิจกระดาษ ไปซื้อมา หลังจากนั้นก็นำมามัดรวม มี venture capital ไปลงทุน เข้าตลาดหุ้น เจ้าของแฮปปี้ได้เงินและแบรนด์ก็ยังอยู่

“อันนี้คนไทยยังคิดไม่ได้ คือผมอยากทำ M & P หุ้นกัน แต่ไม่ใช่ M&A (merger and acquisition) ยกตัวอย่างคล้ายๆ Zen ทำ ไปซื้อพวกธุรกิจอาหารทั้งหมด อาหารไทย อาหารเวียดนาม ฯลฯ แล้วมีครัวกลาง ลดต้นทุน บริหารจัดการแบบใหม่ แต่คนไทยยังไม่ปล่อยวาง อันนี้แบรนด์ฉัน ห้ามเปลี่ยน ดังนั้นตอนนี้สิ่งที่ต้องการบอกคือ ต้องรวมกันถึงจะรอด”

“แต่สำคัญคือ ไม่ใช่ว่าอยากซื้อก็ซื้อ มันต้องมี synergy ในประเทศไทยมีโอกาส เรามีธุรกิจอาหาร ธุรกิจโรงพยาบาล การแพทย์ ธุรกิจบันเทิง หากจับธุรกิจเดียวกันมารวมกันได้ คือร้านอาหารไทยต่อให้เก่งยังไงก็ตาม เจ้าของกำไรปีนึง 10 ล้าน 20 ล้าน แต่ว่าคุณอยู่ได้แค่นี้”

“ถ้าธุรกิจครอบครัวไทยไม่ปรับเปลี่ยน แล้วยังบอกว่าต้องรักษาไว้ ชื่อไม่อยากเปลี่ยน เพราะว่าพ่อแม่สร้างมา ถ้าไม่อยากเปลี่ยน ก็ไม่เป็นไร คุณก็ถือหุ้นอยู่ ร้านคุณก็ยังอยู่ สมมติผมไปเทกโอเวอร์ร้านอาหารดังๆ หมดในประเทศไทย แล้วผมมีครัวกลางให้คุณ ต้นทุนก็ถูกไปแล้ว ทำบัญชีให้อีก หรือธุรกิจครอบครัวคนไทย อยากไปต่างประเทศ ไปทำคนเดียวเจ๊งหมด SME ไทย ไปเขมร พม่า ลาว เรียบร้อยหมด ดังนั้น ก็ต้องไปทำกับคนท้องถิ่น ก็คือไปรวมกับเขา เป็นพาร์ตเนอร์กับเขา เขาเก่งในด้านโลคัล เราเก่งในด้านโนว์ฮาว มีแบรนด์อะไรก็ว่าไป”

“สมมติคุณอยากจะไปทำนวดไทยในเวียดนาม แล้วไม่มีคนเวียดนามมาช่วย คุณไม่มีทางทำได้ ต่อให้คุณแบรนด์ดีแค่ไหน นี่คือตัวอย่าง คือ มีองค์ความรู้ มีหน่วยงาน กองทุน มีเงินที่จะไปซัพพอร์ต แล้วสุดท้ายก็คือเข้าตลาดทุน” ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

งบการเงินต้องโปร่งใส

พร้อมให้ข้อมูลว่าอีกปัญหาของธุรกิจครอบครัวไทย คือ งบการเงินที่ไม่สะท้อนความจริง จากการไม่เสียภาษีหรือหลบเลี่ยงภาษี ทำให้ไม่สามารถค้นหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทได้ ซึ่งแตกต่างจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สามารถดูงบการเงินและรู้ว่าแต่ละธุรกิจนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่

“จริงๆ ปัญหาของธุรกิจครอบครัว 2 เรื่องใหญ่ คือ เรื่องโครงสร้างกฎหมายกับภาษี เมื่อภาษีไม่ถูกต้อง มันก็โตไม่ได้ เพราะถ้าคุณไม่เสียภาษีให้ถูกต้อง จะขาย ก็หาคนซื้อไม่ได้ จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าระบบภาษีของธุรกิจครอบครัวไทยยังเป็นอย่างนี้อยู่ ไม่สามารถจะค้นหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทได้ ใครจะมาซื้อบริษัทหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้อย่างไร”

“ทัศนคติคนไทยไม่เสียภาษี เพราะฉะนั้น เวลาผมทำงานกับลูกค้าที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ผมบอกอันแรกใช้เวลา 3 ปี 5 ปี ในการปรับโครงสร้าง ผมทำงานมา 40 ปี ปรับโครงสร้างเป็นร้อยบริษัท ที่ให้เขาเสียภาษีให้ถูกต้อง คุณไม่ต้องหนีภาษี คุณบริหารจัดการภาษี คุณต้องทำให้ถูกต้อง”

“ถ้าบริหารจัดการภาษี รู้จักเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่ต้องหนีภาษี เพราะถ้าหนี คุณต้องหนีชั่วชีวิต แล้วชีวิตธุรกิจคุณไม่มีทางเจริญได้เลย วันดีคืนดีโดนเล่นงานอีก แต่ถ้าคุณจ่ายภาษีถูก ใครจะมาทำอะไรคุณได้”

ยกระดับธุรกิจครอบครัว สร้าง ‘corporate value up’

เช่นเดียวกับ 450 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นธุรกิจครอบครัว ต้องติดอาวุธ คือความรู้ให้เขา เพราะใน 450 บริษัทนี้อาจดีอยู่แล้ว หรืออาจมีครอบครัวที่มีปัญหาก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความรู้ว่าพี่น้องทะเลาะกันทำยังไง หรือปัญหาธุรกิจเขาคืออะไร

“ใน 450 บริษัท อาจจะมีปัญหาอยู่เยอะก็ได้ เราไม่รู้ ถ้าไม่ตรวจสุขภาพธุรกิจครอบครัวว่ารุ่งหรือร่วง ถ้าร่วง ก็ต้องไปหาว่าปัญหามันเกิดจากอะไร ธุรกิจมันไม่ดี หรือผู้ถือหุ้นทะเลาะกัน ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีอยู่ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ 450 บริษัทนี้เข้มแข็ง โดยต้องขจัดเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งของครอบครัว ให้ครอบครัวสามัคคีในการทำธุรกิจ”

“ถามว่าทำยังไง ในครอบครัวก็ต้องคุยกันเยอะๆ หาคนนอกมาแนะนำ เพราะคนนอกที่ไม่มีส่วนได้เสีย กล้าที่จะบอกว่าคุณไม่ถูก ทำอย่างนี้ไม่ถูก ดังนั้น ก็ต้องมีมืออาชีพหรือมีที่ปรึกษาเข้าไปช่วย หรือมีหลักสูตรที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพยายามส่งเสริมร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะให้เขามาเรียนรู้ตลอดเวลา เช่น มีคอนเทนต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ที่ดีไซน์มาสำหรับธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะ”

ดังนั้น 450 บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นธุรกิจครอบครัว ต้องเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องหาคนมาช่วย โดยคิดต่อไปว่าจะใช้ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปดูงบการเงินแต่ละบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัว หลังจากที่ได้ข้อมูลมาแล้ว 450 บริษัท อาจจะเจาะลึกไปว่า ธุรกิจนี้มีศักยภาพสูง ทำยังไงที่เราจะทำโครงการที่บอกว่ามีมูลค่าบริษัทที่แท้จริง

สมมติว่าบริษัทไหนดี มีศักยภาพสูง ควรจะต้องเพิ่มทุนไปเทกโอเวอร์ธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นทั้งในและต่างประเทศก็ได้ แต่ถ้าอยู่เฉยๆ มีแต่จ่ายปันผล ไม่ขยายธุรกิจ บริษัทมันจะไม่โต หรือได้เงินจากการขายหุ้น(IPO) มา เก็บไว้ไม่ลงทุน ไม่ทำอาร์แอนด์ดี ไม่ทำเอ็มแอนด์เอ รายได้เท่ากันทุกปี แล้วเอาเงินระดมทุนมาจ่ายปันผล ก็ไม่มีประโยชน์กับเศรษฐกิจ คือบริษัทครอบครัวมันต้องมี growth story ถ้ามีฐานความรู้ให้เห็น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจครอบครัว

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางที่จะทำให้บริษัทในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจครอบครัว สามารถเพิ่มมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทได้มากขึ้น หรือมี “corporate value up”

“เร็วๆ นี้กำลังจะไปดูงานที่ประเทศเกาหลีว่าเขาทำ revalue บริษัทกันอย่างไร เกาหลีบอกว่าใครทำโครงการนี้ จะลดภาษีให้ โดยให้เขียนแผน revalue ทบทวนมูลค่าบริษัทมา เขาเรียกว่าโครงการ corporate value up คือถ้าใครทำ แล้วบริษัทมีมูลค่าสูงขึ้น คุณได้สิทธิภาษี เช่น ลดภาษีลง”

“การทำ corporate value up ของไทย อาจจะเป็นในลักษณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงไปช่วยดู บริษัทอาจจะบอกว่าเขามีอาการอะไร หรือต่อไปอาจจะต้องให้เขากรอกแบบสอบถามทั้งกว่า 800 บริษัท ซึ่งธุรกิจครอบครัวจะได้ประโยชน์มากกว่าคนอื่น มันตัดสินใจได้ง่ายกว่าเพราะคุณเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คุณทำได้เลย แต่ต้องให้เข้าใจว่า ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร ผู้ถือหุ้นก็ได้ เขาก็ได้”

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ย้ำว่า เป้าหมายการขับเคลื่อนเรื่องธุรกิจครอบครัวของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ 1. ได้ลูกค้าดีๆ ที่อยู่นอกตลาดเข้ามาจดทะเบียนในตลาดเพิ่ม 2. ช่วยให้ธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว ได้ตระหนัก ป้องกัน และจัดโครงสร้างธุรกิจพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง คือการทำธุรกิจรูปแบบใหม่นั่นเอง แต่ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีการทำงาน ธุรกิจก็ไปไม่รอด

“ถ้าบริษัทพวกนี้ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ดี ที่สำคัญประเทศดี เพราะตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่ใช่แค่ซื้อขายหุ้น แต่ทำให้ขนาดเศรษฐกิจดีขึ้น ประเทศก็ดีขึ้น”

“มีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้น คนมีความมั่งคั่งเกิดขึ้น เพราะคนเหล่านี้เขาเข้ามาในตลาด ก็จะมีเรื่อง ESG มีความรู้ใหม่ๆ ที่สอนให้เขา เช่น ไปทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปทำเรื่องสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความยั่งยืนในภาพรวมของธุรกิจ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า การเปลี่ยนทัศนคติเจ้าของ ให้ปรับธุรกิจให้ทันโลก ทันเหตุการณ์ ทันสมัย ทันเทคโนโลยี แต่ถ้ายังทำธุรกิจแบบเดิม เจ๊งแน่นอน”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราพูด ยังไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนมากนัก แต่ในอนาคต ถ้าลงให้ลึก 450 บริษัทจริงๆ ดูว่ามี perform กี่บริษัท ต้องลงไปอย่างนั้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะทำได้ คือเอางบดุลพวกนี้มาวิเคราะห์ดู โดยใช้ AI วิเคราะห์ ไม่ต้องใช้คน แล้วดูข้อมูลว่าจ่ายปันผล Stable รึเปล่า จ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ EPS เป็นยังไง ฯลฯ เรามาทำเป็นม็อคอัพให้ดู

“ยกตัวอย่างกรณี บริษัทไทยอีสเทิร์นฯ (ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEGH) ที่เข้ามาตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วปรับตัวเองจากธุรกิจปลูกยาง จนกระทั่งเป็นบริษัทที่มิชลินต้องมาจ้างทำยางรถยนต์ครบวงจร ผมยกตัวอย่างกรณีนี้ได้เพราะว่า ครอบครัวนี้ผมวางรากฐานเขาตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับโครงสร้าง ทำธรรมนูญครอบครัว เป็นเวลา 10 ปี แต่เห็นผล ไม่ใช่บอกวันนี้ พรุ่งนี้เขาทำได้ ไม่ใช่ แต่ใช้เวลาเกือบ 10 ปี”

“ดังนั้น ต้องให้เขาเห็นอย่างนี้ว่า บริษัทครอบครัวที่เข้ามาหลังๆ สามารถเติบโตได้ยังไง นี่คือตัวอย่างว่าธุรกิจครอบครัวมันสำคัญยังไง” ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์กล่าว