
องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 18 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันเนลสันแมนเดลาสากล (Nelson Mandela Day) และมีมติให้ข้อกำหนดแมนเดลาเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เพื่อเป็นเกียรติแก่ “เนลสันแมนเดลา” อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำนานถึง 27 ปี และเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องให้มหาบุรุษที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า “เราไม่มีทางรู้จักชาติใดได้อย่างแท้จริง ถ้าไม่เคยเข้าไปในเรือนจำของประเทศนั้น และเราไม่สามารถตัดสินชาติใดได้จากการที่รัฐปฏิบัติต่อพลเมืองชั้นสูง แต่ต้องดูวิธีการปฏิบัติต่อพลเมืองชั้นที่ต่ำที่สุดของประเทศ” ซึ่งหมายถึงคนที่อยู่ในเรือนจำนั่นเอง
มาตรฐานระหว่างประเทศระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเรือนจำมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ การควบคุมผู้ต้องขังเพื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยจากอาชญากรรม และการแก้ไข ฟื้นฟู พัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นคนดี ไม่หันไปกระทำผิดซ้ำหลังได้รับการปลดปล่อย โดยต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง
ปัจจุบันเรือนจำทั่วโลกกำลังประสบปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยมีมากถึง 135 เรือนจำ จากกว่า 190 เรือนจำทั่วโลก ที่มีผู้ต้องขังเกินขีดความสามารถที่เรือนจำจะรองรับได้ บางประเทศสูงเกิน 250% ซึ่งหมายความว่า เรือนจำที่ควรบรรจุคนได้ 100 คน กลับบรรจุคนไว้มากถึง 250 คน ปัญหาความแออัดในเรือนจำได้นำมาสู่ความยากในการจัดการปัญหาความรุนแรง รวมถึงความสามารถในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำประมาณ 2.7 แสนคน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับที่ 3 ของเอเชียโดยในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา มีผู้ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำรวมกว่า 2 ล้านคน แต่หากดูจากสถิติการกระทำผิดซ้ำ จะพบว่าผู้พ้นโทษกว่า 2 แสนคน ที่ได้รับการปล่อยตัวในปี 2563 กลับมากระทำผิดซ้ำ 13% ภายใน 1 ปี 23% ภายใน 2 ปี และกว่า 30% หรือประมาณ 1 ใน 3 คน ภายใน 3 ปี
ด้วยปริมาณคนเข้าออกเรือนจำนวนมาก ทำให้การบริหารเรือนจำและการคืนคนดีกลับสู่สังคมได้อย่างยั่งยืนนั้น เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับสังคมไทย ข้อมูลนี้เปิดเผยในวงเสวนาเรื่อง “ระบบราชทัณฑ์กับการคืนคนดีสู่สังคม” จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นำเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรมในหัวข้อ “ความยุติธรรมทางอาญา: การฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคม” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567
การคืนคนดีสู่สังคมท่ามกลางข้อจำกัดรอบด้าน
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่าประเทศไทยใช้ “คุกเป็นสรณะ” ในการแก้ไขคนทำผิด รวมทั้งมีโทษอาญาเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายให้กักขังแทนการจ่ายค่าปรับได้ ทำให้เรือนจำมีผู้ต้องขังเป็นจำนวนมาก และมีสภาพแออัดด้วยความหนาแน่น 1 คนต่อพื้นที่ 1.2 ตารางเมตร ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดในการแก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังค่อนข้างมาก แม้จะมีการจำแนกผู้เข้าเรือนจำเพื่อนำไปสู่กระบวนการดังกล่าวตามความเสี่ยงของฐานความผิดแล้วก็ตาม
“เราจำแนก 100% แต่จำแนกแล้วไปไหน ก็เรือนจำมีแค่นี้”
สิ่งที่ระบบราชทัณฑ์ดำเนินการคู่ขนานไปกับกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูฯ ท่ามกลางข้อจำกัดที่มีอยู่ ก็คือ การพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อให้คนเหล่านี้สามารถหารายได้เลี้ยงชีพหลังพ้นโทษ ไม่หวนกลับเข้าเรือนจำอีก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้คนเหล่านี้อยู่รอดได้อย่างแท้จริง คือการให้โอกาสจากสังคม ซึ่งทุกวันนี้ยังมีคนอีกมากที่มองผู้พ้นโทษเป็นอาชญากร หรือเป็นปัญหาสังคม
“ในเรื่องกฎหมายก็ปิดกั้นคนเหล่านี้อยู่ เช่น อาชีพนวดแผนไทย จะมีระยะเวลากำหนดไว้ว่ากว่าจะทำได้ต้องเว้นวรรคกี่ปี รับราชการก็ทำไม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องของศีลธรรมอันดี” นายสหการณ์กล่าว
โดยย้ำว่าการขับเคลื่อนเรื่องการคืนคนดีสู่สังคมยังมีอุปสรรคปัญหาค่อนข้างมาก ทั้งในมิติเชิงกฎหมาย การยอมรับของสังคม การพัฒนาทักษะของผู้ต้องขัง รวมถึงข้อจำกัดของกรมราชทัณฑ์เอง
ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์พยายามปรับปรุงระเบียบและการดำเนินงานในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องเวลาการใช้ชีวิตในเรือนจำที่มีความอ่อนไหวสูง เป็นระเบียบพื้นฐานของการดูแลความมั่นคงปลอดภัย แต่ปัจจุบันก็ได้ปรับให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อให้ผู้ต้องขังมีชั่วโมงการทำงานใกล้เคียงกับแรงงานทั่วไป รวมถึงการหาอุตสาหกรรมที่ยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงการทำงานเพื่อให้ผู้ต้องขังออกไปทำงานด้วยได้ หรือเรื่องการพัฒนาผู้ต้องขังในด้านการศึกษาที่เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำแล้วจะไม่สามารถเรียนในระบบปกติได้ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเรือนจำ เช่น สามารถลงทะเบียนเรียนได้ทุกวันและจบได้ทุกวัน ก็จะทำให้เรือนจำมีส่วนสร้างคนคุณภาพให้กับประเทศชาติได้อีกมาก
‘โอกาส’ คือ หัวใจสำคัญของการคืนคนดีสู่สังคม
ดร.นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษ TIJ กล่าวว่าการใช้ระบบราชทัณฑ์ในการแก้ไขปัญหาอาจจะมีอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ค่อนข้างมาก หากคนในสังคมไม่ให้โอกาส เพราะหากไปดูภูมิหลังของคนที่ต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ จะพบว่ามีปมปัญหาในชีวิตและมีที่มาแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นคนที่ขาดโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษา
“มีคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือประมาณ 20% และที่เรียนจบไม่สูงประมาณ 70% พอขาดการศึกษา ก็ขาดโอกาสเรื่องอาชีพตามมา และทำให้เขาต้องวนกลับไปที่เดิม”
ดร.นัทธี เชื่อว่าทุกคนมีโอกาสก้าวพลาดกระทำผิดได้ ขณะเดียวกันคนเราจะมีดี มีพรสรรค์ และมีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัว มีตัวอย่างของคนที่เคยเป็นแชมป์มวยโลกในขณะที่ยังเป็นผู้ต้องขัง มีผู้ต้องขังที่ได้จับไมค์เป็นนักร้องประสานเสียงบนเวทีด้วยความภาคภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง บางคนเรียนได้เกียรตินิยมและบางคนสามารถจบสองปริญญาในเรือนจำ ฯลฯ
หน้าที่ของคนที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ คือ การค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่เพื่อนำออกมาพัฒนาต่อยอดให้ได้
“โอกาสจึงเป็นหัวใจสำคัญของการคืนคนดีสู่สังคม ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ มีการดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยพัฒนาผู้ต้องขัง โดยเข้ามาสอนทักษะอาชีพและพร้อมรับผู้ต้องขังเข้าไปทำงานหลังพ้นโทษ ซึ่งมีโรงงานหรือผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการนี้มากถึง 7,500 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการในหลากหลายมิติเพื่อสร้างการยอมรับผู้พ้นโทษ หนึ่งในนั้นคือ โครงการ “Yellow Ribbon Prison Run” กิจกรรมที่เปิดให้ประชาชนร่วมวิ่งเพื่อสร้างบรรยากาศการยอมรับผู้พ้นโทษมากขึ้น”
ที่ผ่านมาประเทศไทยโดยกรมราชทัณฑ์มีความพยายามดำเนินการในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล “Yellow Ribbon Thailand Presents ราชทัณฑ์ Run for Relife” เพื่อสร้างการยอมรับและให้โอกาสทางสังคมแก่ผู้พ้นโทษ พร้อมเปิดให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังให้สามารถช่วยเหลือตนเอง ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม และไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก หรือการทำพิพิธภัณฑ์ทัณฑสถานเพื่อแสดงให้คนในสังคมเห็นว่าปรัชญาในการปฏิบัติต่อคนที่กระทำผิดได้เปลี่ยนจากการลงโทษแบบแก้แค้นทดแทนไปสู่เรื่องของการแก้ไขฟื้นฟูแล้ว
“ถามว่าทำไมเราต้องมาช่วยผู้ต้องขัง คำตอบคือ ถ้าเราต้องการใช้ชีวิตทุก ๆ วัน เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่นให้ดีขึ้นแล้ว ก็เท่ากับเราใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมายแล้ว”
ผู้ประกอบการกับการคืนคนดีสู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.นพดล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD Program รุ่นที่ 1 เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่ได้ดำเนินโครงการคืนคนดีสู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นเวลากว่า 5 ปี แรงบันดาลใจเริ่มต้นเกิดขึ้นหลังได้เข้าไปดูงานที่เรือนจำธนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร RoLD Program เมื่อปี 2561
“มีคำหนึ่งที่ได้ยินนักโทษหญิงเรียกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่าแม่ และตอนที่ได้มีโอกาสได้นั่งคุยก็พบว่าส่วนใหญ่จะหิ้วยาให้สามี ก็มีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ไหม พอกลับมาดูที่โรงงาน ก็คิดว่าเราจ้างแรงงานต่างด้าวแบบถูกต้องตามกฎหมายหัวละหมื่นกว่าบาท ถ้าให้คนเหล่านี้มาทำงานได้ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของธุรกิจและการช่วยเหลือสังคม”
ดร.นพดลกล่าวต่อว่าจากแรงบันดาลใจนั้น ได้นำมาสู่การริเริ่มโครงการแรก โดยรับผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางสมุทรปราการมาทำงานที่โรงงานแบบเช้ารับ-เย็นส่งกลับ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งค่ารถรับ-ส่ง ค่าอาหาร ค่าชุดฟอร์ม แต่ก็ถือว่าได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีมาก ได้ผลผลิตมากกว่าแรงงานภายนอก “สมมติชั่วโมงหนึ่งเคยได้ผลผลิต 100 ชิ้น ผมจะได้จากทีมพิเศษนี้ 120 ชิ้น” เพราะคนกลุ่มนี้มีความกระตือรือร้น มีวินัย และมีความตั้งใจสูงมาก
ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ในโครงการคืนคนดีสู่สังคม โดยรับผู้ต้องขังจาก 3 เรือนจำเข้ามาทำงาน ได้แก่ เรือนจำสมุทรปราการ เรือนจำชลบุรี และเรือนจำเชียงใหม่ โดยสามารถสร้างรายได้แก่ผู้ต้องขังได้ 4,800 บาทต่อคนต่อเดือน 5,700 บาทต่อคนต่อเดือน และ 7,000 บาทต่อคนต่อเดือน ตามลำดับ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มรายได้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการให้ได้ 12,000 บาทต่อคนต่อเดือนภายใน 2 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันก็สร้างผลตอบแทนให้บริษัทฯ ได้ในระดับที่น่าพอใจ นับว่าเป็นการตอบโจทย์ทั้งต่อการทำธุรกิจและการสนับสนุนสังคม
ดร.นพดลกล่าวอีกว่า สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือ การได้ใช้กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างคนขึ้นมาได้จริง ๆ “เราสามารถสร้างวิธีการใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้เขาได้อย่างแท้จริง เราให้โอกาส ให้กลไก ให้วิธีการ ให้กระบวนการ จนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าเปลี่ยนพฤตินิสัยได้ในระดับหนึ่ง ไม่สามารถบอกว่าเปลี่ยนได้ทั้งหมด แต่เป็นโครงสร้างที่ทำได้ และการได้เห็นความสัมพันธ์ของครอบครัว เห็นคนที่ออกมาทำงานกับเรามาพร้อมครอบครัว จูงมือลูก จูงมือแม่มา อันนี้เป็นภาพที่ผมรู้สึกดีที่สุดกับการทำงานนี้”
จากประสบการณ์ทำงานในเรื่องนี้มา 5 ปี แม้จะพบอุปสรรคปัญหาบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่โดยสรุปแล้ว สามารถตกผลึกได้ว่า แรงสนับสนุนที่จะทำให้วงจรของการคืนคนดีสู่สังคมบรรลุผลสำเร็จได้นั้น มี 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ราชทัณฑ์ กฎหมาย สังคม และผู้ประกอบการ
นางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ กล่าวว่า TIJ เคยทำงานวิจัยร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เกี่ยวกับสาเหตุของการกระทำผิดซ้ำ โดยเปรียบเทียบ 3 ประเทศ ได้แก่ อัลบาเนีย สาธารณรัฐเช็ก และประเทศไทย ซึ่งกรณีของประเทศไทยพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้พ้นโทษกลับมากระทำผิดซ้ำมากที่สุด คือ กลุ่มเพื่อนและสภาพแวดล้อม ถัดมาคือ การไม่มีงานทำ และการใช้ยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เก็บสถิติจากเรือนจำธนบุรีและทัณฑสถานหญิงธนบุรี พบว่าปัจจัยของการกระทำผิดซ้ำของทั้งฝั่งผู้หญิงและผู้ชายจะคล้ายคลึงกัน คือ ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมและกลุ่มเพื่อน รองมาคือการไม่มีงานทำ แต่สัดส่วนของการไม่มีงานทำของผู้หญิงจะสูงกว่าของผู้ชายเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา เศรษฐกิจ และระบบการจ้างงาน เป็นสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ต้องเข้าสู่เรือนจำตั้งแต่แรก
นางสาวชลธิช กล่าวอีกว่าจากประสบการณ์ในการทำ “โครงการโรงเรียนตั้งต้นดี” ทำให้เข้าใจเรื่องการคืนคนดีสู่สังคมว่า “เป็นการเดินทาง (Journey) ของชีวิตคน” ตั้งแต่ภูมิหลังที่ต้องพบเจอในชีวิตก่อนเข้ามาอยู่ในเรือนจำ “จากที่ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตคนในเรือนจำหลายคน บางคนเจอความรุนแรงในครอบครัวมาตลอดชีวิต หรืออย่างแม่เลี้ยงเดี่ยวบางคนชีวิตเขาเจออะไรมาหนักมาก เรือนจำคือที่หยุดพักได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แต่เป็นเรื่องยากขึ้นเมื่อเขาก้าวเท้าออกมาสู่สังคม บางคนบอกเรือนจำสอนอะไรเขาเยอะมาก แต่วันที่เขาก้าวเท้าออกมากลับไม่เหมือนที่ฝันไว้”
ดังนั้น หากมองคนเป็นศูนย์กลาง จะเห็นว่า แม้ในวันที่ก้าวออกจากเรือนจำไปแล้วก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางชีวิตอีกยาวไกล ในมุมมองของชลธิชจึงไม่สามารถใช้เรื่องการกระทำผิดซ้ำเพียงมาตรวัดเดียวในการวัดผลได้ เพราะชีวิตมนุษย์หนึ่งคนมีความสำเร็จในทุก ๆ ระยะ เช่น การมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัว มีความภาคภูมิใจที่ได้กลับมาเป็นพ่อเป็นแม่คนอีกครั้ง มีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อตนเองและคนรอบข้าง ฯลฯ เหล่านี้ นับเป็นความสำเร็จในก้าวเล็ก ๆ ก่อนที่จะถึงเป้าหมายใหญ่ที่สุดในชีวิต และที่สำคัญคือ ทุก ๆ คนในสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยให้ทุกก้าวของคนเหล่านี้มีความสำเร็จได้มากขึ้น
จากประสบการณ์ในการทำ “โครงการโรงเรียนตั้งต้นดี” ทำให้เข้าใจเรื่องการคืนคนดีสู่สังคมว่า “เป็นการเดินทาง (Journey) ของชีวิตคน” ตั้งแต่ภูมิหลังที่ต้องเจอเรื่องหนักหนาในชีวิตก่อนเข้ามาอยู่ในเรือนจำ และแม้จะก้าวออกจากเรือนจำไปแล้วก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางชีวิตอีกยาวไกล ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าไม่สามารถใช้เรื่องการกระทำผิดซ้ำเพียงมาตรวัดเดียวในการวัดผลได้ เพราะหากมองคนเป็นศูนย์กลาง จะเห็นว่าความสำเร็จในชีวิตของคนเรามีหลากหลายมิติ เช่น การมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัว มีความภาคภูมิใจที่ได้กลับมาเป็นพ่อเป็นแม่คนอีกครั้ง มีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อตนเองและคนรอบข้าง ฯลฯ เหล่านี้นับเป็นความสำเร็จในก้าวเล็ก ๆ ก่อนที่จะถึงเป้าหมายใหญ่ที่สุดในชีวิต และทุก ๆ คนในสังคมก็มีส่วนช่วยให้ทุกก้าวของคนเหล่านี้มีความสำเร็จได้มากขึ้น ซึ่งนับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ต้องมาพูดถึงกันในวันนี้ว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน