กรุงเทพฯ ประเทศไทย (5 กรกฎาคม 2567) – นายสก๊อต มอริส รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank:ADB) หรือ เอดีบี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก และ ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันเปิดตัวแผนงานทางการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ระหว่างการเยือนประเทศไทยของรองประธานเอดีบีในระหว่างวันที่ 24-28 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โครงการความช่วยเหลือทางวิชาการในการยกระดับกลไกทางการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Accelerating Climate Finance) จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเร่งระดมทุนจากแหล่งเงินต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และตลาดทุน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศได้ โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนเชิงนโยบายในการพัฒนาการออกแบบนวัตกรรมทางการเงินและการกระตุ้นกลไลทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาแนวทางการดำเนินงานและโครงการนำร่องในด้านที่มีความท้าทายต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ความสามารถในปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมืองต่างๆ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมทางการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
“ประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสูง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งจัดหาการเงินสีเขียวจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าว เอดีบีจะสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาเครื่องมือนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ เช่น กลไลการลดความเสี่ยงทางการเงิน (derisking finance) และตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน นอกจากนี้ เราจะทำงานร่วมกับกรมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาต้นแบบโครงการที่มีความเป็นไปได้ทางการเงินในสาขาที่มีความท้าทายและได้รับจัดสรรเงินทุนอย่างจำกัดจากภาคเอกชน” นายมอริส กล่าว “แผนงานภาครัฐล่าสุดของเอดีบีในประเทศไทยได้รวมความช่วยเหลือทางวิชาการ การพัฒนาขีดความสามารถ และการสนับสนุนทางการเงินเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าว”
“เรามุ่งหวังว่าเอดีบีจะนำประสบการณ์ที่หลากหลายมาออกแบบและนำเสนอนวัตกรรมและแนวคิดอันเป็นประโยชน์ที่มุ่งเน้นภาคส่วนต่างๆ และการพัฒนากลไกทางการเงิน” ดร. พิรุณ กล่าว “นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องใช้ทุกเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ทางสภาพภูมิอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะการเข้าถึงการเงินในทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากกลไกการเงินระหว่างประเทศอีกด้วย”
การมาเยือนประเทศไทยของรองประธานเอดีบีในครั้งนี้ นับเป็นการขยายกิจกรรมเชิงนวัตกรรมของเอดีบีด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการขยายกิจกรรมดังกล่าวนี้ ยังช่วยต่อยอดโครงการริเริ่มทางการเงินเชิงนวัตกรรมด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังดำเนินการอยู่ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน (Green, Social, and Sustainable Bonds) และการริเริ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่บูรณาการหลัการทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green Growth Initiative)
นายมอร์ริส ในฐานะผู้แทนของเดอีบี ยังได้ร่วมลงนามร่วมกับ Agence française de développement ซึ่งได้มอบเงินจำนวน 1 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุน Nature Solutions Finance Hub for Climate and the Environment ที่บริหารจัดการโดยเอดีบี ศูนย์ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาการบริหารจัดการ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป
เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค