WHA Group เปิดอาคารคลังสินค้าสีเขียว รับเมกะเทรนด์โลก ทุ่มงบ 25,000 ล้านบาทพลิกนิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองสีเขียวอย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีและการใส่ใจสิ่งแวดล้อม
จากแนวโน้มธุรกิจต้องคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตามแนวทาง ESG หรือ environment, social and governance กลายเป็นเมกะเทรนด์ที่ธุรกิจทั่วโลกต้องปรับตัวและลงมือทำ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชม WHA Tower จังหวัดสมุทรปราการ และ WHA Group จังหวัดระยอง เปิดต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว พร้อมแนวทางการทำธุรกิจ ตามแนวทาง green concept
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมว่า ที่ผ่านมา ดับบลิวเอชเอให้ความสำคัญในการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม จากเดิมมองว่าเป็นโลกร้อน แต่ตอนนี้เราเข้ามาสู่เรื่องของโลกเดือดแล้ว
“เราสนใจเรื่องนี้มานาน และการทำธุรกิจของเราจะคำนึงถึงเรื่อง ESG ต้องถือว่าเป็นดีเอ็นเอของเรา เพราะเราคิดว่าไม่ใช่แค่สิ่งที่ควรทำ แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้”
สิ่งที่ดับบลิวเอชเอทำคือวางแผนธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เพราะเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาสิงแวดล้อมได้ อย่างเช่นกรณีการทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมที่ระยอง หากมีโรงงานเหล่านี้จำนวนมากทิ้งขยะแบบไม่รับผิดชอบ แล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
“เราให้ความสำคัญและเดินตามแนวทางที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม เราจะพิจารณาว่าขวางทางน้ำหรือไม่ ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา นิคมฯ ดับบลิวเอชเอไม่เคยมีปัญหาเรื่องของน้ำท่วม และสนใจการอยู่ร่วมกันกับชุมชน เช่น การสร้างถนน หากไปทำให้น้ำระบายเร็วขึ้น เราจะสร้างบ่อหน่วงน้ำ เพื่อไม่ให้ชุมชนรอบๆ นิคมอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วม”

นางสาวจรีพรย้ำว่า ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า นิคมอุตสาหกรรมสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน ในรูปแบบของเครือข่ายที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีการดูแลทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ทำให้การพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เริ่มตั้งแต่การวางนโยบาย เป้าหมาย แผนงาน การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
รวมทั้งมีการติดตามประเมินผล การสร้างจิตสำนึกร่วมกันในเรื่องความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร และสนับสนุนให้คู่ค้า พันธมิตร และลูกค้าให้ปรับปรุงยกระดับกระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักอุตสาหกรรมสีเขียวในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
นางสาวจรีพรกล่าวว่า การทำธุรกิจด้วยหลัก ESG ไม่ใช่ต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย แต่คือการลงทุนที่มีผลกำไรกลับมา โดยจะเห็นได้จากลูกค้าของนิคมอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยานยนต์ มีพื้นที่จำนวนมากเพื่อใช้เป็นพื้นที่จอดรถเตรียมขาย แต่ดับบลิวเอชเอได้เข้าไปทำหลังคาโซลาร์ผลิตไฟฟ้า ทำให้รถยนต์ที่จอดไม่ร้อน แล้วสามารถผลิตไฟฟ้าขายกลับไปในโรงงานผลิตได้
“หากเราลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ 300 เมกะวัตต์ เราคาดว่าจะสามารถทำรายได้ 400 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ลูกค้าสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 465 ล้านบาทต่อปี เพราะฉะนั้น เรื่อง ESG ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย แต่เป็นเรื่องของการลงทุน และไม่ใช่วิกฤติ แต่คือโอกาส เพราะถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย หากคุณไม่ปรับปรุงกระบวนการผลิต สุดท้ายโลกจะลืมคุณ เขาจะไม่สั่งสินค้าจากคุณ เพราะสินค้าของคุณปล่อยคาร์บอนเยอะ ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ESG คือโอกาส”
ส่วนในเรื่องของการลงทุนทำระบบน้ำ นำน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ในปี 2566 เราสามารถลดการใช้น้ำ 17 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และสามารถประหยัดต้นทุนได้ 84 ล้านบาท หรือเท่ากับการใช้น้ำของคนเกือบ 2 แสนคน
ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียของดับบลิวเอชเอ มีกำลังในการบำบัดน้ำเสียรวมกันถึงกว่า 36,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมวางเป้าหมายที่ 83,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในปี 2571 ตลอดจนวางเป้าหมายในการลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติประมาณ 21,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีในปี 2570 ซึ่งสามารถประหยัดได้ 242 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในปี 2567 ดับบลิวเอชเอยังมีแผนการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้งบลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท โดย 50% ของงบประมาณดังกล่าว จะนำมาลงทุน ตามแนวทาง ESG
นางสาวจรีพรบอกว่า บริษัทมีแผนที่จะต่อยอดการลงทุนในเรื่องของพลังงานทดแทนทั้งในเรื่องของ ระบบการเก็บพลังงาน (energy storage) เพื่อให้สามารถเก็บเอาพลังงานแสงอาทิตย์ได้ใช้ได้ตลอดเวลา แม้ขณะนี้ยังมีต้นทุนสูงและยังไม่คุ้มที่จะลงทุน แต่เรามีแผนที่จะไปตรงนั้น รวมไปถึงเรื่องของการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ carbon capture เพื่อไปสู่เป้าหมาย zero carbon
ส่วนเรื่องของ กรีนโลจิสติกส์ (green logistics) ด้วยการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ครอบคลุม การปรับเปลี่ยนรถบรรทุก EV ให้เช่า จากเดิม 25 คันเป็น 1,000 คันภายในปีนี้

เปิดคลังสินค้ามาตรฐาน LEED Gold
สำหรับดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เป็นผู้นำในด้านของการสร้างคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า โดยเริ่มปรับการบริหารจัดการคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยพร้อมต่อยอดอุตสาหกรรมสีเขียวระบบกรีนโลจิสติกส์ (Green Logistics) ด้วยการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศรายแรกของไทย
นอกจากนี้ได้เปิดตัวอาคารคลังสินค้าสีเขียว หรือ WHA Mega Logistics Center อาคาร B อาคารแห่งแรกของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่ได้การรับรองมาตรฐาน LEED Gold เวอร์ชัน 4.1 Building Design and Construction (V4.1 BD+C)
อาคารคลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า สีเขียว ตั้งอยู่บนถนนเทพารักษ์ กม. 21 จังหวัดสมุทรปราการ การออกแบบและพัฒนาภายใต้หลักการอาคารสีเขียว เพื่อควบคุมตั้งแต่การใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จนถึงการจัดการของเสีย สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน LEED ซึ่งกำหนดโดยสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Green Building Council)
อาคารลังสินค้าสีเขียว จะออกแบบตามมาตรฐาน LEED Gold โดยหลังคาใช้โซลาร์ และออกแบบให้ภายในครอบคลุมตั้งแต่ด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพของอากาศและสภาพแวดล้อมภายในอาคารที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้อาคาร ซึ่งถือเป็นการช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมคลังสินค้าของไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับอาคารลังสินค้าสีเขียว ได้เปิดให้บริการและมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเต็มพื้นที่แม้ว่าค่าบริการจะสูงกว่าอาคารคลังสินค้าอื่นๆ แต่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีมีลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสู่ความยั่งยืน
ส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (SMART ECO Industrial Estates) ได้ใช้หลักการบริหารจัดการสาธารณูปโภคอย่างยั่งยืนในนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม รวมไปถึงจัดหาแหล่งน้ำสํารอง และดูแลคุณภาพน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกพื้นที่อุตสาหกรรม โดยมีการวางแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการจัดหาแหล่งน้ำ
ขณะที่น้ำที่เกิดจากการผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม จะนำไปบําบัดน้ำเสีย และการนําน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ การลดการสูญเสียน้ำในระบบผลิตและจ่ายน้ำ รวมถึงการนํานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้บริหารจัดการน้ำอย่างหลากหลาย ได้แก่ กระบวนการอัลตราฟิลเตรชันและรีเวิร์สออสโมซิส ระบบบำบัดน้ำเสียแบบตะกอนเร่ง แบบใช้ถังตกตะกอน แบบบึงประดิษฐ์ และแบบบ่อเติมอากาศ โดยริเริ่มโครงการ Clean Water For Planet เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบบําบัดน้ำเสียให้ชุมชนโดยรอบและบุคคลภายนอก
นอกจากนั้น ยังมีโครงการ Demineralized Reclaimed Water ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตน้ำทางเลือก โดยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากระบบบําบัดน้ำเสีย ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาผลิตเป็นน้ำเพื่ออุตสาหกรรมปราศจากแร่ธาตุจําหน่ายให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ
พัฒนาพลังงานทดแทนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับการผลิตไฟฟ้า ดับบลิวเอชเอเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน รวมถึงลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ และตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายรูปแบบ
โดยได้พัฒนา floating solar โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ที่มีขนาดไฟฟ้ารวม 8 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังมีโครงการ Solar Carpark โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) มีขนาดไฟฟ้ารวม 7.7 เมกะวัตต์ Solar Rooftop โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่หลังคาโรงงาน ที่ ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) มีขนาดไฟฟ้ารวม 24.25 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งมีแผนขยายโครงการพัฒนาพลังงานทดแทนทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมอื่นของ ดับบลิวเอชเอ
ส่วนแผนที่จะดำเนินการต่อไปคือเรื่องของการจัดการขยะ หรือ WHA circular-waste management เนื่องจากปริมาณขยะปีละ 5 แสนตันที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งดับบลิวเอชเอได้ดำเนินการทำข้อมูลประเภทขยะ เส้นทางขยะ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการและนำกลับมาใช้ใหม่
ทั้งนี้ดับบลิวเอชเอวางนโยบาย เป้าหมาย แผนงาน การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผล การสร้างจิตสำนึกร่วมกันในเรื่องความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยสนับสนุนให้คู่ค้า พันธมิตร และลูกค้าให้ปรับปรุงยกระดับกระบวนการดำเนินการต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย