ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Slow Down หนังสือขายดีในญี่ปุ่นของ Kohei Saito นักปราชย์หนุ่มฝ่ายซ้ายกับแนวคิด Degrowth

Slow Down หนังสือขายดีในญี่ปุ่นของ Kohei Saito นักปราชย์หนุ่มฝ่ายซ้ายกับแนวคิด Degrowth

15 มิถุนายน 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://socialistvoice.ie/2024/03/book-review-slow-down-the-degrowth-manifesto-by-kohei-saito/

ในระยะที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้เกิดต้นทุนมหาศาลทางด้านสิ่งแวดล้อมของโลกเรา เพราะเหตุนี้ ขบวนการสนับสนุนแนวคิด Degrowth หรือ “การลดธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ให้น้อยลงในระยะยาว” จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็ไปสนับสนุนความคิดต่างๆ ที่ตั้งข้อสงสัยต่อ “การเติบโตทางเศรษฐกิจ” เช่น ดอกผลจากการเติบโตกลับไปตกอยู่กับคนกลุ่มน้อย ทำให้คนพวกนี้มั่งคั่งมากขึ้นไปอีก แทนที่จะเป็นคลื่นที่ช่วยยกเรือ ที่คนส่วนใหญ่โดยสารอยู่ ให้สูงขึ้น

คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า จริงๆแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่โลกเราพึ่งประสงค์จริงหรือไม่

แนวคิด “ลดการเติบโต”

การวิพากษ์วิจารณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจมีหลายแนวคิด แต่แนวคิดสุดขั้วคือแนวคิด “ลดการเติบโต” หรือ Degrowth

หัวใจสำคัญของแนวคิดนี้เห็นว่า ในประเทศพัฒนาแล้ว การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะความต้องการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ไม่ได้เป็นไปเพื่อปรับปรุงชีวิตของประชาชน แต่กลับทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

แนวคิด “ลดการเติบโต” คือการทำให้ความต้องการทางวัตถุและพลังงาน ภายในระบบเศรษฐกิจ กลับมามีความสมดุลกับโลกที่เราอาศัยอยู่ พร้อมกันกับการกระจายรายได้และทรัพยากรอย่างเที่ยงธรรม ดึงประชาชนออกมาจากงานที่ไม่จำเป็น และลงทุนในสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ ที่คนเรามีความต้องการเพื่อชีวิตที่ดี

พวกที่มีแนวคิด “ลดการเติบโต” เห็นว่า ต้องมีการปฏิรูประบบทุนนิยม เพราะทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ทางเลือกคือ “เติบโตหรือตาย” (grow or die system) ในขณะที่โลกเรามีทรัพยากรอยู่จำกัด การลดการผลิตและใช้ทรัพยากร จึงหมายถึงการลด “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” หรือ GDP

แต่ไม่ใช่สภาพเศรษฐกิจถดถอย เพียงแต่ระบบการผลิตจะไม่ใช่การแสวงหากำไร หรือการสั่งสมไม่รู้จบ

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Slow-Down-Manifesto-KOHEI-SAITO/dp/1662602367

Degrowth ของ Kohei Saito

ในหนังสือชื่อ Slow Down: The Degrowth Manifesto Kohei Sato นักปราชย์ฝ่ายซ้ายวัย 37 ปี และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ประกาศชัดเจนว่า “ความพยายามที่จะนำการลดการเติบโต มารวมกับระบบทุนนิยม จะประสบความล้มเหลว” เพราะทุนนิยมไม่ได้เพียงมุ่งไปสู่การเติบโต แต่ยังต้องการสิ่งนี้ การเรียกร้องให้ให้ชะลอการเติบโต คือการเรียกร้องในสิ่งที่เป็นจุดจบของทุนนิยม

ฟังดูแล้ว แนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ Kohei Saito อาจเป็นความคิดรุนแรง แต่กลับมีคนจำนวนมากที่รับฟังความคิดดังกล่าว หนังสือ Slow Down พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาญี่ปุ่นในปี 2020 ชื่อว่า Capital in Anthropocene (ทุนในยุคแอนโธรโพซีน) ส่วนฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อว่า Slow Down พิมพ์วางตลาดในสหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2024

Kohei Saito เล่าในหนังสือว่า ครั้งหนึ่งหลังจากไปบรรยายที่เมือง Suzuka ทางตะวันตกของโตเกียว หลังจากเสร็จการบรรยาย รอนั่งรถไฟกลับ มีชายคนหนึ่งเข้ามาหา ตอนแรกคิดว่าอาจเป็นนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม แต่ชายคนนั้นแนะนำว่า เป็นเจ้าของธุรกิจยาง และถามว่าควรทำอย่างไรกับธุรกิจนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม Kohei Saito แนะนำว่า ให้โอนธุรกิจเป็นของพนักงาน เพราะทุนนิยมเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤติสภาพอากาศ จึงจำเป็นที่ธุรกิจจะเปลี่ยนไปสู่ “เศรษฐกิจที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อม” (Steady-State Economy)
ตัวอย่างนี้ทำให้เขาเห็นว่า แม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจและมีฐานะ ก็ไม่เชื่อในอนาคตที่รุ่งเรืองของทุนนิยม และหันไปยอมรับความคิดใหม่ที่รุนแรง เดือนกันยายน 2020 สำนักพิมพ์ Shueisha พิมพ์หนังสือของเขาในภาษาญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกในชื่อว่า Capital in the Anthropocene

แม้แต่ตัวเขาเองก็คิดว่า ชื่อหนังสือออกจะรุนแรง เกินกว่าที่จะมีคนเข้ามาอ่านจำนวนมาก ใครจะมาอ่านแนวคิดฝ่ายซ้าย เรื่องเกี่ยวกับ “คอมมิวนิสต์ที่ลดการเติบโต” เขียนโดยนักวิชาการที่ไม่มีคนรู้จัก ในแนวคิดของมาร์กซ แต่ Kohei Saito ยอมรับเขาเข้าใจผิดพลาด เพราะหนังสือขายไป 5 แสนเล่ม

วิจารณ์แนวคิด SDG ของ UN

Kohei Saito อธิบายว่า ความสำเร็จของหนังสือ Slow Down ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัจจัยภายในของญี่ปุ่น วิกฤติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ที่มีสาเหตุจากความคิดทุนนิยมแบบ “เสรีนิยมใหม่” (neoliberal capitalism) ที่ให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดธุรกรรมเศรษฐกิจ ทำให้เรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SGD) ของสหประชาชาติ กลายเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่บริษัท นักการเมือง และ NGO ของญี่ปุ่น

แม้แนวคิด SDG จะได้รับความนิยมมาก แต่ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิมนุษยชน ยังเป็นเรื่องฉาบฉวย เช่นสื่อต่างๆเผยแพร่กิจกรรมการดื่มน้ำในขวดพลาสติกให้หมด หรือการรับประทานก้านของบร็อคโคลี แล้วบอกว่าคือ “กิจกรรมที่ยั่งยืน” ดูเหมือนว่าไม่มีใครกล้าวิจารณ์แนวคิด “ศักดิ์สิทธิ์” ของ SDG

เมื่อหนังสือ Slow Down วิจารณ์ว่า “SDG คือฝิ่นของประชาชน” คำพูดประโยคนี้กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียของญี่ปุ่น

Kohei Saito ตั้งคำถามว่า SDG สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกโดยรวมได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะความเป็นจริงมีอยู่ว่า มนุษย์เราได้เปลี่ยนธรรมชาติของโลกเรา ในแบบมูลฐานและกลับมาอย่างเก่าไม่ได้อีกแล้ว กิจกรรมเศรษฐกิจของมนุษย์เรามีขอบเขตกว้างขวางมาก จน Paul Crutzen นักเคมีรางวัลโนเบลประกาศว่า โลกเราเข้าสู่ยุคใหม่เรียกว่า Anthropocene ที่กิจกรรมเศรษฐกิจมนุษย์มีผลกระทบต่อโลก และได้ครอบคลุมทุกส่วนของโลกแล้ว

กิจกรรมเศรษฐกิจของมนุษย์เรา ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน ถนน หรือพื้นที่เกษตร ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ที่ทำหน้าที่ดูดซับความร้อนจากโลก และสะท้อนกลับคืนมาในบรรยากาศ ภาวะเรือนกระจก (greenhouse effect) คือสิ่งที่ทำให้โลกสามารถรักษาอุณหภูมิ ที่สิ่งมีชีวิตรวมทั้งคนเรา มีชีวิตอยู่ได้

นับจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์ใช้พลังงานฟอสซิลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินหรือน้ำมัน ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯออกสู่บรรยากาศจำนวนมาก ก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเข้มข้นของคาร์บอนฯในบรรยากาศอยู่ที่ 280 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ปี 2016 เพิ่มเป็น 400 ppm แม้ในพื้นที่ขั้วโลกใต้ ในปี 2022 องค์การนาซ่าเปิดเผยตัวเลขว่าเพิ่มเป็น 421 ppm

“17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals)”

ความรับผิดชอบของ “โลกเหนือ”

Slow Down บอกว่า ทุกวันนี้ หลายประเทศประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติ ที่เรียกว่า “1 ใน 100 ปี” จนเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น New Normal เดือนมิถุนายน 2020 อุณหภูมิในไซบีเรียพุ่งขึ้นถึง 38C ข้อตกลงปารีสปี 2016 กำหนดให้จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกภายในศตวรรษนี้ ได้ไม่เกิน 2C จากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม หากเป็นไปได้ให้เพิ่มที่ 1.5C แต่อุณหภูมิโลกเพิ่มมาแล้ว 1C หรือ 33.8F

ดังนั้น ความรับผิดชอบส่วนใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จึงอยู่กับประชากรที่อยู่ในประเทศ “โลกเหนือ” (Global North) องค์กรการกุศล Oxfam เปิดเผยว่า ประชากรมั่งคั่งของโลกสัดส่วน 10% มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯกว่า 50% การดำเนินชีวิตของคนมีฐานะ ต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานมหาศาล เช่น รถยนต์ เครื่องบินโดยสาร บ้านที่ใหญ่โต เนื้อสัตว์ และเหล้าไวน์ เป็นต้น

Kohei Saito บอกว่า การใช้ชีวิตแบบสะดวกสะบายสูงสุดของคนในประเทศโลกเหนือ ต้องอาศัยการผลิตและการบริโภคขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่อยู่ภายใต้วิถีชีวิตดังกล่าว คือการเอาประโยชน์จากแรงงานของประชาชนใน “โลกใต้” (Global South) หากไม่มีการเอาประโยชน์แรงงานจากโลกใต้ วิถีชีวิตดังหล่าวของคนในโลกเหนือ จะไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างเช่นธุรกิจแฟชั่นที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในตะวันตก เสื้อผ้าเหล่านี้ตัดเย็บโดยแรงงานในบังคลาเทศ ที่ทำงานในสภาพที่เลวร้าย ปี 2013 ตึกที่เป็นโรงงานเย็บเสื้อผ้าพังทลายลง มีคนงานเสียชีวิตพันกว่าคน ฝ้ายใช้ตัดเย็บเสื้อผ้า มาจากเกษตรกรอินเดีย ทำงานในสภาพอุณหภูมิ 40C ความต้องการเสื้อผ้าแฟชั่นมากขึ้น ทำให้มีการใช้ฝ้ายดัดแปลงพันธุ์กรรม เกษตรกรไม่สามารถใช้เมล็ดพันธุ์ฝ้ายเดิมของตัวเอง ต้องหันไปซื้อแทน รวมทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลง

แนวคิด “การลดธุรกรรมเศรษฐกิจลง” เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อาศัยเหตุผลจาก “ตัวธรรมชาติเอง” เป็นคำอธิบาย เช่น “การเติบโตที่ไม่มีวันสิ้นสุด คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้กับโลกเราที่มีข้อจำกัด” David Attenborough นักแสดงชื่อดังของอังกฤษพูดเมื่อหลายปีมาแล้วว่า

“คนที่เชื่อเรื่องการเติบโตที่ไม่ข้อจำกัด ในโลกที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ หากไม่ใช่คนบ้า ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์”

แต่ปัจจุบัน ทุกวงการยอมรับว่า ต้นทุนจากแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่สูงเกินกว่าจะมองข้าม ข้อเรียกร้องของขบวนการ Degrowth คือ หากการเติบโตทางเศรษฐกิจคือตัวปัญหา ทางแก้คือการลดการเติบโตนี้ลง แต่แนวคิดนี้เริ่มเข้าสู่สื่อกระแสหลักของสังคมแล้ว เช่น มีบทความชื่อว่า “เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมีความมั่งคั่ง โดยปราศจากการเติบโต” หรือแม้แต่สันตะปาปาฟรานซิสก็กล่าวว่า “เวลามาถึงแล้ว ที่จะยอมรับการเติบโตที่ลดลง ในบางส่วนของโลก”

เอกสารประกอบ

Shrink the Economy, Save the World, 08 June 2024, nytimes.com
Slow Down, Kohei Sato, 2024, Astra House.