ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” กับการระบุประเด็น(ที่ควรจะ)เร่งด่วนสำหรับไทย

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” กับการระบุประเด็น(ที่ควรจะ)เร่งด่วนสำหรับไทย

9 มีนาคม 2017


รายงานโดย สฤณี อาชวานันทกุล

หลังจากที่รัฐบาลเผด็จการของไทยได้ไปลงนามขานรับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ร่วมกับสมาชิกองค์การสหประชาชาติประเทศอื่นอีก 192 ประเทศ อันนับเป็น “จริยธรรมสากล” ชุดใหม่ที่ประชาคมโลกมีฉันทามติร่วมกันว่าจะใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาในรอบ 15 ปี คือ ระหว่างปี พ.ศ. 2559-2573

ล่าสุด ในเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 2 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะเผด็จการทหาร ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติกำหนดให้มี 30 เป้าประสงค์เร่งด่วนที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการในช่วง 5 ปีแรก จากเป้าหมาย 17 ประการและ 169 เป้าประสงค์ ของ SDGs ที่จะต้องบรรลุเป้าหมายภายใน 15 ปี โดยระบุว่า ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็น “ประเด็นเร่งด่วน” และ “มีผลกระทบสูง” เช่น ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน, ยับยั้งการประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU), ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ฯลฯ

ผู้เขียนอ่านรายการเป้าประสงค์ที่รัฐบาลอ้างว่า “เร่งด่วน” และ “มีผลกระทบสูง” เหล่านี้แล้วก็เห็นว่า กระบวนการกำหนดเป้าประสงค์ดังกล่าวดูเหมือนว่าอาจจะถูกครอบงำด้วยความคิดของหน่วยงานราชการบางหน่วยที่ยัง “ล้าหลัง” หรือ “มักง่าย” อยากเลือกแต่เป้าประสงค์ที่จะทำให้ตัวเองทำงานสบาย หรือค่อนข้างมั่นใจว่าทำสำเร็จแน่ๆ ซึ่งก็มักจะไม่ใช่ประเด็นที่ “เร่งด่วน” และ “มีผลกระทบสูง” จริงๆ สำหรับประเทศไทย เพราะประเด็นเหล่านั้นยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้เวลาและการทำงานร่วมกันหรืออย่างน้อยก็สอดคล้องกันของทุกภาคส่วนเท่านั้น จึงจะขจัดหรือบรรเทาได้สำเร็จ

“เป้าประสงค์เร่งด่วน” ของรัฐบาลหลายข้อดูจะสอดคล้องกับความเร่งด่วนของปัญหา แต่บางข้อก็รับมือกับปัญหาที่ไม่เร่งด่วนแต่ประการใด อีกทั้งยังมีประเด็นเร่งด่วนจริงๆ อีกหลายข้อที่ดูจะไม่อยู่ในขอบเขตของเป้าประสงค์เหล่านี้ รวมถึงยังมีคำถามถึง “วิธีการรับมือ” อีกหลายข้อ ซึ่งคงต้องรอดูรายละเอียดกันต่อไป

ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการนำข้อมูลจาก SDG Index & Dashboards โครงการติดตามความคืบหน้าของประเทศต่างๆ ต่อการบรรลุ SDGs เป็นความร่วมมือระหว่าง Sustainable Development Solutions Network หรือ SDSN ร่วมกับมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung จากเยอรมนี โครงการนี้นำโดย เจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) ผู้อำนวยการ SDSN และอดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์ของผู้เขียน ผู้คร่ำหวอดในวงการ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” มายาวนานกว่าสามทศวรรษ

รายงานฉบับปฐมฤกษ์ออกปี 2559 ใช้ข้อมูลตัวชี้วัดหลักในด้านต่างๆ ของ SDGs ทั้ง 17 ข้อ จากประเทศทั่วโลก รวบรวมจากฐานข้อมูลทั้งของธนาคารโลก สหประชาชาติ และดัชนีต่างๆ ที่หลากหลาย โดยใช้ปีล่าสุดเท่าที่หาได้ มาจัดอันดับและแบ่ง “ช่วงคะแนน” ของตัวชี้วัดหลักแต่ละตัว ออกเป็นสามระดับคือ เขียว (ดี) เหลือง (ปานกลาง) และแดง (แย่)

รายงานของประเทศไทย (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ SDG Index & Dashboards) ชี้ว่า ไทยอยู่ที่อันดับ 61 จาก 149 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนรวม 62.2 จาก 100 คะแนน โดยมี SDG ข้อเดียวที่ได้คะแนนรวมระดับ “ดี” คือ SDG1: ขจัดความยากจน โดยสรุปค่าและระดับคะแนนรายตัวชี้วัดหลักได้ดังตารางด้านล่าง

ผู้เขียนนำตารางข้างต้นมาแปลและปรับช่วงคะแนนเล็กน้อย โดยทาสี “แดงทแยงขวาง” สำหรับดัชนีที่ค่าของไทยถูกจัดว่า “ปานกลาง” (สีเหลือง) แต่ฉิวเฉียดเข้าใกล้ระดับ “แย่” และใช้สีดังกล่าวเช่นกันสำหรับตัวชี้วัด “พื้นที่ทางทะเลที่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งได้รับการคุ้มครองทั้งพื้นที่ (%)” ซึ่ง SDG Index ระบุว่าไม่มีข้อมูล แต่โดยข้อเท็จจริงปัจจุบันไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพียง 11,450 ตารางกิโลเมตร หรือ 32% ของขนาดที่ IUCN แนะนำ คือ 10% ของพื้นที่ทางทะเลทั้งประเทศ

ผลการแปลและปรับปรุงช่วงคะแนนแสดงได้ดังตารางด้านล่าง

จากตารางจะเห็นว่า ไทยมีตัวชี้วัดหลักที่เข้าขั้น “แย่” (แดง) หรือ “ใกล้แย่” (แดงทแยงขวาง) 21 ตัวด้วยกัน ในจำนวนนี้มี SDGs 4 ข้อที่ตัวชี้วัดหลักเข้าขั้น “แย่” ทุกตัว หรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ได้แก่

  • SDG 10: ลดความเหลื่อมล้ำ
  • SDG 11: เมืองและชุมชนที่ยั่งยืนปรับตัวได้เร็ว (resilient) และโอบอุ้มคนทุกกลุ่ม (inclusive)
  • SDG 12: การผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบ
  • SDG 13: การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ มีตัวชี้วัดหลัก 2 ตัวที่ไทยไม่เพียงแต่เข้าขั้น “แย่” แต่ยัง “แย่ติดอันดับโลก” เมื่อเปรียบเทียบกับค่าของประเทศอื่นๆ นั่นคือ “อัตราการตายจากการจราจร” และ “จำนวนนักโทษต่อประชากร 100,000 คน” ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไทยติดอันดับ 3 ประเทศที่แย่ที่สุดในโลก

เมื่อนำข้อมูลข้างต้นมาเปรียบเทียบกับ “เป้าประสงค์เร่งด่วน” 30 ประการของรัฐบาล คสช. พบว่าในจำนวนตัวชี้วัดหลักที่ไทยอยู่ในระดับ “แย่” รวม 21 ตัว มีเพียง 6 ตัวเท่านั้นที่ดูมีความเกี่ยวโยงกับเป้าประสงค์ หรือพูดอีกอย่างคือ มาตรการของรัฐมีแนวโน้มที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ ได้แก่ เป้าประสงค์และตัวชี้วัดต่อไปนี้

  • 2.4 ระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน การเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (อาจช่วยเพิ่ม “ดัชนีการจัดการไนโตรเจนที่ยั่งยืน”)
  • 3.6 ลดอุบัติเหตุทางถนน (อาจช่วยลด “อัตราการตายจากการจราจร”)
  • 12.4 การกำจัดสารเคมีและของเสียอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (อาจช่วยลด “ขยะมูลฝอย”)
  • 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ (อาจช่วยลด “อัตราความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”)
  • 15.2 การจัดการป่าอย่างยั่งยืน (อาจช่วยลด “อัตราการลดลงของพื้นที่ป่า”)
  • 16.5 การลดการทุจริตคอร์รัปชัน (อาจช่วยยกระดับ “ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน”)

ตัวชี้วัดอีก 15 ประเด็นที่ไทยยังอยู่ในระดับ “แย่” เช่น “ความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่เมือง”, “อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน”, “อัตรา ‘แม่วัยใส’ (อายุ 15-19 ปี)” และ “สัดส่วนผู้หญิงในสภา” ไม่พบเป้าประสงค์เร่งด่วนใดๆ ของรัฐบาลที่รับมือกับประเด็นอย่างชัดเจน

“เป้าประสงค์เร่งด่วน” สองประการ คือ “2.1 การยุติความหิวโหยและเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยพอเพียง” และ “6.1 การเข้าถึงน้ำดื่มปลอดภัย มีราคาหาซื้อได้” รับมือกับตัวชี้วัดหลักที่ประเทศไทยได้อันดับ “ดี” หรือ “ปานกลาง” (สะท้อนว่าไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนมานานแล้ว) นั่นคือ อัตราส่วนประชากรที่ขาดสาอาหาร และการเข้าถึงน้ำประปา ก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลมองว่าเป้าประสงค์สองประการดังกล่าว “เร่งด่วน” เพราะเหตุใด

“เป้าประสงค์เร่งด่วน” บางรายการดูเหมือนจะรับมือกับตัวชี้วัดที่ไทยอยู่ระดับ “แย่” แต่ยังมีคำถามถึงกระบวนการและวิธีการซึ่งควรต้องอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในสังคมว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น “10.1 เพิ่มการเติบโตของรายได้กลุ่มคนยากจนร้อยละ 40 ล่างสุด” อาจไม่ตอบโจทย์ เพราะลำพังการเพิ่มรายได้คนกลุ่ม 40% จนสุดอาจไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเลย เช่น ถ้ารายได้คนกลุ่ม 10% รวยสุดยังเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ของคนจน วิธีลดความเหลื่อมล้ำที่ตรงประเด็นกว่า คือ การใช้มาตรการกระจายรายได้ เช่น เก็บภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า และลดความถดถอยของระบบภาษี

ส่วน “16.2 ยุติการค้ามนุษย์” อาจช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนทางเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญในเวทีโลก (คู่ค้าหลายประเทศเพ่งเล็งและประกาศไม่รับซื้อสินค้าที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์) แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างใดๆ ที่ทำให้ไทยมี “จำนวนนักโทษต่อประชากร 100,000 คน” สูงติดอันดับโลก (ประเด็นสำคัญใน SDG 16: ความยุติธรรมทางสังคม)

แน่นอนว่า แต่ละประเทศย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และรายละเอียดวิธีปฏิบัติตามกรอบ SDGs 17 ข้อ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทในท้องถิ่นของตัวเอง แต่สุดท้าย การเลือกว่าเป้าประสงค์ใดควรเป็น “เป้าประสงค์เร่งด่วน” ในการพัฒนาประเทศ ก็ควรจะสอดคล้องกับระดับ “ความรุนแรงเร่งด่วน” ของประเด็นต่างๆ อย่างแท้จริง

และเมื่อ “เป้าประสงค์เร่งด่วน” โดยรวมของรัฐบาลยังมีคำถามมากมายดังสรุปข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าในช่วงเวลานับจากนี้ ภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมนอกเหนือจากรัฐ โดยเฉพาะพลเมืองที่ตื่นตัว ชุมชนที่เข้มแข็ง นักวิชาการ นักธุรกิจ นักพัฒนา และเอ็นจีโอ น่าจะติดตามและตรวจสอบนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล คสช. ที่อ้างว่าเกี่ยวกับ SDGs อย่างใกล้ชิด รวมทั้งตรวจสอบ “กระบวนการ” ได้มาซึ่งนโยบายและมาตรการเหล่านี้ด้วย

เพราะสุดท้าย เราจะบรรลุ SDGs ได้หรือไม่เพียงใด ไม่ใช่เรื่องของ “รัฐ” และผู้ที่ถือหางรัฐเท่านั้นที่จะกำหนด

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรก: http://www.salforest.com/blog/6041#