
คลังชง “หวยเกษียณ” เข้า ครม.สัญจรโคราช 2 ก.ค.นี้ ตั้งเป้าดึงแรงงานนอกระบบออมเงินกับ กอช. 20 ล้านคน ขายใบละ 50 บาท – ลุ้นรางวัลที่ 1 รับ 1 ล้านบาท 5 รางวัล – รางวัลที่ 2 รับ 1,000 บาท 10,000 รางวัล ยันไม่มอบเมา เริ่มขายไตรมาสแรก ปี 2568 เฟส 2 เล็งขยายกลุ่มเป้าหมายไปที่ข้าราชการ – ลูกจ้างประกันสังคม
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการ “สลากสะสมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ” หรือ “หวยเกษียณ” ของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ว่า เมื่อวานนี้นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นำเรื่องนี้ส่งไปให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว เพื่อเสนอให้ที่ประชุม ครม.สัญจร จังหวัดนครราชสีมาพิจารณาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 แต่ถ้าเสนอไม่ทันก็อาจเลื่อนไปพิจารณาในการประชุม ครม.ครั้งถัดไป และหลังจาก ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว ขั้นตอนต่อไป กอช.ก็จะต้องกลับไปยกร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2554 เสนอที่ประชุม ครม.อีกครั้ง ก่อนที่จะส่งร่างกฎหมายให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ดร. นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับ “หวยเกษียณ” นั้นจะมีรูปแบบเหมือนสลากดิจิทัล แบบขูด ผ่านแฟลตฟอร์มบนมือถือ โดย กอช.จะขายใบละ 50 บาท เช่น ฝาก 5,000 บาท ก็จะได้สลาก 100 ใบ แต่ละใบที่ปรากฏอยู่บนมือถือจะมีวงกลมให้ขูด หรือ ถู 10 วง ก็จะปรากฏหมายเลข 2 หลัก ขึ้นมา 3 – 4 คู่ เช่น 22 , 34 และ 56 เป็นต้น หากไปตรงกับรางวัลที่ 1 ก็ได้รับเงิน รางวัลละ 1 ล้านบาท มีทั้งหมด 5 รางวัล แต่ถ้าตัวเลขไปตรงกับรางวัลที่ 2 จะได้รับเงิน รางวัลละ 1,000 บาท มีทั้งหมด 10,000 รางวัล หลักการที่ออกแบบไว้ในเบื้องต้นจะมีรูปแบบคล้าย “Lotto” หรือ “Bingo” คาดว่าเริ่ม กอช.จะเริ่มขาย “หวยเกษียณ” ได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือ อย่างช้าไตรมาสแรกปี 2568 ทั้งนี้ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการผ่านร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ กอช.มั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก หรือ ออมเงินกับ กอช.ได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.6 ล้านคน อาจเพิ่มเป็น 20 ล้านคนได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ถามว่าเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเล่นหวยใต้ดินเพิ่มขึ้น หรือไม่ จากเดิมออกรางวัลเดือนละ 2 งวด กลายเป็น 4 งวด
ดร.เผ่าภูมิ ตอบว่า “ไม่คับ ขณะเดียวกันหวยเกษียณก็อาจไปแข่งกับหวยใต้ดินได้ด้วย ยืนยันไม่ได้ไปทำให้คนไทยเล่นหวยใต้ดินเพิ่มขึ้น หรือ มอมเมาประชาชา แต่หวยเกษียณของรัฐบาล เป็นเครื่องมือกระตุ้นการออมเงินที่มีโอกาสได้ลุ้นรางวัลใหญ่ โดยที่เงินต้น หรือ เงินที่ลงทุนไม่หาย แตกต่างจากหวยใต้ดิน หากไม่ถูกรางวัลก็จะถูกเจ้ามือกินรวบ เงินต้นไม่ได้คืน กระทรวงการคลังมั่นใจว่าหวยเกษียณของกอช.น่าสนใจมากกว่าหวยใต้ดิน และที่สำคัญจะเป็นการจูงใจให้ประชาชนได้ออมเงินมากขึ้น ยั่งมีการออมเงินมากขึ้น ก็มีโอกาสถูกรางวัลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”
ดร.เผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การนำรูปแบบหวยเกษียณมาใช้ในการกระตุ้นให้แรงงานที่อยู่นอกระบบหันมาออมเงิน ยังได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือ นักวิชาการ ต่างเห็นพร้องต้องกันว่าโครงการนี้น่าจะช่วยกระตุ้นการออมเงินได้เป็นอย่างดี ส่วนข้อเรียกร้องที่อยากจะให้กระทรวงการคลังขยายโครงการออมเงินในลักษณะนี้ไปยังกลุ่มแรงงานในระบบด้วย อย่างเช่น ข้าราชการ ลูกจ้างประกันสังคม เป็นต้น ในความเห็นส่วนตัวของผมก็จะพยายามทำให้ แต่คงเป็นเฟสที่ 2 ขอทำเฟสแรกให้สำเร็จก่อน คือ การกระตุ้นให้แรงงานนอกระบบกันมาออมเงินกันให้มากขึ้น

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ตนได้มาเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ทั้งนี้ เนื่องจาก ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ พบว่า สวัสดิการที่ภาครัฐจัดสรรให้กับผู้เกษียณอายุในแต่ละปีงบประมาณ เป็นการจ่ายแบบขั้นบันได สูงถึงปีละหลายแสนล้านบาท และจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ขาดความพร้อมและมีเงินออมที่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตในวัยเกษียณ เพราะอาศัยเพียงแค่สิทธิ สวัสดิการ และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐมอบให้ ก็ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีได้ ดังนั้น การจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ หรือให้ผู้สูงอายุมีเงินออมเพื่อรองรับวัยเกษียณ จึงเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล
“ที่ผ่านมา กอช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งสร้างวินัยการออมที่ดีให้กับประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ยังไม่มีสวัสดิการอื่นใดรองรับ ให้มีบำนาญใช้ เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ และในปี 2568 นี้ โดยกระทรวงการคลังได้ออกนโยบาย “หวยเกษียณ” ที่ดำเนินการโดย กอช. เพื่อสร้างแรงจูงให้กับประชาชนในการเก็บออมระยะยาว และแก้ปัญหาคนไทยแก่แต่จนได้อย่างยั่งยืน” ดร.เผ่าภูมิ กล่าว

ด้านนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น จากเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้า ซึ่งการมีสุขภาพที่แข็งแรงปราศจากโรคภัย คือ สิ่งที่ทุกคนปราถนา ดังนั้น การดูแลสุขภาพควบคู่กับการดูแลสุขภาพการเงิน จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน เนื่องจาก ชีวิตในช่วงเกษียณอายุที่ยาวนานขึ้น เป็นเหตุให้ต้องคำนึงถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบด้านการเงิน ซึ่งการมีทักษะทางการเงิน จะทำให้วางแผนอนาคตทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบการออมที่เข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
นางสาวจารุลักษณ์ กล่าวอีกว่า กอช. มุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในการสร้างฐานการออม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ ให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบบำนาญ โดยประชาชนที่มีอายุ 15-60 ปี สามารถออมเงิน ขั้นต่ำตั้งแต่ 50 บาท สูงสุดถึง 30,000 บาทต่อปี และยังได้รับการสมทบจากรัฐสูงถึง 100% แต่ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปี ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องส่งเป็นประจำทุกเดือน หรือถ้าเดือนไหนไม่มี จะไม่ส่งเงินออมก็ได้ โดยที่ไม่เสียสิทธิใด ๆ นอกจากนี้ เงินออมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปี ได้สูงสุดถึง 30,000บาท และรัฐยังคุ้มครองผลตอบแทนการลงทุนเมื่ออายุครบ 60ปี
“การร่วมมือกับ สปสช. เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชน มีบำนาญถ้วนหน้า และมีเงินใช้ดำรงชีพในยามเกษียณ และเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างระบบการออม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐ และหันมาใส่ใจสุขภาพการเงินของตนเอง” นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมีหลักประกันที่มั่นคงให้กับชีวิต ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและงบประมาณที่ได้รับจากภาครัฐ มาพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพ นับเป็นพันธกิจหลักของ สปสช. ที่ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 22 ครอบคลุมการดูแลสุขภาพคนไทย 48 ล้านคนทั่วประเทศที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ให้ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิเมื่อเจ็บป่วย ตั้งแต่โรคทั่วไปครอบคลุมถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาความยากจน
นายแพทย์จเด็จ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า มีผู้มีสิทธิที่จะเข้าร่วมการออมกับ กอช. กว่า 20 ล้านคน โดย สปสช. ตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้มีสิทธิกว่า 10 ล้านคน เข้าร่วมออมเงินกับ กอช. เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคง และมีบำนาญไว้ใช้ในยามเกษียณ และพร้อมสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางที่เหมาะสม รวมถึงเชื่อมต่อระบบสารสนเทศระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนร่วมกัน
สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบสิทธิ และสมัครได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ พร้อมกันนี้ กอช. ขอแนะนำให้สมาชิกส่งเงินออม เพียง 5 ปี ปีละ 30,000 บาท ก็มีสิทธิรับบำนาญตลอดชีพได้ ซึ่งสามารถสมัครและส่งเงินออม ผ่านแอปพลิเคชัน กอช. , เป๋าตัง, ทางรัฐ, MyMo, กรุงไทยเน็กซ์, ทรูมันนี่, เคพลัส, เป๋าตัง, ออมเพลิน หรือทางไลน์แอด กอช. @nsf.th และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนเงินออม 02-049-9000