ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปรับกาย ฮีลใจ ให้สมดุล” สร้างสุขภาพจิตดีที่ดีอย่างยั่งยืน เริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง

“ปรับกาย ฮีลใจ ให้สมดุล” สร้างสุขภาพจิตดีที่ดีอย่างยั่งยืน เริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง

3 มิถุนายน 2024


คนจำนวนมากประสบปัญหาความเครียดจากสิ่งรอบตัวในโลกที่อยู่ยากขึ้นทุกวันทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องสุขภาพ เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมเรื่องความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง ฯลฯ จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายและจิตใจไม่สมดุลภายใน งาน SX Talk Series #3 บาลานซ์อยู่ไหน? ปรับกาย ฮีลใจ ให้สมดุลซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจึงมีคำแนะนำการปรับสมดุลชีวิตให้ลงตัวแนะแนวทางการดูแลสุขภาพจิตที่นำไปใช้ได้จริงและการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อเยียวยาจิตใจจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการฮีลใจ เปลี่ยน “Mental Health Ecosystem” สร้างสุขภาพจิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าความสุขหรือความทุกข์ในชีวิต ไม่ได้เกิดจากตัวเราเพียงคนเดียวแต่ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่คนๆ นั้นใช้ชีวิตอยู่เหมือนวงหัวหอมไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน ประเทศชาติ สิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด ส่งผลให้ชีวิตของเราไม่บาลานซ์ มีความสุขน้อยลง

ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงให้คนกลับมามีบาลานซ์อีกครั้งต้องทำอะไรที่มากกว่าการเปลี่ยนที่ตัวคนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเปลี่ยน “Mental Health Ecosystem” ทั้งระบบเพื่อเอื้อให้เกิดความยั่งยืนต่อสุขภาพจิตของเรา เช่น การมีพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ มีสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย มีแหล่งความช่วยเหลือที่คนเข้าถึงได้ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายส่วนตัวเรา ก็สามารถสร้างบาลานซ์ได้ด้วยการมีพื้นที่ปลอดภัยใกล้ตัว โดยการสร้าง Compassion หรือความเมตตากรุณาให้คนรอบตัว เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน รวมถึงการมีเมตตาและอ่อนโยนกับตัวเอง มีสติรับรู้ว่าตัวเรากำลังรู้สึกอย่างไร และรักตัวเองให้เหมือนกับที่เรามีความรักให้คนรอบตัว

สร้างสุขภาวะทางใจด้วย “จิตวิทยาเชิงบวก”

อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท มายด์เซ็ทเมคเกอร์ จำกัดกล่าวว่า การปรับสุขภาพจิตจะต้องมีจิตวิทยาเชิงบวกโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เป็นเชิงบวกแบบคณิตศาสตร์ไม่ใช่เชิงบวกแบบโลกสีชมพู ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพื่อทำให้ภาวะติดลบในใจหายไป เช่น ความเครียดสามารถเยียวยาได้แบบระยะสั้นและระยะยาวโดยในระยะยาว เราต้องรู้จักเปลี่ยนมุมมองต่อวิถีชีวิต ฝึกคิดในรูปแบบใหม่ ๆ ฝึกจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเองอย่างยั่งยืน และเครื่องมือที่ต้องมีคือ “ความงอกงามด้านจิตใจ” หรือที่เรียกว่า “Growth Mindset”

ทั้งนี้ จิตวิทยาเชิงบวกมีตัวแปรสำคัญ 5 ด้านชื่อว่า “PERMA” โมเดลที่จะช่วยให้เกิดสุขภาวะทางใจที่ดี ได้แก่ P คือ Positive Emotion อารมณ์เชิงบวกเช่น สนุก ตื่นเต้น ภูมิใจ เร้าใจ บันเทิงใจ มีความหวัง มีความรัก การนอน ฯลฯ เพื่อให้เราสามารถรับมือเมื่อต้องเจอกับเรื่องราวเชิงลบได้

E คือ Engagementการรู้สึกมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชีวิตที่ทำให้เรียนรู้และเติบโตไปกับมัน, R คือPositive Relationship การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นซึ่งจะเป็นเกราะและตัวแปรให้เราอยากทำสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง, M คือ Meaning การรู้สึกถึงความหมายในชีวิตของตัวเอง, และ A คือ Accomplishment การรู้สึกถึงการเติบโตของตัวเองในแต่ละขั้นของชีวิต

อรุณฉัตร กล่าวว่า “หากทุกคนได้ลองพัฒนาสุขภาวะทางจิตของตัวเองแล้วเผื่อแผ่ไปสู่คนรอบข้าง จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ที่ไม่ดีได้ดีขึ้น
และเราก็จะมีพลังรับมือกับความท้าทายที่มากขึ้นในทุกวัน”

วิธีฮีลใจด้วย “ศิลปะ” ในโลกแห่งความยั่งยืน

ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce และนักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว กล่าวว่าความยั่งยืนไม่ได้หมายถึงแต่ทรัพยากร ต้นไม้ ใบหญ้า หรืออากาศเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วความยั่งยืนยังอยู่ในตัวทุกคน เพราะการที่เราพยายามจะช่วยให้แต่ละคนอยู่กันอย่างมีคุณภาพต่อกันไปเรื่อยๆ ก็ถือเป็นความยั่งยืนเช่นกัน

ดุจดาว แนะนำว่าการเยียวยาจิตใจตัวเองให้บาลานซ์ เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำทุกวันไม่ต้องรอให้ใจเราร่วงแล้วค่อยซ่อม แต่ควรทำตั้งแต่เรายังไม่ได้เป็นอะไร เพื่อป้องกันไม่ให้ใจหล่นไปไกล อย่างเช่น การเยียวยาจิตใจตัวเองด้วยศิลปะโดยที่ Soulsmith by Empathy Sauce มีคลาสซ่อมใจสำหรับผู้คนที่มองหาบาลานซ์ในชีวิตผ่านศิลปะบำบัดใน 4 แขนงได้แก่ 1. Visual Arts การวาดเขียน การปั้น 2. Music ดนตรีเยียวยาจิตใจ 3. Dramaการ แสดงบทบาทเพื่อรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองและผู้อื่น และ 4. Dance Movement

นอกจากนี้ อยากให้ทุกคนเติมศิลปะเรื่องการมี Empathy เข้าไปในวิถีชีวิต ไม่มองโลกใบนี้แค่ในมุมของตัวเอง แต่ยังมองเห็นถึงความละเอียดอ่อนของคนอื่น และเห็นว่าความปลอดภัยทางใจของผู้คนในสังคม ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะการเติมศิลปะเข้าไปในชีวิต จะช่วยสร้างความเข้าอกเข้าใจไม่ทำให้ใจร่วงหล่นไปไกล เช่น การสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยถ้อยคำที่นุ่มนวลอ่อนโยนซึ่งจะช่วยโอบกอดให้เรามีแรงและซัปพอร์ตกันและกันได้มากขึ้นที่สำคัญคือ “การรับฟังให้เป็น” จะเป็นหนึ่งสิ่งที่ปลอดภัยมากๆ สำหรับจิตใจผู้คนลองทำกันเองในบ้าน ในครอบครัวให้ได้ หากทำมันได้อาจช่วยได้ดีกว่าการไปหาหมอที่คลินิก รวมไปถึงการสร้างศิลปะในการรักษาและเคารพขอบเขตของผู้อื่น บางครั้งเรารักและหวังดีกับคนอื่น โดยการคิดแทนคนอื่น ซึ่งอาจไม่ได้เป็นการเคารพขอบเขตของผู้อื่นอย่างแท้จริง

“จงค่อยๆ ใส่ศิลปะเข้าไปในชีวิตประจำวันเพราะมันสามารถป้องกันและเยียวยาจิตใจได้ โดยที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง”ดุจดาว กล่าว