ThaiPublica > เกาะกระแส > “รับเฉพาะเงินสด” เมื่อลูกค้าพร้อมสแกนจ่าย แต่ร้านค้าไม่พร้อมเปิด QR รับ – หนีสรรพากร

“รับเฉพาะเงินสด” เมื่อลูกค้าพร้อมสแกนจ่าย แต่ร้านค้าไม่พร้อมเปิด QR รับ – หนีสรรพากร

24 มิถุนายน 2024


ระยะหลังตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะพบเห็นพ่อค้าแม่ค้าพากันติดป้าย “รับเฉพาะเงินสด” เพิ่มมากขึ้น และดูเหมือนว่าเวลานี้กำลังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะร้านอาหารเจ้าดังเจ้าอร่อย ที่ในแต่ละวันมีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนจำนวนมาก ถึงขั้นสมาชิกเฟซบุ๊กหลายคนพากันโพสต์เป็นมีมสุดขำ ว่าหากร้านไหนติดป้ายรับเฉพาะเงินสด การันตีได้เลยว่าร้านนี้อร่อยแน่นอน!

กระแสร้านค้าเลิกรับเงินด้วยระบบ PromptPay ผ่านการสแกน QR Code หรือการโอนเงินเข้าบัญชี กลายเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคพากันพูดถึงมากขึ้น เพราะขัดกับพฤติกรรมการใช้จ่ายในยุคสังคมไร้เงินสด (cashless society) ที่หลายคนเลิกพกเงินสดกันแล้ว สะท้อนจากตัวเลขธุรกรรมชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4,700 ล้านบาทเลยทีเดียว

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สำรวจพบร้านอาหารขายดีหลายแห่งที่พากันปฏิเสธรับเงินโอน และติดป้ายรับเฉพาะเงินสดเท่านั้น ร้านแรกเป็นร้านขายบะหมี่หมูแดงและอาหารตามสั่งเจ้าอร่อย แต่ละวันมีลูกค้าสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาอุดหนุนไม่ขาดสาย เรียกว่าเป็นหนึ่งในร้านอาหารขายดี ทั้งหน้าร้านและบนแพลตฟอร์มออนไลน์

ร้านแห่งนี้เริ่มติดป้ายรับเฉพาะเงินสดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งลูกค้าโต๊ะข้างๆ ถามพนักงาน ขอสแกนจ่ายได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าเจ้าของให้รับเฉพาะเงินสด พร้อมแนะนำให้เดินไปกดเงินที่ตู้ ATM ใกล้ๆ

ขณะที่ร้านอาหารอีกแห่งซึ่งขายดีไม่แพ้กัน ร้านข้าวต้มกุ๊ยรสอร่อยและมีกับแกล้มหลากหลายประเภท ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าที่มาเป็นครอบครัว และแก๊งเพื่อนที่ตั้งใจมาดื่มมาดริงก์ ร้านแห่งนี้แม้ไม่ได้ติดป้ายรับเฉพาะเงินสดอย่างชัดเจน แต่เมื่อเรียกเช็คบิลจะได้รับแจ้งจากพนักงาน ว่าหากจ่ายด้วยเงินสดจะได้ส่วนลด 30 บาท แน่นอนว่าหลายคนเลือกที่จะจ่ายด้วยเงินสด มากกว่าสแกนจ่ายหรือโอนเงิน

เช่นเดียวกับร้านข้าวต้มกุ๊ยอีกแห่งหนึ่ง ที่ก่อนรับออเดอร์พนักงานจะแจ้งลูกค้าก่อนว่าไม่รับสแกนหรือโอนเงิน…

ในแง่ของผู้บริโภค เมื่อร้านค้าไม่รับสแกนจ่ายหรือโอนเงิน ไม่เพียงทำให้ลูกค้าเกิดความไม่สะดวกในการจับจ่าย ยังทำให้ใครหลายคนที่กำลังเอร็ดอร่อย เพลิดเพลินกับรสชาติอาหาร อาจต้องชะงักงันเมื่อเหลือบไปเห็นป้ายรับเฉพาะเงินสดที่แปะอยู่ตรงผนังร้าน

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ร้านค้าจำนวนไม่น้อยกลับไปรับเฉพาะเงินสด หรือกำหนดราคาขั้นต่ำในการรับสแกนจ่ายหรือโอนเงิน หรือแม้กระทั่งคิดค่าบริการเพิ่ม หากลูกค้าต้องการจ่ายด้วยวิธีข้างต้นนั้น เกิดจากความกังวลเรื่องการเข้าสู่ระบบภาษี และอาจต้องเสียภาษีเงินได้ จากข้อกำหนดรับโอนเงินทุกบัญชีเกินกว่า 3,000 ครั้งใน 1 ปี หรือมียอดฝากและรับโอนเงิน 400 ครั้งต่อปี ยอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ธนาคารจะต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบ

แต่นอกจากประเด็นด้านภาษีแล้ว ในแง่ของร้านค้าและผู้ประกอบการ ได้ชี้ให้เห็นถึงกลโกงของมิจฉาชีพ ที่ทุกวันนี้พบเจอมากขึ้นและหลายร้านต่างก็ตกเป็นเหยื่อมาแล้ว จากการใช้สลิปโอนเงินปลอมมาหลอกลวง การตั้งเวลาจ่ายเงินในวันถัดไปและกดยกเลิกในภายหลัง รวมถึงการโอนเงินจำนวนน้อยกว่ายอดจ่ายจริง เป็นต้น

กระแสร้านค้ารับเฉพาะเงินสดในขณะนี้ ได้นำไปสู่การต่อต้านจากผู้บริโภค โดยในโซเชียลมีเดียที่เริ่มมีผู้ออกมาแสดงตัว ว่าจะไม่สนับสนุนร้านค้าที่รับเฉพาะเงินสด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

รู้หรือไม่ว่า! ภาพรวมสัดส่วนการจ่ายภาษีเงินได้ของคนไทยนั้น ปัจจุบันคนไทย 66 ล้านคนมีการยื่นแบบแสดงภาษีเพียง 11.9 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีผู้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลแค่ 4 ล้านคนเท่านั้น คิดเป็น 10% ของคนที่มีงานทำราว 40 ล้านคน ทั้งที่ตามข้อกำหนดผู้มีเงินได้ทุกประเภทต้องยื่นแบบแสดงรายได้

ข้อมูลของ World Bank ระบุว่าประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบคิดเป็นสัดส่วนถึง 48.4% ของ GDP มากเป็นอันดับ 14 ของโลก จาก 158 ประเทศที่มีฐานข้อมูลของ World bank โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 32.7% และสูงกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชีย

  • คนไทยใช้โมบายแบงกิ้งอันดับ 1 ของโลก
  • แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรให้ข้อมูลว่า จากกรณีดังกล่าวนี้ เข้าใจว่าเป็นผลมาจากการที่กรมสรรพากรออกระเบียบใหม่ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องส่ง statement ของผู้ฝากเงิน (ผู้มีเงินได้) 2 กรณี ดังนี้

    กรณีที่ 1 มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี (ไม่จำกัดวงเงิน) หากเกิน 3,000 ครั้งต่อปีธนาคารพาณิชย์ต้องส่งให้กรมสรรพากร

    กรณีที่ 2 มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และต้องมีวงเงิน 2 ล้านบาทขึ้นไป กรณีนี้หากมีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปีวงเงินรวม 1.9 ล้านบาท กรณีนี้ไม่ต้องจัดส่งกรมสรรพากร แต่ถ้าเกินสองล้านบาทขึ้นไปต้องจัดส่งกรมสรรพากร

    โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จัดจัดส่งข้อมูลธุรกรรมการโอนเงินให้กับกรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป หากไม่จัดส่งธนาคารพาณิชย์จะโดนปรับ ซึ่งมาตรการขยายฐานภาษีดังกล่าวนี้ได้นำมาใช้ในตั้งแต่ปี 2565 ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว

    หลังจากที่กรมสรรพากรดำเนินภารกิจจากการตรวจรับแบบ แสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2567 และพิจารณาคืนภาษีให้กับผู้มีเงินได้ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2567 รวมทั้งการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ในเดือนมิถุนายนนี้จึงมีเวลาในการไปตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมการโอนเงินที่ธนาคารพาณิชย์ส่งมาให้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 หากตรวจพบร้านค้าหรือผู้มีเงินได้ มีเงินเข้าบัญชีเข้าข่ายกรณีที่ 1 หรือกรณีที่ 2 กรมสรรพากรก็จะให้สรรพากรพื้นที่ทำหนังสือเชิญมาพบ เพื่อตรวจสอบว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ถ้าเสียภาษีไม่ถูกต้อง ก็ดำเนินการเสียให้ถูกต้อง และถ้าหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ยังไม่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็ต้องจับเข้าระบบ VAT