ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาษี “e–Service” แหล่งรายได้ใหม่ เดือนแรกต่างชาติทำเงินเกือบหมื่นล้าน

ภาษี “e–Service” แหล่งรายได้ใหม่ เดือนแรกต่างชาติทำเงินเกือบหมื่นล้าน

12 พฤศจิกายน 2021


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

สรรพากร เล็งขยายฐานภาษี “e – Service” ต่างชาติต่อ หลังเดือนแรกผู้ให้บริการจากต่างประเทศ 106 ราย มีรายได้จากการให้บริการในไทยกว่า 9,800 ล้านบาท จ่าย VAT แล้ว 686 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 65% คาดทั้งปีเก็บได้ 10,000 ล้านบาท

หลังจากที่กฎหมายภาษี e – Service มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 โดยกำหนดให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศที่มาเปิดให้บริการในประเทศไทย ซึ่งมีรายได้จากการให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างประเทศว่าหลังจากกฎหมายภาษี e – Service มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการออนไลน์จากต่างประเทศ เข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับกรมสรรพากรแล้ว 106 ราย และเริ่มชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรในเดือนตุลาคม 2564 เป็นเดือนแรก รวมทั้งสิ้น 686 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 65 โดยผู้ให้บริการออนไลน์จากต่างประเทศมีรายได้จากค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวมกว่า 9,800 ล้านบาท

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่เปิดให้บริการในประเทศไทยหลายรูปแบบ อาทิ บริการโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) , บริการขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) , บริการแพลตฟอร์มสมัครสมาชิก เช่น ดูหนัง , ฟังเพลง , เล่นเกมส์ (Subscription) , บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง เช่น บริการขนส่ง (Peer to Peer) และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง (Online Travel Agency) ที่ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยในประเทศไทย (ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรมีรายละเอียดดังนี้

ดร.เอกนิติ กล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บ ภาษี e – Service มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจให้บริการออนไลน์มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียน และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติไม่ต้องจดทะเบียน และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน กรมสรรพากรจึงนำระบบการจัดเก็บภาษี e – Service มาใช้ในการจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ นอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลแล้ว ยังทำให้กรมสรรพากรมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการขยายฐานภาษีใหม่ต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย

“จากผลการจัดเก็บภาษี e – Service กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติในเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการชำระภาษีได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 65% คาดว่าทั้งปีกรมสรรพากรน่าจะสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติประมาณ 8,000 – 10,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท การเก็บภาษี e – Service ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ด้วยการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศอีกด้วย” ดร.เอกนิติ กล่าว

  • โหลด “หนัง-เพลง-เกม” จาก ตปท. จ่าย VAT 7% เริ่ม 1 ก.ย.นี้