ThaiPublica > คอลัมน์ > ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่ 5)

ภาษีคาร์บอนที่เก็บตั้งแต่เริ่มผลิต (ตอนที่ 5)

12 มิถุนายน 2024


อาทิตย์ กริชพิพรรธ

ต่อจากตอนที่4

สำหรับประเทศไทย ผมเชื่อว่า การเก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ที่ผลิตในแบบที่ผมเสนอ คือเก็บจาก

    -แหล่งปิโตรเลียมและเหมืองถ่านหินในประเทศ
    -เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดที่นำเข้า
    -สินค้านำเข้าที่มีคาร์บอนฟุตปรินท์สูง(เช่นเหล็กหรือซีเมนต์) ตามปริมาณคาร์บอนหรือคาร์บอนฟุตปรินท์ และ
    -สินค้าและบริการที่นำเข้าตาม Carbon Intensity ของประเทศที่ส่งออกมา
    และมีการเครดิตภาษีคืนให้กับการส่งออกในรูปแบบเดียวกัน จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเรา

ก๊าซมีเทนที่รั่วไหลจากแหล่งผลิตก๊าซ จากระบบท่อขนส่ง จากบ่อฝังกลบขยะ จากโรงบ่มก๊าซชีวภาพเพื่อทำไฟฟ้า และจากฟาร์มขนาดใหญ่ ก็จะต้องเสียภาษีตรงนี้เช่นกัน ตามอัตราที่เป็น 28 เท่าของ CO2 ตามค่า GWP – Global Warming Potential – 100 ปี ของมีเทน แต่มีเทนที่เกิดจากการปลูกข้าวอันนี้ไม่คิด เพราะวัดให้ถูกต้องยาก และแรงต่อต้านจะมีมากเกินไป

ในส่วนของก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมก็จะถูกคิดภาษีในแบบเดียวกันโดยคูณ GWP ของ N2O ซึ่งก็คือ 265 เท่า

อีกส่วนที่ต้องเก็บคือภาษีก๊าซ HCFCs ที่นำเข้ามาในประเทศ โดยในระหว่างที่ยังไม่อัตราภาษีที่ตกลงกันระหว่างประเทศ เราก็เก็บไปที่อัตราเดียวกันกับภาษีคาร์บอนในประเทศไปพลางก่อน (โดยคูณกับค่า GWP 100 yr เช่นกัน) แต่ในส่วนนี้ จะไม่มีการเครดิตภาษีหากมีการส่งออก

แต่ทั้งนี้ จะต้องกำหนดอัตราภาษีที่จะปรับขึ้นไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่วันแรก โดยควรอยู่ในตัวกฏหมายหลักเช่น พระราชบัญญัติ ซึ่งจะทำให้แก้ไขได้ยาก ไม่ใช่อยู่ในกฎหมายลูก(เช่นพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง) ซึ่งสามารถจะถูกรัฐบาลแต่ละสมัยแก้ไขได้ง่ายๆ ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายรับรู้อย่างชัดเจนว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่อย่างไร และตัดสินใจลงมือปรับตัวเสียตั้งแต่วันแรกที่กฏหมายเริ่มมีผลบังคับใช้

อีกข้อนึงที่สำคัญมากคือ ผมเสนอให้เราเอาเงินภาษีที่เก็บได้ทั้งหมด หลังจากหักส่วนที่จะกันไว้จ่ายเครดิตภาษีแล้ว เอามาแบ่งให้กับประชาชนคนไทยทุกคนคนละเท่าๆกันเลย โดยเอาเข้า App เป๋าตังค์ให้เลย สำหรับเด็กที่ไม่บรรลุนิติภาวะก็จะโอนให้ผู้ปกครอง ส่วนนักโทษที่อยู่ในเรือนจำก็จะเก็บไว้ให้จนกว่าวันที่จะถูกปล่อยออกมา เป็นต้น โดยคาดว่าควรจะโอนให้ทุก 2 เดือนจากประมาณการภาษีที่จะเก็บได้ในปีนั้น และมีการปรับเล็กน้อยในงวดสุดท้ายของแต่ละปีตามภาษีที่เก็บได้จริง

เหตุผลที่ผมเสนอให้ทำเช่นนี้ ก็เพราะตัวภาษีคาร์บอนจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และสินค้าบริการทั่วไปมีราคาสูงขึ้นแน่นอน เพราะผู้ประกอบการคงจะไม่ยอมแบกรับภาระภาษีไว้และจะพยายามส่งผ่านไปยังผู้ซื้อ ดังนั้นประชาชนจะไม่พอใจแน่นอนและจะมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้กฏหมายนี้ไม่ผ่านสภาแต่แรก หรือหากผ่านออกมาแล้ว ก็อาจจะถูกต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆจนอาจถูกยกเลิกในที่สุด การที่เราเอาเงินภาษีที่เก็บได้ไปคืนให้ประชาชน จะช่วยลดแรงต่อต้านลงไประดับหนึ่ง

นักเศรษฐศาสตร์บางท่านอาจจะมองว่า จะดีกว่าถ้าเอาเงินก้อนนี้ไปใช้เฉพาะจุดในที่ที่เหมาะสมเช่นเอาไปใช้ช่วยให้ประเทศ สังคมหรือประชาชนสามารถปรับตัวในภาวะใหม่ได้ดีขึ้นเช่นให้เอาไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน ให้ไปติดแผงโซล่าร์ หรือย้ายบ้านไปที่ที่น้ำจะไม่ท่วม ฯลฯ ดีกว่าจะเอามาแจกแบบนี้ ซึ่งแม้นั่นอาจจะเป็นจริงในทางเศรษฐศาสตร์ แต่นั่นไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงในบ้านเราเพราะงบประมาณทั้งหลายน่าจะถูกใช้ไปในลักษณะที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากกว่า ในขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ต้องแบกรับภาษีที่เพิ่มขึ้นทุกปี และจะสะสมความโกรธมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายก็น่าจะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อให้เปลี่ยนแปลงกฏหมายในที่สุด และคนจำนวนไม่น้อยก็น่าจะคาดว่าสถานการณ์น่าจะลงเอยแบบนั้น จึงจะไม่ได้เอาพลังมาเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเชื่อว่าทำไปก็สูญเปล่า แต่จะเอาพลังไปสร้างแรงกดดันทางการเมืองเพื่อให้ยกเลิกภาษีนี้แทนมากกว่า ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้น

วิธีการแบ่งคืนมีหลายวิธี แต่วิธีที่ผมเสนอจะช่วยทำให้คนไทยส่วนใหญ่ที่ฐานะไม่ดีนักจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ ในขณะที่คนที่มีฐานะดีกว่าจะเสียประโยชน์ แต่เขาอยู่ในฐานะที่รับภาระได้อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหามาก และเราควรมีทางเลือกให้แต่ละคนสามารถเลือกโอนเงินที่แบ่งคืนมาทุก 2 เดือนนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของตัวเองโดยอัตโนมัติได้ เพื่อทาง อปท. จะได้เอาเงินบางส่วนที่ประชาชนโอนให้ด้วยความสมัครใจนี้ ไปทำโครงการที่จะช่วยชุมชนปรับตัวซึ่งอาจเป็นประโยชน์มากกว่า เป็นการให้อำนาจกับคนในชุมชนแต่ละคนให้ตัดสินใจกันเองว่าจะเก็บเงินไว้ใช้เองหรือจะให้ อปท. ของตนเอาไปใช้เพื่อส่วนรวม

นอกจากนี้ หลังจากกฎหมายถูกบังคับใช้ไป 5-6 ปี ประชาชนก็จะเกิดความเคยชินและคาดหวังเงินช่วยเหลือตรงนี้เป็นประจำแล้ว ทำให้การยกเลิกกฎหมายนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ ทุกคนจะไม่มีทางเลือก ต้องพยายามปรับตัวเพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อลดภาระภาษี

ผมเสนอว่า อัตราภาษีควรจะเริ่มต้นที่ 100 บาทต่อตัน CO2 และเพิ่มขึ้นปีละ 100 บาทต่อตัน หรือ 20% ต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ติดต่อกันเป็นเวลา 20 ปี และคงอยู่ที่ระดับนั้นต่อไป ซึ่งผลที่ได้ก็จะเป็นตามตารางนี้

โดยคาดว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น จนเหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของปัจจุบันในอีก 20 ปีข้างหน้า และจะคาดว่าจะลดลงไปเรื่อยๆเองในช่วงหลังจากนั้นเพราะสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

จากตัวเลขนี้ จะเห็นว่า ผลกระทบจะเริ่มแรงในปีที่ 5-10 เป็นต้นไป เพราะฉะนั้น ทุกคนก็จะมีเวลาปรับตัว รีบเปลี่ยนเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร หรือหาธุรกิจใหม่ทำเพราะธุรกิจแบบเก่าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากคงจะอยู่ไม่ได้อีก ซึ่งการปรับตัวนี้ก็จะเกิดขึ้นแทบจะในทันทีที่กฏหมายนี้มีผลบังคับใช้ แม้อัตราภาษีจะยังคงต่ำอยู่ก็ตาม

นั่นคือสาเหตุที่ผมคิดว่า การเก็บภาษีในลักษณะนี้ จะเป็นประโยชน์กับสภาพเศรษฐกิจของไทยเรา เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อประหยัดพลังงานและเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดกันอย่างขนานใหญ่ และจะทำให้มีการใส่ใจในการใช้พลังงานอย่างประหยัดมากขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีความสูญเสียน้อยลงไปพร้อมๆกัน ส่วนผลประทบเชิงลบจะเกิดขึ้นน้อยกว่าที่คิดเพราะทุกคนมีเวลาปรับตัวเพราะมีเงินไหลกลับคืนให้ประชาชนเพื่อเป็นการชดเชยอยู่แล้ว และเงินก้อนนี้ก็จะไหลไปที่คนที่มีรายได้น้อยเป็นส่วนมาก ซึ่งก็จะมีการใช้เงินที่ได้มาอย่างรวดเร็ว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยในตัว

สำหรับคนที่กังวลว่าการเก็บภาษีนี้จะทำให้สินค้าและบริการของไทยเราแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ ขอให้ดูอัตราภาษีที่สินค้าและบริการนำเข้าที่ต้องจ่ายเพิ่มตามอัตราภาษีคาร์บอนที่เพิ่มขึ้น และเครดิตภาษีที่ผู้ส่งออกของเราจะได้รับ ซึ่งก็จะปรับขึ้นล้อตามกันไป ช่วยลดปัญหาการแข่งขันกับต่างประเทศลงไปได้บางส่วน

จริงอยู่ ว่าจะมีกิจการขนาดเล็กจำนวนมากที่ไม่มีทุน ไม่มีความสามารถในการปรับตัว และจะไม่สามารถแข่งขันกับกิจการที่มีทุนและมีกำลังในการปรับตัวได้ ซึ่งภาครัฐก็ควรจัดสรรงบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือให้ถูกจุด แต่ก็ยอมรับความจริงว่าคงช่วยไม่ได้ทุกราย และก็จะมีการเลิกกิจการไปจำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากภาษีตัวนี้จะค่อยๆปรับขึ้นมาอย่างช้าๆ เจ้าของกิจการส่วนใหญ่จะสามารถค่อยๆลดขนาดกิจการเดิมลงและเลิกไปในเวลาที่เหมาะสม และระหว่างนั้น ก็เอาพละกำลังไปสร้างหนทางใหม่ที่มีอนาคตกว่าในเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำได้ ความเสียหายจึงจะมีไม่มากนัก

และถ้าประเทศไทยเราลงมือทำก่อน กิจการส่วนใหญ่ของเราก็จะแข็งแรงกว่าประเทศอื่นที่เริ่มทำทีหลัง เพราะได้ผ่านขบวนการปรับตัวอย่างขนานใหญ่มาก่อนแล้ว เป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาวด้วย

ส่วนเรื่องข้อตกลงของประชาคมโลกในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีของการขนส่งระหว่างประเทศ การเอาเงินภาษีที่เก็บได้นั้นไปให้ประเทศที่มีป่าดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าการปล่อยมีเทน และการทำข้อตกลงว่าทุกประเทศต้องรับภาระจากก๊าซ CO2 ที่ปล่อยออกไปแล้วทั้งหมดตั้งแต่ปี 1850 อย่างน้อยตันละ $1 โดยจะเอาไปช่วยประเทศกำลังพัฒนาที่จนกว่า (ซึ่งภาระของไทย ขั้นต่ำจะตกอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านเหรียญหรือ 300,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นปีละ 10,000 ล้านบาท) ผมก็มองว่าประเทศไทยก็ควรหยิบยกเรื่องนี้ไปนำเสนอในอาเซียนเพื่อปรึกษาหารือร่วมกันว่าจะตกลงกันได้มั้ย ซึ่งถ้าอาเซียนสามารถตกลงร่วมกันได้ว่านี่เป็นข้อเสนอที่ดี ก็สามารถจะแบ่งกำลังกันไปชวนกลุ่มประเทศในแอฟริกาที่น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ประเทศในละตินอเมริกาและในเอเชียที่มีระดับรายได้ต่ำ ซึ่งก็น่าจะไม่ยาก ชวนจีนและอินเดีย ซึ่งน่าจะพอมีความเป็นไปได้ที่จะตกลงด้วย และชวนกลุ่มประเทศตะวันตกอย่างสแกนดิเนเวียซึ่งน่าจะพอชวนได้ ได้เป็นกลุ่มสัก 40-50 ประเทศ ที่นับรวมประชากรได้เกินครึ่งหนึ่งของทั้งโลก แล้วก็พยายามสรุปรวบยอดกันใน COP 30 ในปี 2025 ซึ่งผมคิดว่าก็คงยังไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อย ข้อเสนอนี้ก็ได้ถูกรับรู้ในประชาคมโลกแล้ว

จากนั้น ก็ต้องมีการพยายามล๊อบบี้กันต่อไป และเมื่อประจวบกับกับความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การทดลองใช้มาตรการอื่นๆซึ่งก็คงจะเริ่มเห็นกันชัดว่าไม่ได้ผลหรือได้ผลช้าเกินไป และความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาคมโลกของประเทศที่ไม่ยอมเข้าร่วมที่จะลดลงเรื่อยๆ ก็น่าจะถึงจุดหนึ่งที่ประเทศในกลุ่มยุโรปต้องยอมเข้าร่วมในข้อตกลงนี้เพื่อรักษาเครดิตที่ยังเหลืออยู่ ส่วนสหรัฐฯ และ อังกฤษ นั้น คงจะเป็นประเทศท้ายๆที่จะยอมเข้าร่วม แต่ก็คงจะต้องยอมตามในที่สุดหลังจากที่ประเทศในยุโรปได้ตกลงเข้าร่วมแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ คงจะใช้เวลาสัก 3-4 ปี

ระหว่างนั้น ประเทศไทยก็ควรวางแผนเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สินในอัตราที่เพิ่มขึ้น เพื่อเอามาจ่ายภาระในส่วนนี้ ส่วนประเทศที่เราควรเข้าไปช่วยเหลือก่อนก็คือประเทศในกลุ่มอาเซียนเช่น ลาว เขมร พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ติมอร์ตะวันออก และเวียดนาม ก่อนจะขยายไปประเทศที่เราต้องการกระชับความสัมพันธ์ให้มากขึ้นอย่างอินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา และอื่นๆ และก็อาจเตรียมขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศด้วย แต่ก็อย่าไปหวังมาก เพราะเงินส่วนใหญ่น่าจะไปลงที่ประเทศที่ยากจนกว่าเราโดยเฉพาะในแอฟริกามากกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมอยู่แล้ว

นี่ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่พอจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ และอาจจะเป็นแนวทางเดียวที่เราจะมีโอกาสลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกแบบเป็นเรื่องเป็นราวได้จริงๆ ซึ่งผมก็อยากให้ประเทศไทยเรามีบทบาทในการผลักดัน เพื่อเกียรติภูมิของประเทศในสายตาประชาคมโลก

แต่ต่อให้ทำตรงนี้สำเร็จ ประเทศไทยก็ยังคงต้องรับมือกับสภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว จากก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกไปก่อนหน้านี้ และที่กำลังจะปล่อยออกในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ตรงนี้ จะเป็นชุดเรื่องราวของการปรับตัว เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราสามารถอยู่กันได้แบบไม่ลำบากจนเกินไป ซึ่งผมจะนำมาเสนอให้พิจารณากันในโอกาสต่อไปครับ