ดร.วิรไท สันติประภพ
นับว่าโชคดีมากที่ผมได้ไป visiting UCSD ช่วงใกล้ Earth Day พอดี เลยได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายอันเกี่ยวกับ climate change
ที่สนุกและได้ความรู้มากคือ workshops เกี่ยวกับ Climate Education ที่มหาวิทยาลัยจัดให้คณาจารย์จากหลากหลายคณะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเกี่ยวกับการสอนเรื่อง climate change
ใน University of California System การจัดการศึกษาเกี่ยวกับ climate change ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเขาคิดว่า climate change เป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ คนรุ่นต่อไปจึงต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ climate change ต้องมีทักษะชีวิตที่จะปรับตัวได้อย่างเท่าทัน ต้องมีวิถีชีวิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุด จะต้องมี inspiration ที่จะมาร่วมกันแก้ไขปัญหา climate change ด้วย
UCSD มุ่งหวังให้นักศึกษาไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ผมชอบคำขวัญที่บอกว่า “Climate education is climate action”
ที่ UCSD มีวิชาระดับปริญญาตรีที่สอนเกี่ยวกับ climate change ประมาณ 40 กว่าวิชา กระจายอยู่ใน major ต่างๆ ของทุกคณะ ไม่ว่าจะเป็นสายวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือแม้กระทั่งจิตวิทยา อาจารย์หลายท่านบอกว่า UCSD ยังมีวิชาน้อยเกินไป เพราะที่ UC Berkeley มีวิชาเกี่ยวกับ climate change มากถึง 161 วิชา
นอกจากวิชาที่กระจายอยู่ตาม major ในคณะต่างๆ แล้ว climate education ที่ UCSD ยังมีกระบวนวิชาพื้นฐาน (general education) ที่นักศึกษาปี 1 ทุกคนต้องเรียน และยังมี climate change theme สำหรับการจัดการศึกษาในบาง house เพื่อให้นักศึกษาที่พักอยู่ใน house นั้นๆ มี focus เกี่ยวกับ climate change ไม่ว่าจะเป็นใน writing classes หรือการปรับวิถีชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับประชาชนทั่วไป UCSD ก็มีหลักสูตร Bending the Curve ที่สามารถเรียนได้แบบทางไกลอีกประมาณ 40 วิชา
เพื่อให้แน่ใจว่า climate education จะได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ หลักสูตรเกี่ยวกับ climate change ที่ UCSD จะให้ความสำคัญกับ 4 องค์ประกอบหลัก คือ
(1) ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพราะ climate change เป็นการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ ถ้านักศึกษาขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแล้ว จะไม่สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศในอนาคตได้เลย ดังนั้นไม่ว่าจะ major สายศิลปะ หรือสังคมศาสตร์ ก็ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ climate change ด้วย
(2) ความรู้ด้านมนุษยวิทยา และสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ climate change เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาะภูมิอากาศจะมีผลกระทบต่อมนุษยชาติ การจะปรับตัวให้เท่าทันกับ climate change และการปรับวิถีชีวิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องเข้าใจเรื่องพฤติกรรมของคน และการสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสม มีคำพูดที่ว่า “climate change is simple physics, but complicated politics” นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับ climate change จึงต้องเข้าใจเรื่องของคนและสังคมเช่นกันจึงจะสร้าง impact ได้
(3) Climate solutions หลักสูตรด้าน climate change จะต้องเน้นไปที่การหาทางออกจากปัญหาที่เราเผชิญอยู่ และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะสอนให้นักศึกษาเพียงแค่มีความรู้ไม่พอ จะต้องทำให้นักศึกษาตระหนักว่า solutions จะต้องเป็น collective actions ของคนกลุ่มใหญ่ และต้องประกอบด้วยทั้งมิติด้านวิทยาศาสตร์และไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ที่สำคัญที่สุด คือจะต้องทำให้นักศึกษาเกิด inspiration ที่จะคิด climate change solutions สำหรับอนาคต
(4) Project-based learning เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์จริงผ่านการทดลองทำ เกิดทักษะในการนำความรู้ไปปฏิบัติในโลกจริง เข้าใจข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะข้อจำกัดทางการเมืองและสังคม และเรียนรู้ที่จะออกแบบ incentive structure เพื่อให้เกิด impact ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
การออกแบบหลักสูตร และวิชาเกี่ยวกับ climate change ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าคิดแต่จะเพิ่มจำนวนวิชาที่นักศึกษาต้องเรียน ก็จะทำให้นักศึกษาไม่สามารถจบได้ในสี่ปี ซึ่ง UCSD ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ดังนั้น อาจารย์จะต้องหาทางที่จะนำเรื่อง climate change เข้าไปอยู่ในหลักสูตร และวิชาต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งจะต้องหาทางออกแบบรายวิชาใหม่ โดยเฉพาะวิชาที่มีลักษณะเป็นพหุศาสตร์ หรือ multidisciplinary มากขึ้น เพราะการสร้างความเข้าใจและการแก้ปัญหาเรื่อง climate change ต้องมองแบบพหุศาสตร์
ดังนั้นโจทย์ที่ยากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยจะช่วยคณาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (และมีงานเต็มมืออยู่แล้ว) ให้ปรับเปลี่ยนวิชาของตัวเอง รวมทั้งมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้าง climate education ตามที่ต้องการได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นความท้าทายที่ยากมาก
ที่ UCSD จึงมีหลายกลไกที่จะช่วยคณาจารย์ ตั้งแต่มีคณะทำงานกลางที่ ประกอบด้วยผู้บริหารและอาจารย์ที่ high profile และ highly motivated ในเรื่องนี้ จัดให้มีทุนวิจัยจำนวนมากพอเกี่ยวกับ climate change เพื่อสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยโดยเฉพาะในลักษณะที่เป็น multidisciplinary จัดให้มีทีมงานช่วย coach อาจารย์ในการออกแบบปรับปรุงวิชาที่สอนอยู่ และจัด workshops ให้คณาจารย์จากหลากหลายคณะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน
ผมไปนั่งฟัง workshops อยู่หลายอัน ได้เห็นทั้งพลัง ความมุ่งมั่น และความลึกซึ้งของคณาจารย์ที่ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ บางท่านเล่าให้ฟังว่าจะวัดผลการเรียนของนักศึกษาจาก inspiration ในการหาทางแก้ปัญหามากกว่าวัดที่ความรู้
อาจารย์หลายท่านเตือนว่าต้องระวังไม่ให้นักศึกษาเกิด climate anxiety เพราะเมื่อเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงของ climate change ที่จะต้องเผชิญในอนาคตแล้ว นักศึกษาหลายคนถึงกับกังวลและ depressed ไปเลย
ดังนั้นการสอนเกี่ยวกับ climate change จะต้องสร้างการตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่นักศึกษาจะต้องเจอในอนาคต ไปพร้อมกับการสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้นให้ได้ เรื่องของการสร้างความหวัง (active hope) และการหา solutions ผ่าน project-based learning จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
เรื่อง Climate Education นี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่สถาบันการศึกษาในบ้านเราอาจจะยังไม่ได้คิดกันจริงจัง มีการบ้านที่ต้องทำร่วมกันอีกมากในขณะที่เวลาก็เหลือน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากเรื่อง mitigation แล้ว เราจะต้องเน้นไปที่ adaptation to climate change ด้วย เพราะจะมีผลกว้างไกลต่อความมั่นคงของชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของพวกเราทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นต่อไปๆ
หมายเหตุ :ตีพิมพ์ครั้งแรกเฟซบุ๊ก https://web.facebook.com/veerathai.santiprabhob