ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > UNGCNT เปิดรายงานพิเศษ Forward Faster หนุนธุรกิจเร่งเดินหน้า 5 ประเด็นตอบโจทย์ SDGs Agenda 2030

UNGCNT เปิดรายงานพิเศษ Forward Faster หนุนธุรกิจเร่งเดินหน้า 5 ประเด็นตอบโจทย์ SDGs Agenda 2030

31 พฤษภาคม 2024


สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) เปิดรายงานพิเศษ “Forward Faster” เผย 5 ประเด็นสำคัญที่เรียกร้องให้เอกชนทั่วโลกเร่งเดินหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2023 พร้อมสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจ

ดร. ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ UNGCNT เปิดเผยว่า UNGCNT ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact ได้จัดทำรายงานพิเศษ “Forward Faster” ฉบับภาษาไทย โดยสรุปความจากข้อมูลของโครงการ Forward faster ของ UN Global Compact ซึ่งเปิดเผย 5 ประเด็นสำคัญที่เรียกร้องให้เอกชนทั่วโลกเร่งเดินหน้า พร้อมแนะคู่มือปฎิบัติการ (Action Guide) ให้เป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจนำไปพิจารณาและประยุกต์ใช้ เพื่อขับเคลื่อนโลกให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2023 (SDGs Agenda 2030) และปลดล็อคความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพื่อสร้างความเติบโตที่มั่นคงให้กับภาคธุรกิจ

“ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจทั่วโลกมากกว่า 1,500 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการนี้กับ UN Global Compact และคาดว่ารายชื่อบริษัทที่มุ่งมั่นใน Forward Faster จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญ นี่คือวาระเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องลงมือทำอย่างจริงจัง น่าเชื่อถือ และมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการร่วมกอบกู้วิกฤตโลก ยังส่งผลให้องค์กรได้รับผลตอบแทนที่ดี และจะสร้างอนาคตที่มั่นคงให้ธุรกิจด้วย” ดร.ธันยพร กล่าว

ดร.ธันยพร กริชทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

5 ประเด็นสำคัญดังกล่าว ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)
หากเรายังเดินหน้าด้วยความเร็วเช่นปัจจุบัน จะต้องใช้เวลากว่า 160 ปี ที่ผู้หญิงจะบรรลุถึงความเท่าเทียม ทางเพศ โดยเฉพาะในมิติของการมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วม ทั้งที่จริงแล้วการดำเนินงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน เมื่อผู้หญิงเป็นผู้นำและมีพื้นที่ในองค์กร ธุรกิจมักมีประสิทธิภาพการดำเนินการที่ดีขึ้น และการมีเพศที่หลากหลายอย่างสมดุลในองค์กร จะทำให้มีโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้นด้วย โดยเฉลี่ยทั่วโลก GDP ในระยะยาวจะสูงขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ หากสามารถปิดช่องว่างการจ้างงานระหว่างเพศลงได้

ประเด็นที่ 2 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)
เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้น้อยกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โลกจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 การดำเนินการด้านสภาพอากาศจะช่วยรับประกันความมั่นคงให้ธุรกิจในอนาคต และนี่คือจุดเปลี่ยนที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงานให้ธุรกิจ ผ่านการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างชื่อเสียงขององค์กร ซัพพลายเออร์ นักลงทุน และหน่วยงานกำกับดูแลด้วย

ประเด็นที่ 3 ค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสม (Living Wage)
ทุกวันนี้ทั่วโลกมีคนทำงานมากกว่าหนึ่งพันล้านคน (1 ใน 3 ของคนทำงานทั้งหมด) ที่ได้รับการประเมินว่ามีรายได้น้อยกว่าที่ต้องการ เพื่อจะมีมาตรฐานการครองชีพที่ดี การจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมให้พนักงานทุกคน ไม่เพียงลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยังเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่แรงงานที่ได้รับค่าจ้างในระดับต่ำสุด ให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับมาตรฐานการครองชีพที่ดี หากธุรกิจจ่ายค่าจ้างอย่างเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต พนักงานจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อัตราการลาออกและขาดงานจะลดลง ทั้งยังเพิ่มแรงจูงใจให้องค์กรสามารถดึงดูดผู้มีความสามารถหน้าใหม่ ที่จะมาช่วยสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ

ประเด็นที่ 4 การเงินและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs (Sustainable Finance)
โลกจะต้องใช้เงิน 3 ล้านล้านถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2030 ในมิติของธุรกิจ การปรับกลยุทธ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับ SDGs จะปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ให้องค์กร ทั้งการดึงดูดนักลงทุนและเปิดโอกาสใหม่ในการลงทุน การปกป้องประสิทธิภาพทางการเงินของบริษัทในระยะยาว ลดความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล รวมถึงป้องกันปัญหาด้านกฎหมายและชื่อเสียงขององค์กรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

ประเด็นที่ 5 การฟื้นคืนแหล่งน้ำ (Water Resilience)
ทุกวันนี้ผู้คนมากกว่า 2 พันล้านคนขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด วิกฤตินี้จะรุนแรงยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ปริมาณน้ำสะอาดที่โลกมีกับความต้องการใช้น้ำ จะมีสัดส่วนต่างกันถึง 40 เปอร์เซ็นต์ การปรับปรุงการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้ดีขึ้น เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดแคลนน้ำ และความท้าทายด้านน้ำอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งสร้างชื่อเสียงที่ดี และความไว้วางใจจากนักลงทุน

รายงานพิเศษ Forward Faster ฉบับภาษาไทยนี้ ยังได้นำเสนอแนวปฎิบัติขององค์กรสมาชิก UNGCNT ซึ่งเป็นธุรกิจชั้นนำที่ขับเคลื่อนความยั่งยืน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ ประกอบด้วย ลอรีอัล ประเทศไทย กับพันธกิจสร้างคน สร้างความเท่าเทียม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับการคืนความยั่งยืนให้ท้องทะเล พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net-Zero บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด กับสมการค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กับการพัฒนาโซลูชั่นทางการเงินส่งเสริมธุรกิจยั่งยืน และกลุ่มธุรกิจ TCP กับการฟื้นคืนแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน

องค์กรธุรกิจและผู้สนใจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถดาวน์โหลดรายงานพิเศษ “Forward Faster”
ได้ที่ https://globalcompact-th.com/news/registration/1530