ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > กลุ่มปตท. – วรุณาชูเทคโนโลยี AI ลดโลกร้อน บริหารจัดการพื้นที่สีเขียว ขับเคลื่อนเกษตรยั่งยืน

กลุ่มปตท. – วรุณาชูเทคโนโลยี AI ลดโลกร้อน บริหารจัดการพื้นที่สีเขียว ขับเคลื่อนเกษตรยั่งยืน

19 ธันวาคม 2023


เราปรับ โลกเปลี่ยน We Shift, World Change เป็นรายงานพิเศษด้วยความร่วมมือระหว่างสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand-UNGCNT) และไทยพับลิก้า เพื่อนำเสนอ วิสัยทัศน์ นโยบาย และกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความยั่งยืน ในบริบทของธุรกิจขององค์กร การมีส่วนร่วมพัฒนาและสนับสนุนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร เช่น คู่ค้า ลูกค้า ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในการปรับตัว และการมีส่วนร่วมยกระดับชุมชนและสังคม ให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในการกำกับดูแลของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ในกลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยเป็นผู้บุกเบิกนำ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่องจักรด้วยตนเองผ่านอัลกอริทึ่มต่างๆ (Machine Learning) การประมวลผลภาพจากอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (Drone Image Processing) การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ที่เชื่อมโยงกับค่าพิกัดภูมิศาสตร์ (GIS Satellite Analytics) เเละ แพลตฟอร์มการให้บริการต่างๆ (Service Platform) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ บริหารจัดการพื้นที่สีเขียว และการเกษตรอัจฉริยะครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน และสร้างประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุน การดำเนินงานสู่เป้าหมาย SDG 13 Climate Action

นายธราณิศ ประเสริฐศรี หัวหน้าทีมพัฒนาเทคโนโลยี บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากปัญหาสภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดกติกาของโลกว่าด้วยการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น ธุรกิจต่างๆ ล้วนต้องปรับตัว ต่อสถานการณ์นี้ วรุณา เล็งเห็นถึงความสามารถในการแข่งขันและการร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืน จากจุดเริ่มต้น “โดรนเกษตรเจ้าเอี้ยง” ที่วิศวกรนำเทคโนโลยี Robotics พัฒนาเป็นโดรนเพื่อการเกษตร และเริ่มจัดจำหน่ายตั้งแต่ปี 2565 จากนั้นได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้คาดการณ์ผลผลิต คาดการณ์ สภาพอากาศ ที่อาจจะส่งผลต่อการเกษตร ขณะเดียวกัน ยังประสานความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายองค์กร วางแผนฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวที่คุ้งบางกะเจ้า ในโครงการ OUR Khung BangKachao โดยได้นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลง การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวของโครงการราว 6,000 ไร่ ในระยะเวลา 5 ปี

นายธราณิศ ประเสริฐศรี หัวหน้าทีมพัฒนาเทคโนโลยี บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด

นายธราณิศ กล่าวว่า การดำเนินงานของวรุณาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่วนที่สองคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคการเกษตร

การบริหารจัดการพื้นที่สีเขียว ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ปัจจุบัน วรุณาโฟกัสที่การเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพราะการเก็บกัก ก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยกลไกทางวิศวกรรม ที่เรียกว่า CCS(Carbon Capture and Storage) มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วย เพิ่มการเก็บกักก๊าซเรือนกระจก

โดยโครงการหลักในขณะนี้ คือ โครงการปลูกป่าของกลุ่มบริษัท ปตท. เนื่องจากการปลูกต้นไม้ ต้องมีการติดตามหรือตรวจสอบ จึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การสำรวจด้วยภาพถ่ายดาวเทียม หรือการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศโดยโดรน แล้วนำภาพเหล่านี้มาพัฒนา โดยใช้แบบจำลองทางปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคาดการณ์ปริมาณการกักเก็บมวลชีวภาพ หรือมวลชีวภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่ เป็นการนำเทคโนโลยีของวรุณา มาช่วยให้การกักเก็บก๊าซเรือนกระจก สามารถติดตามตรวจสอบได้ และแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที กรณีหากมีปัญหาเกิดขึ้น อาทิ การเกิดไฟป่า การรุกลํ้าพื้นที่ เป็นต้น

สำหรับโครงการปลูกป่าของกลุ่ม ปตท. ซึ่งมีทั้งโครงการเก่าและโครงการใหม่ที่ดำเนินการมาระยะ หนึ่งแล้ว มีพื้นที่ประมาณ 1-2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียม เพื่อประเมิน ติดตาม และวัดผลสภาพป่าในปัจจุบัน และมีส่วนช่วยในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint Organization) โดยสามารถประเมินศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในแต่ละพื้นที่ และอยู่ระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฟป่า โดยเฉพาะ การใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมในการประเมินความเสียหายจากไฟป่า และพัฒนาระบบแจ้งเตือนในจุดที่ตรวจพบว่าเกิดไฟป่า เพื่อช่วยรักษาพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ

การใช้แอพลิเคชั่น “KANNA” ช่วยเกษตรกรลดก๊าซมีเทน

สำหรับการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่การเกษตร มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่โครงการ ปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง หรือ AWD (Alternative Wetting and Drying) ที่วรุณาร่วมมือกับนักวิชาการ กรมการเกษตร กรมการข้าว เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการจัดการ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ภาค การเกษตร สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันวรุณามีพื้นที่นำร่องที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ส่งเสริมให้เกษตรกร ทดลองปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง โดยลดจำนวนวันที่ขังนํ้าในนา หรือการลดปริมาณนํ้าที่ขังในนาโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต จากเดิมที่เกษตรกรต้องขังนํ้าในนาไว้ตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้หญ้าโตแซงข้าว แต่โดยธรรมชาติแล้วเมื่อปลูกข้าวได้ 30-40 วัน ต้นข้าวจะโตชนะต้นหญ้า นํ้าในนาจึงไม่มีความจำเป็น เกษตรกรก็สามารถปล่อยนํ้าออกจากนา เพื่อให้ดินชุ่มชื้นในระดับที่เพียงพอ จนถึงฤดูเกี่ยวข้าว ซึ่งการลดปริมาณนํ้าที่ขังในที่นานี้ ทำให้สามารถลดการสะสมก๊าซมีเทน ที่เกิดจากการหมักหมมของซากพืชซากสัตว์ลงได้

นอกจากนี้ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ยังสามารถลดการใช้นํ้าลงได้ 50% จากเดิมที่ใช้นํ้า 700 – 1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ทำให้ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกได้ 8 – 13% ที่สำคัญ คือ สามารถลดก๊าซมีเทนได้ถึง 80% และเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย

วรุณายังได้นำนวัตกรรม แอปพลิเคชัน คันนา (KANNA) มาใช้เป็นผู้ช่วยประจำแปลงนาเพื่อ ให้เกษตรกรไทยสามารถบริหารจัดการแปลงเกษตรได้อย่างครบวงจร ด้วยฟีเจอร์การใช้งาน ที่หลากหลาย ตั้งแต่การวางแผนการปลูก รายงานข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ รายวันและ รายชั่วโมง ประเมินการเกิดโรคและแมลง รวมถึงการคาดการณ์ผลผลิต จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว

ขณะเดียวกัน แอป KANNA ยังใช้ในการตรวจสอบ 2 ส่วน ส่วนแรก เกษตรกรจะรายงานข้อมูลผ่านแอป KANNA โดยการถ่ายรูป บันทึกวันที่ใส่ปุ๋ย วันที่เปิดนํ้าเข้านา ส่วนที่สอง ทีมวรุณาจะใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ตรวจสอบความชื้น ในวันที่เกษตรกรปล่อยนํ้าเข้านาและปล่อยนํ้าออกจากนา เพื่อดูค่าความเป็นนํ้า ว่าเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร เป็นการติดตามการดำเนินงานของโครงการ หรือติดตามการปล่อยนํ้าออกจากนา ซึ่งจะส่งผลต่อการปล่อยก๊าซมีเทน

นายธราณิศ กล่าวว่า ข้อมูลที่เกษตรกรรายงานและการตรวจเช็คที่เกิดขึ้นผ่านแอป KANNA จะทำให้วรุณา ใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการขอขึ้นทะเบียนโครงการคาร์บอนเครดิต ต่อองค์การ บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หลังจากขอขึ้นทะเบียนได้ โดยจะต้องมีการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบการจัดทำ หรือ MRV (Measurement, Reporting and Verification) และขอการรับรองว่าภายในระยะเวลา 1-3 ปีจากปีฐาน มีการลดก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ จึงจะได้ คาร์บอนเครดิตมา

“หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่า พอเริ่มทำวันนี้ จะได้คาร์บอนเครดิตเลย แต่จริงๆ แล้วต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน เพื่อรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยืนยันต่อ อบก. ก่อนเริ่มฤดูเก็บเกี่ยวจะต้องนำข้อมูลไปยืนยันกับ อบก. แล้วคำนวณปีฐานว่า ถ้าเป็น การปลูกข้าวตามวิธีปกติ จะมีการปล่อย ก๊าซมีเทนเท่าใด เมื่อจบโครงการก็จะมีการคำนวณอีกครั้งว่า มีการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ได้เท่าใด ส่วนต่างที่ลดลงนั้นก็จะเป็นคาร์บอนเครดิต” นายธราณิศ กล่าว

ทั้งนี้ ในประเทศไทยเริ่มมีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนตั้งแต่ปี 2557 ในรูปแบบตลาด คาร์บอนแบบสมัครใจ หรือเครดิต
T-VERs (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) แม้ปัจจุบันการซื้อขายเครดิต T-VERs ยังมีไม่มากนัก แต่ในอนาคตจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด

โดยคาดการณ์ความต้องการ ซื้อคาร์บอนเครดิตของไทย ตั้งแต่ปี 2563 – 2573 คาดว่าจะสูงถึงราว 1,600 ล้านตันคาร์บอน

เดินหน้าสู่เป้าหมาย บริหารจัดการพื้นที่สีเขียว 1 ล้านไร่ ส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง 1 ล้านไร่

นายธราณิศ กล่าวว่า วรุณามีบทบาท 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการใช้เทคโนโลยีในการช่วยเกษตรกร อีกด้าน คือช่วยให้ พาร์ทเนอร์บรรลุเป้าหมายในการลดโลกร้อน แม้ว่าวรุณาจะยังไม่มีเทคโนโลยี โดยตรง ในการเก็บกักคาร์บอน แต่เทคโนโลยีที่มีอยู่สามารถช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการได้คาร์บอนเครดิตมา เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะใช้พิสูจน์ว่า มีการพัฒนาโครงการแล้ว คาร์บอนเครดิต ถูกเปลี่ยนมือไป อย่างไรบ้าง ใครเป็นเจ้าของโครงการ เจ้าของคนถัดไปที่ได้คาร์บอนเครดิตคือใคร เพื่อทำให้กระบวนการ แลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอน เครดิตมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีหลักฐานเพียงพอ ที่จะยืนยัน ความสำเร็จในพื้นที่ของโครงการ

โดยมีเป้าหมายว่าโครงการคาร์บอนเครดิตที่อยู่ภายใต้การถือครองและบริหารจัดการของวรุณา จากการปลูกป่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตันในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

ในส่วนของพื้นที่การเกษตร วรุณาตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้ง ให้ได้ 1 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ได้คาร์บอนเครดิตประมาณ 6-7 แสนตัน ภายในปี 2573 จากปัจจุบันมีโครงการนำร่อง ที่สุพรรณบุรีแล้ว วรุณามีแผนขยายไปยังชัยนาท อยุธยา ปทุมธานี และอ่างทอง จากนั้นตั้งเป้าจะให้ ครอบคลุม 15 จังหวัด

นายธราณิศ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีความต้องการคาร์บอนเครดิตจากภาคการเกษตรจำนวนมาก วรุณาจึงต้องมีแผนสำรอง เพื่อซัพพลายคาร์บอนเครดิตตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าที่มี พื้นที่จำกัดแล้ว พื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ จึงยังสามารถพัฒนาคาร์บอนเครดิต ได้อีกมาก 1 ล้านไร่ของภาคเกษตร โดยเฉพาะนาข้าว จึงถือว่าน้อย แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สามารถต่อยอดและขยายผลได้อีกมาก

“เป้าหมาย Net Zero Emissions จะทำได้ทุกประเทศ ต้องมีการทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ โดยเฉพาะ ประเทศอุตสาหกรรมจะต้องพยายามช่วยกัน รวมถึงภาคการเกษตรที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 3 รองจากภาคพลังงาน และภาคขนส่ง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่การเกษตรจำนวนมาก หากใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็จะเป็นการยกระดับภาคเกษตร และสามารถช่วยลดอุณหภูมิโลกได้ด้วย” นายธราณิศ กล่าวทิ้งท้าย

ชมเราปรับ โลกเปลี่ยน เทคโนโลยี AI ลดโลกร้อน