ThaiPublica > คนในข่าว > ‘ธนิสรา เรืองเดช’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis กับเป้าหมายเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้วย “ข้อมูล และ“เทคโนโลยี”

‘ธนิสรา เรืองเดช’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis กับเป้าหมายเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้วย “ข้อมูล และ“เทคโนโลยี”

26 พฤษภาคม 2024


ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis

ย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน มีกลุ่มคนเล็กๆ รวมตัวกันตั้งเครือข่ายเทคโนโลยีภาคประชาชน หรือ civic tech ที่ชื่อว่า “Wevis” เพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่าน “ข้อมูล” ที่เข้าถึงและเข้าใจง่าย ในรูปแบบวิธีที่แตกต่างหลากหลาย

Wevis เชื่อว่า การเปิดเผยข้อมูลและเทคโนโลยี จะช่วยทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางสังคม การเมืองในยุคนี้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลรัฐที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิรู้

ไทยพับลิก้าคุยกับ “กิ๊ง-ธนิสรา เรืองเดช” ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis ถึงประสบการณ์เบื้องหน้าเบื้องหลังของงาน Wevis ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นมากกว่า active citizen ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากการทำงานเปิดเผยข้อมูล

ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ที่หล่อเลี้ยงจิตใจ คนรุ่นใหม่ที่ร่วมอาสา ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนทำอะไรใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับสังคม ไม่รู้สึกหดหู่สิ้นหวังกับประเทศไทยมากจนเกินไป

…………

ไทยพับลิก้า : เริ่มต้นมาทำ Wevis ได้ยังไง

ตัวเองไม่ได้เรียนสายสื่อ ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตนี้จะมาทำสายมีเดีย เรียนอักษร จุฬาฯ ชอบพวกภาษา คัลเจอร์ แล้วบังเอิญจับพลัดจับผลู ตอนแรกคือทำแมกกาซีน สายอักษรเขาก็จะให้ไปฝึกงาน รุ่นพี่ก็เลยแนะนำให้ไปสมัครบริษัทแมกกาซีนแฟชั่น เราก็พอเขียนงานได้

หลังจากนั้นบังเอิญไปลองสมัครที่ The MATTER พี่แชมป์–ทีปกร (ทีปกร วุฒิพิทยามงคล) เขาเปิดรับสมัครผู้ช่วย ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าอยากทำอะไร ก็เลยเดินเข้าไปคุย บอกว่าทำไม่เป็นนะ แล้วบังเอิญเขารับ

ช่วงทำ MATTER ได้รัมอบหมายให้ไปดูพวกเรื่องสัมภาษณ์ เขาเปิดเซกชันงานข้อมูล งานเทคโนโลยี เราก็เลยมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ ไปเจอแขกในวงนั้นๆ ซึ่งมันก็เริ่มเปิดให้เราเห็น ตั้งคำถามกับตัวเองว่างานบิ๊กดาต้ากับสื่อมันจะสัมพันธ์กัน หรือว่าทำอะไรได้

เลยไปเซิร์ชในเว็บต่างประเทศ เห็น New York Times, Guardian, SCMP ทำ ก็เห็นว่าน่าสนใจ แล้วก็เซิร์ชดูว่าในเมืองไทยใครทำอะไรบ้าง ก็จะเห็นงานไทยพับลิก้าบางชิ้นที่ทำ มีอิศราบางชิ้น แต่สื่อไทยที่ทำมันไม่ได้แมสขนาดนั้น ก็เลยคิดว่าลองทำดูว่ามันจะยากแค่ไหน

เลยชวนแขกที่เราไปสัมภาษณ์นั่นแหละ ซึ่งก็คือบริษัท Boonmee Lab มาทำเรื่องเลือกตั้ง เพราะตอนที่เจอเขาเป็นปี 2018 แล้วมันเป็นเทรนด์อยู่ว่าเดี๋ยวเราน่าจะได้เลือกตั้งในปี 2019 ก็เลยทำโปรเจกต์ “ELECT” ขึ้นมาเป็นเว็บไซต์ elect.in.th

โจทย์ก็คือเอาสื่อมาบวกกับข้อมูลและเทคโนโลยี ทำยังไงให้วิธีการสื่อสารเรื่องเลือกตั้งมันต่างไปจากเดิม ซึ่งไอเดียเราก็ไม่ได้รู้เยอะ ก็ดูว่าอเมริกาทำไง อังกฤษทำไง หรือประเทศอื่นๆ ทำไง ก็เอามาลองทำ

ปรากฏว่าเป็นโปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จ คือมีคนใช้เยอะ อาจเพราะช่วงนั้นใหม่ด้วย เราทำตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเมือง วิเคราะห์ผู้สมัครที่เข้ามาเล่นการเมืองว่าเบื้องหลังเขาเป็นใคร ทำไมถึงลงในพรรคเหล่านี้ พรรคต่างๆ มีต้นกำเนิดที่ผ่านมาเป็นใคร

แล้วก็ทำมาจนถึงวันเลือกตั้ง ทำรายงานผล ติดตามดูว่าคะแนนที่ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ส่งมา เทียบกับ Vote62 ในตอนนั้นที่ไปนับหน้าหน่วย ตรงหรือไม่ตรง หรือมีคะแนนเข้าออกอย่างไร ก็ปรากฏว่าคนสนใจ

พอทำ Elect จบ ก็มีความคิดว่าหลังเลือกตั้งปี 2562 เราจะจบแค่นี้แล้วกลับไปทำ The MATTER ต่อมั้ย คือมันก็เสียดาย เพราะเราก็ฝึกมาแล้ว เริ่มเข้าใจข้อมูล เริ่มเข้าใจงานสื่อสาร

ก็เลยตัดสินใจชวนพี่ๆ ที่บุญมี แล้วก็มีพี่ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนชื่อพี่ฝ้าย-ภัทชา (ภัทชา ด้วงกลัด) ก็ชวนว่าสนใจมั้ย มาลองทำบริษัทแบบนี้ ในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การเมืองก็ได้ ก็เลยมาตั้งบริษัทตอนกลางปี 2019

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis

ตอนที่ตั้ง ก็แบ่งของเป็นสองอย่าง ก็คืองานฝั่งการเมือง เรารู้สึกว่าเราอยากทำต่อ ถึงมันจะเป็นงานที่อาจจะขายไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครจ่ายเงินมาซื้อให้เปิดข้อมูลรัฐ เปิดข้อมูลการเมือง เป็นโปรเจกต์ที่คิดว่าเดี๋ยวเราหาทุนเอา

แต่พูดตรงๆ บริษัทก็ต้องหาเงินเพื่อรักษาให้มันเป็นโมเดลธุรกิจ ก็เลยเปิดในชื่อ “Punch Up” เป็นโปรเจกต์ทำกำไร รับงานองค์กรรัฐ องค์กรเอกชน แต่แนวคิดเดียวกันก็คือ “เราสร้างทีมขึ้นมาเพื่อทำยังไงให้ข้อมูลที่มันเคยกระจัดกระจาย เข้าถึงเข้าใจยาก ให้เข้าถึง เข้าใจ เข้าใช้ง่ายมากขึ้น”

หรือประเด็นบางอย่างที่มันเคยถกเถียงกันด้วยความเห็นของใครบางคน เราทำให้มันเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้นผ่านข้อมูลได้มั้ย ก็เลยทำในรูปแบบหนึ่งบริษัทใหญ่กับโปรเจกต์ย่อย ในชื่อ Punch Up และ Wevis ตลอดมาประมาณสี่ห้าปี

ส่วนทีมก็ค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกก็นั่งกันอยู่สี่ห้าคน คนนึงก็ต้องทำได้หลายอย่าง ทำคอนเทนต์ได้ ทำรีเสิร์ชได้ ทำข้อมูลได้ ดีไซเนอร์บางคนก็ต้องทำวิจัยข้อมูลไปด้วย

แต่พอมันผ่านมาสี่ห้าปี เราก็เริ่มเห็นแล้วว่าโครงสร้างมันจะต้องมีประมาณสามยูนิตเพื่อทำหนึ่งงาน ก็คือฝั่งที่ทำข้อมูล ทำคอนเทนต์, ฝั่งดีไซน์เนอร์, แล้วก็ฝั่งที่เป็นนักพัฒนา เพราะว่าเราทำโปรดักต์เป็นเว็บไซต์ ก็โตขึ้นมา

ไทยพับลิก้า : เป็นงานที่สนุกและท้าทาย

ก็ท้าทายอยู่ เพราะว่าช่วงแรกๆ หนึ่งคือ คนไม่เข้าใจว่าเราขายอะไร เพราะมันก็ใหม่ จำได้ว่าตอนที่เห็นงานหวยของไทยพับลิก้า มีพี่เอามาเปิดให้ดูที่ The MATTER เราก็นึกไม่ออกว่าสเตปหนึ่ง สอง สาม สี่ คืออะไร

คืออย่างเวลาเราทำข่าวออนไลน์ มันก็ดูง่าย อาจจะตั้งประเด็น ไปหาแหล่งข่าว ออกไปสัมภาษณ์ หรือไปหาข้อมูลรีเสิร์ช แล้วมาเขียน

แต่การที่ออกมาเป็นโปรดักต์อีกแบบหนึ่ง เราเข้าใจแหละว่ามันมาจากการตั้งประเด็น แล้วยังไงต่อ เราไม่ค่อยเข้าใจสเตป แต่ค่อยๆ เรียนรู้และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ

แต่เวลาไปคุยกับลูกค้า เขาจะยังคิดภาพเป็นสไตล์สื่อเก่าๆ เขาจะไม่เข้าใจคำว่าทำไมต้องทดสอบเว็บ ทำไมสิ่งนี้ลบแล้วแก้เลยไม่ได้ ทำไมมันถึงเกี่ยวพันกับหลายส่วน ข้อมูลหลายอัน ก็ต้องค่อยๆ สื่อสาร

อันที่สองคือ จริงๆ ต้นทุนมันสูง ของแบบนี้มันต้องใช้เวลากว่าจะรีเสิร์ชได้ แล้วบางทีมันไม่ได้ผล ก็ต้องไปหาทางอีก จริงๆ ต้องบอกว่ากำลังแรงงานของเราเป็นสิ่งที่ต้องไปแข่งกับวงการอื่นในตลาด

เช่น คนที่เป็นนักพัฒนาเขาไปทำงานแบงก์ แบงก์จ้างได้สูงกว่าพวกเราสามสี่เท่า แต่อะไรคือเหตุผลที่เขายังอยากมาทำงานนี้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นความท้าทายช่วงแรกๆ

แล้วความท้าทายที่สำคัญคือไม่มีข้อมูล ประเทศนี้ไม่ได้มีข้อมูลแบบที่เราคิด

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis

ไทยพับลิก้า : การสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจว่าเราเป็นใคร ทำอะไร

ช่วงแรกๆ คนเข้าใจว่าเราทำอินโฟกราฟิกที่ขยับได้ ฟีลมันคือประมาณนั้น แต่โจทย์ที่เราอยากไปให้ถึงก็คือ “การอธิบายปรากฏการณ์หรือตอบปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ ผ่านข้อมูล”

ซึ่งคุณค่านี้ กว่าเราจะทำให้ลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์เราเข้าใจเวลาทำงานด้วยได้ มันกลายเป็นว่าหลายๆ ครั้งเราต้องผลิตงานขึ้นมาเองก่อน เพื่อให้เขาเห็นว่าโจทย์ที่คุณเคยคิดว่ามันใช่ จริงๆ มันไม่ใช่นะ

ยกตัวอย่างเช่น เคยมีโปรเจกต์ที่เราทำกับสถาบันแห่งหนึ่ง เราสงสัยเรื่องที่บางหน่วยงานรณรงค์เรื่องลดอุบัติเหตุ เขารณรงค์ว่ามันเป็นเรื่องพฤติกรรม ไม่เมา ไม่ขับ ไม่แชท แต่เราก็สงสัยว่ามันเป็นที่คนอย่างเดียวเหรอ ก็พยายามเอาข้อมูลมาพิสูจน์

หน่วยงานนั้นเคยจ้างเราทำเป็นอินโฟกราฟิกที่ขยับได้ แต่เราคิดว่าคำถามเรื่องเดียวกันมันอาจจะไปได้ลึกกว่านั้น หรือมันหาคำตอบด้วยข้อมูลได้ เราก็เลยไปเอาพวกข้อมูลอุบัติเหตุมาวิเคราะห์ แล้วดูว่ามันเป็นไปได้มั้ยที่จะเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างมากกว่าบุคคล

โดยวิเคราะห์สภาพถนน วิเคราะห์เรื่องป้ายจราจร วิเคราะห์ลักษณะกายภาพ หรือหาเหตุผลว่าที่มันเกิดที่เดิมซ้ำๆ เวลามีผลมั้ย ถนนมีผลมั้ย ป้ายจราจรมีผลมั้ย กฎ กติกามีผลมั้ย การสร้างป้ายรถเมล์ใกล้ยูเทิร์นมีผลมั้ย เราก็พยายามทำให้เขาเห็น แล้วสิ่งที่ทำควบคู่ไปกับงานที่ออกไปข้างหน้า ก็คือ การเล่าวิธีการทำงานไปด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะขายคุณค่าของสิ่งนี้กับลูกค้า เราก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า เราไม่ได้เปิดเว็บให้เขาดูเฉยๆ แต่ต้องเล่ากระบวนการเวลาเราไปพรีเซนต์ด้วยเพื่อกะเทาะโจทย์ใหม่

แต่ทีนี้ก็จะไปติดเรื่องหนึ่งก็คือ ลูกค้าที่อยากได้โปรดักชันสวยๆ ก็จะไม่จ้างเรา เพราะมันไม่ใช่คุณค่าที่เขาอยากได้

คือ สำหรับทีม ความสวยงามก็เป็นคุณค่าหนึ่ง แต่เราคิดว่าเราอยากทำงานที่ใช้ข้อมูลจริงๆ มากกว่า เพราะเว็บสวยๆ เราคิดว่าคนอื่นเขาก็ทำได้

แต่ต้องบอกว่าใช้เวลานานเหมือนกัน เพราะปีแรกๆ มีแต่งานที่ไม่ได้มีข้อมูลอะไรใหญ่โต เวลาจะเคลมว่าเราทำข้อมูลเล่าเรื่องก็เกรงใจคนอื่นนิดนึง เพราะว่ามันก็ไม่ได้ใช้ข้อมูลเยอะ แต่หลังๆ ก็เริ่มเลือกงานมากขึ้น เพราะเราอยากผลักคุณค่านี้ให้มากขึ้น

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis

ไทยพับลิก้า : การเอาข้อมูลมาทำให้คนเขาถึงได้ง่ายเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่กว่าจะได้ข้อมูลมา มันยาก… อะไรคืออุปสรรคหรือปัญหาที่เจอ

จริงๆ ต้องบอกว่างานที่เราทำอาจจะแบ่งเป็นสองส่วน คืองานที่เป็นข้อมูลรัฐ ซึ่งจริงๆ ต่อให้ทำงานกับองค์กรเอกชน หลายๆ อย่างก็ต้องนำข้อมูลรัฐมาเขียนใหม่ เช่น เอกชนจะสื่อสารว่าตัวเองทำสิ่งนี้ แต่พยายามจะจูงใจให้คนเชื่อ บางทีก็ต้องใช้ข้อมูลรัฐ เช่น ข้อมูลประชากร ข้อมูลเศรษฐกิจ ซึ่งบางทีมันก็ไม่อัปเดตหรือมีไม่ครบ

อีกส่วนก็เป็นข้อมูลเอกชน แต่เรารู้แหละว่ามันยาก แต่เรามีเป้าเสมอว่า นอกจากเราจะขายของให้มีเงินมาเลี้ยงดูตัวเองกันแล้ว น้องทุกคนในทีมมีความคิดฐานนึงที่เหมือนกัน คือ เขารู้สึกว่าข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลรัฐที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตเขา มันเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ว่าทำไมเราถึงรู้ไม่ได้

แล้วเรารู้สึกว่า คนที่ต้องทำมันคือมีความสามารถระดับรัฐ หมายถึงว่ามันต้องเป็นองค์กรรัฐนั่นแหละ เพื่อที่ให้คนอื่นไปคิดโซลูชัน ไปคิดนวัตกรรม หรือไปอธิบายปรากฏการณ์ได้

ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามทำควบคู่กันไปก็คือการผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร คือเรารู้ว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เซ็กซี่เลย คนส่วนใหญ่อาจจะนึกไม่ออกว่าทำไมถึงจะมาเรียกร้องอะไรแบบนี้ คือมันไม่ใช่เดินไปแล้วเจอปัญหา

แต่ทุกครั้งที่มันมีอีเวนต์ต่างๆ เช่น ตอนเลือกตั้ง สุดท้ายเราไม่เห็นว่าหน่วยที่เราออกไปเลือกตั้ง ตกลงได้คะแนนเท่าไหร่ ก็จะเริ่มมีคำถาม เราก็คิดว่าหน้าที่ของเราคือพูดต่อไปเรื่อยๆ ในเชิงสื่อสารผ่านงานต่างๆ ว่าเรามีความท้าทายอะไร

อันที่สองก็คือ เราใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารตลอด เรายื่นสภาตลอด แก้อยู่ทุกสมัย ซึ่งก็ไม่ได้เข้าสภาสักที ก็พยายามผลักดันสิ่งนี้

กับอีกหนึ่งความท้าทายคือ ทำงานกับภาครัฐเยอะขึ้น เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า บางทีเขาไม่ได้ไม่อยากเปิดข้อมูล แต่เขาไม่รู้จริงๆ ว่าต้องเปิดยังไง หรือเขาไม่มีสกิล ไม่มีเทคโนโลยี ดังนั้น เราก็เลยลงทุนเวลาส่วนนึงไปกับการทำงานกับองค์กรที่มีความตั้งใจอยากจะเปิด เราเข้าไปทำงานกับองค์กรภาครัฐเลย ไปนั่งคุยกันว่าวิธีการเปิดข้อมูลแบบนี้แหละ ที่จะทำให้คนอื่นเอาไปใช้ต่อได้และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

องค์กรที่เต็มใจที่จะทำเขาก็ดีใจนะคะ เอาจริงๆ องค์กรรัฐก็น่าเห็นใจ ที่ไม่ได้มีคนที่เราเรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลเข้าไปช่วยเขาขนาดนั้น แล้วคิดว่าเขาก็ไม่ได้มีความสามารถจะจ้างคนเหล่านั้น เพราะเงินเดือนก็แพงมาก

ปัจจุบันมันก็มีองค์กรคล้ายๆ เป็นศูนย์ข้อมูล คือ BDI [Big Data Institute : สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)] ที่พึ่งแยกออกมาจาก depa ปีงบประมาณนี้ หน้าที่ของเขาคล้ายๆ ที่ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ไปพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่ง BDI ก็ทำหน้าที่พัฒนาเรื่องข้อมูลในองค์กร แต่ว่าองค์กรรัฐมันเยอะมาก BDI ก็ไม่สามารถที่จะทำพร้อมกันได้

ดังนั้น ทางนึงเราก็เรียกร้องทางกฎหมาย อีกทางนึงเราก็ไปร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ คือใช้แรงของเราไปช่วยส่งเสริมองค์กรที่ยินดีที่จะทำงานร่วมกับเรา

แต่มันก็ยากมาก อย่างประสบการณ์พวกเรา ไม่ใช่คนทำงานภาครัฐมาก่อน เข้าไปก็จะเจอความราชการมากๆ กว่าจะได้คุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ พอคุยเสร็จติดระเบียบ ติดโน่น ติดนี่ แต่ว่าก็ต้องใจเย็น

“เราทำมาสี่ห้าปี เราเลยเรียนรู้ว่า แก้ปัญหาที่ต้นเหตุไปพร้อมกับการทำให้เห็นว่าทำได้ ถึงจะได้ผล เพราะเมื่อก่อนเราก็ทำเฉพาะฝั่งเราโดยไม่ได้แคร์เขา ออกจะโวยวายด้วยซ้ำกับภาครัฐ แต่โวยวายมาสี่ห้าปีก็ไม่เห็นผล ก็เลยคิดว่าไปช่วยทำเลยดีกว่า”

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis

ไทยพับลิก้า : หน่วยงานภาครัฐเห็นความสำคัญตรงนี้ไหม

เป็นโจทย์ที่ท้าทายเหมือนกัน จริงๆ ก่อนหน้าเข้าใจว่ามีกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องข้อมูลเปิด (open data) มาก่อน สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก็จะมีพี่ๆ ที่รู้จักที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลมาก่อน ซึ่งมันก็ดีขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ได้แย่ ก็คือมีการเปลี่ยนแปลงกฎ กติกา มีเทคโนโลยีเข้าไปใช้มากขึ้น แต่ว่าทุกๆ คน ถ้าจะเข้าไปทำสิ่งนี้ มันต้องใช้ความพยายามเยอะมาก

ลองคิดภาพแบบเราเป็นเจ้าของบริษัท การเข้าไปนั่งทำงานกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อช่วยเขาในเรื่องนี้ มันก็คือการใช้เวลาของเราเพิ่มเติม ซึ่งรัฐยังไม่มีแนวคิดจะจ้างคนเพื่อปรับปรุงกระบวนการนี้

“คือเราเห็นรัฐจ้างที่ปรึกษาหลายๆ เรื่อง แต่เรื่องข้อมูลในองค์กร ยังไม่ค่อยมีแนวคิดในการทำสิ่งนี้(ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำ)”

เราพยายามไปรีเสิร์ช แล้วก็ขอคุยกับ ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) ว่ามันเป็นไปได้มั้ย ถ้าจะมี คือเหมือนมันมีแนวคิดของอเมริกาหรือแคนาดา เวลาเขาจ้างทำของที่อาจจะเหมือนเป็นการกำหนดมาตรฐานบางอย่าง สร้างระบบที่อาจจะไม่ต้องจ้างตลอดไป เขาก็ลงทุนไป แล้วตั้งสิ่งที่เรียกว่า “IT as a service” เป็นทีมเพื่อมาทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ แล้วก็ไปหาคนที่เขาถนัดด้านนั้นจริงๆ มาทำ

แต่คิดว่าวิธีจ้างของรัฐไทยยังเป็นผู้ขายเป็นโปรเจกต์ไป แล้วข้อกำหนดก็คิดมาจาก TOR (terms of reference) คนข้างใน อันนั้นเป็นปัญหาอยู่

ดังนั้น ถ้าเราอยากจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแต่แรกว่าสิ่งนี้ควรทำอย่างไร ช่องว่างตรงนี้มันน้อย เพราะว่ามุมนึงเขาก็อาจจะกลัวเรื่องความขัดแย้ง ถ้าสมมติให้เราไปช่วยคิดแต่แรก แล้วเขียน TOR มา แล้วเราได้งาน ก็อาจจะถูกมองว่าโกงหรือเปล่า ฮั้วหรือเปล่า หรือว่าถ้าเราเข้าไปโดยไม่รับค่าตอบแทน ต้นทุนก็จะมาอยู่ที่ภาคเอกชนอีก ยังหาวิธีที่จะทำงานกับรัฐที่เหมาะสมยังไม่เจอเหมือนกัน

เพราะว่าอย่างตอนนี้ที่เข้าไปทำงานกับสภาผู้แทนราษฎร ก็คือทำผ่านกรรมาธิการ ซึ่งพูดตรงๆ ว่าเราก็ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไร เป็นกรรมาธิการชุดพัฒนาการเมือง เป็นคณะของหมออ๋อง (ปดิพัทธ์ สันติภาดา) ที่เขาทำเรื่อง open parliament

แต่ก็เห็นใจ เพราะว่าจริงๆ มีเอกชนหลายเจ้าเหมือนกันที่จะช่วย แต่ถ้าเขาต้องไปประชุม ที่ใช้เวลาเยอะ คิดว่ามันก็เป็นต้นทุนที่ตกกับภาคเอกชนเหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : ทางออกที่จะเป็นอย่างไรได้บ้าง

เป็นความยากเหมือนกัน ตอนแรกเคยคิดว่าคนที่ต้องทำทั้งหมดคือรัฐ ซึ่งก็ไม่ผิดหรอก เพราะหนึ่ง เขาเป็นเจ้าของข้อมูล สองคือ เขามีทรัพยากร มีคน มีเงิน และเป็นคนที่ควรจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี คิดว่าก็คงต้องผลักดันรัฐ ถ้ามีคนที่ยื่นเสนอกฎหมาย ก็สนับสนุนเขา หรือถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องหรือขอข้อมูลได้ ทำให้มันเป็นกรณีตัวอย่างไป

ทีม Wevis เป็นฝ่ายนึงที่ยื่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารบ่อยมาก อย่างเช่น ผลโหวต ส.ว. มันไม่เปิดในเว็บ ซึ่งงงมาก เมื่อก่อน iLaw ใช้วิธีไปถ่ายบอร์ดข้างหน้า แต่มองว่าจะไปทุกครั้งที่โหวตไม่ได้ เราก็เลยคุยกันว่าเดี๋ยว Wevis ช่วยทุกเดือนหรือทุกปิดสมัยประชุม เรายื่นเพื่อขอ แต่ได้มาเป็นซีดี ก็ต้องไปซื้อเครื่องเล่นซีดีมาเปิด

ของ ส.ส. บังเอิญว่าเราโชคดีที่ได้เข้าไปทำงานกับหมออ๋อง ซึ่งเขากำลังจะพัฒนาระบบเปิดข้อมูลให้มันดีขึ้น คือทำระบบเพิ่มให้มันเป็นไฟล์ Excel ได้ด้วย คือถ้าเรามีโอกาสผลักเรื่องอะไร ก็ค่อยๆ ผลักไป เพราะว่าถ้าพูดถึงข้อมูลรัฐ มันเป็นภาพที่ใหญ่มาก กว้างมาก

แต่อีกมุมนึงยังนึกไม่ออกว่า ทำไมยังมีข้ออ้างนี้อยู่ แต่หลายหน่วยงานก็ยังอ้าง หรือเขาไม่รู้จริงๆ ก็คือ เขาไม่รู้ว่าเปิดไปแล้วใครจะใช้ เปิดไปแล้วมีประโยชน์อะไร

คิดว่าเราไม่ต้องอธิบายด้วยคำพูดก็ได้ แต่ทำให้เห็นเป็นกรณี ที่นำข้อมูลไปใช้จริง เช่น ทำให้เขาเห็นว่า “ถ้าคุณพิสูจน์สิ่งต่างๆ ด้วยข้อมูลเหล่านี้ คุณสามารถลดต้นทุนในการสร้างมาตรการรัฐต่างๆ ลดต้นทุนการจ้างคน นโยบายคุณจะสมเหตุสมผลมากขึ้นได้”

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis

อย่างไรก็ตามเราคงไปบังคับทุกหน่วยงานภาครัฐไม่ได้ และก็เข้าใจเรื่องความสามารถด้วย แต่เรื่องความสามารถก็ควรจะลดน้อยลง เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีมันก้าวล้ำแล้ว มันก็มีทางเลือกอื่นๆ เช่น ไปปรึกษาคนที่เขาทำได้ ให้เขามาช่วยทำให้ เป็นการส่งเสียงออกไปว่าข้อมูลมันเป็นเรื่องสำคัญ มันต้องเปิดเผย โปร่งใส ถ้าหากทำได้ ก็สามารถเพิ่มการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ของคนได้

เรายังคิดด้วยซ้ำว่า ต่อไปถ้าเรื่องข้อมูลมันง่าย ไม่ต้องมีแบบ Wevis, Punchup ก็ได้ ใครก็ทำได้ เพราะทุกวันนี้ทุกคนก็คือสื่ออยู่แค่ปลายนิ้วอยู่แล้ว

ความยากอย่างหนึ่ง ดูเหมือนมันต้องอดทนมาก กับการนำข้อมูลที่เป็นเปเปอร์ เป็น PDF เป็นกระดาษที่เราต้องมานั่งคีย์ซ้ำ ตอนนี้ก็ยังได้ข้อมูลแบบนั้นอยู่ แต่ความโชคดีก็คือ พอเทคโนโลยีมันก้าวไป อย่างเราทำงานกับ iLaw สิ่งที่เขาได้มันก็จะเป็นข้อมูลเอกสารบนกระดาษ แต่ทีมเราโชคดีที่มีนักเทคโนโลยีที่สามารถเขียนโปรแกรมเพื่ออ่านไฟล์ ให้เขาสแกนไฟล์ PDF ให้หน่อย แล้วเราก็อ่านไฟล์ PDF ลง Excel ได้เลย

เช่น ที่เราทำมาสองสามปีแล้ว คือเรื่องงบประมาณ เล่มขาวคาดแดงของสำนักงบประมาณ อยากได้ Excel ขอไปแล้วเขาไม่ให้ น้องก็เลยต้องเขียนโค้ดขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนทั้งหมดให้เป็น Excel แล้วเอาไปให้นักวิเคราะห์ นักนโยบาย เอาไปวิเคราะห์ได้ ให้เขาสร้างงานได้ แต่คำถามนึงก็คือ เราจำเป็นต้องทำมั้ย (หัวเราะ) ทั้งที่สำนักงบฯ ก็คีย์ข้อมูลด้วยไฟล์ Excel อยู่แล้ว

เราก็พยายามผลักดันให้เห็นว่า ถ้าคุณให้ไฟล์เราแต่แรก หนึ่งคือ มันถูกต้องแน่ๆ สองคือ เห็นมั้ยว่า think tank ก็เอาไปใช้ประโยชน์ได้ สื่อก็เอาไปใช้ประโยชน์ได้

ในมุมนึงที่คิดว่าเป็นมูลค่าเพิ่มของทีม wevis ก็คือ เรามีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการแปลงข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลให้ทำทุกอย่างได้เร็วขึ้น ทำเป็นกรณีที่ใช้งานจริง อย่างน้อยรัฐบาลอาจได้เห็นว่าข้อมูลมันช่วยทั้งป้องกัน ทั้งแก้ปัญหาได้

แต่ก็เข้าใจนะ เวลาไปทำงานกับภาครัฐ มันต้องมีวิธีในการสื่อสารว่า เราไม่ได้มาว่าเขานะที่เขาไม่เปิด แต่เราทำให้เห็นว่า เห็นมั้ย ถ้าคนนี้เอาไปใช้ต่อมันจะมีประโยชน์ช่วยคุณทำงานยังไง

อย่างไรก็ตาม โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เวลาขอข้อมูลเขา แล้วเหตุผลที่เขาจะไม่ให้ ไม่เปิด หรือเปิดในรูปแบบที่เราเอาไปใช้งานต่อยากก็คือ เขากลัวว่ามันจะถูกสื่อสารไปในมุมผิดๆ เช่น มีการดัดแปลงมั้ย เผยแพร่ไปด้วยสารที่ผิดมั้ย มีคนเจตนาร้ายมั้ย

“แต่ทุกครั้งก็จะพยายามทำให้เขาเห็นว่า เฮ้ย มันมีวิธีนะ ในการป้องกันสิ่งเหล่านี้ เช่น ตอนนี้สภาพัฒน์ฯ ทำแล้ว เปิดไฟล์ที่เครื่องอ่านได้ พวก Excel คู่กับ PDF เพราะฉะนั้น ต้นทางมันก็เห็นอยู่แล้ว มันก็ตรวจสอบกลับไปกลับมาได้”

อันที่สอง สมมติว่าถ้าคุณเปิดเป็นสาธารณะจริงๆ ไม่ได้ให้เฉพาะกลุ่ม มันอาจจะมีคนใช้มากกว่าหนึ่งคน สองคน สามคน ดังนั้น ข้อมูลมันจะตรวจสอบกันเอง มันคือการ cloud source, ตรวจสอบข้อเท็จจริง กันเอง ก็เป็นประโยชน์กับเขา แล้วก็ให้เห็นว่าที่อื่น เขาก็ทำกันแบบนี้

ถ้าหน่วยงานไหนให้ค่ากับสิ่งนี้ มันก็จะไปได้เร็ว อย่างสภาพัฒน์ฯ ทำ “TPMAP” คือเขาเห็นคุณค่าของสิ่งนี้ แล้วรู้ว่าข้อมูลสภาพัฒน์ฯ มันจะไปมีประโยชน์กับหน่วยงานอื่น เขาก็เลยให้คนมาลงแรงกับสิ่งนี้เยอะ ก็มีฐานข้อมูลความยากจน แล้วก็วิเคราะห์โครงการต่างๆ คู่ไปกับสำนักงบฯ

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ทำโปรเจกต์อะไรอยู่บ้าง

ตอนนี้ถ้าเป็นฝั่งของ Wevis ก็จะมี “แคมเปญ ส.ว.” คือเว็บ senate67.com แล้วที่รันสองอันคู่กันไปหลักๆ ก็จะเป็น “parliment watch” มอนิเตอร์การทำงานของรัฐสภา แล้วข้างในมันจะมีการติดตามนโยบายด้วยว่ารัฐบาลตั้งนโยบายอย่างไร ขับเคลื่อนผ่านนิติบัญญัติและบริหารอย่างไร

อันสุดท้าย ที่จริงๆ พยายามทำทุกปีคือเรื่อง “open budget” การใช้งบประมาณประเทศ ก็จะเป็นโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่ทำ ส่วนอื่นๆ ก็จะแล้วแต่ว่าน้องว่าง แล้วอยากทำอะไร

จริงๆ อีกอันตอนนี้ที่พยายามทำอยู่ก็คือเรื่อง “รัฐธรรมนูญ” แต่เราก็ยังคิดไม่ค่อยออกว่าเราจะช่วยทำอะไรได้ อย่างเคสที่เล่าที่งาน TIJ (สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย) เมื่อเร็วๆ นี้ ก็คือ เราลองรีวิวเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดของคน

แล้วตอนนี้ก็พยายามทำอีกโปรเจกต์ มันจะคล้ายโมเดลของไต้หวันหรือเกาหลีใต้ ที่เขาเคยให้คนมาร่วมเขียนกฎหมายได้ผ่านดิจิทัล คือ ใช้เครื่องมือดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมความเห็นในเรื่องเดียวกัน

แล้วภาพที่ออกมาสุดท้าย สมมติว่า สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) จะพูดเรื่องระบบรัฐสภา ไหนเปิดในหมวดหมู่นี้ดูสิว่ามีใครเคยพูดว่าอะไร เราพยายามพัฒนาเครื่องมือนี้อยู่ แล้วก็น่าจะทำร่วมกับ TIJ ในการให้เขาไปจัดวงประชุมต่างๆ

“เราก็พยายามคิดแหละว่า เรื่องไหนในสังคมที่สำคัญ และสองใช้เทคโนโลยีและข้อมูลช่วยได้ คิดว่านั่นเป็นจุดแข็งของเรา” แต่ถ้าให้เราไปบอกเลยว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้อย่างไร มันก็ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของเรา

ไทยพับลิก้า : มีหลักการในการเลือกยังไงว่าจะขับเคลื่อนเรื่องไหน

คิดว่ามันมีสองสามแง่ แง่แรกก็คือเรามีประเด็นปัญหาที่คุยกันในทีมว่าเราจะทำอยู่แล้ว ก็จะมีอยู่ประมาณ 4 เรื่องหลักๆ

เรื่องแรกก็คือเรื่อง “รัฐสภา” เราเลือกสิ่งนี้เพราะว่า หนึ่ง คือ ทีมเราเริ่มทำมาจากการทำเรื่องเลือกตั้ง แล้วเรารู้สึกว่าประชาธิปไตยสั้นจัง เราเลือกได้แค่วันเลือกตั้งเหรอ แต่ก็คุยกันว่า จริงๆ อำนาจของเราที่ให้ไปวันนั้น เราอยากรู้ว่ามันถูกใช้อย่างไร เราก็เลยทำสิ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นการจับตาดูรัฐสภา

เรื่องที่สองคือเรื่อง “การเลือกตั้ง” เมื่อมีเลือกตั้งใหญ่ พวกการเลือกตั้งทั่วไป เราก็จะทำเรื่องข้อมูลเลือกตั้ง แล้ววิเคราะห์กันอีกทีว่า ณ เวลานั้นใครต้องการอะไรบ้าง

เรื่องที่สามคือเรื่อง “งบประมาณ” เราสนใจเรื่องเงิน เพราะจะคิดเสมอว่าทำไมภาษีที่เราจ่ายไปมันไม่ค่อยได้อะไรแบบที่เราอยากได้เลย ก็พยายามทำอยู่

แต่ก็ต้องบอกว่าดินแดนนี้เป็นดินแดนที่ใหม่และเป็นดินแดนสนธยามากสำหรับเรา ในการเข้าไปคุยกับสำนักงบฯ แต่โชคดีที่สมัยนี้ได้ทำงานกับกรรมาธิการงบฯ ของสภา ก็เลยมีโอกาส มีช่องทางเยอะหน่อย

ส่วนเรื่องสุดท้าย จริงๆ เราธีมว่ามันเป็นเรื่อง “สิทธิเสรีภาพ” ที่เราสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำร่วมกับเอ็นจีโอ วิธีการทำงานอันหนึ่งของเราก็คือ พยายามหาพาร์ทเนอร์ในแต่ละหัวข้อ เพราะเรารู้ว่า หนึ่ง คือไม่ได้เก่งทุกอย่าง ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสายนี้ สองคือ ไปด้วยกัน ไปได้เร็วกว่า โดยมีองค์กรอย่าง iLaw หรือว่าองค์กรเอ็นจีโออื่นๆ ที่มาชวนเราทำ

ถ้าทีมเราทำได้ แล้วเรารู้สึกว่าเทคโนโลยีกับข้อมูลมันมีคุณค่ากับเขา เราก็ค่อยไปสนับสนุนในส่วนที่เราทำได้ อย่าง ส.ว. ก็จะเป็นเคสนึง

ผลงานที่ผ่านมา ก็จะมีพวกล่าชื่อเสนอกฎหมาย สมมติเราคุยกันในทีมว่าเราเห็นด้วยหรือค่อนข้างเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ อยากให้มันเกิดขึ้น เราก็จะทำเว็บแคมเปญให้เขา ก็จะมีพวก Con for All, นิรโทษกรรมประชาชน, PRTR ก็พยายามอยู่ในจุดที่คิดว่าเราเป็นแรงเสริมให้เขาได้

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis

ไทยพับลิก้า : มองว่าทุกคนควรให้ความสำคัญกับข้อมูลมากน้อยแค่ไหน

คิดว่าถ้าสมมติเอามากองเทียบกับอย่างอื่นบนโต๊ะ อาจจะเป็นสิ่งท้ายๆ ที่คนเลือก แต่เมื่อมันไม่มี คนจะเริ่มตั้งคำถามว่าทำไม

แล้วไอ้ตอนไม่มี บ่อยซะด้วย (หัวเราะ) เช่น ตอนโควิด จะเป็นช่วงที่คนตั้งคำถามมากที่สุดว่าทำไมแจกเงินคนนี้ ทำไมคนนี้ถึงไม่ได้ เหตุผลคือ เราไม่เคยมีฐานข้อมูลประชากรที่รู้ว่าคนเหล่านี้เปราะบาง เขตนี้ต้องการความช่วยเหลือมากแค่ไหน เขตนี้มีใครอยู่บ้าง ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ

อย่างนี้มันจะเริ่มมีคำถาม เมื่อมันมีเรื่องเดือดร้อน หรือเรื่องต้องตัดสินใจ เช่น ตอนเลือกตั้งก็มีคนมาถามว่านักการเมืองคนนี้เป็นใคร เคยทำอะไรมาบ้าง มันจะมีคำถามว่าคนนี้อยู่ฝั่งไหน เป็นคนดี ไม่ดี

เพราะฉะนั้น สิ่งนี้มันดูได้จากประวัติการทำงานของเขา ประวัติคดี ประวัติการโหวต ประวัติการเสนอกฎหมาย เพื่อรวบรวมว่าจริงๆ คนนี้เป็นยังไง

เพราะฉะนั้นถ้าสรุปก็คือข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อมันจำเป็นที่เราต้องตัดสินใจหรือมีปัญหา แต่คิดว่าในชีวิต ก็มิบังอาจไปยัดเยียดสิ่งนี้ว่ามันสำคัญสำหรับทุกคน แต่ในมุมตัวเองคิดว่ากับคนที่สำคัญมากๆ คือคนที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่เขากลับเป็นคนที่ไม่ค่อยใช้สิ่งนี้

“อย่างเมื่อไม่นานนี้ คุยกับคนที่เขียนรัฐธรรมนูญเรื่องวิธีเลือก ส.ว. สิ่งหนึ่งที่เราสงสัยคือค่าสมัคร 2,500 บาท มายังไง สำหรับเรารู้สึกว่ามันสูงมาก ขนาดแม่อยากไปสมัคร แม่ยังลังเลเลย (หัวเราะ)”

เขาก็บอกว่า “มันก็ดูน่าจะเป็นตัวเลขรวมๆ กันแล้ว ช่วยลดต้นทุนที่ กกต. ต้องไปขอจากรัฐได้ นี่คือเหตุผล แล้วทำไมถึงเงื่อนไขเยอะ เพราะ กกต. จะได้ทำงานสะดวก มันจะได้กรองคนที่เป็นใครไม่รู้ออกไปได้ แล้วพูดออกมากลางเวทีสาธารณะ ซึ่งก็งงมากว่า คุณทำงานเอาสะดวก ตอนแรกก็คิดว่าหรือเขาคิดมาจากอะไร 2,500 เทียบกับตัวเลขรายได้หรืออะไรมั้ย จะเป็นหลักคิดไหนก็ได้นะ ลองพูดมาก่อน แต่ปรากฏว่าเอาสะดวก กะๆ เอา ซึ่งแปลกมาก”

ไทยพับลิก้า : มองเทคโนโลยีภาคประชาชน หรือ civic tech ในประเทศไทยกับต่างประเทศ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ต้องบอกว่าทั้งต่างและเหมือนกัน คือ เทคโนโลยีภาคประชาชน จริงๆ ความหมายโดยกว้างมันคือใครก็ได้ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่สร้างโดยภาคเอกชนหรือภาคประชาชนเพื่อสร้างคุณูปการแก่ส่วนรวม

บางที่ก็ทำงานร่วมกับ GovTech (government technology) เช่น ที่ไต้หวัน รัฐมนตรีดิจิทัลของเขาก็จะมีทีมของเขา แล้วก็มีฝั่งเทคโนโลยีภาคประชาชน อาจจะเป็นกลุ่มเรื่องการเมือง เรื่องสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม มาทำงานร่วมกับภาครัฐ

เขามีความคิดอย่างหนึ่งว่า ภาครัฐไม่ได้รู้ทุกอย่าง ไม่ได้อยู่ในวงการเทคโนโลยี ไม่ได้อัปเดต ซึ่งไม่จำเป็น คุณสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานได้ แล้วให้พวกคนที่เขาเก่งๆ ทำต่อไป นี่คือไอเดียที่ชัดมากๆ ของไต้หวัน

ฝั่งอเมริกา ฝั่งยุโรป จริงๆ ก็มีเยอะมาก แล้วแต่ประเทศ บางประเทศอย่างฝั่งสแกนดิเนเวีย เอสโตเนีย ก็จะมีคล้ายๆ ไต้หวัน อเมริกาบางรัฐมี บางรัฐไม่มี

แต่ในเมืองนอกมันค่อนข้างมีชุมชนที่แข็งแรง หมายถึงว่ามันก็จะมีมากกว่า 10 หรือ 20 องค์กร แล้วทุกคนก็จะมีความพร้อมในการเข้าไปทำงานกับรัฐเยอะ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างนั้น ในประเทศที่เรียกว่ามีระบบนิเวศที่สมบูรณ์

เพราะคำว่าระบบนิเวศ คิดว่า หนึ่งก็คือ ความร่วมมือกับภาครัฐ อันที่สองพูดตรงๆ ก็คือเรื่องทุน เพราะว่าพวกองค์กรเหล่านี้อยู่ได้ด้วยทุน ไม่ค่อยมีคนมาจ้างเพื่อทำ จะมีทุนจากรัฐ หรือว่าทุนจากองค์กรใหญ่ๆ

แต่ในเมืองไทยและหลายๆ ประเทศทางอเมริกาใต้ ที่เทคโนโลยีภาคประชาชนกำลังโต ซึ่งเราโตช้ากว่าประเทศโลกที่หนึ่ง ก็ต้องบอกว่าคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร เขาก็จะมองว่าเราเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ แต่มาทำเรื่องที่มันไปกระทบกับสังคมแค่นั้นเอง

แต่ว่าโมเดลของเรา ไม่ได้ทำหากำไร เพราะฉะนั้นมันก็จะงงๆ นิดนึงว่า แล้วเราจะเอาเงินมาจากไหน เราจะทำงานกับภาครัฐอย่างไร เพราะเราก็ไม่ได้ถึงกับเป็นผู้ขายที่เขาจะมาจ้างกันไปตามโปรเจกต์ โดยเอาข้อกำหนดมากองขนาดนั้น เราอยากเข้าไปพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง ก็ยังมีความเข้าใจยากอยู่ในไทย

สองก็คือ วงจรเทคโนโลยีภาคประชาชนมันไม่ได้ใหญ่มาก เคยมีครั้งนึงพยายามจะจัดงานธีมเทคโนโลยีภาคประชาชน แล้วเราก็นัดไปก็มีประมาณสามสี่องค์กร รู้สึกว่าไม่ต้องจัดก็ได้ เพราะมันน้อยมาก นัดกินข้าวพอมั้ง เพราะเป็นคนหน้าเดิมๆ

บางคนก็จะเรียกเราว่าเป็นเอ็นจีโอ แต่เราก็จะรู้สึกว่าก็ไม่ขนาดนั้น เหมือนที่บอกว่าเราก็ไม่ได้เป็นคนที่ออกไปชูประเด็นหรือทำแคมเปญขนาดนั้น แต่เราสนับสนุนด้วยสิ่งที่เราทำได้

โอเคบางประเด็นเราอาจจะเป็นคนนำจริง เช่น เรื่องการจับตามองรัฐสภา ถ้าธีมมันคือองค์กรนอกภาครัฐ (non-government organization หรือ NGO) ก็ไม่ผิด แต่ว่าเอ็นจีโอบางคนก็จะมีภาพพจน์ว่าเป็นนักเคลื่อนไหว ซึ่งเราก็รู้สึกว่าเราก็อาจจะใช่มั้งในเชิงข้อมูล แต่มันดูเนิร์ดๆ มาก ก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน ตำแหน่งแห่งที่ยังไม่ชัด ระบบนิเวศในไทยยังไม่มีขนาดนั้น

เพราะฉะนั้นจริงๆ เวลาเราแชร์ประสบการณ์ แชร์การเรียนรู้ ส่วนใหญ่จะแชร์กับประเทศอื่นมากกว่า เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์

“แต่คิดว่าข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ การทำให้เห็นว่ามันมีอยู่และอยู่ได้ มันอาจจะมีในอนาคต เคยมีน้องที่เป็นโปรแกรมเมอร์มาปรึกษาเหมือนกันว่า อยากเปิดบริษัทแบบเราบ้าง ทำได้มั้ย ก็บอกว่าทำเลย เดี๋ยวสอนเองว่าทำยังไง แล้วก็ลองไปทำดู ลองผิดลองถูก เราคิดว่ามันไม่ควรมีเราเพียงคนเดียว จริงๆ มันก็ไม่ได้มีเราคนเดียวในตอนนี้ มันก็จะมีสองสามองค์กร มี Opendream มี Cofact แต่เราก็ยังอยากให้มีอีก คนที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำเรื่องสุขภาพ เรื่องการศึกษา เราก็บอกว่าเรายินดีแชร์ให้เลย เราอยากให้มีสิ่งนี้ โดยที่เราทำบางอย่างได้โดยไม่ต้องรอรัฐ ไม่ต้องรอเอกชน เราเป็นคนกึ่งๆ กลางๆ นี่แหละ”

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis
ไทยพับลิก้า : เป้าหมายของ Wevis คืออะไร

ธีมในการทำงานของเรา นอกจากเรื่องประเด็นปัญหาที่เราจะทำแล้ว คิดว่าประเด็นปัญหาที่บอกไปสี่เรื่องยังใหญ่พอที่จะทำได้ต่อไปเรื่อยๆ

แต่เราคุยกันในทีมว่าจะทำงานในสามระดับ ไม่ว่าต่อไปเรื่องมันจะเป็นอะไร แต่เราคิดว่าต้องสร้างสามสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ก็คือ ข้อมูล การมีส่วนร่วม และความร่วมมือ

คือ ทุกๆ โปรเจกต์ที่เราทำ เมื่อก่อนอาจจะทำของขึ้นหน้าเว็บเฉยๆ ให้ข้อมูลเฉยๆ แต่เราเริ่มรู้สึกว่าของแบบนี้มันมีอายุของมัน เดี๋ยวมันก็หมดอายุ เดี๋ยวคนก็เลิกสนใจ แล้วเราก็ไม่ได้เป็นมีเดียขนาดนั้น

เราก็เลยคิดว่างานที่เราทำข้อมูลเป็นฐานแน่นอน เราอิงข้อมูลเป็นหลัก ข้อมูลอะไรที่ต้องเปิด ข้อมูลอะไรที่คนควรจะรู้ เราก็จะทำ

อันที่สองคือ เราจะคิดในทุกๆ โจทย์ว่า คำว่าการมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง อาจจะเป็นการมีส่วนร่วมที่เกิดกับคนทั่วไป หรือเป็นการมีส่วนร่วมที่ภาครัฐเข้ามาทำได้ก็ได้ อันนี้ก็จะทำ

อันที่สามก็คือ ที่เล่าไปตอนแรกว่าเราพยายามเชื่อมช่องว่างระหว่างเรากับรัฐ ก็คือจะเข้าไปทำงานกับองค์กรที่เขายินดีให้เราเข้าไปทำ

แล้วเป้าหมายสูงสุดก็คือ แก้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารได้ เพราะคิดว่ามันไม่ได้ดีกับเราคนเดียว แต่คงดีขึ้นกับทุกคน คือจริงๆ ร่างไว้ตั้งแต่สมัยที่แล้ว แต่มันหมดอายุไป หมายถึงมันไปค้างในสภา แล้วพอเปลี่ยนรัฐบาล เลยต้องเสนอกลับเข้าไปอีกรอบ

รอบที่แล้วทำกับ ส.ส. ก้าวไกล ที่เขาร่างใหม่ หลักคิดง่ายมากก็คือ ปัจจุบันมันเป็น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เราแก้ให้มันเป็นของสาธารณะ แล้วที่ใส่เพิ่มเข้าไปก็คือ รูปแบบการเปิดเผยให้เป็นเครื่องอ่านได้ ควบคู่กับรูปแบบที่หน่วยงานเห็นว่าเหมาะสม

คิดว่าไม่ได้ขอเกินไป ไม่ได้แก้เยอะ เพราะปัจจุบันปัญหามันคือ มีประโยคที่ว่า “ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานว่าจะให้หรือไม่ให้” แล้วสิ่งที่เราเจอมาตลอดก็คือ เขาใช้ประโยคเปิดการ์ดเรื่องความมั่นคง “สิ่งนี้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ” เลยไม่ให้ ซึ่งตอนนั้นสิ่งที่เราขอข้อมูลคือชื่อผู้ช่วยของ ส.ส. และส.ว.

แล้วก็มีเรื่อง PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ด้วย อย่างตอนไปขอข้อมูลสภา เราพยายามสื่อสารให้เขาเห็นว่า PDPA ไม่ใช่คู่ตรงข้ามกับข้อมูลแบบเปิด แต่มันคือการเปิดข้อมูล แต่เปิดอย่างไร เปิดแค่ไหน

แต่จริงๆ เรื่องข้อมูลในสภา ถ้าไปอ่านในรัฐธรรมนูญ ก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่ามันเขียนว่าอนุญาตให้เปิดทั้งหมด เช่น ส.ส. มีประวัติการศึกษา การทำงานอย่างไร อันนี้เปิดได้ เพราะคุณเป็นบุคคลสาธารณะที่มารับเงินภาษีและทำงานเพื่อประชาชน แต่อาจจะไม่เปิดเรื่องที่อยู่ เพราะว่ามันอาจจะมีคนตาม จริงๆ ก็สมเหตุสมผล

จริงๆ เรื่อง PDPA ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่หลายหน่วยงานก็จะเปิดการ์ดนี้เหมือนกัน ซึ่งจริงๆ เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้นะ เพราะว่าเราก็รู้สึกเหมือนกัน

อย่างเช่น เวลาเราล่ารายชื่อ เราก็จะเขียนระบบมาเลยว่าสิ่งนี้จะอยู่ระหว่างกับคนเก็บข้อมูลของเราและหน่วยงาน ก็คือกรมการปกครองที่เราไปส่งให้เท่านั้น และข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บ จะถูกทำลาย หรือคุณจะถูกถอดถอนชื่อเมื่อไหร่ก็ได้ เราทำงานกับข้อมูล ก็ค่อนข้างซีเรียสเรื่องนี้

คือจุดประสงค์หนึ่งของเราในการเข้าไปทำงานร่วมกับองค์กรคือ เราก็อยากให้เขาจ้างเราแหละ แต่เรารู้ว่าทีมเราเล็ก แล้วเราไม่สามารถรับทุกงานได้ เราก็จะพยายามเหมือนให้เขาเกิดกระบวนการเรียนรู้ว่าเราทำอย่างไรไปพร้อมกัน

จริงๆ ความฝันคือ เราก็อยากเห็นงานแบบนี้มีให้เราดูเยอะๆ เมื่อก่อนก็ทำเวิร์กชอปเยอะ แต่เราเรียนรู้ว่าเวิร์กชอป พอมันจบแล้ว มันไม่ใช่ทุกคนที่เอาไปทำต่อได้ การเรียนรู้จากการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญ

ไทยพับลิก้า : จากสี่ห้าคนในวันแรกๆ ทุกวันนี้มีทีมทำงานกี่คน

ตอนนี้ทีมมีประมาณ 18 คน แล้วก็จะมีที่เป็นพาร์ตไทม์ บางทีเขาทำงานที่อื่น อย่าง Wevis จะเป็นแก๊งที่เขาทำงานอื่น เช่น อยู่แบงก์ อยู่อินดัสตรีใหญ่ๆ คอร์ปอเรตใหญ่ๆ แต่สนใจเรื่องการเมือง ก็จะมาอาสาช่วยกันตอนเย็นเสาร์-อาทิตย์ อย่างแคมเปญ ส.ว. ไม่ได้ใช้คนข้างในเลย แต่ใช้คนข้างนอกหมดเลย

ก็รู้สึกดีที่ Wevis เป็นจุดหนึ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของคนรุ่นใหม่ได้เหมือนกัน เพราะว่ามีน้องหลายๆ คนมาพูดว่าย้ายประเทศดีมั้ย เบื่อแล้ว หมดหวังแล้ว

แต่พอมันมี Wevis เขารู้สึกว่าอย่างน้อยเขาทำอะไรได้สักนิดนึง ยังมีที่ให้เขาทำอะไร ก็หวังว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นประโยชน์และหล่อเลี้ยงเขาต่อไปได้