ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สถิติการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ 10 ปี ขอข้อมูล 4,000 ครั้ง อุทธรณ์ต่อครึ่ง ท้องถิ่น – หน่วยงานอิสระ – ก.ศึกษาถูกร้องมากสุด

สถิติการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ 10 ปี ขอข้อมูล 4,000 ครั้ง อุทธรณ์ต่อครึ่ง ท้องถิ่น – หน่วยงานอิสระ – ก.ศึกษาถูกร้องมากสุด

5 มิถุนายน 2015


จากการสำรวจเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ – ฐานข้อมูลยังห่างไกลความโปร่งใส เน้นข่าวกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ในตอนที่แล้ว พบว่าการเปิดเผยข้อมูลยังเป็นเรื่อง “ไม่ทั่วไป” ข้อมูลภายในยังเป็นความลับ ข้อมูลสำคัญยังค้นยากและไม่มีอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเท่าที่ควร ทั้งยังพบว่า หน่วยงานที่มีความพร้อมด้านข้อมูลบนเว็บไซต์หรือแทบไม่มีเลย คือ หน่วยงานส่วนภูมิภาค ซึ่งการไม่มีระบบการให้ข้อมูลต่อประชาชนนับเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความโปร่งใสของประเทศอย่างยิ่ง

แม้ก่อนหน้านี้ นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการด้านการป้องกันการทุจริต กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ไม่มีวิธีใดดีกว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และจะจัดให้มีการเร่งรัดให้หน่วยราชการแสดงขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ และต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น เพราะการเปิดเผยข้อมูลจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงขอนำเสนอความคืบหน้าของการจัดทำ-เปิดเผยข้อมูลว่ามีความคืบหน้าหรือไม่ อย่างไร

คะแนนความสมบูรณ์ของข้อมูลไทยต่ำ

ในการจัดอันดับความสมบูรณ์ของกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ (Global Right-to information Rating: RTI) โดย ศูนย์เพื่อกฎหมายและประชาธิปไตย (Center for Law and Democracy) พบว่าประเทศไทยได้คะแนนเพียง 76 คะแนน จาก 150 คะแนน ผ่านกึ่งหนึ่งของคะแนนเต็มทั้งหมดเพียง 1 คะแนนเท่านั้น ส่วนประเทศที่ได้คะแนนสูง ได้แก่ เซอร์เบีย สโลวีเนีย อินเดีย และไลบีเรีย

ที่มา: https://www.transparency.org/cpi2014/result

ขณะเดียวกัน แม้จะมีกระบวนการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบในประเทศไทย แต่ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก จากดัชนีคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index)ในปี 2557 พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 85 จากทั้งหมด 174 ประเทศ โดยอยู่ในระดับสีแดงเข้มซึ่งเป็นเฉดสีที่แทนการทุจริตสูง เช่นเดียวกันกับประเทศบูร์กินาฟาโซ (ประเทศหนึ่งในภูมิแอฟริกาตะวันตก) อินเดีย จาไมกา เปรู ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ตรินิแดดและโตเบโก และแซมเบีย ได้คะแนนโดยรวม 38 คะแนนจาก 100 คะแนน ขณะที่เดนมาร์กและนิวซีแลนด์ได้คะแนนเกือบเต็ม

เครื่องมือช่วยเปิดข้อมูลรัฐ “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ”

ไทยนับเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกที่มี “พระราชบัญญติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” รองจากเกาหลีใต้เพียงหนึ่งปี ในขณะที่ประเทศอื่นอย่างญี่ปุ่น อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย มีกฎหมายนี้ใช้ในภายหลัง และในภูมิภาคอาเซียนมีเพียงไทยและอินโดนีเซียเท่านั้น

Screen Shot 2558-06-05 at 12.35.39 AM

พระราชบัญญติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” เกิดจากการปฏิรูปการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2535-2540 เริ่มจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารกับประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลับออกแถลงการณ์ผ่านสื่อว่าไม่มีการเสียชีวิตของประชาชนเลย พร้อมทั้งแพร่ภาพผู้ประท้วงขณะทำลายทรัพย์สินราชการเท่านั้น มีเพียงสำนักข่าวบีบีซีและซีเอ็นเอ็นเท่านั้นที่ถ่ายทอดภาพที่ทหารใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการเรียกร้องประชาธิปไตย แสวงหาความจริง พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของการบริหารประเทศของรัฐบาล จึงเกิดพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

เรื่องร้องเรียน 10 ปี 4,000 ครั้ง อุทธรณ์ต่อครึ่งหนึ่ง

https://docs.google.com/spreadsheets/d/1NYXYg3Ru3D5YGTdUXQNvNwbk6Za4H1fdkWFHmqrqIY/edit#gid=0

จากสถิติเรื่องร้องเรียนและเรื่องอุทธรณ์ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2557 ของสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของข้าราชการ (สขร.) พบว่ามีจำนวนเรื่องถูกร้องเรียนกว่า 4,000 ครั้ง เรื่องที่อุทธรณ์ต่อ 2,000 ครั้ง หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ ส่วนบริหารท้องถิ่น ส่วนหน่วยงานที่มีตัวเลขสูงใกล้เคียงกันรองลงมา คือ ส่วนราชการอิสระ และกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ สอดคล้องกับการสำรวจของผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าในตอนที่แล้วว่า เว็บไซต์ของหน่วยงานท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นว่าส่วนหนึ่งของสถิติร้องเรียนที่สูงอาจเกิดจากการไม่พัฒนาการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานนั้นๆ

สถิติเรื่องร้องเรียนขอข้อมูลข่าวสาร

ในขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานต้นๆ ที่ถูกร้องเรียนให้เปิดเผยข้อมูล ทั้งยังได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551-2558 (อ่านเปิดงบฯ กระทรวงศึกษาธิการใช้เงินทำอะไรมากสุด!)

ด้านนายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐนำข้อมูลของหน่วยงานมาเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ Data.go.th แล้ว เพื่อให้ประชาชนหรือกลุ่มองค์กรนำไปใช้งานได้ ทั้งในแง่ของการวางแผนนโยบาย หรือบริการข้อมูลต่างๆ พร้อมตั้งเป้า ในเดือนกันยายนนี้ จะต้องมีชุดข้อมูลอย่างน้อยสุด 50 ชุด จาก 150 หน่วยงานภาครัฐ ที่ถูกเปิดเผยในวงกว้าง

ทั้งนี้ จากการเข้าไปสำรวจเว็บไซต์ Data.go.th อีกครั้ง (เข้าถึงเมื่อ 5 พฤษภาคม 2558) พบว่าขณะนี้มีชุดข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 30 ชุด นับตั้งแต่เดือนที่แล้วซึ่งมีเพียง 20 ชุดเท่านั้น แต่หากเทียบกับฐานข้อมูลของประเทศอื่นก็นับว่ายังน้อยอยู่มาก

การให้ข้อมูลเป็น “หน้าที่” ไม่ใช่ “ภาระ” ทุกคนมีสิทธิเข้าถึง

Screen Shot 2558-06-04 at 8.03.12 PM
ที่มาภาพ: http://www.oic.go.th/web2014/main.html

ในหลักบัญญัติ 10 ประการของสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ (Ten Principles on the Right to Know) ซึ่งกำหนดขึ้นโดย “สถาบันริเริ่มนำความยุติธรรมสู่สังคมเปิด (Open Society Justice Initiative) ซึ่งเกิดขึ้นจากการศึกษาวิเคราะห์กฎหมายข้อมูลข่าวสารและการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญใน 68 ประเทศ โดยมีหลักการสำคัญ เช่น ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่จำกัด เชื้อชาติ อาชีพ หรือศาสนา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นหลักการปฏิบัติทั่วไป การปกปิดข้อมูลเป็นเพียงข้อยกเว้นเท่านั้น ประชาชนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานของรัฐและเอกชนท่ีปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐที่ใช้เงินงบประมาณทุกแห่ง อีกทั้งการยื่นขอเอกสารข้อมูลข่าวสารต้อง “ง่าย เร็ว และไม่มีค่าใช้จ่าย” โดยมีรายละเอียด 10 ข้อดังนี้

  1. ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทัดเทียม
  2. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นหลักการปฏิบัติทั่วไป การปกปิดข้อมูลเป็นเพียงข้อยกเว้น
  3. ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐที่ใช้เงินงบประมาณทุกแห่ง รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ทำหน้าที่แทนรัฐ
  4. การยื่นขอข้อมูลต้องง่าย เร็ว และไม่มีค่าใช้จ่าย
  5. เจ้าหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่
  6. การปฏิเสธการเปิดเฟยข้อมูลต้องมีเหตุผลเพียงพอ
  7. ผลประโยชน์สาธารณะต้องมาก่อนการปกปิดข้อมูลให้เป็นความลับ
  8. ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงกระบวนการอุทธรณ์ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  9. หน่วยงานรัฐต้องเปิดข้อมูลพื้นฐานโดยอัติโนมัติ
  10. สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารควรดูแลโดยหน่วยงานอิสระ

ต้นทุนของการใช้สิทธิขอข้อมูลกรณีสำนักงานสลากฯ

ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้ารายงานโดยยกตัวอย่างกรณีการขอขอมูลรายชื่อโควตาผู้ได้รับจัดการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาล จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่า ก่อนที่จะไปติดต่อส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อยื่นคำร้องขอข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ในเบื้องต้นควรตรวจสอบและกลั่นกรองประเด็นคำถาม หัวข้อ และรายละเอียดของข้อมูลที่ต้องการตรวจค้นนั้น ควรใช้ภาษาให้ถูกต้องและมีความชัดเจน และที่สำคัญ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ข้อมูลที่ร้องขอนั้น ต้องไม่เข้าข่ายข้อมูลที่ส่วนราชการไม่สามารถเปิดเผยได้ ตามมาตรา 14 และ 15 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 เช่น ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง-ความสัมพันธ์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจการคลังของประเทศ รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล

ขอข้อมูลสำนักงานสลาก
แบบการขอใช้ข้อมูลข่าวสารของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

จากนั้นก็เดินทางไปติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานนั้นเพื่อสอบถามหน่วยงานหรือสถานที่รับคำร้องขอข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ตามมาตรา 7 ว่าอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานไหน อย่างเช่น กรณีของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์พาไปยื่นคำร้องขอข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ที่ดูแลห้องสมุดซึ่งไม่เคยรับคำร้องประเภทนี้โดยบอกว่าจะให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์รับเรื่อง ระหว่างนี้ผู้สื่อข่าวต้องใช้เวลาในการชี้แจงและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ สุดท้ายเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ 6 เป็นผู้ลงนามรับคำร้องขอข้อมูลข่าวสารของทางการ ออกเลขและเวลาที่รับคำร้อง โดยผู้ยื่นคำร้องต้องขอให้เจ้าหน้าที่ถ่ายสำเนาเอกสารเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน พร้อมกับขอเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามเรื่องต่อไป

Print
ขั้นตอนการใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารของราชการ (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

หากหน่วยงานของรัฐเพิกเฉย ไม่มีคำตอบภายใน 15 วัน หรือ ทำหนังสือตอบกลับมาว่า “ไม่มีข้อมูลที่ร้องขอ” ให้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) ชั้น 2 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กขร. ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ หากไม่มีข้อมูลดังกล่าวจริงๆ ก็จบ แต่ถ้าพบว่ามีข้อมูล แต่หน่วยงานที่รับคำร้องขอข้อมูล เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่มีโทษทางวินัยและอาญา

ตอบปฏิเสธ
หนังสือตอบปฏิเสธของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

แต่ถ้าหน่วยงานที่รับคำร้องขอข้อมูลข่าวสาร ทำหนังสือตอบปฏิเสธมาภายใน 15 วัน กรณีนี้ให้เดินทางไปยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อประธานกรรมการข้อมูลข่าวสาร ชั้น 2 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือตอบปฏิเสธการให้ข้อมูล เขียนคำร้องขออุทธรณ์เสร็จ รอออกเลขและเวลารับคำร้องขออุทธรณ์ ขอสำเนาเอกสารจากเจ้าหน้าที่เก็บไว้เป็นหลักฐาน

คำร้องขออุทธรณ์สลาก
หนังสืออุทธรณ์

ทางประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ จะส่งคำร้องขออุทธรณ์ให้ “คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูล” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้พิจารณามีทั้งหมด 5 คณะ คือ

  1. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูล ด้านต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ
  2. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูล ด้านสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และบังคับใช้กฎหมาย
  3. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูล ด้านเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ
  4. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูล ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
  5. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูล ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเกษตร
    แจ้งผลการวินิจฉัย
    หนังสือเชิญชี้แจงต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

จากนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลจะออกหนังสือเชิญหน่วยงานที่ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูล และผู้ที่ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ให้เปิดเผยข้อมูล มาชี้แจงเหตุผลต่อที่ประชุม โดยคณะกรรมการฯ จะแจ้งผลการวินิจฉัยภายใน 60 วัน หากฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยให้ไปร้องต่อศาลปกครอง (อ่านผลคำวินิจฉัยสลากฉบับสมบูรณ์)