ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก้าวสู่ปีที่ 50 ของการดำเนินงาน กำหนดแนวคิด Make it “Work” for Every Future – ร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน มุ่งเน้นเดินหน้าสู่เป้าหมายอนาคต ในการยกระดับสู่ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาค โดยขยายโอกาสระดมทุนสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ บริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในไทย SMEs Startups โดยเน้นสร้างศักยภาพในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ (New Economy) ต่อยอดจากจุดแข็งเดิมของประเทศ พร้อมพัฒนาตลาดทุนแบบดิจิทัลเข้ามาเสริมตลาดทุนดั้งเดิมที่มีความเข้มแข็งในปัจจุบัน นอกจากนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและการกำกับดูแล และสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วยเทคโนโลยี AI ขับเคลื่อนความยั่งยืนทุกมิติ นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างแข็งแกร่ง พร้อมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมและอนาคตของสังคมไทยอย่างยั่งยืน
วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าว SET ก้าวสู่ปีที่ 50 … Make it “Work” for Every Future – ร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน โดยดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ดร.รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด นายถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม หัวหน้ากลุ่มงานกฎหมายและวินัย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร และดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน และหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร
จากแหล่งระดมทุนสู่โครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาตลาดทุนไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดบมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(market capitalisation) จาก 840 บริษัทอยู่ที่ 17.88 ล้านล้านบาท ลดลงจากที่เคยสูงสุดถึง 21-22 ล้านล้านบาท มูลค่าการซื้อขายต่อวันโดยเฉลี่ย 90,000 ล้านบาท และเคยสูงถึง 200,000 ล้านบาทภายในวันเดียวในช่วงที่มีการปรับดัชนี MSCI ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 53,000 ล้านบาทต่อวัน
ส่วนมูลค่าการระดมทุนในตลาดแรก(IPO)และตลาดรอง(Secondary Offering:)ค่อนข้างคงที่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณ IPO ของตลาดทุนไทยมีจำนวน 40-50 บริษัทต่อปี ขณะที่มูลค่าการระดมทุนสูงถึง 4,000-5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดอันดับต้นๆของเอเชีย
สำหรับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่แยกตามประเภทของนักลงทุนพบว่า นักลงทุนรายย่อยในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศยังซื้ออย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศกับส่วนที่เป็น Proprietary Trade ค่อนข้างคงที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดฯให้ความสนใจ เพื่อดึงสัดส่วนนี้ให้สมดุลมากขึ้น
“สิ่งที่น่าสนใจคือจำนวนบัญชีซื้อขายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจำนวนบัญชีซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 6 ล้านบัญชี จำนวนนักลงทุนรายคนเกือบ 4 ล้านคน จากเดิมที่มีประมาณ 2-3 ล้านบัญชีและประมาณ 1 ล้านกว่าคน เพราะหลังการระบาดของโควิดนักลงทุนให้ความสนใจเปิดบัญชีเพื่อลงทุนมากขึ้น” ดร.ภากรกล่าว
ด้านผลิตภัณฑ์การลงทุน จากเดิมที่มีผลิตภัณฑ์ประเภทตราสารทุน หุ้น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) ก็มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์ในประเทศ ต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่คล้ายหุ้น คล้ายFixed-income ในด้านหุ้นต่างประเทศก็ลงทุนได้ถึง 40-50 บริษัท ไม่ว่าจะผ่าน ETF(Exchange Traded Fund) ผ่าน Derivative Warrant, ตราสารแสดงสิทธิในการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ(Depository Receipt:DR), DRx (Fractional Depositary Receipt) ที่สามารถลงทุนในจำนวนเงินไม่สูงและเป็นเงินบาท ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศ
นอกจากนี้มีการพัฒนาเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ด้านอนุพันธ์รวม 16 ประเภท ทั้งอางอิงตราสารทุน อ้างอิงโลหะมีค่า อ้างอิงสินค้าเกษตร อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย โดยมีfutures ไว้บริหารความเสี่ยงและมี Option ไว้เก็งกำไรได้
“ตลาดทุนไทยสามารถเป็นแหล่งระดมทุนให้บริษัทไทยได้มาตลอดไม่ว่าจะเป็นช่วงวิกฤติ หรือช่วงเศรษฐกิจขยายตัว ช่วงแรกตั้งแต่อิีสเทิร์นซีบอร์ดมีการเข่ามาลงทุนในตลาดทุนไทยค่อนข้างเยอะมาก ช่วงที่สองวิกฤติต้มยำกุ้งแต่ละธนาคารพาณิชย์เพิ่มทุนมหาศาล ช่วงที่ 3 เป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนไทยเริ่มขยายตัวในประเทศ และเป็นช่วงที่มีบริษัทใหม่ๆเข่ามาในดัชนีจนปัจจุบันได้เข้าไปอยู่ใน SET 50 จำนวนมาก ส่วนช่วงที่ 4 ปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยจำนวนมาก ปีละ 40-50 บริษัท ปีละ 4,000-5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อขยายกิจการทั้งในประเทศและออกไปขยายกิจการในต่างประเทศ” ดร.ภากรกล่าว

ส่วนการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดนั้น ดร.ภากรกล่าวว่า ในช่วงแรกค่อนข้างนิ่ง บริษัทจดทะเบียนมีจำนวนไม่มาก จนเริ่มมีการระดมทุนเพื่อการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด และกิจกรรมการลงทุนเพิ่มขึ้น ดัชนีปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งไปที่ระดับสูงสุด 1,700 จุด แต่หลังจากวิกฤติดัชนีได้ปรับตัว และปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศค่อยๆขยายตัว และบริษัทจดทะเบียนไทยระดมทุนเพื่อขยายไปต่างประเทศ
“ตลาดทุนมีขึ้นมีลงเสมอ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน” ดร.ภากรกล่าว
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯเองมีการพัฒนามาตลอด หลังจากที่มีการพัฒนาดัชนี ก็ได้มีการตั้ง TSD(ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในรูปแบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless) และนายทะเบียนหลักทรัพย์ ) มีการจัดตั้งตลาด mai สำหรับบริษัทเล็กและกลาง มีการพัฒนาแพลตฟอร์มสซื้อขายออนไลน์เพื่อให้การซื้อขายสะดวกขึ้น จากนั้นมีการตั้ง The Thailand Clearing House Co. Ltd. (TCH) และ ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(TFEX)
“หลังจากนั้นมีการทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับตลาดทุนมากขึ้น มีการสร้าง FundConnect, FINNET, Live Exchange, บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด หรือ TDX ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการปรับตัวมาตลอด มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ มีการขยายธุรกิจ ขยายการให้บริการต่อเนื่อง” ดร.ภากรกล่าว
ธุรกิจยั่งยืนคือจุดแข็งตลาดทุนไทย
ดร.ภากรกล่าวต่อว่า บริษัทจดทะเบียนไทยมีการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเห็นได้ว่าในด้านสิ่งแวดล้อม(Environment) สังคม(Social) และบรรษัทภิบาล(Governance) หรือ ESG และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทจดทะเบียนไทยทำได้ดีมาก จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ติดในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) มากขึ้นทุกปี ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 28 บริษัทจาก 26 บริษัท
“การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนคือจุดแข็งของตลาดทุนไทย เริ่มตั้งแต่ปี 1997 ที่นักลงทุนต่างชาติได้สอบถามในประเด็นต่างๆ ทั้งการบัญชี กรรมการบริษัท แสดงให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติต้องการความแข็งแรงในการทำธุรกิจ ประเทศไทยได้มีการตั้ง IOD (สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย) มีการตั้ง CG Center เพื่อสนับสนุนบริษัทไทยให้ทำธุริกจแบบมีบรรษัทภิบาลที่ดี หลังจากนั้นก็เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยทำได้ดีและขยายการทำธุรกิจแบบยั่งยืน ดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลมากขึ้น” ดร.ภากรกล่าว
ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทย 193 แห่ง เข้ามาขอประเมิน ESG rating จากตลาดหลักทรัพย์และมีถึง 121 บริษัทที่อยู่ใน ESG Index และในดัชนีระดับโลก เช่น FTSE4Good มี 41 บริษัท, ใน MSCI ESG 39 บริษัท, ในDJSI อีก 28 บริษัท ยิ่งกว่านั้นมี 12 บริษัทที่เป็นที่หนึ่งในโลกในเรื่อง ESG ในแต่ละอุตสาหกรรม จำนวนมากที่สุดในโลก อันดับสองคือสหรัฐ 11 บริษัท ที่สามคือ อิตาลีกับไต้หวันที่มี 7 บริษัทเท่ากัน

“ประเทศเล็กอย่างไทยอย่างน้อย เราเป็นผู้นำในโลกในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน” ดร.ภากรกล่าว
นอกจากนี้ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ปฏิรูปกฎเกณฑ์ให้สอดรับกับสถานการณ์และมีความยืดหยุ่น เพื่อยกระดับมาตรการความเชื่อมั่นและเสริมความสามารถในการแข่งขัน เช่น ในช่วงแรก การปรับเกณฑ์ SP ผู้ลงทุนมีโอกาสซื้อขายหุ้นหลังถูก SP นานก่อนถูกเพิกถอนในปี 2562 ช่วงที่ 2 มีการปรับเกณฑ์ Circuit Breaker จาก 2 ระดับเป็น 3 ระดับในช่วงการระบาดของโควิดเพื่อบรรเทาผลกระทบ ในปี 2563 ช่วงที่ 3 ขยายโอกาสการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ มีการผ่อนปรนเกณฑ์ foreign lsiting เพื่อดึงดูดบริษัทต่างประเทศ มีการเปิดให้ซื้อขาย DW อ้างอิงหุ้นต่างประเทศ และในช่วงที่ 4 หลังจากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ “เราเห็นได้ว่า กฎระเบียบของเราสามารถทำให้ดีขึ้นได้ ก็ได้มีการปรับปรุง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ได้หยุดนิ่ง มีการปรับตัวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในแต่ละช่วง”
ตลาดหลักทรัพย์ฯยังได้ผ่านช่วงการปรับกลยุทธ์มาหลายช่วง ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ที่มีการปรับปรุงเพื่อให้ฐานะการเงินของตลาดหลักทรัพย์ฯดีขึ้นที่มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio)สูงต้นทุนจากกว่า 100% เหลือ 50-60% เดิมการปรับปรุงประสิทธิภาพทำได้ลำบาก แต่ปัจจุบันประสิทธิภาพดีขึ้นมาก
“เมือความสามารถในการทำกำไรของเราดีขึ้น ก็ได้มีการเริ่มลงทุนในเทคโนโลยี เริ่มมีการปรับระบบซื้อขายให้ทันสมัยสามารถแข่งขันได้กับที่อื่นในโลก จากนั้นได้มีการหาแนวทางทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ทำกำไรอย่างเดียว แต่สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องและทำให้ stakeholder เติบโตไปด้วยและสามารถทำให้ทั้งอุตสาหกรรมไปด้วยกันได้ และเป็นการทำงานแบบพันธมิตร โลกวันนี้มีศักยภาพ แต่ก็มีความท้าทายอยู่มากมาย” ดร.ภากรกล่าว

เดินหน้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาค
ดร.ภากรกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มเปิดให้มีการซื้อขายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 และก้าวสู่ปีที่ 50 ของการดำเนินงานในปีนี้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดทุนแห่งอนาคตที่สนับสนุนผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม โดยกำหนดแนวคิดสำหรับการก้าวสู่ปีที่ 50 ว่า Make it “Work” for Every Future – ร่วมสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน ทั้งการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เป้าหมายอนาคตของผู้ออมและผู้ลงทุน เป็นกลไกให้ภาคธุรกิจเข้าถึงโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างแข็งแกร่ง พร้อมสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม และอนาคตของสังคมไทยอย่างยั่งยืน
“มองไปในอนาคต ตลาดทุนจะยังพบความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ ความต้องการของภาคธุรกิจและผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่เข้มข้น ตลอดจนเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าสร้างอนาคต เพื่อโอกาสของทุกคน โดยมองบทบาทที่จะเปลี่ยนไปและมุ่งสู่เป้าหมายอนาคต ใน 5 ด้าน”ดร.ภากรกล่าว
1) ยกระดับสู่ตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาค ทั้งในด้านการเป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มเติมทางเลือกการลงทุนต่างประเทศผ่านกลไกตลาดทุนไทย
“เดิมบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนเป็นบริษัทในประเทศ และเป็นบริษัทใหญ่ แต่จากนี้ไปเราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง บริษัทในประเทศยังคงเป็นหลักอยู่ แต่เราคงเริ่มเห็นบริษัทที่มาจากภูมิภาค จากต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย เขามาทำธุรกิจในภูมิภาค รวมถึงบริษัทระดับโลกเริ่มเข้ามาใช้ตลาดไทยในการระดมทุน และทำธุรกิจในไทย” ดร.ภากรกล่าว
2) ขยายโอกาสการระดมทุน ให้บริษัททุกขนาดในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ (Mega Family Business) บริษัทต่างชาติที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New Economy) และ SMEs Startups พร้อมส่งเสริมการพัฒนา Data Platform สำหรับบริษัทจดทะเบียน เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data Pools) นำมาต่อยอดเป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์ (Data Analytics) อาทิ Industry Highlights สำหรับเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ และพันธมิตร
3) พัฒนาตลาดทุนแบบดิจิทัลเข้ามาเสริมตลาดทุนดั้งเดิมที่มีความเข้มแข็งในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนยุคใหม่
4) เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและการกำกับดูแล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนที่แข็งแกร่ง โดยพิจารณาในการนำเทคโนโลยี AI และ Generative AI เข้ามาช่วยพัฒนางานในหลายด้านเพิ่มขึ้น เช่น ระบบกำกับดูแลการซื้อขายและบริษัทจดทะเบียน ระบบช่วยนักวิเคราะห์ในการจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก ระบบแปลเนื้อหาข้อมูลบริษัทจดทะเบียน หรือความรู้ด้านการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนต่างชาติ รวมทั้งแนะนำบริการด้านต่าง ๆ ตามโจทย์พฤติกรรมผู้ลงทุน (Personalization) เป็นต้น และ
5) ขับเคลื่อนความยั่งยืน (Sustainability) ในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการเตรียมบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน และบุคลากรตลาดทุน ให้พร้อมรองรับความท้าทายและโอกาสจากประเด็นความยั่งยืน และพัฒนาการของกฎเกณฑ์กำกับใหม่ ๆ อาทิ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights)
“จากแนวคิดของนายกรัฐมนตรีซึ่งเราเห็นด้วยและจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ คือ การผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็น regional financial center เป็นจุดที่ทำให้สามารถระดมทุนได้และระดมทุนของธุรกิจในโอกาสต่างๆ ทั้งในภูมิภาคและออกไปต่างประเทศ ปัจจุบันเราเริ่มไปในทิศทางนั้นแล้ว สินค้าเราตอนนี้เป็นสินค้าที่สามารถเลือกลงทุนได้ในสหรัฐอเมริกา จีน ทำได้หมดเลย ลงทุนผ่านstakeholder ในไทยเป็นเงินบาท ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ได้”ดร.ภากรกล่าว
ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ ก็ลงทุนได้ทั้งในรูป บริษัท โฮลดิ้ง,Primary listing(การเสนอขายหุ้นของบริษัทต่างประเทศที่ไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ),Secondary listing(การเสนอขายหุ้นที่ออกโดยบริษัทต่างประเทศที่มีหรือจะมีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ), REIT, Infrastructure fund ซึ่งสามารถทำได้เลย
“ฉะนั้นการที่เราจะผลักดันให้เป็น regional financial center ในภูมิภาคเป็นสิ่งที่เราควรจะทำและควรจะเป็น” ดร.ภากรกล่าว
นอกจากนี้ต้องมีการผลักดันให้ไทยมีบริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะทั้งสินทรัพยืแบบดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัลเสริมกันและกัน ไม่ได้แข่งขันกัน และทำให้ตลาดทุนสมบูรณ์มากขึ้น

ดึงบริษัทขนาดใหญ่-ให้โอกาสบริษัทกลางและเล็ก
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ กล่าวถึงการเพิ่มศักยภาพและความน่าสนใจของบริษัทจดทะเบียนว่า มี 3 ด้าน คือ ด้านแรก นักลงทุนให้ความสำคัญกับ ขนาด คุณภาพและการเข้าถึงตลาดทุนของธุรกิจต่างๆ จึงแบ่งออกบริษัทที่จะเข้าตลาดเป็น 2 กลุ่มหลักคือ BigBang กับ Tag-Along โดยในกลุ่มแรก คือธุรกิจใหม่( new economy) ธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ กลุ่มที่สองได้ แก่ เอสเอ็มอี,สตาร์ทอัพ ธุรกิจครอบครัวแบบดั้งเดิม
โดยสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว คือ One stop service ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้สะดวกในการขอคำปรึกษาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ , ยกระดับกฏเกณฑ์ IPO, ส่งเสริมธุรกิจใหม่ และยกระดับ Live Platforms และ LIVEx เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการเข่าถึงตลาดทุนของธุรกิจขนาดเล็ก และยังได้ส่งเสริมธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรใหม่
ด้านที่สอง ข้อมูล เนื่องจากข้อมูลมีความสำคัญต่อการลงทุนได้มีการสร้าง data platform เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนส่งข้อมูลได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา e-filling สำหรับ IPO , ระบบตรวจสถานะการเงินของบริษัทจดทะเบียนซึ่งจะขยายให้บุคคลภายนอกได้ใช้ด้วย รวมทั้งมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยภายนอก ตลอดจนจะมีการวิเคราะห์ข้อมูล (data anlytics) มีการตั้ง Data Intelligence Unit เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับด้านที่สาม การสื่อสารต่อสาธารณชน กลุ่มนักลงทุนและ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย( stakeholder) แบบสองทาง มีการให้ข้อมูลที่ผ่านการกลั่นกรองแล้ว รวมไปถึงการจัดโรดโชว์ให้บริษัทจดทะเบียน
พัฒนาแพลตฟอร์มรับนักลงทุนเจนใหม่
ดร. รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการตลาด กล่าวถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนว่า มีเป้าหมาย 2 ด้านคือ หนึ่งจะขยายฐานกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ และสองส่งเสริมกลุ่มนักลงทุนเดิม ปัจจุบันกลุ่มนักลงทุน Gen Z และ Gen Y รวมกันมีสัดส่วนสูงถึง 80% แล้ว โดยในกลุ่มแรก จะมีการนำเสนอแคมเปญสื่อสารที่เข้าใจง่าย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งเสริมให้ลงทุนด้วย DCA(Dollar Cost Average)
นอกจากนี้แพลตฟอร์มการลงทุนก็ต้องเหมาะกับคนรุ่นใหม่ โดยจะเปิดตัว AomWise ซื้อขายง่าย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนน้อย สำหรับผู้เริ่มลงทุนในเดือนหน้า
ส่วนในกลุ่มนักลงทุนเดิมจะนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทยืผู้ลงทุนตาม segement และพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงทุนที่หลากหลาย รองรับการลงทุนในต่างประเทศ และเพิ่มเลือกเพิ่มโอกาสร้างผลตอบแทนและบริหารความเสี่ยง ตลอดจนมีเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน
ใช้ Gen AI ร่วมกับคนเพิ่มประสิทธิภาพ
นายถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ด้านเทคโนโลยี ได้เน้นการพัฒนาระบบตลาดให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่งเปลี่ยนระบบการซื้อขาย matching system ในปีที่แล้ว และใช้ระบบใหม่มาครบ 1 ปีในเดือนนี้ซึ่งนับว่าระบบใหม่ทำงานได้อย่างดี สำหรับเทคโนโลยีใหม่ที่มีผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมรวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯได้แก่ ด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดยเฉพาะ Generative AI
ตลาดหลักทรัพย์ฯได้นำ Gen AI มาใช้อยู่แล้ว แต่ต้องการขยายเพื่อผู้ร่วมตลาดใน 5 ด้าน ด้านแรก อาจจะนำ AI มาช่วยนักวิเคราะห์ใoการเขียนบทวิเคราะห์จำนวนมาก หลักทรัพย์ขนาดกลางและเล็กหลายตัวยังไม่มีการวิเคราะห์ เพราะข้อจำกัดจำนวนนักวิเคราะห์ ก็สามารถใช้ AI ค้นหาข้อมูลบริษัทซึ่งมีอยู่แล้วในระบบอินเทอร์เน็ตมาตั้งร่างได้ ลดเวลานักวิเคราะห์ได้มาก เพิ่มการวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียน ทำให้นักลงทุนเข้าถึงหลักทรัพย์ขนาดกลางและเล็กได้
ด้านที่สอง ใช้Gen AI แปลงภาษาไทยเป็นภาษาอื่น ที่ช่วยลดข้อจำกัดด้านภาษาที่อาจจะดึงความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศอื่นๆ ด้านที่สามใช้ในการทำบทสรุปข้อมูลให้กับนักลงทุน เช่น จากการนำเสนอข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ด้านที่สี่ใช้เพื่อประเมินพฤติกรรมการลงทุนนักลงทุนในแต่ละกลุ่มอายุ เพื่อจัดข้อมูลนำเสนอให้ตรงกับความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และด้านสุดท้ายเป็นขยายการใช้กับการปฏิบัติงานภายในองค์กรของตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น เช่น การจัดซื้อ
“จะเห็นได้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีมาตลอด และเราเล็งเห็นว่า หากนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาปรับใช้ร่วมกับการทำงานของคน เพราะ AI ไม่สามารถทำงานได้ 100% แต่ถ้าทำงานร่วมกับคน ก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ เราก็มั่นใจว่าตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถใช้เทคโนโลยีนี้พัฒนาในทางที่ดีให้กับตลาดไทยอย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไปในอนาคต”นายถิรพันธุ์กล่าว
พัฒนาการกำกับดูแลให้รับกับสภาพแวดล้อม
นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯคือดูแลให้การซื้อขายเป็นธรรมและโปร่งใส ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบจากการลงทุน ซึ่งกฎเกณฑ์ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง ความท้าทายที่เกิดขึ้นแล้วอาจจะมีมากขึ้นอีก จากสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความคาดหวังของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หน่วยงานกำกับดูแล บริษัทสมาชิก ผู้ลงทุน
สิ่งที่จะดำเนินการมีด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพการณ์ สอง เน้นการเปิดเผยข้อมูล ทราบข้อมูลและความเสี่ยงที่อาะกิดขึ้น สามเข้มงวดคุณภาพของหลักทรัพย์ สี่กำกับตามความเสี่ยง (Risk-based supervision) ด้วยการใช้ AI และห้า ทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“อย่างไรก็ตามต้องรักษาสมดุลให้ได้ระหว่างการกำกับดูแลกับธุรกิจที่ต้องเดิน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจจะมีการผ่อนคลายลง ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสภาพการณ์”นางสาวปวีณากล่าว
เตรียมความพร้อม ESG ในเรื่องใหม่
ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน และหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร กล่าวว่า ในด้านความยั่งยืนไม่ได้มีเพียงสิ่งแวดล้อมหรือ Environment แต่ยังมี S และ G ด้วย มองไปข้างหน้า 50 ปีงานด้าน ฎฆฌ ยังต้องทำต่อเนื่องแต่อาจจะเปลี่ยนหัวข้อบ้าง เช่น ตอนนี้กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change แต่จะมี 2 เทรนด์เข้ามาแน่ คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ(biodiversity) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานในการวัด และบริษัทจดทะเบียนจะปรับตัวอย่างไร หรือสิทธิมนุษยชน(human rights) ซึ่งหากไม่เตรียมพร้อมอาจจะถูกกีดกันทางการค้า
“ดังนั้นต้องสร้างการตระหนักรู้ รวมทั้งให้แนวทางในการปฏิบัติให้บริษัทเริ่มทำ อย่างเรื่อง climate risk เราทำมา 4-5 ปีที่แล้วให้ตระหนักรู้และวันนี้มีบริษัทเตรียมความพร้อม วางแผนรองรับ และยังมีการพัฒนาเครื่องมือที่จะเปิดตัวในเดือนหน้า carbon calculator นอกจากนี้ต้องสร้างบุคลากร ปัจุบันเรามีESG expert ในเครือข่ายเพียง 240 คนซึ่งเมื่อเทียบกับ 840 บริษัทจดทะเบียนก็ถือว่าน้อยมาก ต้องสร้างขึ้นเรื่อย” ดร. ศรพลกล่าว
ดร. ศรพลกล่าวว่า ในด้านสังคมที่เน้นมากคือการให้ความรู้ทางการเงิน เพราะคนมีอายุยืนขึ้น อายุเฉลี่ยเกือบ 80 ปีแล้ว และสิ่งหลอกล่อในการลงทุนมากขึ้นจากพัฒนาการของเทคโนโลยี โดยตลาดมีแพลตฟอร์มในการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนให้เป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ เพราะหนี้ครัวเรือนและความรู้ทางการเงินยังเป็นปัญหาอยู่
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมายและบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม หัวหน้ากลุ่มงานกฎหมายและวินัย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร กล่าวว่า ระหว่างปี 2567-2568 ภายใต้วาระตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่ปีที่ 50 จะมีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดพัฒนาการตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ นิทรรศการ 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ห้องสมุดมารวย หนังสือ 50 ปี “5 Decades of SET” และจัดทำซีรีส์สื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริม ESG ทั้งด้านการขับเคลื่อนภาคเอกชนสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้านสังคมที่มีการดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยสนับสนุนรถพยาบาลแก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เด็กและเยาวชนด้วย Financial Literacy และส่งเสริมสุขภาวะประชาชนผ่านกีฬาเทเบิลเทนนิส และด้านการส่งเสริม CG ภาคธุรกิจ การประกวดงานวิจัยด้าน ESG ที่จะมีขึ้นในปีนี้ รวมทั้งการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์