ThaiPublica > คอลัมน์ > Climate Action Audit… ถึงเวลาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Climate Action Audit… ถึงเวลาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3 พฤษภาคม 2024


สุทธิ สุนทรานุรักษ์

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change นับเป็นวาระสำคัญที่สุดของโลกศตวรรษที่ 21 เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกต่างเผชิญผลกระทบของความผันผวนจากสภาพอากาศ

…ไฟป่าในออสเตรเลียก็ดี คลื่นความร้อน Heat wave ในยุโรปก็ดี ปัญหา PM 2.5 ของเมืองใหญ่ในเอเชียอย่างกรุงเทพ เดลี ปักกิ่ง จากาตาร์ ก็ดี หรือล่าสุดน้ำท่วมใหญ่ที่ดูไบ

…ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนภาพ “โลกรวน” ทั้งสิ้น !!

สภาพโลกรวนทำให้รัฐบาลต้องตั้งรับเพื่อตอบสนองกับผลกระทบจาก Climate Change

…ในทางสากล เราเรียกว่า Climate Action

ปัจจุบันรัฐจัดการปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงโดยมีสูตรสำเร็จที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ

(ก) บรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Mitigation โดยรัฐออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบปัญหาสภาวะโลกรวน เช่น สนับสนุนประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือมาตรการดั้งเดิมอย่างเก็บภาษีจากผู้ก่อมลภาวะ เป็นต้น

(ข) ปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือที่นักวิชาการเรียกว่า Climate Adaptation ด้วยเหตุที่รัฐรู้ดีว่า Climate Change ยังคงอยู่และเกิดวิกฤติรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุด คือ ปรับตัวอยู่กับมันให้ได้

ตัวอย่าง เช่น รัฐบาลสิงคโปร์ตัดสินใจสร้าง Sea Wall เพื่อป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ที่ทำให้แผ่นดินจมหายหรือ รัฐบาลอินโดนีเซียตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากจากาตาร์ไปที่เมืองนูซันทารา (Nusantara) บนเกาะบอร์เนียว เนื่องจากจากาตาร์ถูกคาดหมายว่าจะจมน้ำในอีกไม่นานนี้

นอกจากนี้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มสนใจระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง Climate Adaptation และ Mitigation โดยเรียกรูปแบบการระดมทุนนี้ว่า Climate Finance

แน่นอนว่าทั้ง Climate Mitigation, Climate Adaptation และ Climate Finance เป็นกิจกรรมสำคัญของ Climate Action ที่องค์กรตรวจเงินแผ่นดินหลายประเทศเริ่มลงมือตรวจสอบมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2010

การตรวจสอบทั้งสามด้านนี้ เรียกรวม ๆ กันว่า Climate Action Audit หรือบางทีเรียก Climate Change Audit

…แปลเป็นไทยได้ว่า การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน

การตรวจสอบ Climate Action ยังเชื่อมโยงกับการตรวจสอบ SDG เป้าหมายที่ 13 (SDG 13)

ปัจจุบัน Climate Action Audit เริ่มมีกรณีศึกษาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการตรวจสอบ Climate Mitigation ที่ประเด็นข้อตรวจพบส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐในการบูรณาการแก้ไขปัญหาโลกรวน …ขาดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อน ขาดการติดตามผลอย่างจริงจัง ขาดข้อมูลที่เพียงพอและเป็นปัจจุบันเรื่องการแจ้งเตือนสภาพปัญหาคุณภาพอากาศ

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการตรวจสอบ Climate Adaptation เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรตรวจเงินแผ่นดินในยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บราซิล…ประเทศเหล่านี้มองเห็นแล้วว่าอนาคตอันใกล้ งบประมาณจัดการปัญหา Climate Change เริ่มเทมาทาง Climate Adaptation

ยกตัวอย่าง สตง.เนเธอร์แลนด์ (NCA) และ สตง.เปรู (CGR) ติดตามวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่า Climate Expenditure Analysis

ผลการวิเคราะห์อยู่ในรูปแบบของ Insight report หรือรายงานการศึกษาวิเคราะห์เชิงลึกที่ดูตั้งแต่เรื่องความชัดเจนของ Climate Policy การกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม งบประมาณรายจ่ายที่ถูกจัดสรรลงมาแก้ปัญหา ความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณที่สะท้อนผ่านเป้าหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ Climate change

Climate Action Audit เป็นการตรวจสอบที่หวังผลระยะยาว ด้วยเหตุนี้ การอธิบาย Audit Impact ที่ได้จากการตรวจสอบจึงเป็นไปลักษณะการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้นในอนาคต เช่น ผลการตรวจสอบทำให้หน่วยรับตรวจปรับปรุงกลไกสนับสนุนพลังงานทดแทน ส่งผลต่องบประมาณที่ใช้สนับสนุนลดลงโดยไปเพิ่มแรงจูงใจด้านอื่น เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า โลกการตรวจเงินแผ่นดินข้างหน้า นอกจากผู้ตรวจสอบต้อง Upskill เรื่อง Digital literacy เพื่อประยุกต์ใช้กับงานตรวจสอบแล้ว เรื่อง Climate Action literacy เป็นอีกชุดความรู้ด้านหนึ่งที่ผู้ตรวจสอบควรมีองค์ความรู้เรื่องนี้เช่นกัน