ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ขบวนการทางสังคมระดับรากหญ้าหนุนชุมชนพื้นเมืองชนะการต่อสู้ไม่เอาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในบราซิล

ขบวนการทางสังคมระดับรากหญ้าหนุนชุมชนพื้นเมืองชนะการต่อสู้ไม่เอาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในบราซิล

6 เมษายน 2024


ที่มาภาพ: https://amazonianativa.org.br/2024/03/19/o-fim-do-licenciamento-da-uhe-castanheira/?emci=3a2a204f-33e8-ee11-aaf0-002248223794&emdi=21eaa915-57e8-ee11-aaf0-002248223794&ceid=2027267

ชุมชนชาวเผ่าพื้นเมืองชนะการต่อสู้ไม่เอาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในบราซิล ด้วยขบวนการทางสังคมระดับรากหญ้า จากการที่ชุมชนระดมพลังและต่อต้านมานานกว่าทศวรรษ จนมื่อปลายเดือนมีนาคม สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐมาตู โกรสซู ของบราซิล ได้ระงับกระบวนการออกใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ กัสตานเฮรา

สำนักเลขาธิการรัฐด้านสิ่งแวดล้อมของ มาตู โกรสซู(SEMA-MT) ไม่ให้ความเห็นชอบและระงับกระบวนการการออกใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำอารีโนส(Arinos) ที่อยู่ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมาตู โกรสซูตามที่ได้วางแผนไว้ (Mato Grosso)

หลังจากที่ชุมชนระดมพลังและต่อต้านมานานกว่าทศวรรษ เมื่อปลายเดือนมีนาคม สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐมาตู โกรสซู (SEMA) ของบราซิล ได้ระงับกระบวนการออกใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ กัสตานเฮรา(Castanheira) ตามที่ได้มีการเสนอขึ้นมา

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานทนายความของรัฐบาลกลาง (Federal Public Defender’s Office-DPU) และสำนักงานอัยการกลาง (Federal Public Prosecutor’s Office -MPF) เรียกร้องให้ระงับโครงการนี้เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง

ในการตัดสินใจ SEMA ชี้ว่า โครงการขาดการศึกษาด้านเทคนิคที่เพียงพอและไม่สามารถให้ข้อมูลที่ต้องการได้ จึงเป็นเหตุในการไม่ให้ความเห็นชอบโครงการเขื่อน ที่รัฐบาลกลางได้ให้ความสำคัญภายใต้โครงการหุ้นส่วนการลงทุน (Investment Partnerships Program-PPI)

การตัดสินใจไม่ออกใบอนุญาตของ SEMA เป็นผลมาจากการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของภาคประชาสังคม ซึ่งตั้งคำถามและดำเนินการทางกฎหมายกับโครงการ

“นี่เป็นโครงการที่เตรียมการมาไม่ดีตั้งแต่ต้น โดยมีผลการศึกษาที่ไม่ทันเหตุการณ์ มีช่องโหว่มากมาย และขาดข้อมูลสำหรับชุมชน” ลิเลียน ซาเวียร์ (Liliane Xavier) จาก จูรูเอนา วีโว เน็ตเวิร์ก(Juruena Vivo Network) กล่าว “ถือเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงที่เสียงของเราได้รับการรับฟังและเคารพจากเจ้าหน้าที่” แม้การตัดสินใจนี้ล่าช้ามานานแล้ว

“เราตื่นเต้นมากที่ได้ยินข่าว” ดิลมา มาเรีย มานี(Dilma Maria Mani) จากชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองอาเปียกา-คายาบี(Apiaká-Kayabi) กล่าว พร้อมเล่าย้อนไปถึง ตอนที่ผู้พัฒนาที่ดินเดินทางมาสำรวจที่ดินของเธอ และบทบาทของเธอในฐานะผู้หญิงที่ไม่เอาโครงการ “เราบอกผู้พัฒนาว่าเราไม่ต้องการโครงการนี้ แต่วันนี้ผู้ชายต้องขอบคุณผู้หญิงชาวเผ่าพื้นเมืองคาวาอิเวเต(Kawaiwete) ที่ตัดสินใจโดยไม่หวาดหวั่น” เธอกล่าวและว่า แม้ชุมชนจะไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน แต่การเตรียมการโครงการยังคงเดินหน้าต่อ

ความเป็นมาของเขื่อน
มีการวางแผนที่จะสร้างเขื่อนกัสตานเฮราในรัฐมาตู โกรสซู บนแม่น้ำอารีนอส(Arinos) ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำจูรูเอนา(Juruena) ในลุ่มน้ำ ตาปาฌอส (Tapajos) โครงการนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกือบ 100 ตารางกิโลเมตร ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้อยู่อาศัยในเมืองและในชนบท เกษตรกร และธุรกิจในเขตเทศบาลของ จูเอรา(Juara), โนโว ฮอริซอนเต ดู นอร์เต้(Novo Horizonte do Norte) และปอร์ตูสดูสเกาชูส(Porto dos Gaúchos)

โครงการได้มีการศึกษาผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง(Indigenous Component Study) ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงและเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงการจัดเทศกาล ทรากาจาส(tracajás) แบบดั้งเดิมบนดินแดนชาวพื้นเมืองอาเปียกา-คายาบี และสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองริกบัคท์ซา(Rikbaktsa) โครงการนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียศิลปะขนนก การล่าสัตว์ และการตกปลา

“ในบรรดาผลกระทบอันใหญ่หลวงนี้ สิ่งที่ทำให้เราชาว Rikbaktsa ดังวลมากที่สุด คือ การสูญเสียวัตถุดิบที่มีอยู่ในแม่น้ำสายนั้นเท่านั้น โดยเฉพาะตุตารา ซึ่งเป็นเปลือกหอยที่เราใช้ในพิธีกรรมการแต่งงานตามประเพณีของชนเผ่าเรา” ศาสตราจารย์ ฮัวเรซ ไพมี จากดินแดนชนพื้นเมือง Erikpatsa ให้ความเห็น

นอกจากชาว Rikbaktsa แล้ว ชาว มูนดูรูกุ (Munduruku), อาเปียกา(Apiaká) และ ทาปายูนา(Tapayuna) ยังได้รับผลกระทบโดยตรงจากเขื่อน ดัสตานเฮราอีกด้วย

เปลือกหอยและศิลปขนนก ของชนเผ่า Rikbaktsa ที่มาภาพ: https://amazonianativa.org.br/2024/03/19/o-fim-do-licenciamento-da-uhe-castanheira/

ชัยชนะของชุมชน
เฮอร์มาน โอลิเวรา เลขาธิการบริหารของเวทีสังคมสิ่งแวดล้อม(Socio-Environmental Popular Forum-Formad)ของมาตูโกราซู ย้ำถึงชัยชนะของขบวนการทางสังคมระดับรากหญ้า โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม ในการป้องกันไม่ให้โครงการก้าวหน้า

โอลิเวราชื่นชมความพยายามของภาคประชาสังคมภายใน Consema ซึ่งเป็นสภาสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐ(State Environmental Council) ซึ่งพวกเขาได้รับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับโครงการที่อยู่ระหว่างการเตรียมการ เช่น กัสตานเฮราซึ่งตอกย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของพลเมืองอย่างแข็งขัน

“ความพยายามและจิตวิญญาณร่วมกันของภาคประชาสังคมในการเข้าร่วมโครงการเป็นสิ่งสำคัญ” โอลิเวรากล่าว “สิ่งนี้ชัดเจนในการประชุมครั้งสุดท้ายของเรากับ SEMA ซึ่งเราได้ระบุปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดจากการออกใบอนุญาตและอาจเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อน” พร้อมอ้างถึงการศึกษาวิจัยที่นำเสนอต่อทีมเทคนิคของ SEMA ในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ชี้ให้เห็นถึง ข้อบกพร่องในการประเมินผลกระทบสะสมของโครงการ

เจเนร์ พิเวตา เด ซูซา(Genir Piveta de Souza) จากชุมชนเพเดรอิรา(Pedreira) ในจูเอรา สะท้อนให้เห็นว่ามีตัวเลือกการผลิตพลังงานที่มีการทำลายล้างน้อยกว่าอื่นๆ ให้เลือก “เราไม่จำเป็นต้องทำลายธรรมชาติ สัตว์ ปลา และพรากผู้คนจากที่ดินที่พวกเขาอาศัยและหาเลี้ยงชีพ เช่น พวกเราในชุมชน คนในหมู่บ้าน คนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ” เธอเน้นย้ำว่า การไม่เดินหน้าสร้างเขื่อนกัสตานเฮรา ก็จะมีผลไม่ให้มีการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอื่นๆที่วางแผนไว้ในแม่น้ำอีกด้วย

เจฟเฟอร์สัน นาสซิเมนโต(Jefferson Nascimento) จาก Movement of People Affected by Dams (MAB) ยกย่อง SEMA สำหรับการดำเนินการอย่างเหมาะสมในการไม่ออกใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม และกล่าวว่า ชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำหรับภาคประชาสังคมถึงความสำคัญของการจัดตั้ง

“นี่แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้สามารถให้ผลได้อย่างแท้จริง และทำให้เรามีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป” อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า ถึงแม้มีชัยชนะครั้งสำคัญนี้ ยังมีงานอีกมากในการยกกัสตานเฮราออกจากแผนขยายพลังงานสิบปีของรัฐบาล

ลิเลียน ซาเวียร์ จาก จูรูเอนา วีโว เน็ตเวิร์ก ชี้ว่า กระบวนการออกใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของชุมชน ควรได้รับการพัฒนาในลักษณะการมีส่วนร่วมและปฏิบัติตามกฎหมาย “เราไม่ได้ต่อต้านความก้าวหน้า แต่จะต้องเป็นความก้าวหน้าที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งใส่ใจอย่างแท้จริงต่อชีวิตของผู้คนที่อาศัยและทำงานในภูมิภาคนี้ และเคารพต่อกฎหมาย บรรทัดฐาน และอนุสัญญาที่บราซิลเป็นผู้ลงนาม”

ประชาคมโลกขานรับ
การตัดสินใจดังกล่าวยังมีความสำคัญในวงกว้างมากขึ้นในลุ่มน้ำและสำหรับบราซิลโดยรวม กัสตานเฮราเดิมจะต้องเป็นหนึ่งในเขื่อนแห่งแรกๆ จากทั้งหมด 170 เขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นในลุ่มน้ำจูรูเอนา ดังนั้น นี่จึงเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องจุดสำคัญที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธุ์ปลาที่มีความหลากหลายมากที่สุด ขณะเดียวกันก็รักษาความเชื่อมโยงของแม่น้ำไว้ด้วย ชัยชนะยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อนาคตของการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำใหม่ในบราซิลถูกตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น

“เราควรมองว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ต้องทบทวนเพื่อเริ่มต้นสร้างเส้นทางใหม่สำหรับแอมะซอน” ฟลาวิโอ มอนเทียล(Flavio Montiel) จาก International Rivers กล่าว “ยุคของเขื่อนขนาดใหญ่เป็นของอดีต และถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดรับทางเลือกด้านพลังงานที่ยั่งยืนที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ ที่เคารพสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และไม่เป็นอันตรายต่อแม่น้ำของเรา และไม่ได้ทำให้เราพึ่งพาพลังงานน้ำที่มีความเสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศมากเกินไป”

ความสำเร็จในการป้องกันไม่ให้กัสตานเฮราเดินหน้าต่อ มีบทเรียนมากมายที่ต้องคำนึงถึงในอนาคต “นี่เป็นข้อพิสูจน์ถึงผลกระทบของการระดมชุมชนเพื่อปกป้องสิทธิและแม่น้ำของตน” มอนเทียลกล่าว “มันยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการคุ้มครองแม่น้ำอย่างถาวรทั่วบราซิล เพื่อป้องกันไม่ให้โครงการที่มีข้อบกพร่องประเภทนี้ได้รับการพัฒนาตั้งแต่แรก”