ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Earth Day 2024 รณรงค์ลดการผลิตพลาสติก เลิกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

Earth Day 2024 รณรงค์ลดการผลิตพลาสติก เลิกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

22 เมษายน 2024


ที่มาภาพ: https://www.earthday.org/planet-vs-plastics/

วันที่ 22 เมษายน ของทุกปีได้จัดให้เป็นวัน Earth Day วันคุ้มครองโลก เพื่อส่งเสริมให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ได้จัดกิจกรรมมากมายเพื่อให้ชาวโลกได้เรียนรู้ หลังจากมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน ที่ย้อนกลับไปในปี 1970 โดยผู้จัดงานในสหรัฐฯ หวังว่าจะสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่พบเห็นทั่วประเทศ ตั้งแต่นั้นมา การรับรู้ถึงวันคุ้มครองโลกได้ขยายไปยังกว่า 190 ประเทศ

ในแต่ละปีแนวคิดของ Earth Day จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และเป้าหมายการคุ้มครองโลกในแต่ละด้าน

Earth Day ในปี 2567 ใช้แนวคิด Planet vs. Plastics เพื่อยุติการใช้พลาสติกเพื่อสุขภาพของมนุษย์และโลก และเพื่อคนรุ่นต่อไป โดยเรียกร้องให้ลดการผลิตพลาสติกทั้งหมดลง 60% ภายในปี 2583 พร้อมเรียกร้องให้สนับสนุนให้มีการตระหนักรู้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับ ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากพลาสติก การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั้งหมดอย่างรวดเร็ว รวมทั้งผลักดันอย่างเร่งด่วนเพื่อให้บรรลุสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยมลพิษจากพลาสติกที่เข้มงวด และเรียกร้องให้ยุติการผลิตเสื้อผ้าตามกระแสที่ใส่ไม่กี่ครั้ง(Fast Fashion)

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการผลิตพลาสติกลง 60% ภายในปี 2583 ที่วางไว้ EARTHDAY.ORG มีเป้าหมายที่จะ
(1) ส่งเสริมให้สาธารณชนตระหนักรู้ในวงกว้างเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากพลาสติกต่อมนุษย์ สัตว์ และสุขภาพของความหลากหลายทางชีวภาพ และเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพ รวมถึง การเปิดเผยข้อมูลใดก็ตามและทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสาธารณะ
(2) ยุติการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั้งหมดอย่างรวดเร็วภายในปี 2573 และบรรลุพันธกรณีในการเลิกใช้ตามสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยมลพิษจากพลาสติกในปี 2567
(3) เรียกร้องให้มีนโยบายเพื่อยุติการขยายวงของ fast fashion และปริมาณพลาสติกมหาศาลที่เกิดจากผลิตและใช้ของ fast fashion และ
(4) ลงทุนในเทคโนโลยีและวัสดุที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างโลกที่ปราศจากพลาสติก

“คำว่าสภาพแวดล้อมหมายถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวคุณ ในกรณีของพลาสติก เราได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เสียเอง โดยมันไหลผ่านกระแสเลือดของเรา เกาะติดกับอวัยวะภายในของเรา และมีโลหะหนักที่ทราบกันว่าก่อให้เกิดมะเร็งและโรคต่างๆ ไปด้วย ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าน่าอัศจรรย์และมีประโยชน์นี้ได้กลายเป็นอย่างอื่นไปแล้ว สุขภาพของเราและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งหมดก็ตกอยู่ในความไม่แน่นอน” แคธลีน โรเจอร์ส ประธาน EARTHDAY.ORG กล่าว

“แคมเปญ Planet vs. Plastics เป็นการเรียกร้องให้ลงมือทำ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่เราดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เพื่อยุติการขยายของพลาสติกและปกป้องสุขภาพของทุกชีวิตบนโลกของเรา”

พลาสติกน่ากังวลมากกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใกล้จะเกิดขึ้น และเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์และน่าตกใจพอ ๆ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อพลาสติกแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ก็จะปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษออกสู่แหล่งอาหารและน้ำ และไหลเวียนผ่านอากาศที่เราหายใจ ปัจจุบันการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 380 ล้านตันต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการผลิตพลาสติกมากขึ้นกว่าในศตวรรษที่ 20 ทั้งหมด และอุตสาหกรรมวางแผนที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคตอย่างไม่สิ้นสุด

“พลาสติกทั้งหมดนี้ผลิตโดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีประวัติการปล่อยสารพิษ การรั่วไหล และการระเบิดอย่างเลวร้าย” เดนิส เฮย์ส ประธานกิตติมศักดิ์ของ EARTHDAY.ORG กล่าว “พลาสติกผลิตขึ้นในโรงงานที่สร้างมลพิษ ซึ่งมักจะอยู่ในละแวกใกล้เคียงที่ยากจนที่สุดอยู่เสมอ พลาสติกบางชนิดอาจทำให้ถึงแก่เชีวิตได้เมื่อถูกเผาไหม้ พลาสติกชนิดอื่นๆ ส่งสารเคมีที่มีผลต่อฮอร์โมน และพลาสติกทุกชนิดสามารถทำให้นกอดอยากและทำให้สัตว์ทะเลหายใจไม่ออก ในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิต ตั้งแต่บ่อน้ำมันไปจนถึงกองขยะในเมือง พลาสติกถือเป็นความเสื่อมโทรมที่อันตราย”

เมื่อปีที่แล้วมีการผลิตถุงพลาสติกมากกว่า 500 พันล้านใบ หรือหนึ่งล้านใบต่อนาที ถุงพลาสติกจำนวนมากมีอายุการใช้งานเพียงไม่กี่นาที แต่ใช้เวลายาวนานหลายศตวรรษกว่าจะย่อยสลาย แม้ว่าพลาสติกจะสลายตัวไปแล้ว ก็ยังคงเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่แทรกซึมอยู่ในทุกซอกทุกมุมของชีวิตบนโลกนี้

ปีที่แล้วมีการขายภาชนะบรรจุเครื่องดื่มพลาสติกจำนวน 100 พันล้านชิ้นในสหรัฐอเมริกา หรือมากกว่า 300 ขวดต่อประชากร มีบ้างบางส่วนที่แปลงไปเป็นม้านั่งในสวนสาธารณะ แต่ไม่มีการนำไปผลิตขวดพลาสติกใหม่ และ 95% ของพลาสติกทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาไม่มีการรีไซเคิลเลย แม้พลาสติกที่นำกลับมารีไซเคิล 5% ก็เป็นการ “ดาวน์ไซเคิล” ไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพลดลงหรือส่งไปยังประเทศยากจนเพื่อ “รีไซเคิล” ความต้องการพลาสติกบริสุทธิ์จึงไม่ลดลง

Downcycle เป็นการสร้างสิ่งใหม่จากวัสดุของผลิตภัณฑ์เดิม แต่คุณภาพของผลิตภัณฑ์ใหม่ลดลง

รู้จักวันคุ้มครองโลก Earth Day

Earth Day ริเริ่มโดยวุฒิสมาชิก
เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตจากวิสคอนซิน มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของสหรัฐฯ ในทศวรรษ 1960 หลังจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในซานตาบาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย ในเดือนมกราคม 2512 เขามีความคิดที่จะเปิดตัวการสอนด้านสิ่งแวดล้อม ในวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เนลสันได้เลือกเดนิส เฮย์ส นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ เพื่อช่วยนำเสนอแนวคิดนี้ออกสู่สาธารณะ

แนวคิด Earth Day เกิดขึ้นหลังจากเกิดภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมหลายครั้ง
เฮย์ส หนึ่งในผู้จัดงานวันคุ้มครองโลกครั้งแรก เคยบอกกับ TIME ว่าแนวคิดเบื้องหลังวันหยุดนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่ทำให้เกิดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปิดตัวหนังสือ Silent Spring ของราเชล คาร์สัน ในปีค.ศ. 1962 และการเกิดไฟไหม้ในแม่น้ำในปี ค.ศ. 1969 ไฟ เฮยส์กล่าวว่าแม้มีหลายกลุ่มในสหรัฐอเมริกาที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ให้ความสนใจกับผลกระทบของยาฆ่าแมลงที่มีต่อคนงานในฟาร์ม และอื่นๆ อีกมากมาย พวกเขาไม่เคยทำงานร่วมกันเลย

“สิ่งที่เราทำคือนำประเด็นต่างๆ มากมาย รวมถึงประเด็นการคุ้มครองสัตว์ป่า มารวมเข้าด้วยกัน วันนี้มันฟังดูแปลก แต่ในตอนนั้น คนที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุต่างๆ เหล่านั้นไม่คิดว่าตัวเองมีอะไรที่เหมือนกันเลย” เฮยส์บอกกับ TIME ในปี 2562 “ไม่มีใครถามคำถามนั้นในตอนท้ายของ ทศวรรษ 1970”

ผู้คนมากกว่า 20 ล้านคนเข้าร่วมในวันEarth Day ครั้งแรก
ผู้คนหลายล้านคนเข้าร่วมในการเฉลิมฉลองวันคุ้มครองโลกครั้งแรกในวันที่ 22 เมษายน 2513 งานที่จัดขึ้นต้องปิดถนนฟิฟท์อเวนิวในแมนฮัตตัน แต่ผู้คนที่ร่วมในขบวนและมีส่วนร่วมในงานได้ช่วยกันทำความสะอาดถนน

เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานในวันนั้นว่า “อารมณ์วันหยุดที่ฟิฟท์อเวนิวถูกบริษัทสถาปัตยกรรมอย่าง Warner, Burns, Toan & Lunde ทำให้เป็นแบบอย่าง ด้วยการปูผ้าห่มสีเหลืองและสีขาวบนพื้นยางมะตอยใกล้กับถนน 57th Street ใส่ทิวลิปในขวดไวน์วางไว้ตรงกลางและสนุกกับการปิกนิกท่ามกลางแสงแดด ฝูงชนที่รวมตัวกันรอบๆ พวกเขาพากันหัวเราะและร้องเพลง ‘Happy Earth Day to You’”

Earth Day ใช้วันที่ 22 เมษายน เป็นเพราะตารางเรียนของวิทยาลัย
วันคุ้มครองโลกส่วนใหญ่กำหนดขึ้นจากการดูตารางเรียนงานของนักศึกษาวิทยาลัย ที่เฮย์สและเนลสันหวังจะดึงดูด วันที่ 22 เมษายน ตรงกับวันธรรมดาในระหว่างปีการศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างช่วงปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิและการสอบปลายภาค เป็นช่วงที่อากาศอบอุ่นพอที่จะให้ผู้คนออกไปข้างนอกได้

สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมก่อตั้งขึ้นหลังจากจัดงาน Earth Day ครั้งแรก
สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) สหรัฐฯซึ่งควบคุมกลไกในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2513 เพื่อเป็นการตอบสนองโดยตรงต่อวันคุ้มครองโลกวันแรก สภาคองเกรสได้จัดตั้งขึ้นหลังจากได้เห็นการมีส่วนร่วมอย่างมากในการเดินขบวนในวันคุ้มครองโลกทั่วประเทศ สำนักข่าว EPA ระบุ

“ปีที่แล้วบางคนบอกว่าจะไม่มีวันคุ้มครองโลกอีกต่อไป พวกเขามองว่าความกังวลต่อสภาพแวดล้อมของเราเป็นเพียงแฟชั่น และอ้างว่าความกระตือรือร้นที่เกิดขึ้นปุ๊บปั๊บของกลุ่มนักกิจกรรมจะหันเหไปที่อื่นในอีกไม่นาน” William D. Ruckelshaus ผู้บริหารคนแรกของ EPA กล่าวในวันคุ้มครองโลกครั้งที่สองในปี 1971 “ผมเชื่อว่าพวกเขาคิดผิด ”

Earth Day ขยายไปทั่วโลกในปี 1990
ผู้คนหลายล้านคนเข้าร่วมในการเดินขบวนวันEarth Day ครั้งแรก ซึ่งนำไปสู่การผ่านกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ รวมถึงพระราชบัญญัติการศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พระราชบัญญัติความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และพระราชบัญญัติอากาศสะอาดในสหรัฐอเมริกาในปลายปีนั้น

“วันEarth Day ปี 1970 บรรลุข้อตกลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครต คนรวยและคนจน ชาวเมืองและเกษตรกร ผู้นำธุรกิจและแรงงาน” หน้าประวัติศาสตร์ของเว็บไซต์ Earthday.org ระบุ

แต่ผลกระทบดังกล่าวครอบคลุมมากกว่าเพียงประเทศเดียว การเคลื่อนไหววแพร่กระจายไปทั่วโลกในปี 1990 หลังจากที่ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งเข้าหาเฮย์สเพื่อจัดการรณรงค์ครั้งสำคัญเพื่อโลกอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้มีผู้คน 200 ล้านคนเข้าร่วมใน 141 ประเทศ

ในสหัสวรรษใหม่ การเคลื่อนไหวเปลี่ยนการมุ่งเน้นไปที่การรณรงค์ต่อต้านภาวะโลกร้อน และในปี 2563 ผู้คนมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกได้เข้าร่วมในกิจกรรมวัน Earth Day

ข้อตกลงปารีสเปิดให้ลงนามในวันคุ้มครองโลก
ข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้เปิดให้ลงนามในวัน Earth Day ในปี 2559 สนธิสัญญาดังกล่าวมีผู้ลงนามมากกว่า 190 ราย ซึ่งทุกคนตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและดำเนินการอื่น ๆ เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สหภาพแรงงาน United Automobile Workers มีบทบาทในการทำให้วัน Earth Dayเกิดขึ้นได้
อดีตหัวหน้าสหภาพ United Automobile Workers (UAW) เป็นหนึ่งในผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของวันEarth Day โดยบริจาคเงิน 2,000 ดอลลาร์ในปี ค.ศ.1970 (ซึ่งเทียบเท่ากับกว่า 15,500 ดอลลาร์ในปัจจุบัน)

“UAW เป็นผู้มีส่วนร่วมรายใหญ่ที่สุดของวันEarth Day วันแรก และการสนับสนุนนี้นอกเหนือไปจากแค่เรื่องการเงินเท่านั้น โดยได้จัดพิมพ์และส่งวัสดุทั้งหมดของเราทางไปรษณีย์ซึ่งออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด” เฮย์สบอกกับ Grist ในปี 2553 “ผู้จัดงานได้ส่งคนงานออกไปในทุกเมืองที่มีโรงงานอยู่ และแน่นอนว่า วอลเตอร์ได้รับรองกฎหมายClear Air Act

ผู้จัดงานพยายามจัดกิจกรรมทำความสะอาดวัน Earth Dayที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในปี 2567
สำหรับวัน Earth Dayในปีนี้ Earthday.org ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในมาเลเซียเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการทำความสะอาดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วันคุ้มครองโลก เกาะปีนัง ซึ่งเป็นเกาะหลักของประเทศ ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกจากการท่องเที่ยว อาสาสมัครอย่างน้อย 100,000 คนจะทำความสะอาดชายหาดและป่าไม้ในประเทศ ตามการระบุของผู้จัดงาน และจะปลูกต้นไม้มากกว่า 1 ล้านต้น

มีการปลูกต้นไม้นับสิบล้านต้นในวันEarth Day
ป่าประมาณ 18 ล้านเอเคอร์สูญเสียไปทุกปีเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า ตามข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ Earthday.org จึงได้ตั้งโครงการ Canopy Project ในปี 2553 และตั้งแต่นั้นมาได้ปลูกต้นไม้หลายสิบล้านต้นทั่วโลก

ที่มา:10 Surprising Facts About Earth Day

EARTHDAY.ORG เรียกร้องให้คณะกรรมการเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยมลพิษจากพลาสติก ( (International Negotiating Committee:INC) ยุติการผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในปี 2573 ในสนธิสัญญาพลาสติกโลก(Global Plastics Treaty) นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามสนธิสัญญาโดยใช้หลักการป้องกันไว้ก่อนและผู้ก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้จ่าย

  • “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” ไทยพร้อมหรือยังที่จะยุติขยะมลพิษ
  • องค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องอาเซียนแสดงบทบาทผู้นำเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก
  • อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นผลิตเสื้อผ้ามากกว่า 100 พันล้านชิ้นต่อปี การผลิตมากเกินไปและการบริโภคมากเกินไปได้เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การทิ้งแฟชั่น ปัจจุบันผู้คนซื้อเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น 60% จากเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่เสื้อผ้าแต่ละชิ้นจะเก็บไว้นานเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

    เสื้อผ้าประมาณ 85% ถูกนำไปฝังกลบหรือเข้าเตาเผาขยะ โดยมีเพียง 1% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิล เสื้อผ้าเกือบ 70% ทำจากน้ำมันดิบ ส่งผลให้มีการปล่อยไมโครไฟเบอร์ที่เป็นอันตรายเมื่อซักและยังก่อให้เกิดมลพิษในระยะยาวในหลุมฝังกลบ

    ความอยุติธรรมทางสังคมและแฟชั่นเกี่ยวพันกันโดยตรง โดยมีสภาพการทำงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ค่าแรงต่ำ และแรงงานเด็กที่แพร่หลาย อุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานที่แยกเป็นส่วนๆ และการที่แทบจะไม่มีกฎระเบียบจากรัฐบาลมานานมากแล้ว

  • เปิดผลสำรวจ Invest In Our Planet วัน Earth Day 2023 มาเลเซียมีผู้ลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงสุดในอาเซียน
  • 22 เมษายนวัน Earth Day เรียนรู้ผลกระทบ Climate Change จาก 10 สถานที่ท่องเที่ยว