“เพราะโลกที่มนุษย์อยู่ได้มีใบเดียว ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่ออกแบบไว้บนความสมดุล แต่ความสมดุลเกิดไม่ได้หากมนุษย์ไม่หยุดทำลาย แต่เสียงของโลกวันนี้คือเสียงที่ร้องหาความสมดุล เสียงแห่งพลังอากาศที่รุนแรง เสียงของสัตว์น้อยใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ เสียงของป่าพืชที่แผ่วแรงลง เราทุกคนในฐานะพลเมืองของโลก มีฐานะผู้สร้างออกแบบโลกในอนาคต”
ด้วยพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรในปัจจุบัน ทุกวันนี้เรากำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่ไร้สมดุลอย่างถาวร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลจากก๊าซเรือนกระจก ที่ห่อหุ้มโลกเพิ่มขึ้นทุกวัน ผลการศึกษาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change — IPCC) แสดงให้เห็นว่า หากเรายังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับของการดำเนินชีวิตและธุรกิจในปัจจุบัน โลกจะสามารถรับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นได้เพียง 297 กิกะตันคาร์บอนเทียบเท่า หรืออีก 30 ปีจากนี้
ภายในปี 2050 ความสมดุลของสิ่งแวดล้อมอาจถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้จัดงานเปิดตัว โครงการความร่วมมือภาคสังคม ภาคธุรกิจ ภาครัฐ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในย่านรัชดาภิเษก “ขยะล่องหน” หรือ Care the Whale: Climate Action Collaboration @Ratchada District หรือ Care the Whale ขยะล่องหน
โครงการนี้ริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยแรงผลักดันของกลุ่ม Impact Generation นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 12 องค์กร ได้แก่ บริษัท กรีน สไตล์ จำกัด, GreenHerit,บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด, SEP Academy, Secret Sauce, บริษัท ธุรกิจเพื่อพัฒนาการศึกษาและชนบท จำกัด(BREAD), TEDx Charoenkrung, บริษัท ไฟเบอร์ อินโนโวเทค จำกัด, บริษัท อะกีกคัลเจอร์ จำกัด (Ageekculture), บริษัท โวลันทิสต์ จำกัด(Volunteer English), บริษัท คิดคิด จำกัด,บริษัท มานา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
เมื่ออผนวกกับความตั้งใจที่จะทำจริงของผู้ประกอบการบนนถนนรัชดาภิเษก 14 องค์กร ได้แก่ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน, ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน), เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 โดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), โครงการ IDEO รัชดา-ห้วยขวาง, โครงการ Emerald Residence, อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์, อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ สตรีท รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย, บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัทร้อกเวิธ จำกัด (มหาชน)
“ทั้ง 14 องค์กรจะร่วมกันทบทวน ประมวลผลด้วย Care the Whale Calculator สร้างเส้นทางให้สิ่งเหลือใช้ทุกชิ้น ไม่ถูกทิ้งให้ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จับมือกันเรียนรู้ สร้างย่านแห่งความร่วมมือ เป็นต้นทางการสร้างสิ่งแวดล้อมที่สมดุล”
ถนนรัชดาภิเษก เป็นจุดเริ่มต้นที่พลเมืองรัชดา ผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯและพันธมิตร รวม 14 องค์กรร่วมกันปักหมุดแกนคิดใหม่ เริ่มที่จะทำให้ขยะล่องหน จัดการกับ “ขยะต้นทาง” ต้นเหตุของก๊าซเรือนกระจก กำจัด “ขยะ” ให้หายไป เริ่มใช้แกนคิดใหม่ในการใช้ทรัพยากร ให้ใช้ทุกสิ่งได้ถึงที่สุด
กว่า 30,000 คนร่วมกำจัดขยะพื้นที่ 6 แสนตารางเมตร
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ขอชื่นชมในความมุ่งมั่นของบุคคลกรทั้ง 14 องค์กร ผู้ปฏิบัติในทุกระดับ และกลุ่มแม่บ้าน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมทั้ง 4 สาขา คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการศึกษา และด้านการตลาดสีเขียว ในการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนโครงการ
โครงการนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 600,000 ตารางเมตร มีบุคลากรที่จะร่วมทำให้ขยะล่องหนกว่า 30,000 คน เพื่อให้ชุมชนรัชดาสร้างสิ่งแวดล้อมที่สมดุล
“ความร่วมมือในรัชดาดิสทริกต์ครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันในประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นร่วมสำหรับทุกคน สำหรับทุกองค์กร”
การเติบโตของเมืองส่งผลกระทบให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น ผลของการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นจากการที่โลกพัฒนาต่อเนื่องและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศวิทยาของโลกอย่างรุนแรง และโลกอาจจะไม่สามารถกลับสู่จุดสมดุลได้
“คนทุกคนในรุ่นของเรา จึงมีส่วนที่จะต้องลดภาวะโลกร้อน”
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก รวมทั้งยังมีสถิติด้านอื่น เช่น สัตว์น้ำเกยตื้นตาย รวมทั้งเป็นผู้รับผลจากขยะที่ปล่อยลงแหล่งน้ำ
ตลาดหลักทรัพย์ฯและเพื่อนร่วมถนนรัชดา และกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม จึงร่วมกันแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้น คือ ตัวเรา เริ่มจากการคิดและพฤติกรรมของเราคำนึงถึงส่วนรวม ในการใช้ชีวิตให้มีของเหลือใช้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และของเหลือใช้นั้นสามารถนำไปใช้ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเปลี่ยนพฤติกรรมของเราที่ลดการเบียดเบียน ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีผลทำให้ระบบนิเวศวิทยาดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีที่อยู่ได้ สมดุล และมีความน่าสนใจให้เข้ามาทำธุรกิจให้เข้ามาแวะเวียน ในย่านของเรา
การเริ่มต้นในการจัดการสิ่งแวดล้อม คือ ทบทวนประมวลผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเราด้วยเครื่องมือกลางที่พัฒนาขึ้นเพื่อวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีมาตรการกำจัดขยะในที่ทำการทั้ง 14 องค์กร ซึ่งประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย และร้านค้าเล็กๆ บนถนนเส้นนี้ รวมไปถึงการร่วมกันขจัดของเสียและแปรรูปในอนาคตต่อไป
คัดแยกขยะผลักดัน Circular Economy
โครงการ Care the Whale เป็นโครงการจัดการสิ่งแวดล้อมย่านถนนรัชดา ริเริ่มโดยกลุ่ม Impact Generation ธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีทั้งธุรกิจที่ผลักดันจนสามารถวัด carbon footprint ได้ ธุรกิจที่กำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางโดย จรัญพร เลิศสหกุล จากบริษัทกรีนสไตล์ จำกัด เล่าถึงที่มาของการริเริ่มโครงการว่า กลุ่ม SE มุ่งหวังที่แก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม อยากจะเห็นสังคมไทย ประเทศไทยและโลกใบนี้ดีขึ้น
“จุดเริ่มต้นโครงการเกิดจากการประชุมร่วมกันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า พวกเรา กลุ่ม Impact Generation จะร่วมกันทำอะไรได้บ้าง ที่จะมีผลกระทบ สิ่งหนึ่งที่พูดคุยกันคือ การแก้ไขปัญหาขยะ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว”
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยอินชอนและกรีนพีซที่เผยแพร่พบว่า เกลือทุกยี่ห้อในโลกมีไมโครพลาสติกปนเปื้อน นอกจากนี้งานของอเมริกาพบว่า ในดิน ในน้ำ ในอากาศ มีไมโครพลาสติกปะปน
“ดังนั้น พลาสติกอยู่ใกล้ตัวเรา ทั้งในน้ำ ในอาหาร และในอากาศที่เราหายใจ จึงเป็นเรื่องที่อยากรวมพลังร่วมแรงร่วมคิด พร้อมกับพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาตรวจวัดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น”
ขยะหากมีการคัดแยกและจัดการที่ดี จะกลายเป็นวัตุถดิบสำหรับสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือพลังงาน และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นการแก้ไขปัญหา ผลักดัน Circular Economy และทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง
แต่การแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืนได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารทุกระดับ พนักงาน เจ้าหน้าที่ รวมทั้งแม่บ้าน แต่ละหน่วยมีความสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายขยะล่องหนขององค์กร ซึ่งมีผลต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้
Care the World เพื่อลูกหลานในอนาคต
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขยะในกรุงเทพมหานครมีปริมาณ 11,000 ตันต่อวัน แต่สามารถกำจัดได้เพียงวันละ 500-1,000 ตัน ส่วนหนึ่งที่มีขยะปริมาณมากเพราะพฤติกรรมของคนที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่และทิ้งลงน้ำ
อย่างไรก็ตาม ไทยได้ยกระดับขยะทะเลเป็นวาระอาเซียนไปแล้ว โดยมีการประกาศเป็นปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนและกรอบการปฏิบัติงานอาเซียน ว่าด้วยขยะทะเลในการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 34 รวมทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำเรื่องนี้ไปเสนอต่อการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
การกำจัดขยะของไทยได้ยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งอันดับในการทิ้งขยะทะเลดีขึ้น โดยถอยลงมาอยู่ที่อันดับ 10 จาก อันดับ 6 ซึ่งเป็นผลจากดำเนินการร่วมกัน
”การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯริเริ่มโครงการ Care the Whale วันนี้จึงเป็นเรื่องดี และต้องยกระดับ Care the Whale เป็น Care the World และเราไม่ได้แคร์อะไรทั้งสิ้น แต่แคร์ลูกหลานเรา ต้องดูแลลูกหลานเรา ถ้าเรายืมทรัพยากรในอนาคตมาใช้และลืมคิดไปว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นก็จะมีปัญหา ขอให้ดำเนินการโครงการนี้ต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ การผลักดันการเลิกใช้พลาสติกที่ไทยกำหนดไว้ในปี 2565 นั้น รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เลิกใช้พลาสติกเร็วขึ้นจากปี 2565 เป็นปี 2564 ซึ่งต้องบังคับใช้เป็นกฎหมาย แต่ต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน เนื่องจากไทยมีตลาดสินค้าหลายระดับ
โดยถุงพลาสติกหูหิ้วที่รู้จักกันในชื่อถุงก๊อบแก๊บ ใช้กันมาก 30% ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 40% ใช้กันมากในตลาดสด และ 30% ในร้านโชห่วย ซึ่งกระทรวงฯ พยามยามที่จะรณรงค์ให้เลิกใช้
นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังมีแผนที่จะเปิดตัวแคมเปญช่วงปีใหม่ให้ผู้ที่เข้าอุทยานต้องขยะออกมาด้วย และจะนำมาคัดแยกขาย เงินที่ได้จะนำไปสนับสนุนมูลนิธิพิทักษ์ป่า
ภาครัฐพร้อมดำเนินการร่วมเอกชน
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานว่า ทุกวันนี้คนแต่ละคนสร้างขยะประมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งหากคำนวณจากคน 30,000 คนบนถนนรัชดา ก็จะมีขยะมากถึง 30,000 กิโลกรัมต่อวัน แต่หากสามารถกำจัดขยะได้ตามเป้าหมายขยะล่องหน ก็จะไม่มีขยะเลย และยังกลับมาเป็นทรัพยากรได้ ในภาวะที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤติทรัพยากรที่น้อยลง มีปัญหาสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศ น้ำเสีย
ปัญหาขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว การบริโภคทำให้มีการทิ้งขยะอาหารทุกวัน การกำจัดขยะยังทำได้ไม่ดีนัก มีบางส่วนนำไปเผาไปฝังกลบ บางส่วนทิ้งขยะลงคลอง ลงแม่น้ำ ใน 10 อันดับแรกที่ทิ้งขยะมากที่สุดในโลกอยู่ในอาเซียน
ภาครัฐดำเนินการเรื่องการลดขยะมานานหลายปี เช่น โครงการปลอดขยะในชุมชน ธนาคารขยะในโรงเรียน ส่งผลให้การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 30% จากเดิมที่มีเพียง 10% แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ขยะที่ทิ้งมีมากกว่าที่เก็บ
รัฐบาลมียุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาขยะ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” ซึ่งกระทรวงฯได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งห้ามนำถุงพลาสติก โฟมบรรจุอาหาร เข้าในบริเวณอุทยาน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯยังริเริ่มการรณรงค์งดใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง และให้ใช้ถุงผ้าแทน เพราะประเทศไทยใช้ถุงพลาสติกถึง 45,000 ล้านใบต่อปี ส่วนการรณรงค์ภายในกระทรวงฯ มีการส่งเสริมการใช้แก้วน้ำส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก การจัดประชุมเป็นแบบกรีนมีตติ้ง มีการลดขยะ การคัดแยกขยะ
สำหรับโรดแมปพลาสติการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 เพื่อลดใช้พลาสติก ที่ผ่านความเห็นชอบของการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 มีเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติกรวม 7 ประเภท โดยในปี 2562 จะเลิกใช้ 3 ประเภท คือ 1) พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (แคปซีล) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรองว่าน้ำดื่มที่ไม่มีพลาสติกหุ้มปลอดภัยดื่มได้ 2) พลาสติกผสมสารอ็อกโซ (OXO) ที่ทำให้พลาสติกแตกตัวแต่ไม่ย่อยสลาย และ 3) ไมโครบีด (microbead) ในเวชสำอาง ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นในการนำไบโอบีด (biobead) มาใช้แทน
ภายในปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท ได้แก่ 1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว ซึ่งพยายามที่จะผลิตถุงให้หนาขึ้น ใหญ่ขึ้น เพื่อใช้งานได้หลายครั้ง 2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3) แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว และ 4) หลอดพลาสติก อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้เลิกใช้เร็วขึ้น คือ ขยับขึ้นมาเป็นปี 2564
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้องดแจกถุงพลาสติกในวันที่ 1 มกราคม 2563 จากเดิมที่เลิกให้ถุง ซึ่งขณะนี้มีผู้ขอเข้าร่วมโครงการแล้ว โดยเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่รวม 50 แห่ง
“ที่สำคัญต้องสร้างนิสัยให้กับตัวเราเอง ไม่ว่าการใช้แก้วส่วนตัว ใช้ถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติก เพราะเราไม่มีโลกสำรอง เรามีโลกใบเดียว”
กระทรวงฯ มีองค์ความรู้ที่สามารถนำมาแบ่งปันให้ผู้เข้าร่วมโครงการ Care the Whale ได้ เพราะที่ผ่านมามีประสบการณ์ในดำเนินการ การตั้งเป้าหมาย มีตัวชี้วัดการคัดแยกขยะให้กับหน่วยงานระดับกระทรวง รวมทั้งระดับจังหวัด อีกทั้งพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน
หนุนยกระดับรัชดาต้นแบบถนนสิ่งแวดล้อม
หลังจากการเปิดงาน บริษัทและอาคารที่ร่วมโครงการ ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลายหลังในย่านเดียวกัน ได้นำเสนอมาตรการการแก้ไขปัญหาขยะเพื่อร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บ้านเลขที่ 93 นางพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหาร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ นับว่าเป็นคนใหม่ในย่านนี้ เพราะเข้ามาในปี 2559 แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ DNA ความยั่งยืน
โดยขยะเริ่มจากให้ความรู้แก่พนักงานในการแยกประเภทขยะ และได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่อง เพราะมีเป้าหมายที่จะเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ยั่งยืน ตั้งเป้าขยะให้เป็น zero waste to landfill ซึ่งทำได้แล้วด้วยแรงและกำลังใจจากผู้บริหารและพนักงานทุกคน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ประสบการณ์ในการเดินทางมา Zero Waste to Landfill และผลักดันโครงการนี้ไปพร้อมกัน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ห้ามนำกล่องโฟม ขวดพลาสติก เข้าอาคาร และให้ใช้กล่องอาหาร กระบอกน้ำแทน รวมทั้งมีการคัดแยกขยะ
บริษัทเดอะ สตรีท รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บ้านเลขที่ 139 โดยนายพงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ถ้าเปรียบรัชดาเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ก็ถือว่ามีบ้านหลายหลัง และขอบคุณบ้านเลขที่ 93 ที่กล้าจะเอาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้นำในการชวนลูกบ้านทุกคน มาลด ละ เลิก จนกว่าขยะจะหายไปกับหมู่บ้าน
“การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะเห็นถึงสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นกับย่านนี้ เป็นย่านที่ไม่เหมือนใคร มีทั้งอาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การค้า หน่วยงานราชการ ชีวิตมีตั้งแต่กลางวันไปจนถึงกลางคืน หากสามารถทำเป็นตัวอย่าง เชื่อว่าจะมีอีกหลายหมู่บ้านจะใช้เป็นต้นแบบว่า หมู่บ้านเราทำอะไรกัน แต่ละบ้านทำอย่างไร มีการแชร์ความรู้กันอย่างไร”
เดอะสตรีทฯ มีการดำเนินการด้านขยะมาอยู่แล้วเพราะเป็นศูนย์การค้ามีปริมาณขยะมาก โดยเฉพาะเวลาที่มีการจัดอีเวนต์ที่มีป้ายไวนิล ฟีเจอร์บอร์ด โครงไม้ต่างๆ ก็จะมีการเก็บไว้นำมากลับมาใช้ต่อ โดยมอบป้ายไวนิลให้โรงเรียนใช้กันแดด กันฝน ฟีเจอร์บอร์ดด้านหลังใช้สำหรับติดรูปต่างๆ ในโรงเรียน
นอกจากนี้ มีการเชิญชวนผู้เช่าภายในและลูกค้าให้กันมาร่วมทิ้งขยะแบบแยกประเภท มีการจัดวางถังขยะ 4 ประเภทไว้รองรับ ทั้งขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะอันตราย และมีการแจกกระบอกน้ำให้พนักงานทุกคน
“การที่ภาครัฐมาเป็นผู้นำโครงการลักษณะนี้ ทำให้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคเอกชน และจะประสบความสำเร็จ มีโอกาสขยายผลความร่วมมือในด้านอื่นได้อีก”
อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ บ้านเลขที่ 90 โดยนายนักรบ กุลพนิชย์ ผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า อาคารซีดับเบิ้ลยู ทาวเวอร์ เป็นอาคารให้เช่ามีพื้นที่ 82,000 ตารางเมตร ในปีที่ผ่านๆ มามีโครงการคัดแยกขยะอยู่แล้ว แต่การทำด้วยตัวเองที่มีพนักงาน 50 คนไม่มีผลมากนัก จึงได้เชิญชวนผู้เช่า 100 บริษัทให้มาร่วมกันคัดแยกขยะ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมาจึงมีโครงการคัดแยกขยะเป็นประเภทต่างๆ เช่น ขยะกระป๋องอะลูมิเนียมที่ใช้เวลาย่อยสลายถึง 200 ปี ขวดแก้วที่ไม่ย่อยสลาย พร้อมให้ผู้เช่านำขยะที่คัดแยกแล้วมาขายให้กับอาคารทุกวันพุธและวันศุกร์เวลา 14.00 น. รวมทั้งให้ความรู้ในการจัดเก็บ มีการกำจัดขยะเพื่อไม่ให้เกิดการเพาะพันธุ์ของแมลงและสัตว์
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดว่าควรยกระดับถนนรัชดาภิเษกให้เป็นถนนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คนที่ทำงานย่านนี้เป็นคนที่ใส่ใจแวดล้อม เมื่อมีใครพูดถึงถนนรัชดา เหมือนกับที่นึกถึงย่านกังนัมในเกาหลีใต้ว่ามีความสนุกสนาน นึกถึงย่านชินจูกุของญี่ปุ่นว่าเป็นถนนแฟชั่น จึงได้เข้าร่วมโครงการ Care the Whale
หน้าที่ของบริษัทสร้างจิตสำนึกรักษ์โลก
บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บ้านเลขที่ 250 โดย นางพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กล่าวว่า บริษัทฯ ถือเป็นนโยบายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินการมานาน ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมประมง กรมสิ่งแวดล้อม และตระหนักว่าการสร้างจิตสำนึกให้กับพนักงาน การรณรงค์ ให้สิ่งแวดล้อมอยู่ใน DNA ของพนักงาน เป็นสิ่งที่จำเป็น
“เป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะสร้าง ปลูกฝังจิตสำนึกให้กับพนักงาน ในการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม”
การที่จะขับเคลื่อนอะไรพนักงานก็จะขยับและเสนอแนวคิด เช่น การแยกขยะในห้องอาหารมีถังขยะแยกประเภทไว้ให้ แล้วแม่บ้านจะนำขยะไปคัดแยกตามประเภทอีกครั้ง สิ่งที่ยังจำหน่ายได้ก็จำหน่าย เงินที่ได้จากการจำหน่ายส่วนหนึ่งเป็นสินน้ำใจให้แม่บ้าน อีกส่วนบริจาคให้มูลนิธิเมืองไทยยิ้ม เพื่อทำสาธารณกุศล ส่วนกระดาษใช้แล้วนำใส่ตู้ info safe ขณะที่ขยะอันตรายได้ร่วมมือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมเขตห้วยขวาง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อให้คัดแยกอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังลดขนาดขวดน้ำดื่มให้มีขนาดพอดื่ม ขวดน้ำดื่มใช้แล้วได้ประสานงานกับ PTTGC นำไปเข้าสู่กระบวนการ upcycling ผลิตเป็นเสื้อซึ่งการแข่งขันเมืองไทยมาราธอนสะพานพระราม 8 ครั้งที่ผ่านมานำไปผลิตเสื้อ Finisher ได้ 1,000 กว่าตัว
รวมทั้งมีโครงการลดใช้ถุงพลาสติก โดยขอรับบริจาคถุงผ้าใช้แล้ว นำมาแขวนทางเข้าออกอาคารเพื่อให้พนักงานยืมไปใช้แล้วนำมาคืนเพื่อให้คนอื่นใช้ต่อไป
พนักงานที่นำกระบอกน้ำ ซื้อนำที่สมายล์คอฟฟี่ได้รับส่วนลด ใช้กล่องข้าว ซื้ออาหารที่ห้องอาหารบริษัทฯได้รับส่วนลด และหากลดปริมาณข้าวจะได้รับส่วนลดอีก ร้านอาหารในห้องอาหารให้ความร่วมมืองดให้ถุงพลาสติก
นอกจากนี้ มีการรณรงค์ให้ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ปิดเมื่อไม่ใช้งาน และบริษัทฯ กำลังทำเป้าหมายการลดใช้พลังงาน
บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บ้านเลขที่ 18 โดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ Chief Innovation & Sustainability Officer กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาแล้ว แต่พบว่ายากหากไม่มีความร่วมมือกัน โดยเฉพาะบริษัทฯ มีการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน 17 ข้อ ที่มีประเด็นสำคัญคือ ความร่วมมือและเป็นพันธมิตรกัน
โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าต้องมีการร่วมมือกัน บริษัทฯจะใช้ศักยภาพที่มีเพื่อสร้างการตระหนักรู้ ทั้งในพนักงานและร้านค้าในบริเวณใกล้เคียง ด้านการคัดแยกขยะ เพราะธุรกิจของบริษัทเกี่ยวกับสินค้าเทคโนโลยี มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ การคัดแยกอย่างเดียวไม่พอ ส่วนขยะทั่วไปมีถังขยะแยกประเภท
อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ บ้านเลขที่ 89 โดยนายปกป้อง ยินดีผล ผู้อำนวยการฝ่ายอสังหาริมทรัพย์และบริการ บริษัท เอไอเอ จำกัด เปิดเผยว่า อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ เป็นการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ ที่ผู้บริหารให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ ดูแลลูกค้าในเอเชียมากกว่า 100 ปีภายใต้แนวคิด Healthier, Longer Better Life ซึ่งหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย
และสิ่งที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกคน ส่วนการดำเนินการภายในบริษัทฯ ครอบคลุมการลดการพิมพ์กระดาษ การใช้ภาชนะแก้วน้ำ ลดการใช้ขวดพลาสติก
โครงการ IDEO รัชดา-ห้วยขวาง บ้านเลขที่ 62 โดยนางณัฏฐณิชา อัศวพลังกูล ที่ปรึกษานิติบุคคลอาคารชุด กล่าวว่า โครงการ IDEO เป็นคอนโดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมหรือ Green Condo มีโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคือ IDEO Going Green ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว จากการเข้าร่วมโครงการ Care the Whale กับตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำความรู้ที่ได้ไปรับใช้กับพนักงานในการคัดแยกขยะ ทำให้คัดแยกขยะได้ดีขึ้น ในคอนโดจะมีจุดพักขยะแต่ละชั้น จากนั้นจะนำมาคัดแยกออกตามประเภท
รวมทั้งได้มีการสร้างการตระหนักรู้ ให้กับพนักงาน ผู้พักอาศัย และร้านค้าภายในคอนโด รณรงค์ให้ใช้กระบอกน้ำ ถุงผ้า กล่องใส่อาหารแทนถุงพลาสติก
Reduce-Reuse-Recycle เพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน
บริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บ้านเลขที่ 161 โดยนางสาวณัฏฐิณี เนตรอำไพ Head External Affair& Media Behavior กล่าวว่า ยูนิลีเวอร์เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทยมากกว่า 86 ปี เช่น แชมพูซันซิล สบู่ลักซ์ ไอศกรีมวอลล์ บริษัทฯ มีความเชื่อว่าธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้หากโลกเราป่วย และตอนนี้โลกกำลังป่วย ดังนั้นต้องร่วมมือร่วมใจกัน
ยูนิลีเวอร์ในฐานะองค์กรที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นพลาติกจึงตั้งเป้าที่จะให้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ ใช้ซ้ำได้ และย่อยสลายภายในปี 2025
ยูนิลีเวอร์ตั้งเป้าที่จะลดการใช้พลาสติกลง 50% และสร้างระบบจัดเก็บมากกว่าที่ขายสินค้า โดยได้เปิดตัวโครงการ TRASH แล้วที่กระบี่เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และจะขยายเศรษฐกิจหมุนเวียนออกให้กว้างขึ้น เพื่อให้ทุกคนมองพลาสติกว่าไม่ใช่ขยะแต่เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาแปลงเป็นสินค้าอื่นได้ เพราะพลาสติกทั้งขวดขุ่น ขวด PET ถุงพลาสติกชนิดเติม ถุงฟอยล์ สามารถรีไซเคิล upcycle หรือแปรรูปได้
ส่วนการดำเนินการเพื่อให้ภายในเข้มแข็งด้วย เริ่มจากให้พนักงานคัดแยกขยะและเปิดตัวโครงการ Bye Bye Bottled Water ไม่อนุญาตให้นำน้ำดื่มขวดพลาสติกเข้ามา และให้พนักงานใช้แก้วน้ำหรือกระบอกน้ำแทน ให้ใช้จานแก้วแทนจากพลาสติก เศษขยะอาหารนำไปทำปุ๋ยหมัก และยังมีโครงการอื่นอีกมากมาย
คนไทยใช้ผลิตภัณฑ์ยูนิลีเวอร์ 3 ครั้งต่อวัน หมายความว่าบริษัทฯมีภาระที่ยิ่งใหญ่ต่อสังคมไทยและประเทศไทย เราต้องการที่จะทำให้เกิดภาวะการใช้ชีวิตที่ไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยในที่ทำงานรณรงค์ให้แยกขยะเพื่อที่จะกำจัดได้อย่างถูกต้อง
บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) บ้านเลขที่ 123 โดยนางสาวฐิติมา เลี้ยงพาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มสื่อสารองค์กรและกลุ่มองค์กรสัมพันธ์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีโรดแมปในการจัดการกับขยะและทำให้ขยะล่องหน ภายใต้แนวคิด Reduce Reuse Recycle ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก อย่างแรก ให้ความรู้ บอกเล่าวิธีการที่ทุกคนในองค์กรจะลงมือทำได้ง่ายผ่านสื่อต่างๆ อย่างที่สอง engage มีการสร้างให้คนมีส่วนร่วมด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพราะกิจกรรมจะทำให้คนได้ลงมือทำ เช่น โครงการ Bottle Better รณรงค์ให้พนักงานพกกระบอกน้ำส่วนตัว เริ่มตั้งแต่ผู้บริหาร อินฟลูเอนเซอร์(Influencer)ของบริษัท ลงมาถึงพนักงาน ปลายปีมีกิจกรรมบริจาคปฏิทินเก่าเพื่อแปรรูปเป็นอักษรเบรลล์สำหรับคนพิการทางสายตา และอย่างที่สาม endorse จะแชร์ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าการได้รู้ว่าทุกอย่างที่ได้ทำลงไปมีผลลัพธ์อย่างไร จะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ จะขยายไปสู่ลูกค้าด้วยการเปลี่ยนปกกรมธรรม์จากพลาสติกเป็นกระดาษ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย
ทางด้านโครงการ Emerald Residence บ้านเลขที่ 75, 77, 79 โดยนายมงคล อัศวพลังกูล กรรมการนิติบุคคลอาคารชุด เปิดเผยว่า ได้ขอเข้าร่วมโครงการนี้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะมีองค์ความรู้ที่จะทำให้แม่บ้าน พนักงาน สามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้องมากขึ้น รวมทั้งมีการจัดทำป้ายรณรงค์ให้กับลูกบ้าน ตระหนักถึงการ Reduce-Reuse-Recycle มีการจัดวางถังขยะแยกประเภทตามชั้นต่างๆ จากนั้นกลุ่มแม่บ้านจะทำการคัดแยกเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
หลายบ้านมุ่งเน้นคัดแยกขยะ
บ้านหลังต่อไปเลขที่ 3, 5, 7 ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) โดยนายสมเกียรติ เรือนทองดี กรรมการผู้จัดการ ให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ เป็นผู้บริหารศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ และนับเป็นผู้ประกอบการรุ่นแรกของถนนรัชดาโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมานานพอสมควร
โครงการสำคัญ 3 โครงการที่บริษัทฯ ดำเนินการมา ได้แก่ โครงการขยะอาหาร เพราะในศูนย์การค้าฟอร์จูนมีร้านอาหารจำนวนมาก มีขยะเศษผัก เศษอาหาร โดยได้รับความร่วมมือจากร้านอาหารภายในศูนย์ เศษอาหารที่รวบรวมได้จะนำไปหมักเป็นน้ำ EM และใช้ในการบำบัดน้ำเสีย กำจัดกลิ่น กากที่เหลือนำไปตากแห้งใช้เป็นปุ๋ยใส่สวนผักที่อยู่ชั้น 10 ดาดฟ้าของอาคารจอดรถ ซึ่งผักที่ได้จากสวนนี้นำไปขายในราคาถูกกับคนทั่วไป เงินที่ได้จากการขายผักนำไปใช้กับการจัดการสิ่งแวดล้อมทั่วไป เพื่อให้โครงการหมุนเวียนในตัวเอง
โครงการที่สอง เน้นการลด ละ การใช้ถุงพลาสติก มีโครงการ Fortune Town Say No Plastic Bag! ซึ่งทำมาระยะหนึ่งหลายปี และตั้งใจว่าปี 2563 จะเพิ่มคำว่าลดเป็นไม่มีการใช้ถุงพลาสติกเลย
โครงการที่สาม เป็นการร่วมมือกับภายนอก ด้วยการนำขวดพลาสติก PET มาใช้ใหม่ หลังการแยกประเภทด้วยการผสมกับใยฝ้าย ผลิตเป็นผ้าไตรจีวร เป็นการลดขยะ ซึ่ง 3 โครงการมีความมุ่งหมายที่จะทำให้ขยะล่องหน คุณภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ที่สำคัญมีการร่วมมือกัน
บริษัทฯยังได้ชักชวนลูกค้าและพนักงานให้ลดการใช้ถุงพลาสติกและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ชวนพกถุงผ้าและของใช้ซ้ำได้ มีการจัดวางถังขยะแยกประเภทเพื่อการจัดการขยะตามจุดต่างๆ ทั้งขยะทั่วไปและขยะอิเล็กทรอนิกส์
โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน บ้านเลขที่ 1 โดยนายทัตชัย ตัลยารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม เล่าว่า โรงแรมดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาตลอด ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก Planet 21 รวมทั้งมีกิจกรรมเพื่อสังคมด้านขยะอาหารกับชุมชน ได้ใบรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โครงการ Carbon Footprint โครงการ Carbon Offset ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558
สำหรับมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในโรงแรม มีตั้งแต่การรณงรงค์ให้ลูกค้าไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ขณะที่ชั้น 12 ได้จัดเป็นพื้นที่ป่าลอยฟ้า และใช้หน้าต่างกระจกในพื้นที่นั่งเล่นเพื่อรับแสงอาทิตย์ลดการใช้แสงสว่างจากไฟฟ้า ภายในห้องอาหารมีการรณรงค์ให้ลูกค้าตักอาหารแต่พอดีเพื่อลดปริมาณขยะอาหาร รวมไปถึงการเลิกใช้หลอดพลาสติกและถุงพลาสติก
ทางบ้านเลขที่ 9/9 เซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 โดยบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) นายกิตติพงษ์ สิปิยารักษ์ ผู้จัดการทั่วไป กล่าวว่า บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ดูแลศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศ 34 สาขา จึงได้มีโครงการ Journey to Zero ทำให้ขยะภายในศูนย์การค้าเป็นศูนย์ มีการแยกขยะ 3 ประเภท คือ ขยะอาหาร ขยะรีไซเคิล คือ พลาสติก กระดาษ ขยะอันตราย อิเล็กทรอนิกส์ โดยได้ดำเนินการมานานแล้ว
ปีนี้เน้นการจัดการกับขยะอาหารมากขึ้น มีการสร้างห้องคัดแยกขยะอาหาร เพื่อให้พันธมิตรมารับขยะไปใช้ประโยชน์ จัดพื้นที่คัดแยกขยะ มีการวัดปริมาณขยะอาหารในแต่ละวันอีกด้วย โดยปัจจุบันมีร้านอาหาร 50 ร้านมาร่วมโครงการ มีปริมาณขยะอาหาร 200 กิโลกรัมต่อวัน
ในพื้นที่ซูเปอร์มาร์เกตมีการงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันอังคารและทุกวันที่ 4 ของเดือน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการจัดถังรองรับไว้ให้คู่ค้า และยังรณรรงค์ให้พนักงานหันมาใช้แก้วน้ำส่วนตัวและถุงผ้า
ปีหน้าจะลดขยะพลาสติก ซึ่งตรงกับเป้าหมาย Care the Whale รวมทั้งรณรงค์เชิญชวนผู้มาใช้บริการในศูนย์การค้าทั่วประเทศลดใช้พลาสติก และระยะต่อไปจะจัดการกับขยะอันตราย
บริษัทร้อกเวิธ จำกัด (มหาชน) บ้านเลขที่ 294 โดยนายดุษฎี พงษ์สุทธิมนัส กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้พยายามให้ความรู้กับพนักงานในการแยกขยะ มีโครงการแจกแก้วให้กับพนักงานในวันครบรอบวันคล้ายวันเกิด ผ่านโครงการ Happy Workplace เพื่อการ Reuse คิดว่าภายในสิ้นปีนี้ พนักงานทุกคนจะมีแก้วน้ำ reuse ไว้ใช้ พร้อมสร้างจิตสำนึก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
“ถ้าทุกคนยังไม่ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหา อนาคตที่ยั่งยืนจะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
จับมือ 5 พันธมิตรจัดการขยะ
โครงการ Care the Whale ยังมีพันธมิตรนอกย่านรัชดาที่มาช่วยการจัดการให้ขยะล่องหนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ บริษัททีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) โครงการ “วน” (Wontogether) ซึ่งเป็นโครงการรีไซเคิลถุงพลาสติก บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) บริษัทเอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด และสถาบันคลังสมองของชาติ
นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ส่งออกทั่วโลก ก่อตั้งมา 39 ปี และใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว แต่ละปีใช้วัสดุรีไซเคิล 30,000 ตัน จาก Post consumer waste คือใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเป็นวัสดุรีไซเคิลจริง
จากการที่ค้าขายกับต่างประเทศทำให้รับทราบถึงแนวโน้มสิ่งแวดล้อมโลกมาตลอด ประกอบกับต้องการให้คนไทยใช้พลาสติกได้อย่างถูกวิธีและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทายาทรุ่นที่สองของบริษัททีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) คือนายกมล บริสุทธนะกุล จึงได้ก่อตั้งโครงการ “วน” ขึ้น
นายกมลเล่าว่า โครงการวนก่อตั้งมา 1 ปี 5 เดือนได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) จากความต้องการที่จะทำบางสิ่งที่จะขับเคลื่อน สร้างผลทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ความรู้และสบการณ์ 39 ปีของบริษัทที่มีจุดเริ่มต้นจากการรีไซเคิลให้เป็นประโยชน์
โครงการ “วน” ใช้แนวคิดตาม “ระบบ กระบวน เศรษฐกิจหมุนเวียน วัตถุดิบ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ และพลังงาน ให้ถูกนำกลับมาการนำไปใช้เป็นทรัพยากรหมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม สร้างการผลิตหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด และเกิดของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
โครงการ “วน” เป็นโครงการที่รับ”ถุงและฟิล์มพลาสติกสะอาด”กลับมารีไซเคิลเพื่อให้พลาสติกหมุนเวียนอยู่ในระบบ ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อมหลังการผลิต
จากจุดรับขยะพลาสติกจุดแรกที่คลองเตย นำมารีไซเคิล ปัจจุบันได้ทำ upcycling ผลิตสินค้าได้มากขึ้น
นายวันชัย เหลืองวิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจการเผาขยะและวัตถุอันตรายมาได้ร่วม 12 ปีแล้ว โดยรับขยะจากภาคอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา ซึ่งมีขยะจากครัวเรือนส่วนหนึ่งปนเข้าไปในบ่อขยะเอกชน สารพิษที่แพร่กระจายนาน 7 วัน มีผลกระทบต่อผู้คนในบริเวณใกล้เคียง มีปัญหาทางเดินหายใจเนื่องจากไฟไหม้นานและต้องใช้เวลาในการดับไฟ ทำให้รู้ว่าชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแยกขยะอีกมาก
จึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อสังคมให้กับชุมชนที่อาศัยใกล้กับโรงงาน โดยไปสอนนักเรียนชั้น ป.4-ป.6 ให้แยกขยะอันตรายออกมาและนำความรู้นั้นไปต่อยอด ด้วยการให้ไปบอกต่อผู้ปกครองให้แยกขยะอันตรายออกมา อย่าทิ้งในที่ทิ้งขยะชุมชน และบริษัทจะไปรับแลกขยะเพื่อนำมากำจัดที่โรงงานของบริษัท ซึ่งได้ดำเนินการมา 5 ปีแล้ว
นอกจากนี้แล้ว แม้มีการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ทั้งขยะทั่วไป ขยะอันตราย ต้องมีการกำจัดที่ถูกต้องด้วย เพราะขยะสารพิษต้องกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และการกำจัดผิดพลาดด้วยความไม่รู้จะเกิดสารพิษอันตราย
นายเจตพล เอมมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด (SCIeco) กล่าวว่า บริษัทฯ อยู่ในเครือเอสซีจี เป็นผู้ให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมมาร่วม 10 ปี ด้วยวิธีการเผาร่วมในเตาผลิตปูนซีเมนต์ โดยทำการปรับปรุงคุณภาพกากอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ทั้งของแข็ง ของเหลว และประเภทกึ่งแข็งกึ่งเหลว เพื่อให้ได้คุณสมบัติต่างๆ ตามที่กำหนดก่อนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงแข็งทดแทน (refuse derived fuel — RDF) และในปีนี้ได้เผา RDF ไปแล้ว 50 ล้านกิโลกรัม
“เราใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ในการจัดการอะไรที่เป็นของเสีย ของไม่ใช้แล้ว จะพยายามนำกลับมาใช้ให้ได้มากที่สุด มีการร่วมมือกับหลายหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน เพื่อที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต ใน 2-3 ปีได้เริ่มรณรงค์เรื่องนี้”