ThaiPublica > Sustainability > Contributor > วิกฤติหญ้าทะเล: ความท้าทายและทางออกในการปกป้องระบบนิเวศผู้พิทักษ์มหาสมุทร

วิกฤติหญ้าทะเล: ความท้าทายและทางออกในการปกป้องระบบนิเวศผู้พิทักษ์มหาสมุทร

20 มีนาคม 2024


ดร.เพชร มโนปวิตร

ประเทศไทยมีระบบนิเวศหญ้าทะเลที่สำคัญและอุดมสมบูรณ์กระจายอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ปัจจุบันหญ้าทะเลเหล่านี้กำลังเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ ทั้งจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรมลงเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังประชากรสัตว์ทะเลหายากโดยเฉพาะพะยูนที่พึ่งพาหญ้าทะเลในการดำรงชีวิต

วิกฤติหญ้าทะเลเป็นตัวอย่างสำคัญที่ตอกย้ำว่าเราจำเป็นต้องมีแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบนิเวศหญ้าทะเลให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นรอบด้าน มาทบทวนความสำคัญของหญ้าทะเลและเรียนรู้กลยุทธในการส่งเสริมความยืดหยุ่นของหญ้าทะเล ซึ่งน่าจะสามารถนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบนิเวศทางทะเลโดยรวมได้

หญ้าทะเลเป็นพืชใต้น้ำที่พบได้ในเขตน้ำตื้นทั่วโลก ตั้งแต่เขตร้อนจนถึงเขตหนาว มีการกระจายพันธุ์ครอบคลุม 159 ประเทศใน 6 ทวีป รวมพื้นที่กว่า 300,000 ตารางกิโลเมตร ทำให้หญ้าทะเลเป็นหนึ่งในระบบนิเวศชายฝั่งที่มีการแพร่กระจายกว้างขวางที่สุดในโลก หญ้าทะเลสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยใต้น้ำที่มีความซับซ้อน อุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง จึงนับเป็นระบบนิเวศชายฝั่งที่มีคุณค่าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

หญ้าทะเลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ โดยเป็นแหล่งอนุบาลสำคัญของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของปลา 1 ใน 5 ของปลาที่จับได้มากที่สุด 25 ชนิดแรกของโลก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลนับพันชนิด รวมทั้งสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์อย่างพะยูน เต่าทะเล ม้าน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้หญ้าทะเลยังมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยช่วยกรอง หมุนเวียน และกักเก็บแร่ธาตุอาหารและสารมลพิษ ช่วยลดการปนเปื้อนของแบคทีเรียก่อโรค ซึ่งป้องกันโรคในมนุษย์และสัตว์ทะเลได้โดยตรง รวมถึงช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น

ที่สำคัญหญ้าทะเลเป็นกลไกธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้พื้นที่หญ้าทะเลจะครอบคลุมเพียง 0.1% ของพื้นผิวมหาสมุทร แต่กลับเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถเก็บกักคาร์บอนได้ถึง 18% ของคาร์บอนในมหาสมุทร หญ้าทะเลยังช่วยบรรเทาการเป็นกรดของน้ำทะเล ส่งเสริมความยืดหยุ่นของระบบนิเวศที่เปราะบางอย่างแนวปะการัง และเป็นด่านหน้าในการปกป้องชายฝั่งจากพายุและคลื่นที่รุนแรงมากขึ้นจากสภาพอากาศแปรปรวน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมา หญ้าทะเลทั่วโลกก็เริ่มเสื่อมโทรมลง การสำรวจครั้งล่าสุดประเมินว่าในแต่ละปีมีหญ้าทะเลสูญหายไปถึง 7% หรือเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลทุกๆ 30 นาที สาเหตุหลักมาจากมลพิษจากการเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาชายฝั่ง รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การจอดเรือ การเหยียบย่ำ และการขุดลอกล้วนเป็นภัยคุกคามสำคัญ แต่หญ้าทะเลเพียง 26% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองภายในเขตพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (MPAs) เทียบกับปะการัง (40%) และป่าชายเลน (43%)

แม้แนวโน้มโดยรวมหญ้าทะเลทั่วโลกจะลดลง แต่ก็มีบางพื้นที่ที่สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นหรือหญ้าทะเลมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งมักเป็นผลจากมาตรการอนุรักษ์ของมนุษย์เพื่อลดแรงกดดันจากสาเหตุที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศหญ้าทะเลต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความอยู่รอดของชุมชนชายฝั่งจึงนำไปสู่ความพยายามอนุรักษ์ จัดการ และฟื้นฟูหญ้าทะเลทั่วโลก

การรักษาอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่หญ้าทะเลจะช่วยให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้หลากหลาย ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายที่มีการดำเนินการในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก การอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลยังนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่ช่วยให้เราบรรลุ 26 เป้าหมายย่อยและตัวชี้วัดของ 10 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นอกจากนี้การปกป้องหญ้าทะเลยังถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในแนวทางการบรรเทาและปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แต่ละประเทศสามารถใส่ในรายงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDCs) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย

งานวิจัยของ Cullen-Unsworth และ Unsworth ในปี 2016 เรื่อง Strategies to enhance the resilience of the world’s seagrass meadows ได้สรุปกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยส่งเสริมความยืดหยุ่นของหญ้าทะเลทั่วโลกไว้หลายประการ ซึ่งหลายข้อน่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทยได้ ดังนี้

  • การจัดการลุ่มน้ำเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำ
    คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมจากมลพิษบนบกเป็นภัยคุกคามหลักต่อหญ้าทะเล โดยเฉพาะการปนเปื้อนของสารอาหาร ตะกอน และสารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งสาเหตุหลักมาจากน้ำทิ้งจากชุมชนเมือง โรงงานอุตสาหกรรม และการเกษตร การแก้ปัญหานี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการกำหนดเป้าหมายคุณภาพน้ำและร่วมกันปฏิบัติตาม เช่น การตั้งกฎระเบียบในการจำกัดการใช้ปุ๋ยในช่วงฤดูฝน การปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย การปลูกพืชริมน้ำเพื่อลดการชะล้างหน้าดิน การสร้างแนวกันชน เป็นต้น ความพยายามเหล่านี้แม้จะเป็นวิธีง่ายๆ แต่หากทำร่วมกันอย่างต่อเนื่องจะช่วยลดการปล่อยมลพิษลงสู่ทะเล พัฒนาคุณภาพน้ำ และเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบนิเวศทางทะเลได้ในระยะยาว

  • การรักษาบทบาทของสิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ
    ในระบบนิเวศหญ้าทะเลมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบ เช่น พะยูน เต่าทะเล ปลาที่กินสาหร่าย รวมไปถึงสัตว์หน้าดินเช่น ปลิงทะเล และหอยชักตีน ที่มีบทบาทสำคัญในการกำจัดเศษซากเน่าเปื่อยให้กลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็กและจุลินทรีย์ ทำหน้าที่หมุนเวียนแร่ธาตุกลับคืนสู่ระบบนิเวศ การจับสัตว์น้ำออกจากระบบนิเวศมากเกินไปจนจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ลดลงก็จะสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปทั้งระบบ การจัดตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเลที่ครอบคลุมแหล่งหญ้าทะเลและรวมถึงกลุ่มสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะช่วยคุ้มครองความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและเปราะบางของสายใยอาหาร นอกจากนี้การฟื้นฟูประชากรของสัตว์เหล่านี้ให้กลับมาอยู่ในระดับที่สมดุลก็มีความสำคัญ เช่น การเพาะขยายพันธุ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามความเปลี่ยนแปลงและศึกษาวิจัยอย่างละเอียดควบคู่ไปด้วย เนื่องจากบางครั้งการเพิ่มความหนาแน่นของสัตว์เหล่านี้ก็อาจส่งผลในทางลบได้ เช่น ทำให้เกิดการกินหญ้าทะเลมากเกินไป ดังนั้นจึงต้องปรับแผนการจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และสถานการณ์

  • การสนับสนุนการประมงที่ยั่งยืนในแหล่งหญ้าทะเล
    การทำประมงแบบทำลายล้าง เช่น การใช้เครื่องมือประมงที่มีผลกระทบสูง การจับสัตว์น้ำเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ การเหยียบย่ำทำลายพื้นหญ้าทะเลระหว่างทำประมง เหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อหญ้าทะเล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งเสริมการทำประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เครื่องมือที่ออกแบบมาให้ลดผลกระทบ เช่น ลอบปูที่มีทางออกให้สัตว์น้ำขนาดเล็ก การงดเว้นการทำประมงในช่วงที่สัตว์น้ำมีไข่และวางไข่ การกำหนดปริมาณการจับที่เหมาะสม การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการทรัพยากรประมงท้องถิ่น นอกจากนี้การนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ เช่น การติดฉลากรับรองให้กับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการประมงยั่งยืน ก็เป็นแรงจูงใจให้ชาวประมงหันมาใช้วิธีการที่ส่งผลเสียน้อยลง อย่างไรก็ตามมาตรการเหล่านี้จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงของชาวประมงรายย่อยด้วย

  • การบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่ช่วยปกป้องหญ้าทะเล
    การมีกฎหมายคุ้มครองแหล่งหญ้าทะเลโดยเฉพาะ รวมถึงการบังคับใช้อย่างจริงจัง จะช่วยป้องกันกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อหญ้าทะเล เช่น ในอังกฤษมีการประกาศให้พื้นที่หญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาศัยของม้าน้ำเป็นพื้นที่คุ้มครองตามกฎหมาย หรือหลายประเทศก็ให้การคุ้มครองแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาศัยของพะยูน ทำให้ผู้ที่สร้างความเสียหายต้องได้รับโทษและเยียวยา ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของหญ้าทะเล ผ่านการให้การศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมปกป้องหญ้าทะเลจากทุกภาคส่วนของสังคม

  • การลดผลกระทบจากเรือและการจอดเรือ
    ผลกระทบจากใบพัดเรือ การทิ้งสมอ รวมถึงการจอดเรือแบบผูกโซ่ลากพื้นทะเล ล้วนทำให้หญ้าทะเลเสียหาย โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและที่จอดเรือประมง การติดตั้งทุ่นจอดเรือรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีทุ่นลอยน้ำยึดโซ่ไม่ให้ลากไปกับพื้น หรือใช้วัสดุที่ไม่ทำลายพื้นทะเล รวมทั้งการกำหนดเขตจอดเรือให้ห่างจากแนวหญ้าทะเล จะช่วยลดภัยคุกคามต่อระบบนิเวศได้มาก นอกจากนี้การให้ความรู้และติดป้ายเตือนในจุดที่มีความเปราะบางก็มีความจำเป็น เพื่อให้ผู้ใช้เรือระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบ

  • การลงทุนในการฟื้นฟูหญ้าทะเลอย่างมีกลยุทธ์
    ในพื้นที่ที่หญ้าทะเลเสียหายรุนแรง การปล่อยให้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยมาตรการฟื้นฟูที่เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตามความพยายามฟื้นฟูหญ้าทะเลที่ผ่านมามักประสบความสำเร็จไม่สูงนัก แต่ในช่วงหลังมีหลักฐานแสดงให้เห็นแล้วว่า การใช้เทคนิคง่ายๆ ในการเพาะและขยายพันธุ์หญ้าทะเลด้วยเมล็ด เช่น วิธี BuDS (Buoy-Deployed Seeding) สำหรับหญ้า Eelgrass (Zostera marina – ไม่พบในประเทศไทย) ที่ปล่อยเมล็ดจากทุ่นลอยน้ำ หรือวิธีการเพาะขยายพันธุ์ต้นกล้าหญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) จากเมล็ดที่ร่วงหล่นในธรรมชาติ สามารถช่วยให้หญ้าทะเลกลับมางอกงามอีกครั้งได้ วิธีการฟื้นฟูที่ไม่ซับซ้อน เน้นการมีสวนร่วมกับชุมชนชายฝั่งทำให้อาสาสมัครก็สามารถมีส่วนร่วมในการเพาะและปลูกหญ้าทะเลในพื้นที่เสื่อมโทรมได้ อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูหญ้าทะเลควรเป็นไปอย่างมีกลยุทธ์ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ โดยเน้นแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อลดปัจจัยคุกคามต่อหญ้าทะเลลงให้มากที่สุด สำหรับการปลูกควรทำในพื้นที่ขนาดเล็กและมีความเหมาะสมเท่านั้น

  • การวางแผนจัดการภูมิทัศน์ทางทะเลอย่างเชื่อมโยง
    หญ้าทะเลไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางทะเลที่เชื่อมโยงกัน สัตว์ทะเลจำนวนมากอาศัยและใช้ประโยชน์จากแนวปะการัง ป่าชายเลน และหญ้าทะเลในช่วงชีวิตที่แตกต่างกัน การรักษาความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การวางแผนจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลจึงต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงนี้ ไม่ใช่แค่การปกป้องเฉพาะแนวปะการังหรือป่าชายเลน แต่ต้องรวมพื้นที่หญ้าทะเลเข้าไปด้วย เพื่อสร้างเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองที่ครอบคลุมทุกระบบนิเวศ นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่แนวเชื่อมต่อเสียหายไป การฟื้นฟูให้กลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้งก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งอาจต้องใช้วิธีการฟื้นฟูเชิงรุก เช่น การฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล หรือการจัดการควบคุมการใช้ประโยชน์บางประเภทเพื่อให้เกิดการคุ้มครองแนวเชื่อมต่อระหว่างแนวปะการังกับป่าชายเลนเข้าด้วยกัน

  • การลดโอกาสการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
    การบุกรุกของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นกำลังเป็นภัยคุกคามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อแหล่งหญ้าทะเล สาเหตุหนึ่งมาจากการรบกวนทางกายภาพที่ทำให้ระบบนิเวศอ่อนแอ สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่มีการเจริญเติบโตเร็ว เช่น สาหร่ายบางชนิด จึงฉวยโอกาสเข้ามาแทนที่ง่าย เช่นที่เคยเกิดกับหญ้าทะเลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ถูกสาหร่าย Caulerpa racemosa บุกรุก การป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการรบกวนทางกายภาพโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเดินเหยียบ การลากอวน การขุดลอก ฯลฯ เพื่อให้ระบบนิเวศหญ้าทะเลมีความแข็งแรงพอที่จะต้านทานการบุกรุกได้ นอกจากนี้การตรวจสอบและกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกรานตั้งแต่เนิ่นๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน

  • การให้ความรู้และสร้างความตระหนัก
    หัวใจสำคัญของการอนุรักษ์หญ้าทะเลคือการทำให้คนเห็นคุณค่าและความสำคัญของมัน หลายคนไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าต้นหญ้าในทะเลก็มีบทบาทในการสร้างอากาศบริสุทธิ์ คาร์บอน และที่อยู่อาศัยให้สัตว์ทะเลนานาชนิด การรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งในระบบโรงเรียน ในสื่อสาธารณะ และในชุมชนชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชูประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหารและการเก็บกักคาร์บอน จะช่วยให้คนมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างทะเลและชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น นอกจากนี้การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์หญ้าทะเล เช่นผ่านโครงการ Seagrass Watch จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและภาคภูมิใจในทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน เกิดเป็นพลังในการผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการอนุรักษ์หญ้าทะเลในทุกระดับ

    สิ่งสำคัญที่สุดในการอนุรักษ์หญ้าทะเลคือการทำความเข้าใจธรรมชาติที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม เพื่อให้การวางแผนจัดการเป็นไปอย่างบูรณาการโดยคำนึงถึงข้อจำกัดและโอกาสที่มีอย่างรอบด้าน ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกของผู้คน เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันคือพลังของคนจากทุกภาคส่วนที่จะเป็นปัจจัยในการกำหนดอนาคตของผู้พิทักษ์มหาสมุทรอย่างหญ้าทะเลนี่เอง

    Reference:

    Cullen-Unsworth and Richard K.F.Unsworth. 2016. Strategies to enhance the resilience of the world’s seagrass meadows. Journal of Applied Ecology. 53: 967-972

    Unsworth. R.K.F. et al. 2015. A framework for the resilience of seagrass ecosystems. Marine Pollution Bulletin. Vol 100. Issue 1: 34-46

    United Nations Environment Programme (2020). Out of the blue: The value of seagrasses to the environment and to people. UNEP, Nairobi.