ThaiPublica > Sustainability > Headline > รัฐ-เอกชน ประสานเสียง “พลังงานสะอาด” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

รัฐ-เอกชน ประสานเสียง “พลังงานสะอาด” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

5 มีนาคม 2024


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก้าวสู่ปีที่ 50 จัดงาน “Green Economy: Next Growth and Survive” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก้าวสู่ปีที่ 50 จับมือเครือข่าย เดินหน้าสู่ “Green Economy: Next Growth and Survive “ โดยไทยประกาศเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาด ดึงนักลงทุนย้ายฐานการผลิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก้าวสู่ปีที่ 50 ได้ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และ The Gold Standard Foundation จัดงาน “Green Economy: Next Growth and Survive” เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว

 ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ได้ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการเติบโตอย่างมีสมดุล โดยมีการดำเนินการทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านความยั่งยืน และงานพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และตอบเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และ The Gold Standard Foundation จัดงาน “Green Economy: Next Growth and Survive” ขึ้น เพื่อร่วมกันส่งเสริมภาคเอกชนสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว

“ทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ ภาคสังคม และภาคธุรกิจ จะร่วมเสนอวิสัยทัศน์ นโยบายเชิงกลยุทธ์ และแลกเปลี่ยน โมเดลและรูปแบบนวัตกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกัน รวมถึงการนำกลไกคาร์บอนเครดิตมาร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกรณีศึกษาให้ภาคเอกชนพัฒนาแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว ขับเคลื่อนอนาคตของทุกภาคส่วนที่จะโตไปด้วยกันอย่างสมดุลและยั่งยืน” ดร.ภากรกล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ กรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ถ้าไม่ลดก๊าซเรือนกระจกวันนี้ โลกจะไม่รอด

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์   กรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  ปัญหาสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วโดยที่ไม่ต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลว่า โลกเข้าสู่วิกฤติที่ไม่สมดุลมากขนาดไหน  โดยสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นประจักษ์ด้วยสายตาของทุกคน เป็นสิ่งที่เรียกว่า  Triple planetary crisis  หรือวิกฤติที่ซ้อนวิกฤติ ทั้งเรื่อง Climate(สภาพภูมิอากาศ)  หรือ biodiversity(ความหลากหลายทางชีวภาพ)  และ  Pollution(มลพิษ) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

“ตอนนี้เราเห็นด้วยตาว่าโลกของเราเปลี่ยนไปมากแค่ไหน เพราะฉะนั้น เวลานี้ถ้าเราพูดถึงการพัฒนาเราจึงไม่ได้จำกัดแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เราพูดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความอยู่รอดของโลกด้วย  หรือ พูดเรื่องของ SDG ที่ว่าด้วยเรื่อง การพัฒนาอย่างยั่งยืนและความอยู่รอดของโลก เหมือนที่เราตั้งประเด็นว่า Next growth and survive ก็เป็นทางเลือกและทางรอดของพวกเราด้วย” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ยังบอกด้วยว่า SDG Goals ที่มี 17 เป้าหมาย ครบทุกมิติทั้งเรื่องของ  People,  Prosperity,  Planet,  Peace, Partnership ทั้งหมดเป็นการดูแลพื้นฐานความสมดุลของโลก ที่ประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยจากการประชุม COP28 ที่ผ่านมามีข้อตกลงเรื่องของการ ลดการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ แม้จะไม่ได้ให้เลิกใช้ทั้งหมด แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด หรือ พลังงานหมุนเวียนได้

“วันนี้เราคงต้องเริ่มทำตามแผนกันอย่างจริงจังมากขึ้นเพราะนับจากการมีข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)  ตั้งแต่ปี 2015 ให้ลดอุณหภูมิโลกและลดก๊าซเรือนกระจก แต่ข้อปฏิบัติดังกล่างไม่ได้ก้าวหน้าไปในทิศทางที่ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิโลกไม่ได้ลดลง ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่ก๊าซเรือนกระจกก็เกินกว่าปริมาณที่กำหนดเอาไว้เช่นกัน” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์กล่าว

การดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ทำให้ ผู้นำโลกทั้ง 150 ประเทศ มีความมุ่งมั่นที่จะต้องเดินไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ โดยเตรียมทำการบ้านในการประชุม อีก2 ปีข้างหน้าในปี 2025 ซึ่งทุกประเทศต้องทำให้กระบวนการและแผนปฏิบัติการทั้งหลายเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายแก้ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้น

“ทุกประเทศต้องกลับมาคิดว่าจะยังไงไม่ให้โลกของเรามี อุณหภูมิสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศา รวมถึงการลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้ได้ 43 % ในปี  2060  ทำให้การดำเนินการเพื่อเดินไปให้ถึงเป้าหมายหลังจากนี้ต้องเข้มข้นมากขึ้นเพราะไม่อย่างนั้นมันอาจจะสายเกินไปในการที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์กล่าว

สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาภาครัฐมีความพยายามในการดำเนินการในเรื่องนี้ โดยจัดโครงสร้างพื้นฐานหน่วยงานและกฎหมายขึ้นมาดูแลโดยตรง ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะคือการตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  และมีการร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์

นอกจากนี้ ภาคการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออก Thailand Taxonomy เพื่อขึ้นมาดูแลเรื่องของ เศรษฐกิจสีเขียว และภาคธนาคาร ยู่ระหว่างการปรับ Portfolio เพื่อเข้าไปดูแลลูกค้าที่อยู่ะหว่างการเปลี่ยนผ่านให้มุ่งไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้ได้

“ในตอนนี้ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในส่วนของภาครัฐที่มีหน่วยงานขึ้นมาดูแล และภาคการเงินเองก็มี Green Finance,  Green loan  เพื่อเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวและทุกฝ่ายมีความมุ่งมั่นที่จะทำในเรื่องนี้ ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยเราเน้นการสร้างบริษัทที่ต้องการให้ความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การบูรณาการสร้างโอกาสใหม่ในการทำเม็ดเงินที่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำธุรกิจสีเขียวได้” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์กล่าว

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตี ผู้แทนการค้าไทย

 พลังงานสะอาดขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว

หม่อมหลวงชโยทิต  กฤดากร   ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้แทนการค้าไทย  กล่าวว่า  รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวมาก โดยเฉพาะพลังงานสะอาดที่เป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว  โดยไทยได้ประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutral ) และจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050

“ไทยกล้าที่จะประกาศว่าเราจะเป็น Carbon Neutral  ในปี 2050  และไทยเข้าร่วมกระบวนการปฏิญญาตัวเอง เพื่อจะทำเรื่องน้ำให้เรานำหน้าประเทศในอาเซียนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่คาร์บอนฟรีในอนาคต” หม่อมหลวงชโยทิตกล่าว

หม่อมหลวงชโยทิต กล่าวว่า ในบริบทของโลกช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องของ Decarbonization(การลดการปล่อยคาร์บอน) Digitalisation(การก้าวสู่ดิจิทัล) Decentralisation(การกระจายศูนย์)  และ Derisk(การลดความเสี่ยง)   โดยไทยจะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ต้องปรับเปลี่ยนแปลงตัวเอง เนื่องจากนักลงทุนในปัจจุบันต้องการย้ายฐานการผลิตที่กระจุกตัวให้ไปสู่ภูมิภาค ไปสู่ประเทศอื่นๆ  โดยการย้ายฐานการผลิตต้องมีแรงงานที่ดี  มั่นคงของประเทศ และที่สำคัญคือต้องมีพลังงานสะอาด  หรือพลังงานสีเขียวในการขับเคลื่อน

“บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกคือโอกาสของประเทศไทย เพราะนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมีความต้องการประเทศที่ไม่มี Carbon Footprint และต้องมีการใช้พลังงานสะอาดจำนวนมาก เราเองในฐานะรัฐบาลได้ยึดโอกาส การปรับตัวของโลกในเรื่องนี้ ซึ่ง ธุรกิจจีน และตะวันออก ต้องการย้ายฐานการผลิตและเราอยากให้นักลงทุนพิจารณาประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ” หม่อมหลวงชโยทิตกล่าว

หม่อมหลวงชโยทิตกล่าวว่า Decarbonization  ถือเป็นโอกาสในการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยการบ้านของรัฐบาลไทยคือมีแผนปฏิบัติการในการลดคาร์บอนให้ได้ 180 ล้านตันจาก 300 กว่าล้านตันภายในปี 2030

“ถ้าถามว่าต้องลดคาร์บอนลงไปประมาณ 180 ล้านตันเป็นตัวเลขใหญ่ และยากสำหรับประเทศไทยหรือไม่ ผมคิดว่าเราได้โจทย์ไม่ยาก เพราะใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าน้อยมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้ามากกว่า 50-60 % เพราะฉะนั้นประเทศเพื่อนบ้านของเรามี  Carbon Footprint(การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์) มหาศาล ขณะที่ตัวเลขการปล่อยคาร์บอนของเวียดนาม 2,000 ล้านตัน อินโดนีเซีย 3,000 ล้านตัน  มาเลเซียประมาณ 1,500 ล้านตัน เพราะฉะนั้นหากนักลงทุนต้องการพลังงานสะอาดไทยจึงเป็นโอกาสในการพิจารณา” หม่อมหลวงชโยทิตกล่าว

หม่อมหลวงชโยทิตกล่าวอีกว่า แผนการลดคาร์บอนของไทย เพื่อเดินไปสู่ Carbon Neutral  ในปี 2040  ประเทศไทยจะผลิตไฟฟ้าจากการใช้ถ่านหินสัดส่วนน้อยมาก โดยภายในปี 2040 จะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 52% แก๊สธรรมชาติ40% และถ่านหิน7 %

“แม้ว่าเราจะใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าบ้าง แต่เราจะทำเป็น clean coal technology  โดยนำคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากการเผาถ่านหินเก็บลงไปในชั้นใต้ดิน ซึ่งได้สำรวจแล้วว่า พื้นที่แม่เมาะ จ.ลำปาง มีความเหมาะสมและสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นภายในปี 2040 เราจะเป็นเศรษฐกิจที่สะอาดที่สุดในอาเซียนหรือสะอาดใน 1 ใน 5 ของโลกเนื่องจากว่าเราจะมีสมดุลการผลิตไฟฟาแบบนี้อยู่แล้ว” หม่อมหลวงชโยทิตกล่าว

ไทยตั้งเป้าศูนย์กลางพลังงานสะอาด

หม่อมหลวงชโยทิต ยังบอกอีกว่า ประเทศไทยมีความโชคดีเพราะมีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยตั้งแต่ปี 1980 เพราะฉะนั้น Decarbonization ของไทยจึงง่ายกว่าประเทศเพื่อนบ้านและได้รับการยอมรับในต่างประเทศ และในการประชุมเอเปคว่าโรดแมปการลดคาร์บอนไดออกไซด์ และการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนของไทยมีความเปนไปได้ว่าเราจะสามารถทำได้จริง

“ผมคิดว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานของเราไปสู่พลังงานสะอาดทำได้ เพราะขณะนี้เราได้เริ่มทำแล้วโดยเราเริ่มประมูลพลังงานไทยฟ้าหมุนเวียนประมาณ 10,000 เมกะวัตต์  โดยประมูลไปแล้ว 5,000 เมกะวัตต์และเตรียมจะประมูลอีก 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้เรายังมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่สามารถพัฒนามาเป็น Floating Solar(โซลาร์ลอยน้ำ) พลังงานแสงอาทิตย์ได้ ประเทศไทยเรามีศักยภาพเรื่องของพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก” หม่อมหลวงชโยทิตกล่าว

“ในอนาคตไทยจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของนักลงทุนที่ตองการพลังงานสะอาด  โดยขณะนี้อุตสาหกรรมเป้าหมายเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์  ไฟฟ้า  อิเล็กทรอนิกส์ ที่รัฐบาลเข้าไปเชิญชวนได้สนใจมาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะรถยนต์ EV ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมทำเรื่องนี้เพราะหากเราไม่ทำ และผลิตแค่รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เราอาจจะไม่รอดในอีก 4-5ปีข้างหน้า” หม่อมหลวงชโยทิตกล่าว

“อุตสาหกรรมรถยนต์ และไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์แค่ 2 อย่างนี้ก็ 40% ของจีดีพีประเทศไทย ถ้าวันนี้เราไม่เอารถ EV มาในไทย  หรือชี้ชวนให้มาลงทุนในไทยเราไม่ตายวันนี้ แต่อีก 5 ปีข้างหน้าเราตายแน่ถ้าเราผลิตแค่รถที่ใช้น้ำมัน  ดังนั้นจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ” หม่อมหลวงชโยทิตกล่าว

หม่อมหลวงชโยทิตกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งนอกจากนี้รัฐบาลเตรียมการลงทุนในเรื่องของ ระบบ data center  เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ ทั้ง อุตสาหกรรมเกษตร และอื่นๆที่ต้องการ ระบบ data center เพื่อช่วยให้มีการ พยากรณ์ ดิน ฟ้า อากาศ ได้อย่างแม่นยำ  ซึ่งข้อมูลจะช่วยให้ไทยก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆได้

“ คิดว่าเป็นโอกาสในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว โดยไทยต้องเป็นศูนย์กลางค้าขายและการลงทุน เรื่องของพลังงานสะอาด ที่ให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายการลงทุนมาไทยมากขึ้น” หม่อมหลวงชโยทิตกล่าว

เครือข่ายความร่วมมือสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในช่วงเสวนา Carbon Credit: Mrchanism for Green Economy? ด้าน นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าวว่า  โครงการแม่โขงเพื่ออนาคตขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ดำเนินงานโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เพื่อสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน ผ่านการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาสังคม พันธกิจความสอดคล้องด้านกลยุทธ์เรื่องสภาพภูมิอากาศของ USAID

WWF เน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูงและเร่งด่วนเช่นลุ่มน้ำโขง ผ่านกลไกการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยมีคณะทำงานทั่วโลก โดยพัฒนาโปรแกรมรับรองคาร์บอนเครดิต ที่มุ่งเน้นการรับรองคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงทางสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้เพื่อให้การทำงานในการลดคาร์บอนสามารถตรวจสอบและได้รับการรองรับที่เชื่อถือ ได้มีการตั้งคณะทำงานคาร์บอนที่มีคณะทำงานระดับโลกที่ทำงานทุกภาคส่วนในปี 2020 และออก BLUE PRINT  เพื่อเป็นแนวทางการทำงานในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

ดร.พิเศษ สอาดเย็น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า TIJ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ผลักดันให้เกิดการรวมตัวของภาคีเครือข่ายองค์กรต่างๆ จากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (Rule of Law and Development Program) หรือ RoLD Program โดยเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD Fellows) ได้นำประเด็นปัญหาฝุ่นและหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวพันกับหลายประเทศอาเซียน มาสร้างวงสนทนาแลกเปลี่ยนผ่านมุมมองที่มองผ่านเลนส์ในประเด็นด้านความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice)

โดยมีข้อเสนอที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่นและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของไทย คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงของสาเหตุการเกิดฝุ่นควันที่มาจากการเผาในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและนำแนวทาง “การพัฒนาทางเลือก” (Alternative Development) มาช่วยทำให้ประชาชนในพื้นที่ลดการเผาในที่โล่ง พร้อมกับมีอาชีพทางเลือกใหม่และมีรายได้ที่มั่นคงมาทดแทน ซึ่งจะช่วยลดการกล่าวโทษประชาชน แต่เปลี่ยนไปเป็นการร่วมมือกันของทุกฝ่ายเพื่อวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

“การส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่าย และสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมด้านทรัพยากร ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความเป็นธรรมควบคู่กับการพัฒนาและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้” ดร.พิเศษกล่าว