ThaiPublica > คนในข่าว > “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” สร้างความมั่นคงอาหาร “ฉบับชาวบ้าน” มุ่งดูแล ‘ดิน-น้ำ- สร้างเครือข่าย’ รับมือโลกเดือด

“วิวัฒน์ ศัลยกำธร” สร้างความมั่นคงอาหาร “ฉบับชาวบ้าน” มุ่งดูแล ‘ดิน-น้ำ- สร้างเครือข่าย’ รับมือโลกเดือด

16 กุมภาพันธ์ 2024


“วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สร้างความมั่นคงอาหาร “ฉบับชาวบ้าน” แบบพึ่งพาตัวด้วย “โมเดลโคกหนองนา” พร้อมเดินหน้าชวนทุกคนลงมือสร้างชุมชนพึ่งพาตัวเอง Eco Village เพื่อระบบนิเวศที่ยั่งยืน ช่วยชะลอโลกเดือด

วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

“อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) ออกมาเตือนคนทั้งโลกโดยประกาศว่า “ยุคภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลงแล้ว พวกเรากำลังอยู่ในยุคภาวะโลกเดือด”​

ใครต่อใครอาจตระหนักถึงคำเตือนนั้นอย่างแตกต่างกันไป แต่สำหรับ “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นั่นคือสัญญาณสำคัญที่บอกว่าไม่มีเวลาเหลืออีกต่อไป ทุกคนต้องมาร่วมมือกัน และเริ่มลงมือทำเพื่อลดผลกระทบจากโลกเดือด

“เลขาฯ ยูเอ็นได้พูดแรงมาก ภาวะโลกร้อนมันได้ยุติลงแล้ว แต่เปล่า มันได้เปลี่ยนเป็น boiling แล้ว มันเดือด และมนุษย์…ถ้าคุณยังไม่เปลี่ยนแปลง คุณพยายามดำรงชีวิตอยู่อย่างนี้ แล้วคุณคิดว่าโลกร้อนมันจะยุติ ไม่มีทาง มันเดินทางมาถึงจุดที่ถอยหลังไม่ได้แล้ว เพราะเพราะมนุษย์ไม่เปลี่ยน”

ภาวะโลกเดือดไม่เพียงทำให้อุณหภูมิโลกสูงเพิ่มมากขึ้น แต่ยังรวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์ ซึ่งอาจจะลดลงจนทำให้มีผลต่อความมั่นคงอาหาร

แล้วมนุษย์รับรู้ถึงผลกระทบเหล่านี้หรือยัง อาจารย์ยักษ์ บอกว่า “ผมไม่ห่วงแล้ว ผมทำใจ เรื่องนี้เหมือนกับการล่องเรือสำราญที่ทุกคนกำลังสนุกสนาน ดื่มไวน์ การส่งคำเตือนอาจจะไม่มีใครรับฟัง เพราะทั้งโลกกำลังมีความสุขกับการพัฒนาที่เกิดขึ้น
ใครจะโดดออก คุณไปตะโกนในเรือสำราญว่าอันตราย แต่เขากำลังเมา สุนก กำลังกินไวน์ เต้นรำมีความสุข เขาก็คิดว่าเราบ้า ยังไงก็ต้องตายกันเป็นส่วนใหญ่”

อาจารย์ยักษ์มองว่าการลงมือทำ และสร้างเครือข่ายชวนกันทำ คือวิธีการส่งสัญญาณเตือนที่ดี โดยที่ผ่านมูลนิธิฯ ได้พยายามเดินทางสร้างความยั่งยืนเพื่อลดการใช้ทรัพยากรของโลกอยู่แล้ว

“ผมเริ่มปลง ซึ่งคำว่าปลงไม่ได้แปลว่าผมทิ้ง ผมทำเต็มกำลัง ใครเชื่อเขาก็กระโดดลงมาร่วมทำด้วยกัน ตอนนี้มูลนิธิและเครือข่ายมีประมาณ 20 กว่าองค์กร”

อาจารย์ยักษ์มองว่า การจะลดผลกระทบจากภาวะโลกเดือด ทุกคนต้องช่วยกันทำโดยเริ่มจากตัวเองก่อน

“ตัวเรานี้แหละรอดและรอดก่อน ยังไม่ต้องพูดถึงคนอื่นหรอก เพราะต้องกระโดดออกมาจากเรือสำราญแล้วมาอยู่เรือเล็กอย่างเรา แล้วคุณจะรู้ว่าน้ำกำลังหลาก ข้างหน้ากำลังจะเป็นเหว แต่ถ้าอยู่ในเรือสำราญไม่เห็นอะไร มาอยู่ในแพเล็กๆ มันจะเห็น น้ำไหลแบบนี้ เราจะไม่ลงทะเล ต้องมาร่วมกันทำจากเรือเล็กนี้แหละ”

วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

สร้างความมั่นคงอาหาร “ฉบับชาวบ้าน”

สิ่งที่อาจารย์ยักษ์ พร้อมด้วยเครือข่ายฯ เชื่อและทำมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาคือ การสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยการดูแลดิน น้ำ เพื่อการพึ่งพาตัวเอง สร้างแหล่งอาหารของตัวเองให้มากที่สุด

แต่หากให้อธิบายความมั่นคงอาหาร อาจารย์ยักษ์บอกว่า นิยามความมั่นคงทางด้านอาหาร แล้วแต่ว่าเป็นนิยามของใคร แบบบ้านๆกับแบบนักวิชาการ มีความแตกต่างกัน

ถ้ามองความมั่นคงอาหารแบบนักวิชาการ ต้องอธิบายว่ากระบวนการผลิตอาหารมาอย่างไร เพียงพอไหม และกระจายทั่วถึงไหม แล้วได้คุณค่ากับคุณภาพหรือไม่ รวมไปถึงมิติของการผลิตและการกระจายทั่วถึงหรือไม่ ระหว่างคนชั้นกลาง คนจน คนรวย

“มีคนบางกลุ่มหนึ่งเข้าไม่ถึงอาหาร มีปัญหาขาดสารอาหาร โดยในช่วงที่ประเทศไทยร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 กระทรวงสาธารณสุขตรวจเลือดเด็กนักเรียนทั้งประเทศ พบว่าเด็กนักเรียนครึ่งประเทศเป็นโรคขาดสารอาหาร เพราะครอบครัวเด็กเหล่านี้มีฐานะยากจนเข้าไม่ถึงแหล่งอาหาร ขณะที่คนอีกหลุ่มหนึ่งขาดความรู้เรื่องสุขภาวะ มันจึงมีคำว่า health literacy ส่วนคนรวยส่วนใหญ่ก็มีกินจนล้น”

ขณะที่ความมั่นคงทางอาหารในมุมมองของชาวบ้านต้องอธิบายในภาษาที่เป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ เช่น ที่ผ่านมา เราพยายามอธิบายการสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่ชาวบ้านอาจจะไม่เข้าใจความหมาย

“ถ้าไปบอกทฤษฎีใหม่ 30:30:30:10 ชาวบ้านตาลอย ถ้าพูดภาษาชาวบ้านให้รู้เรื่อง บอกให้ขุดดินมันเพื่อทำเป็นหนองน้ำ แล้วดินเอาไปไหน อย่าเอาไปทิ้ง เอามาถมก็เป็นโคก พอเป็นโคกก็ปลูกของกินเหมือนโพน ชาวบ้าน…ว้าวเลย มันเหมือนโพนพริก ของกินเพียบ ในหนองก็มีปลา มีกุ้ง มีหอย มีผักบุ้ง มีผักสารพัด โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าขุดหนองขึ้นมาถมโคก ของกินจะเหลือล้น ไม่ต้องปลูก ไม่ต้องเลี้ยง ชาวบ้านเข้าใจได้เลย”

อาจารย์บอกว่าเวลาอธิบายเรื่องการทำนาว่าให้สำรวจพื้นที่และยกคันนาให้รอบ ด้วยการขุดดินโดยรอบมาปั้นคันนาก็ได้คลองล้อมรอบที่ ดินที่ขุดได้เอามาปั้นคันนา คนก็เดินได้ ควบคุมน้ำได้เหมือนมีชลประทานของตัวเอง

“คันนานี้คือสันเขื่อนของชาวบ้าน ชาวบ้านทุกบ้านมีเขื่อนของตัวเอง มีคลองส่งน้ำของตัวเอง มีหนองน้ำ คือ มีอ่างเก็บน้ำของตัวเอง และมีภูเขาส่วนตัว พูดง่ายๆ ว่า ‘ควนนาเล’ สำหรับภาษาใต้ หรืออีสานเรียกว่า ‘โคกหนองนา’ เป็นที่มาของโคกหนองนา แต่คนไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจในสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 คิด พระองค์ท่านเรียกมันว่าทฤษฎีใหม่”

นอกจากนี้ การลงมือทำด้วยความเข้าใจในแบบง่ายๆ ของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความรู้เรื่องการจัดการดิน การจัดการน้ำ ซึ่งนั่นหมายถึง ความรู้ว่าด้วยเรื่องของการจัดการดินและน้ำ

ชีวิตจะอยู่รอดต้อง ‘จัดการดิน จัดการน้ำ’ให้เป็น

ดินมีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดกำเนิดของชีวิต ปี 2566 ทั่วโลกมีข้อตกลงให้ใช้คำว่า Soil and Water: a source of life คือชีวิตจะอยู่รอด ต้องจัดการดิน จัดการน้ำให้เป็น

อาจารย์ยักษ์อธิบายความหมายของการจัดการดินว่า พื้นที่ไหนต่ำแล้วน้ำไหลไปรวมกันให้เอาดินย้ายไปไว้ที่สูง ยกให้เป็นภูเขาเป็นโคก แล้วสร้างบ้านบนโคก ปลูกต้นหมากรากไม้บนโคกปลูกให้ทั่ว พอฤดูแล้งในหนองก็มีน้ำแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมได้

“พระองค์ท่านเรียกว่าทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง แต่เราไม่เรียกทฤษฎีใหม่ เราเรียกว่าโคกหนองนา ถ้าไปภาคใต้ให้เรียกว่าควนนาเล ควนคือเขา นาก็คือนา และเลก็คือที่หนอง”

ส่วนคำว่าทฤษฎีใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินจากไหน พระองค์ท่านก็ศึกษามาจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ซึ่งทำไว้ดีแล้ว เมื่อบรรพบุรุษทำไว้ดีแล้วเราก็เดินตาม เพราะฉะนั้น การจัดการโคกหนองนา โคกก็คือที่หลบน้ำท่วม หนองคือที่หลบน้ำแล้ง นาคือที่ผลิตอาหาร

แล้วคำว่า นาในความหมายแท้ของประเทศไทย คือท้องนา หรือ แหล่งผลิต อาหาร กุ้ง หอย ปู ปลา แหล่งผลิตผัก

“ในอดีตผักของชาวบ้าน เขาไม่เคยปลูก เขาเก็บในนามากิน ปลาเขาก็เก็บในนา แม้จะแล้งจนแห้งหมด ปลาก็ไปรุมในที่ต่ำๆ เขาเรียกปลาข่อน หรือปลาตกคลัก แถวบ้านผมที่บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา เขาเรียกปลาตกคลัก อีสานเรียกปลาข่อน นี่คือที่ที่มีของกินของชาวบ้าน”

การเรียนรู้แบบวิถีพึ่งตัวเอง อาจารย์ยักษ์บอกว่า ในอดีตการพึ่งพาตัวเองในเรื่องอาหารเป็นวิถีชีวิต และอยู่ในระบบการศึกษาไทยที่สอนให้พึ่งตัวเอง แต่ปัจจุบันการศึกษาไทยสอนให้เด็กเลิกเพิ่งตนเอง หันมาเพิ่งเงินเดือนอย่างเดียว

“ทุกวันนี้คุณไปดูทุกโรงเรียนในประเทศไทยเอามาตรฐานเดียวไปจับวัด ต้องภาษาอังกฤษดี ต้องคณิตศาสตร์ดี ต้องภาษาไทยดี นี่มนุษย์กำลังบ้ากันทั้งโลก คุณไม่เปลี่ยน แล้วโลกมันจะรอดได้อย่างไร insanity คือ มนุษย์วิปลาส ใครเป็นคนพูด ‘Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results.’ คือมนุษย์คนบ้าเท่านั้นแหละ คุณทำเหมือนเดิมแต่อยากเห็นผลแบบใหม่ มนุษย์ทั้งโลกทุกวันนี้ นี่คือกลียุคกำลังเข้ามาเยือน เพราะการศึกษา เรียนแล้วไม่เป็นไท เรียนแล้วไม่เป็นอิสระ”

วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

เลิกพูดและลงมือทำ แล้วโลกจะรอด

ไม่เพียงแค่การจัดการศึกษาที่อาจารย์ยักษ์มองแตกต่างออกไป หากยังรวมถึงอีกหลายประเด็น อาทิ เรื่องของการจัดการที่ดินของ ส.ป.ก. ที่จัดสรรไปแล้วไม่ได้สร้างให้เกิดแหล่งอาหารที่แท้จริง

“อย่าง ส.ป.ก. จัดที่ดินไป 40 ล้านไร่ ที่มันควรจะเป็นป่าให้ชาวบ้านไปอยู่ แต่ที่ดินที่จัดไป 40 กว่าล้านไร่ก็ไม่ได้ทำประโยชน์ ไม่ได้ผลิตอาหาร สมกับที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติ และการจัดสรรที่ดินเพื่อการทำการเกษตร คุณต้องมีระบบดินที่สมบูรณ์ มีระบบน้ำที่สมบูรณ์แต่เรามีระบบน้ำที่ดีแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง”

อาจารย์ยักษ์บอกว่า เคยเสนอแนวคิดเหล่านี้ผ่านสื่อไปหลายครั้งแต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงเลือกที่จะลงมือทำกับเครือข่ายฯเริ่มจากจุดเล็กๆ

“พูดนับครั้งไม่ถ้วน ไม่เปลี่ยน ไม่กระดิกหู ผมเลยเลือกที่จะมาทำเล็กๆ ให้ดู ผมเริ่มเชื่อแล้วว่า actions speak louder than words คือลงมือทำมันส่งเสียงดังมากกว่าการพูด การเขียนแผน เขียนกฎหมาย ผมเขียนกฎหมายไว้ตั้งไม่รู้กี่ฉบับ เขียนแผนมาเยอะ จะเห็นว่าตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 4, แผนฯ 5, แผนฯ 6, แผนฯ 7 แผนที่เท่าไหร่แล้วเนี่ย ผมว่าแผนที่ร้อยก็แก้ไม่ได้”

สิ่งที่อาจารย์ยักษ์ทำคือแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย โดยอาจารย์บอกว่าเดินตามแผนของสหประชาชาติว่าด้วยความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2573 และเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจน ปกป้องโลก

“17 เป้าหมาย เราทำทุกข้อ แต่ว่าเราให้น้ำหนักกับข้อสองเรื่องความอดยากของมนุษย์ต้องเป็นศูนย์ เราฝัน เรากำลังล่าฝัน ซึ่งผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นจริงหรอก แต่ผมก็ใส่เต็มที่ แล้วทำด้วยกันกับข้อ 17 คุณต้อง partnership for the goal ถ้าคุณไม่สร้างพลังความศรัทธาร่วมกันได้ ทำคนเดียวมันไปไม่รอด”

อาจารย์ยักษ์บอกว่า วิธีที่จะดึงคนเข้ามาร่วมกัน คือนำคนที่กำลังดังมาตีปี๊บ นำนักร้องมาแต่งเพลง เอานักดนตรีมาร้องเพลง และคนทำงานจริงที่อยู่ในสนาม ลุกขึ้น ร่วมมือกันทำ เหมือนถือจอบลงขุดดิน ชุมชนหนึ่งชุมชน สร้างป่าขึ้นมาเป็นพันไร่ ในขณะที่กระทรวง คนมาเป็นรัฐมนตรี 8 ปี สร้างป่าไม่ได้สักต้น ดังนั้นต้องมาลงมือช่วยกันทำ

“ต้องลงมือทำ ในหลวงรัชกาลที่9 ท่านตรัสอย่างนี้ เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญให้กับประเทศได้ แต่ต้อง1.มีความเพียร 2.แล้วต้องอดทน 3.ต้องไม่ใจร้อน 4.ต้องไม่พูดมาก 5.ต้องไม่ทะเลาะกัน 5 อย่างนี้ คุณว่ายากไหม ต้องมีความเพียร ก็ยากแล้ว ทำไปได้สักปีสองปี เมื่อไหร่จะสำเร็จสักที”

ผมทำมา 30 ปีมันยังไม่สำเร็จเลย คือต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่พูดมาก อย่าดีแต่พูด ต้องไม่ทะเลาะกัน ทำโดยเข้าใจกันเชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไรขึ้น สามัคคีเท่านั้นถึงจะรอด

“มันต้องช่วยกัน ไอ้คนนี่ขี้โกงที่สุด ไอ้คนนี่ใจดีที่สุด ไอ้นี่เป็นพระ ไอ้นี่ชอบขโมยดินสอเพื่อน แต่มันอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน คือมันต้องประคองกันไปให้มันจบทุกคน”

ลดความอดอยาก และสร้างเครือข่ายร่วมกัน

อาจารย์ยักษ์บอกว่า “เป้าหมายในการทำงานคือลดความอดอยาก และสร้างเครือข่ายร่วมกันเพื่อหยุดโลกร้อน เพราะตอนนี้โลกมันเดือด ผลจากโลกร้อนทำให้คนใจร้อนแล้วฆ่ากัน อาวุธก็สร้างขึ้นมา สะสมไว้ และระบายอาวุธเก่าออกก่อน เอาไปยิงกันให้หมด แล้วผลิตอาวุธใหม่ขึ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจ คุณก็รู้ว่าเศรษฐกิจมันตกต่ำ วิธีแก้คือสร้างสงคราม จริงๆ เป็นเรื่องที่เขารู้กันมานานแล้ว”

นอกจากนี้อาจารย์ยักษ์ ยังได้มุ่งสร้างการขับเคลื่อนสังคม เปลี่ยนแปลงสังคม พัฒนาสังคม โดยการพลิกมามุ่งสร้างสรรค์ มาร่วมกันทำงาน อย่างที่พระสังฆราชท่านตรัส เอาที่ดินมายกให้ 10 ไร่ แล้วบอกให้สร้างสัปปายะสถาน ในความหมายของพระพุทธเจ้า คือ มนุษย์อยู่ที่ไหนต้องสร้างสัปปายะสี่ขึ้นที่นั้น

“มนุษย์สัปปายะ ให้ถือประโยชน์ตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์ เกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง นี่คือธรรมะสัปปายะ ซึ่งการศึกษาไทยต้องสอนเรื่องนี้ คือ ต้องสร้างธรรมมะสัปปายะ ความรู้ที่ถูกต้อง ความรู้ที่ดี ความรู้ที่เป็นธรรม ต้องปลูกฝังลงในใจคน ต้องสร้างสถานที่ที่ดี อาหารดี มีคุณค่า ประโยชน์ต่อตน เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”

การลงมือทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้วิถีแห่งความพอเพียง อาจารย์ยักษ์ได้ตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แนวความคิด ในการที่จะฟื้นฟูประเทศ โดยการนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ให้ใช้กับการทำการเกษตรและการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

ศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ การฟื้นฟู การทำเกษตรกรรมที่ไม่ใช่สารเคมี โดยเป็นสถานที่จัดทำแปลงสาธิตในเรื่องของการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้กับสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัว นาข้าว เพื่อให้ความรู้และเป็นแปลงตัวอย่างให้กับกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่น และผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้วิถีดังกล่าว

นอกจากมีศูนย์การเรียนรู้แล้ว อาจารย์ยักษ์ยังได้เริ่มตลาดแนวคิดใหม่ที่ไม่เน้นกำไร เรียกว่าตลาดคุณปู่ เพื่อระลึกถึงความกตัญญู ความดี ของครูบาอาจารย์ที่เคารพรัก

“เราเรียกว่าตลาดคุณปู่ คุณปู่หมายถึงปู่ของทุกคน ผู้ที่คนที่เคารพรัก ตลาดที่เราเปิดขึ้น เรียกว่าคุณปู่หมด เป็นตลาดแห่งความดี หรือตลาดคุณปู่นั่นเอง ปู่รักเรา ดูแลเรา เสียสละเพื่อเรา ความเป็นปู่คือทุกอย่าง หมายถึงปู่ของทุกคน”

อาจารย์ยักษ์บอกว่า ตลาดคุณปู่ 1.ตลาดต้องสงบร่มเย็น 2.สินค้าต้องดี ต้องผลิตขึ้นมาด้วยใจที่อยากจะให้ 3.การตั้งราคามี 4 ข้อคือ หนึ่ง ราคาแล้วแต่ใจผู้ซื้อ เช่น ผมไปกินกาแฟในร้านกาแฟโรงเรียน นักเรียนไปศึกษามาว่ากาแฟจะรักษาป่าได้อย่างไร ถามว่าราคาเท่าไหร่ บอกว่าแล้วแต่ใจ ผมต้องกินแก้วละสามพันบาท นี่คือราคาแล้วแต่ใจ สอง การตั้งราคาตลาดที่เป็นมาตรฐาน เขาขายกันเท่าไหร่ สาม ราคาต้นทุน คุณขายเท่าทุน คนไม่มีตังค์ซื้อ เอาเท่าทุน สี่ ราคาขาดทุน ห้า ให้ฟรี นี่คือปรัชญาของตลาดคุณปู่

“ตลาดเราซื้อขายแบบนี้ ถ้าคุณไม่เคารพปรัชญานี้ก็ไปขายที่อื่น เพราะเราไม่เก็บค่าเช่า ให้ขายฟรี ซึ่งตลาดคุณปู่จะเปิด 10 ตลาดทั่วประเทศ แล้วมีคนถามว่าไม่ได้คิดถึงเงินแล้วอยู่ได้ไง คนมันมีน้ำใจ ก็ผมกินกาแฟผมยังต้องจ่ายแก้วละสามพัน คนมีน้ำใจมันมี คนเอาเปรียบมีไหม มี มันก็ปนกัน แต่อยู่ได้ สุดท้ายมันอยู่ได้”

ชุมชน “อีโควิลเลจ” ระบบนิเวศยั่งยืน

นอกจากศูนย์เรียนรู้แล้ว สิ่งที่อาจารย์ยักษ์และเครือข่ายกำลังเริ่มทำคือการมีเมืองลูกหลวงทั้ง 4 ด้าน กระจายรอบกรุงเทพมหานคร ที่เรียกว่า อีโควิลเลจ (ecovillage) มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศอย่างยั่งยืนและเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วบนพื้นที่ 1,000 ไร่ที่คลอง 14 นครนายก

“ผมเรียกมันว่าอีโควิลเลจ ผมตั้งใจจะผลิตอาหาร น้ำ ยา ผมเรียกว่าเมืองลูกหลวง ผมจะทำ 8 จุด จุดละ 1,000 ไร่ ก็จะมีประมาณ 8,000 ไร่ เอาเฉพาะรอบกรุงเทพฯ ก่อน”

รูปแบบของอีโควิลเลจ คือทุกคนในชุมชนมีหุ้นกันในบริษัทอาสาชาวนามหานคร โดยทุกคนที่มาถือหุ้นมีสิทธิในที่ดินของบริษัท 100 ตารางวา อยู่ติดน้ำทุกแปลง ติดทะเลสาบ โดยราคาที่ดินแปลงละ 8 แสนบาท

“คนที่มาซื้อคุณต้องมาอบรมก่อน ไม่อย่างนั้นไม่มีสิทธิซื้อ คุณจะขายให้เพื่อนได้ แต่เพื่อนต้องมาอบรมถึงมีสิทธิซื้อแล้วขายต่อก็ได้ ขายสิทธิในหุ้นอย่างนี้ มันเป็นกติกาที่ตกลงกัน”

อาจารย์ยักษ์บอกว่า ชุมชนอีโควิลเลจ จะมีระบบทุกอย่างที่สามารถพึ่งตัวเองได้ มีน้ำ อาหาร มียา ผลิตสมุนไพรซึ่งเมืองลูกหลวงสามารถสนับสนุนอาหาร น้ำ และยาหากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครมีปัญหาหรือเผชิญวิกฤติ

“ถ้าเมืองใหญ่ๆ อาทิ ขอนแก่น อุดรธานี กรุงเทพฯ ถ้าเจอวิกฤติน้ำท่วม ไม่มีอะไรจะกิน ไปไหนก็ไม่ได้ เราก็จะเตรียมเมืองลูกหลวง กล่าวคือเมืองใหญ่ เขาจะมีเมืองชั้นใน เมืองชั้นกลาง เมืองชั้นนอก แล้วก็มีเมืองลูกหลวงเอาไว้เป็นตัวสำรอง สมัยโบราณเขาทำคูน้ำ เขาป้องกันการโจมตี เราเตรียมเมืองลูกหลวงไว้ ส่งอาหาร ส่งเสบียง ส่งน้ำ ส่งยา นี่คือวิธีคิด โดยทำเลการตั้งเมืองลูกหลวงคือต้องเดินไม่เกิน 2 วันและขับรถ 30-40 นาที จึงจะถือเป็นทำเลที่ดี”

บนพื้นที่ชุมชนอีโควิลเลจ จะจัดแบ่งพื้นที่เป็นที่นา มีคุ้มทั้งหมด 7 คุ้ม อาทิ คุ้มธารธรรม เพื่อให้สมาชิกที่ชอบปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ โดยในคุ้มนี้มีบ้านประมาณ 20 หลังคาเรือน, คุ้มชาวนา กลุ่มนี้เตรียมทำนา ทำไร่ และเชื่อมกับนารอบๆ 3,000-4,000 ไร่ โดยในคุ้มที่ทำนา ต้องสอนคนนอกที่อยากทำนาด้วยโดยคุ้มทำนามี 20 หลังคาเรือน หลังคาเรือนละ 100 ตารางวา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในคุ้มทำนามีที่ดินในการทำนาแค่ 100 ตาราวา อาจจะสามารถผลิตข้าวได้น้อย ดังนั้น ต้องสร้างเครือข่ายชาวนาทั้งหมด แล้วก็ตั้งโรงสีขึ้นโดยให้ชาวนาทั้งหมดมาเป็นเจ้าของโรงสีร่วมกัน และทำเป็นโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ ซึ่งหลักการทำเรื่องนี้ได้พระราชบัญญัติเพื่อจัดส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม

“พระราชบัญญัติเพื่อจัดส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่วิสาหกิจชุมชน คนละอันกันนะ อันนั้นไม่มีพระราชบัญญัติรองรับ อันนั้นต้องไปจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนอันนี้มีพระราชบัญญัติและมีหน่วยงานใหม่ คอยส่งเสริมบริษัทนี้ บริษัทเพื่อสังคม”

อาจารย์ยักษ์บอกว่า การสร้างชุมชนอีโควิลเลจ ใกล้จะแล้วเสร็จในระยะที่ 1 โดยขณะนี้มีคุ้มธารธรรม คุ้มชาวนาบ้านนอก คุ้มชาวเขา คุ้มเฮลท์ เฮลท์ ก็คือพวกดูแลสุขภาพ ส่วนใหญ่เป็นพวกเกษียณแล้วพวกสายหมอ เค้าก็มารวมกันเค้าจะผลิตยาตั้งโรงพยาบาลในอนาคต แล้วก็มีคุ้มศิลปิน

“ศิลปินที่แบบเป็นนักสร้างหนังมือหนึ่งของประเทศแล้วไปอยู่ด้วยกัน แล้วคุ้มชาวเขาผมอยู่คุ้มชาวเขา เพราะว่าผมจะสร้างภูเขา พื้นที่ไร่เดียวให้ดู แล้วในภูเขาก็จะมีน้ำผุดขึ้นมา มีน้ำตกมีลำธารล้อมรอบซึ่งน้ำจากภูเขาจะไหลลงทุกบ้าน และบ้านทุกหลังติดทะเลสาบ”

อาจารย์ยักษ์มองว่า การสร้างอีโควิลเลจ อาจจะช่วยสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนและสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ แต่ที่สุดแล้วเราต้องรู้จักคำว่า ‘เพียงพอ’ ตามทฤษฎีใหม่โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำไว้ 4,700 กว่าพื้นที่เราสามารถเดินตามแนวทางนั้นได้เลย