ThaiPublica > Thaipublica Sustainability > “ฮอนด้า-ชุมชน” ใช้เวลา 7 ปี เปลี่ยนเขาหัวโล้น ฟื้นป่าต้นน้ำ สร้างคนอยู่กับป่า

“ฮอนด้า-ชุมชน” ใช้เวลา 7 ปี เปลี่ยนเขาหัวโล้น ฟื้นป่าต้นน้ำ สร้างคนอยู่กับป่า

7 มกราคม 2024


“กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย” ผสาน “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ร่วมชุมชนฟื้นป่าต้นน้ำ ใช้เวลา 7 ปี เปลี่ยนภูเขาหัวโล้นเป็นพื้นที่ป่า 2,000 ไร่ ชุมชน 2,200 ครัวเรือน มีน้ำอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ที่เพียงพออย่างยั่งยืน

เมื่อปี 2559 พื้นที่เขาหัวโล้น ชุมชนบ้านดงผาปูน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
ปี 2566 พื้นที่ป่าชุมชนบ้านดงผาปูน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน หลังชาวบ้านร่วมกันฟื้นฟู

ความเขียวขจีของสภาพพื้นที่ป่าเกือบ 2 พันไร่  ชุมชนบ้านดงผาปูน  อ.บ่อเกลือ จ.น่าน แทบจะไม่เหลือร่องรอบเขาหัวโล้นในปี2559 ให้เห็นอีกต่อไปแล้วหลังจาก 7 ปีที่ผ่านมา กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ ร่วมกับชุมชน เข้าเปลี่ยนพื้นที่เขาหัวโล้นให้กลายสภาพเป็นพื้นทีป่าไม้ในแบบที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ถึงจุดเริ่มต้นความร่วมมือกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยฟื้นพื้นที่ป่าไม้เมืองน่าน ว่า ในปี 2558 ขณะนั้น พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงปัญหาการบริหารจัดการน้ำและปัญหาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการน้ำแห่งชาติหาพื้นที่ฟื้นป่า โดยที่ผ่านมามูลนิธิฯทำงานร่วมกับชุมชนประมาณ 1,800 ชุมชน แต่เห็นว่าพื้นที่ จ.น่านเป็นพื้นที่ค่อนข้างวิกฤติเพราะมีเขาหัวโล้นจำนวนมาก จึงเลือก พื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน  และ ชุมชนบ้านนาบง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน โดยใช้พื้นที่จำนวน 2,000 ไร่ เพื่อเริ่มโครงการ

จากเดิมพื้นที่  2,000 ไร่ชาวบ้านจะปลูกพืชหมุนเวียนและข้าวโพด แต่หลังจากได้ร่วมกับดำเนินงานร่วมกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย และได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เข้ามาดำเนินการฟื้นป่าไม้  เน้นประสบการณ์จัดการน้ำในชุมชนเข้ามาเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาพื้นที

“เรายึดหลักการทำงานตามแนวทาง ในหลวงร.9  ท่านรับสั่งว่า ก่อนที่ป่าไม้จะฟื้นตัวได้ต้องมีน้ำให้ความชุ่มชื้น และต้นน้ำทุกแห่งในพื้นที่ป่าไม้จะมีต้นกล้วยป่า  เราจึงนำเอาแนวทางดังกล่าวมาเริ่มทำโดยปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ต้นน้ำและทำระบบจัดการน้ำให้กับชุมชนให้กับป่าไม้เพราะป่าไม้จะฟื้นตัวได้ต้องมีน้ำก่อน”

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

สร้าง 3 ประโยชน์ต้นแบบฟื้นเขาหัวโล้น

ส่วนวิธีการดำเนินการคือการเข้าไปบริหารจัดการระบบ ทำให้พื้นที่ป่าไม้มีน้ำ ทำให้ชุมชนมีระบบน้ำ โดยเฉพาะการใช้พื้นที่ป่าไม้ ที่มองเรื่องดิน น้ำ และการเกษตรกรของชาวบ้านแล้วพัฒนาทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน

การฟื้นป่าต้องมีน้ำเพราะฉะนั้น เราก็จัดระบบน้ำ ซึ่งเราร่วมกันสำรวจพื้นที่กับชาวบ้านเพื่อวางระบบน้ำให้ป่าและให้ชุมชน โดยเปลี่ยนการทำเกษตรของชุมชนที่เดิมปลูกพืชหมุนเวียน ไร่ข้าวโพด ให้ปลูกกล้วย และพืชเศรษฐกิจอื่นร่วมด้วย เช่น ต๋าว หวาย เมี้ยง มะแขว่น พะยูง ยางนา กฤษณา เข้ามาปลูกเสริมในพื้นที่ไร่ข้าวโพด

“หลังจากที่เริ่มดำเนินการตอนนี้ป่าไม้เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ชาวบ้าน มีรายได้จากพืชที่ปลูกทั้ง ต๋าว หวาย กล้วย นำมาขายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างรายได้  โดยไม่ต้องปลูกข้าวโพด แม้ขณะนี้ยังมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดแต่ก็ลดลงมาก”

ดร.รอยอล บอกว่าความความสำเร็จของโครงการที่ไม่เพียง 7 ปี สามารถให้ป่าไม้ 2,000 ไร่ เริ่มฟื้นตัวเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายผลการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนไปยังชุมชนอื่น จนเกิดการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน

นอกจากนี้ยังเกิดความร่วมกันของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ มั่นคงน้ำ อุปโภค บริโภค และเกษตร จนเป็นต้นแบบฟื้นฟูเขาหัวโล้น ด้วยไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง รวมทั้งมีกลุ่มอาชีพและกองทุนชุมชน เกิดเป็นเครือข่ายร่วมกันพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน โดยใช้แนวพระราชดำริ จนเพิ่มปริมาณน้ำถึง 144,825 ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้มีพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลประโยชน์จากป่าต้นน้ำและการบริหารจัดการแหล่งน้ำยั่งยืนมากถึง 7,643 ไร่ ส่งผลให้ 2,198 ครัวเรือน (5,914 คน) ในลุ่มน้ำน่านทั้ง 5 พื้นที่ (จังหวัดน่านและจังหวัดพิษณุโลก) มีน้ำอุปโภค บริโภค และเพิ่มแหล่งน้ำสำรองสำหรับทำการเกษตรได้เพียงพอตลอดทั้งปี และเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย

กองทุนฮอนด้าฯทุ่ม 20 ล้าน ฟื้นป่าเมืองน่าน

ด้านนายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า  ถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ในช่วงระยะเวลา 7 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2566) ใช้งบประมาณ 9.2 ล้านบาท ดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า ที่นำมาซึ่งพื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีความอุดมสมบูรณ์สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน มีน้ำสำรองใช้ได้เพียงพอตลอดทั้งปี

“ส่วนตัวผมคิดว่าโครงการนี้ดีมาก เพราะมีจุดเปลี่ยนที่ดี จากเดิมที่ชาวบ้านเขาต้องรุกป่าเข้าไปเรื่อยๆ ปลูกพืชเชิงเดียวไร่ข้าวโพด แต่เขาหยุดและทำความเข้าใจอยู่ร่วมกับป่า และสามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนเพราะว่าชุนชนเข้าใจ หวงแหน อยากพัฒนาให้ดีขึ้น   เพราะชาวบ้านเองก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น สุขภาพดีไม่ต้องเป็นหนี้ ไม่ต้องซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลงอยู่กับป่า กินอยู่กับป่าได้ โดยไม่ต้องรุกป่าเพิ่มนี้คือต้นแบบของความยั่งยืน”

สำหรับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย เกิดขึ้นหลังจากเจอวิกฤติน้ำท่วมในปี 2554 ทำให้ริเริ่มการนำรายได้จากการขายรถยนต์ คันละ 1000 บาท และรถมอเตอร์ไซด์คันละ 100 บาท รวมถึงการขายเครื่องอเนกประสงค์ทุกเครื่องมารวมกัน โดยปัจจุบันกองทุนฯมีงบประมาณ 1,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เป็นโครงการระยะยาวแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2566 โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนงบประมาณรวมกว่า 20.4 ล้านบาท ได้แก่

ช่วงที่ 1: พ.ศ. 2560 – 2562 สนับสนุนงบประมาณรวม 11.42 ล้านบาท เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน ให้เข้าใจและบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เกิดความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค แบ่งการดำเนินการตามปัญหาการจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ใน 3 พื้นที่ได้แก่ 1) พื้นที่ชุมชนบ้านนาบงและบ้านดงผาปูน ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน 2) พื้นที่ชุมชนบ้านร้องแง ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน และ 3) พื้นที่ชุมตำบลนครป่าหมาก อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก

ช่วงที่ 2 : พ.ศ. 2563 – 2566 สนับสนุนงบประมาณรวม 8.97 ล้านบาท เน้นสร้างความมั่นคงน้ำ เพื่อเป็นต้นแบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อาหาร และผลผลิต เกิดกติกาการบริหารจัดการน้ำที่ยอมรับและนำไปใช้ร่วมกัน สามารถขยายผลความรู้และความสำเร็จสู่พื้นที่ใกล้เคียง ดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ใน 5 พื้นที่

ได้แก่ 1) พื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน (รวมชุมชนบ้านนาบงและชุมชนบ้านวังปะ) ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน 2) พื้นที่ชุมชนบ้านร้องแง ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน 3) พื้นที่ชุมชนตำบลนครป่าหมาก อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก 4) พื้นที่ชุมชนบ้านป่าแพะ ต.แม่ขะนิงอ.เวียงสา จ.น่าน และ 5) พื้นที่ชุมชนบ้านปางสา ต.จอมจันทร์ อ.เวียงสา จ.น่าน

นส.อัมพวา ใจปิง ผู้ใหญ่บ้าน ดงผาปูน อ.บ่อเกลือ จ. น่าน

จัดระบบบริหารจัดการน้ำ “ป่าฟื้น-ชุมชนรอด”

ความสำเร็จของโครงการทำให้พื้นที่ชุมชนบ้านดงผาปูน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ  ลำดับที่ 27 จากเดิมที่มีการตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนมาแล้ว 28 พื้นที่

นอกจากนี้ชุมชนบ้านดงผาปูน สามารถขยายผลการดำเนินงานและเสริมความมั่นคงทางน้ำ เป็นต้นแบบในการดำเนินการจองชุมชนบ้านดงผาปูน ยังขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ ชุมชนนาบงและบ้านวังปะ ซึ่งประสบปัญหาน้ำหลาก ดินถล่ม เส้นทางสัญจรโดนตัดขาด ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในงานเกษตรกรรมและเพื่อการอุปโภคเนื่องจากขาดแหล่งกักเก็บน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนมาอย่างยาวนาน”

นางสาว อัมพวา ใจปิง ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านดงผาปูน กล่าวว่า  หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ ชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ทำไร่เลื่อนลอย ทำไร่ข้าวโพด ในช่วงปีแรกๆเริ่มลดการปลูกข้าวโพด ปลูกกล้วย ปลูกต๋าว สร้างรายได้ ไปพร้อมๆกับการทำฝาย สร้างระบบความชุ่มชื้นให้ป่า พอป่าไม้ฟื้นตัวเราสามารถเก็บพืชผักจากป่าไปขายได้

“คิดว่าชาวบ้านเปลี่ยนหันมาดูแลฟื้นฟูป่าเพราะเห็นประโยชน์ จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกข้าวโพดมีรายได้เป็นปี แต่พอมีน้ำมีป่าชาวบ้านมีรายได้เป็นรายวัน แค่เก็บผักกรูด กิโล 15-20 บาท ก็สร้างรายได้ รวมไปถึงมี กล้วย หวาย ต๋าว และพืช อื่นๆ เช่น กาแฟ ไม้ไผ่ สามารถขายสร้างรายได้ ได้”

นอกจากนี้ชาวบ้านดงผาปูนยังรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์ เพื่อขายสินค้าทางออนไลน์ ทางเพจที่ชื่อว่า ของลำ-กำกิ๋น บ้านดง ผาปูน อ.บ่อเกลือเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

นายเพียร พิศจารย์ ผู้ใหญ่บ้าน นาบง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

ขณะที่นายเพียร พิศจารย์  ผู้ใหญ่ ชุมชนบ้านนาบง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน บอกว่า ชุมชนบ้านนาบง เป็นชุมชนลูกข่าย โดยนำเอาต้นแบบการดำเนินการใช้ในการบริหารจัดการชุมชนโดยเฉพาะในการบริหารจัดการน้ำ โดยเข้าร่วมในปี 2561 เริ่มจาการทำฝาย และสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำ แบ่งโซนพื้นที่ป่าไม้ และร่วมกันวางแผนการใช้ประโยชน์ในการจัดการน้ำ

“ที่ผ่านมาเราเคยมีปัญหาเรื่องน้ำ แต่หลังจากแบ่งโซนพื้นที่ป่า และวางแผนน้ำ โดยสำรวจพื้นที่ในการทำฝาย กั้นลำห้วยคำ ลำห้วยจาร เพื่อลดตะกอนและชะลอ และเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ทำให้มีน้ำตลอดทั้งปี”

ขณะที่นายศุภกิจ พิศจาร ประธานการจัดการน้ำบ้านดงผาปูน กล่าวว่าที่ผ่านมาชุมชนมีปัญหาเรื่องความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ จัดการป่า เนื่องจากเรามีต้นทุนน้ำจำลำห้วยอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะบริหารเพื่อใช้ประโยชน์อย่างไร  หรือสามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำหลากได้อย่างไร

หลังจากเราเข้าร่วมโครงการพัฒนา ก็สำรวจแหล่งน้ำทำฝายกักเก็บตะกอนเล็กๆนับร้อยแห่งเพื่อชะลอน้ำแ และ วางระบบท่อใต้ลำห้วยเพื่อนำมาน้ำกระจายให้ชุมชนได้อุปโภคบริโภค

ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรกร จะแยกวิธีการดำเนินการ โดยจะใช้ลำห้วยที่ชื่อว่าห้วยแห้ง แล้วรางระบบท่อประมาณ 2000 เมตร สร้างฝายคอกหมูเอาไว้เพื่อพักน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่  โดยปัจจุบัน เรามีฝายคอกหมู หลายร้อยตัว และฝายคอนกรีต 7-8 ฝาย เพื่อใช้ปลูกต้นไม้พันธุ์พื้นเมือง เช่น ต๋าว หวาย เมี้ยง มะแขว่น พะยูง ยางนา กฤษณาในพื้นที่

“ผมเราเปลี่ยนปลูกพืชเชิงเดี่ยวมปลูกพืชพื้นเมือง และบริหารจัดการน้ำให้ใช้ได้ทั้งปีจากเดิมที่เคยมีปัญหาน้ำแล้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม ปัจจุบันมีเพียงเดือนพฤษภาคม เดือนเดียวเท่านั้นที่มีน้ำน้อยแต่ไม่ถึงกับแล้ง” นายศุภกิจกล่าว

นายศุภกิจ พิศจาร ประธานการจัดการน้ำบ้านดงผาปูน

สำหรับหลักการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน มีรูปแบบการดำเนินการ การใช้ระบบจัดการน้ำการสร้างระบบฝาย กระจายในพื้นที่ เพื่อสร้างความชุ่มชื้น

โดยการแบ่งโซนพื้นที่ออกเปน 20% ของพื้นที่จะสงวนให้เป็นที่ปลูกป่าถาวร สำหรับปลูกไม้ยืนต้น เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำที่มีความชุ่มชื้น รากของไม้ยืนต้นมีขนาดใหญ่และสามารถรักษาดินไว้ได้

อีก 20% ของพื้นที่ถัดลงมาจะเป็นพื้นที่ป่าใช้สอย ชาวบ้านสามารถปลูกไม้ยืนต้นที่สร้างรายได้ หรือนำเอาผลผลิตที่ได้ไปขายได้

ส่วน 30% ถัดลงมาจะเป็นพื้นที่สำหรับการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ หม่อน ต๋าว หวาย มะขมได้ ขณะที่ พื้นที่อีก 30% พื้นที่ราบจะจัดให้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ หรือพืชหมุนเวียน

หลังการพัฒนาพื้นที่ไปพร้อมกับการฟื้นฟูป่าและการเปลี่ยนแปลงอาชีพ ของชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ทำให้สามารถเปลี่ยนพื้นที่เขาหัวโล้น 2,000 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่รอวันสมบูรณ์ เป็นแหล่งรายได้และอาหารให้กับคนในชุมชนเพิ่มขึ้น