ThaiPublica > คอลัมน์ > การจัดเก็บภาษีการขายหุ้นกับความเสี่ยงต่อภาคเศรษฐกิจจริง

การจัดเก็บภาษีการขายหุ้นกับความเสี่ยงต่อภาคเศรษฐกิจจริง

17 มกราคม 2024


ผศ. ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ. ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ตลาดทุนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาคการเงินในแต่ละประเทศ ตลาดทุนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในแต่ละประเทศก่อให้เกิดการแข่งขันกับสถาบันการเงินในการเป็นช่องทางระดมทุนให้กับภาคส่วนต่างๆ ส่งผลให้ภาคเอกชนและภาครัฐสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มีความมั่นคงและมีต้นทุนต่ำ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและการคิดค้นสินค้าหรือบริการลักษณะใหม่ๆ เพิ่มศักยภาพในการเติบโตและการแข่งขันของประเทศ

การจัดเก็บภาษีการขายหุ้น ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันกับภาษีธุรกรรมทางการเงิน (financial transaction tax) ที่จัดเก็บบนการซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการสร้างผลกระทบในลักษณะของการเพิ่มต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ อันมีส่วนลดทอนปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนประเภทต่างๆ ซึ่งหมายถึงสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง

ในมุมมองเชิงทฤษฎี สภาพคล่องที่ลดลงย่อมส่งผลให้การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์มีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์นี้จะลดทอนศักยภาพในการแข่งขันของตลาดทุน ในฐานะของช่องทางระดมทุนหลักช่องทางหนึ่งของภาคส่วนต่างๆ อันจะนำมาซึ่งต้นทุนในการระดมทุนที่เพิ่มสูงขึ้นผ่านภาคการเงิน นั่นคือ อัตราดอกเบี้ยของการระดมทุนของภาคเอกชนและภาครัฐจะเพิ่มสูงขึ้นในภาพรวม ไม่ว่าจะดำเนินการผ่านช่องทางใดก็ตาม

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในภาคการผลิต อันนำมาซึ่งการปรับตัวลดลงของระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของประเทศ สะท้อนถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

งานศึกษาโครงการ “ผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย” ที่คณะผู้วิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ได้อาศัยแนวคิดนี้ในการดำเนินโครงการวิจัย โดยผลลัพธ์ในส่วนแรกแสดงภาพผลกระทบของการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นต่อต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น

การจัดเก็บภาษีการขายหุ้นภายใต้เงื่อนไขที่เคยมีการประกาศออกมาโดยทางกระทรวงการคลังในช่วงปลายปี 2565 นั่นคือ ในปีแรกจะเริ่มจัดเก็บเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 0.055 (ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 0.05 และภาษีท้องถิ่นร้อยละ 0.005) ของมูลค่าหุ้นที่ขาย ส่วนในปีถัดไปจะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.11 (ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 0.1 และภาษีท้องถิ่นร้อยละ 0.01) ของมูลค่าหุ้นที่ขาย ถือได้ว่าไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนการซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าต้นทุนการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นเทียบเคียง โดยเมื่อรวมต้นทุนจากส่วนต่างๆ ทั้งหมดแล้ว การซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยยังมีต้นทุนต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เวียดนาม

อย่างไรก็ตาม อัตราร้อยละ 0.11 อยู่ในระดับที่เทียบเคียงได้กับค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2565 ซึ่งอยู่ที่อัตราร้อยละ 0.1197 ซึ่งหมายความว่าการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นจะเพิ่มต้นทุนธุรกรรมในการขายหุ้นขึ้นอีกราวหนึ่งเท่าตัวโดยเฉลี่ย และเมื่อแยกดูรายละเอียดของค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ตามประเภทนักลงทุน นักลงทุนต่างประเทศจะได้รับผลกระทบสูงที่สุด เนื่องจากถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราต่ำสุดในปัจจุบัน นอกจากนั้น เมื่อคำนึงถึงเฉพาะค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วง 2-3 ปีหลังสุด ผลกระทบน่าจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากค่าธรรมเนียมของนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่เพียงราวร้อยละ 0.03 เพียงเท่านั้น

การเพิ่มขึ้นของต้นทุนธุรกรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว จะส่งผลกระทบให้เกิดการลดลงของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนประเภทต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันหมายถึงการลดลงของสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการระดมทุนของภาคส่วนต่างๆ ผ่านตลาดหลักทรัพย์ในที่สุด งานศึกษาในต่างประเทศชิ้นหนึ่งได้ประเมินว่า การจัดเก็บภาษีธุรกรรมทางการเงินในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสหรัฐอเมริกาจะส่งผลให้ต้นทุนในการระดมทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1-1.8 โดยถึงแม้ว่าการวิเคราะห์ผลกระทบในสหรัฐอเมริกาจะคิดจากอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศไทย แต่สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ดูจะอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับกรณีของประเทศไทย

ในกรณีที่การจัดเก็บภาษีขายหุ้นส่งผลกระทบให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ก็จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจด้วย โดยงานศึกษาโครงการ “ผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย” ได้ประเมินผลกระทบลักษณะดังกล่าวผ่านแบบจำลอง Computable General Equilibrium ผ่านกรณีศึกษาที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากอัตราเฉลี่ยปัจจุบัน

ผลลัพธ์ที่ได้จากแบบจำลองคือ GDP ของประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 0.048 ผ่านการลดลงของการบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุน รวมทั้งการส่งออกของประเทศ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เกิดอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.01 ในขณะที่ การจัดเก็บภาษีการขายหุ้นจะสร้างรายได้สุทธิเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลราว 1.1 หมื่นล้านบาท โดยถึงแม้ตัวเลขการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นจะถูกประเมินไว้ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาทในงานศึกษา แต่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมอื่นๆ ปรับตัวลดลงราว 1 พันล้านบาท

ผลกระทบต่อ GDP ข้างต้น มีความรุนแรงน้อยกว่าผลลัพธ์ของงานศึกษาชิ้นหนึ่งในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งประเมินผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีธุรกรรมทางการเงินต่อการชะลอตัวของ GDP ระยะยาวไว้ที่ร้อยละ 0.2-0.5 โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบและอัตราการจัดเก็บภาษีธุรกรรมทางการเงินที่แตกต่างกับของประเทศไทย

ทั้งนี้ เมื่อทดลองวิเคราะห์เปรียบเทียบทางเลือกในการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมให้กับรัฐบาลผ่านการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยกำหนดให้ทางเลือกนโยบายทั้งหมดส่งผลกระทบต่อ GDP ในระดับเดียวกันกับการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น พบว่าการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิเพิ่มเติมได้สูงขึ้นราว 2.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 2 เท่าตัวจากกรณีการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น

ในกรณีของการเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล มูลค่าการจัดเก็บรายได้สุทธิเพิ่มเติมของรัฐบาลจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดว่าการปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะก่อให้เกิดการผลักภาระภาษีไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์สินค้าและบริการในลำดับถัดไปหรือไม่ โดยในกรณีที่ไม่เกิดการผลักภาระภาษีใดๆ การเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะสร้างรายได้สุทธิเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลได้ถึง 3.1 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 3 เท่าตัวจากกรณีการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดการผลักภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ในลำดับถัดไป การปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ส่งผลกระทบต่อ GDP ในระดับเดียวกันกับภาษีการขายหุ้น จะสร้างรายได้สุทธิเพิ่มเติมได้เพียงราว 4.6 พันล้านบาท เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีเพียงเล็กน้อยจะก่อให้เกิดการผลักภาระภาษี อันส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเป็นทอดๆ ส่งผลให้การปรับเพิ่มอัตราภาษีที่จำกัดระดับผลกระทบต่อ GDP ไว้ที่เพียงร้อยละ 0.048 จึงทำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากผลกระทบของการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นที่จะมีต่อภาคเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว งานศึกษาโครงการ “ผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย” ยังได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนถึงความกังวลเพิ่มเติม ที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นอีกด้วย

โดยความกังวลหลักๆ ของผู้เชี่ยวชาญจะมิได้อยู่ในประเด็นของผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศเพียงเท่านั้น แต่ยังมีความกังวลต่อความสามารถในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากบริษัทต่างๆ ในปัจจุบันมีทางเลือกในการใช้บริการตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงตลาดในประเทศ การเก็บภาษีการขายหุ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและต้นทุนในการระดมทุนอย่างชัดเจน จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการนำบริษัทที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าจดทะเบียนในตลาด

ทั้งนี้ การแข่งขันระหว่างตลาดทุนในประเทศต่างๆ ในปัจจุบันก็อยู่ในระดับสูง โดยในกรณีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็มิได้มีจุดเด่นเหนือคู่แข่งอื่นๆ มากมายนัก โดยจุดเด่นหลักมีเพียงระดับสภาพคล่องในตลาดที่มีอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ในประเทศรอบข้าง การจัดเก็บภาษีการขายหุ้นจึงน่าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ของไทยอย่างรุนแรง

ความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเห็นตรงกันว่ามูลค่าการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์เอาไว้อย่างมีนัยสำคัญ

โดยผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ให้คำแนะนำกับรัฐบาล ว่าควรดำเนินการในลักษณะกลับกัน นั่นคือ ควรออกมาตรการส่งเสริมการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อดึงดูดการเข้าระดมทุนจากบริษัทที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินผ่านช่องทางตลาดทุนให้มากขึ้น โดยมาตรการเหล่านี้จะส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีในภาพรวมได้มากกว่าการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่า การส่งเสริมให้บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยอาจสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นถึง 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่บริษัทยังไม่ได้เข้าจดทะเบียน นอกจากนั้น การส่งเสริมบริษัทเข้าจดทะเบียนจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว และเพิ่มรายได้สุทธิให้กับรัฐบาลในระยะยาวอีกด้วย

ในประเด็นของการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่าการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นจะไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนัก เนื่องจากภาษีลักษณะนี้ไม่ใช่ภาษีทางตรงที่ผู้จ่ายภาษีไม่สามารถผลักภาระไปสู่ผู้อื่นได้ และไม่ได้มีการเจาะจงการจัดเก็บไปที่ผู้ที่มีฐานะดีเพียงเท่านั้น การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับโครงสร้างลดหย่อนหรือสิทธิประโยชน์ในภาษีเงินได้ หรือแม้แต่การเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล น่าจะสามารถทำหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น

นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งยังเสนอแนะว่า มาตรการที่ช่วยจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อทำโครงการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม อาจสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อย่างเป็นรูปธรรม ได้มากกว่าการดำเนินการที่ต้องผ่านกระบวนการของทางภาครัฐด้วย โดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อการพัฒนาตลาดทุนและภาคเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีการขายหุ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเสนอให้มีการพิจารณาอัตราภาษีที่จัดเก็บ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งมีการกำหนดระยะเวลาในการปรับตัวที่ยาวนานขึ้น คำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจและอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนควบคู่กับการประกาศช่วงเวลาเริ่มจัดเก็บ รวมไปถึงควรมีระบบการประเมินผลและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ในกรณีที่เกิดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ด้วย

นักวิจัยในงานศึกษาโครงการ “ผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย” หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลลัพธ์ของการศึกษาในโครงการนี้ รวมถึงข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนจากการสัมภาษณ์ จะมีส่วนช่วยเพิ่มสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีของประเทศในอนาคตต่อไป