ThaiPublica > เกาะกระแส > ข้าวไทยวิกฤติตลอดห่วงโซ่การผลิต ทุกฝ่ายต้องร่วมแก้ปัญหา เอกชนแนะรัฐเร่งทำ Big Data พัฒนาคุณภาพข้าว

ข้าวไทยวิกฤติตลอดห่วงโซ่การผลิต ทุกฝ่ายต้องร่วมแก้ปัญหา เอกชนแนะรัฐเร่งทำ Big Data พัฒนาคุณภาพข้าว

27 ธันวาคม 2023


เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้น หลังจาก “ข้าวไทย” ไม่ติด 3 อันดับแรกของการประกวดสายพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก (The World’s Best Rice 2023) ทั้งที่เคยอยู่ในตำแหน่งนี้มานานหลายปี ในเวทีเดียวกัน ข้าวหอมมะลิไทย ยังเสียแชมป์ให้กับ ข้าวหอม ST25 จากประเทศเวียดนาม จากก่อนหน้านี้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ ผกาลำดวนของกัมพูชาก็คว้าที่หนึ่งไปครอง ยังไม่นับรวมอีกหลายเรื่องที่ถูกกล่าวถึง เช่น ความก้าวหน้าของนวัตกรรมที่ทำให้มีการผลิตข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้อย่างก้าวกระโดด สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งของสถานการณ์โลก ที่ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้น

มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับภาคีองค์กรพันธมิตร ได้แก่ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้จัดการประชุมเวทีข้าวไทย ประจำปี 2566 เรื่อง “อนาคตข้าวไทย : โอกาสและความท้าทาย” ขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงโอกาส ปัญหาและความท้าทายของเศรษฐกิจข้าวไทย นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการกำหนดทิศทางและสร้างยุทธศาสตร์ข้าว นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวและชาวนาไทยให้ปรับตัวก้าวทันกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

ทั้งนี้ ในเวทีสัมมนา เรื่อง “ชาวนาไทยในอนาคต” และเรื่อง “อนาคตของการค้าข้าวไทย” ได้แสดงภาพให้เห็นว่า ข้าวไทยมีปัญหาตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีความเกี่ยวพันกับทุกฝ่ายตั้งแต่ ชาวนา ที่นา พันธุ์ข้าว โรงสี ผู้ค้าข้าว (หยง) ผู้ส่งออกข้าว ผู้ประกอบการข้าวถุง รวมถึงนโยบายของรัฐ ขณะที่ภาคเอกชนต่างต้องการให้รัฐจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ที่จะช่วยในการพัฒนาชาวนา และคุณภาพข้าวไทย ได้

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลในช่วงเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.68 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 17 ล้านคน เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีและนาปรังเฉลี่ยปีละ 70 – 71 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของเนื้อที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ (149 ล้านไร่) มีผลผลิตข้าวประมาณ 31 – 32 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือประมาณ 20 ล้านตันข้าวสาร โดยในปี 2565 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.71 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 138,698 ล้านบาท และปี 2566 (ม.ค. – ก.ย.) ส่งออกได้แล้ว 6.08 ล้านตัน มูลค่า 117,590 ล้านบาท

ข้าวไทยผลผลิตต่ำสุด-พันธุ์ข้าวแย่ลง

การเสวนาช่วงแรกเรื่อง “ชาวนาไทยในอนาคต” โดย รศ.ดร.อิสริยา บุญญะศิริ อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรกรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา จากศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย และนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธ์ข้าวไทย นางสาวนฤมล ฉัตรวิไล เกษตรกร และนายสุภชัย ปิติวุฒิ เจ้าของเพจ ชาวนาวันหยุด

รศ.ดร.อิสริยา บุญญะศิริ อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรกรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มการสัมมนาโดยให้ภาพรวมชาวนาไทย ว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการปรับตัว เริ่มจาก

ผลผลิตต่อไร่ต่ำและมีแนวโน้มทรงตัว เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวของไทยเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูก ขณะที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นน้อยมากเพียง 0.5% เทียบกับคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนามและอินเดีย ที่ปลูกข้าวได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ขณะที่จีน ได้ผลผลิต 1,138 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.8% เวียดนาม 972 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้น 2% บังคลาเทศ 779 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้น 1.0% อินเดีย 674 กก.ต่อไร่ เพิ่มขึ้น 2.1% ส่วนไทยอยู่ในอันดับท้าย 478 กก. ต่อไร่ เพิ่มขึ้น 0.1% และเมื่อดูช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยอัตราเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อไร่เพียง 0.1% โดยข้าวนาปีเพิ่มขึ้นปีละ 0.8% ขณะที่ข้าวนาปรังนั้นติดลบ คือ -0.6%

ชาวนาไทยมีผลผลิตต่อไร่เพียง 478 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตข้าวของชาวนาเวียดนามมากถึง 972 กิโลกรัมต่อไร่  ส่วนอินเดียมีผลผลิตต่อไร่  647 กิโลกรัมต่อไร่

พันธ์ข้าวของเกษตรกรมีคุณภาพลดลง ทำให้ขายข้าวไม่ได้ราคา ตัวอย่างในภาคอีสาน เมล็ดข้าวมีข้าวแดงปน ทำให้ได้ราคาลดลง

ต้นทุนปลูกข้าวเพิ่มขึ้น รายได้จากการปลูกข้าวลดลง คิดต่อรายแล้วน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าดูข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะพบว่า ต้นทุนการปลูกข้าวเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แม้ราคาข้าวจะดี แต่ผลตอบแทนลดลง ถ้าคิดในแง่เศรษฐศาสตร์ ผลตอบแทนควรสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงจะคิดปลูกข้าว ถ้าเทียบค่าจ้างขั้นต่ำในกทม. 350 บาทต่อวัน แต่ข้อมูลของ สศก. พบว่า ชาวนามีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 350 บาท สำหรับผลผลิตไร่ละ 400 กก. ถ้ามีผลผลิต 1,000 กก. จะได้ผลตอบแทน 520 บาท ฉะนั้น การเพิ่มผลผลิตต่อไร่จึงสำคัญต่อการทำให้เกษตรกรมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เป็นการยกระดับรายได้ภาคเกษตรให้ใกล้เคียงนอกภาคเกษตร

“เปรียบเทียบกับการคิดรายได้จากการปลูกข้าวในพื้นที่ 20 ไร่ โดยใช้เวลา 30 วันต่อรอบการปลูก เทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำ 350 บาทต่อวันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า ชาวนาจะอยู่รอดต้องมีผลผลิตต่อไร่ หักต้นทุนแล้ว 1,300 บาทต่อตันต่อรอบ แต่เมื่อผลผลิตข้าวของชาวนาผลผลิตได้ 400 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อแยกออกมาเป็นรายได้พบว่าต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ”

เกษตรกรสูงวัยมากขึ้น สัดส่วนเกษตรกรวัย 65 ปีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่วัยหนุ่มสาววัย 30-35 ปีลดลง

เงินแทบไม่พอต่อการดำรงชีพ มีหนี้สิน ไม่มีการวางแผนการเงิน จากการสำรวจพบว่า ชาวนาที่มีเงินออมเพียงพอต่อการดำรงชีพมีเพียง 24% โดยวัยหนุ่มสาวหรือวัยก่อน 60 ปีมีเงินออมน้อย กลุ่มนี้เมื่อแก่ตัวลงจะมีเงินออมแหล่งไหนมาช่วยต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีการวางแผนการเงิน และมีความต้องการเรียนรู้น้อย ทั้งเรื่องทักษะ เรื่องการวางแผนการเงิน ทั้งที่การปลูกข้าวในแต่ละรอบชาวนาควรรู้ว่า มีต้นทุนเท่าไหร่ ผลตอบแทนเท่าไหร่ เพื่อหาแนวทางในการลดต้นทุน หรือเพิ่มผลผลิตต่อไร่

ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกระทบส่งออก

ต้นทุนการปลูกข้าวสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ส่วนแบ่งการตลาดข้าวไทยในตลาดส่งออกข้าวของโลกลดลง จากที่เคยมีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่ง เพราะถ้าดูข้าวหอมมะลิ คู่แข่ง คือเวียดนาม ราคาข้าวถูกกว่าไทย 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน แม้ข้าวหอมไทยจะคุณภาพดีกว่า แต่เวียดนามราคาต่ำกว่ามาก ส่วนข้าวขาวคุณภาพดี คู่แข่งคือ อินเดีย ราคาต่ำกว่าไทยเกือบร้อยเหรียญสหรัฐ ขณะที่ข้าวนึ่ง คู่แข่งก็ราคาต่ำกว่าไทยเป็นร้อยเหรียญสหรัฐ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ขณะที่อินเดียมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ผลผลิตข้าวของชาวนาไทยจะมีขึ้นๆลงๆ ขึ้นกับสภาพอากาศ ขณะที่ต้นทุนปลูกข้าว เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แม้ว่าราคาข้าวดี แต่ผลตอบแทนการปลูกข้าวของชาวนาไม่ได้ดีขึ้นเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” รศ.ดร.อิสริยากล่าว

ปริมาณบริโภคข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะตลาดหลักในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น ทำให้ในอนาคต การค้าข้าวให้กับตลาดในเอเชีย จะไม่ใช่เรื่องปริมาณ แต่ต้องขายคุณภาพ โดยเฉพาะข้าวสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปเพื่อสุขภาพ เพราะเมื่อประชากรในเอเชียมีรายได้เพิ่มขึ้น จะต้องการสินค้าคุณภาพ สินค้าสุขภาพเพิ่มขึ้น

การปลูกข้าวใช้น้ำมาก ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และข้าวไทยมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า การปลูกข้าวใช้น้ำ 2,500 ลิตรต่อกก. มากกว่าพืชอื่นที่ใช้น้ำ 650-1,200 ลิตรต่อกก. ขณะที่ มูลค่าผลิตภาพของข้าวนาปรังต่ำ 0.24 บาทต่อน้ำ 1 ลบ.ม. ขณะที่ผลผลิตการเกษตรทุกชนิดมีมูลค่าผลิตภาพ 10.85 บาทอต่อลบ.ม. นอกจากนี้ ข้าวไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมาตลอด เป็น 5.4 ตันคาร์บอน ขณะที่เวียดนาม ปลดปล่อย 3.9 ตันคาร์บอน และมีแนวโน้มลดลง แม้จะไม่มาก ประเด็นคือ ถ้าการส่งออกข้าวในระยะต่อไปถูกกีดกันให้มีการปลูกข้าวที่ลดโลกร้อน อาจจะส่งออกไม่ได้ และส่งผลกระทบมาถึงเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รศ.ดร.อิสริยา เสนอแนะว่า ภาครัฐควรเพิ่มงบวิจัย ไม่ใช่เฉพาะข้าว แต่เป็นภาพรวมภาคเกษตรทั้งหมด เพื่อให้มีการปรับปรุงพันธุ์ ที่ตอบโจทย์ชาวนา เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนถูกลง ตอบโจทย์ตลาด เป็นที่ต้องการของตลาด ต้องเปลี่ยนนโยบายการให้เงินอุดหนุน รวมถึงการให้สินเชื่อแบบมีเงื่อนไข มีแรงจูงใจให้หันมาปลูกข้าวมีคุณภาพ ใช้ความรู้ในการผลิตโดยเชื่อมกับพันธมิตรทางการผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร บริษัทเมล็ดพันธ์ บริษัทเครื่องจักร รวมถึงการปลูกข้าวลดโลกร้อน รวมถึงลดอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดทำให้เกษตรกรใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ไม่ได้

ข้าวไทยน่าห่วงตลอดห่วงโซ่การผลิต

นายนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา จากศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย และนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธ์ข้าวไทย กล่าวว่า นอกจากจะต้องเป็นห่วงชาวนาแล้ว ห่วงโซ่การผลิตข้าวก็น่าเป็นห่วงทั้งห่วงโซ่ โดยเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ชาวนาต้องการเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกได้ผลผลิตเร็ว และเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง คนทำเมล็ดพันธุ์ไม่กลัวเรื่องคุณภาพ แต่กลัวว่าอีก 4 เดือนข้างหน้าเกษตรกรต้องการปลูกข้าวอะไร ทำให้เกิดความผิดพลาดบ่อย บางครั้งต้องขายให้โรงสีถึง 40% นี่คือความน่ากลัวของธุรกิจ

ขณะที่โรงสี จากการที่เคยแลกเปลี่ยนความเห็นกับธนาคารในฐานะลูกค้าชั้นดี ว่าต้องการทำธุรกิจโรงสี ธนาคารก็ไม่ต้องการที่จะเจรจาต่อ หากไม่ใช่ลูกค้ารายเดิมที่เคยทำโรงสี และมีหลักทรัพย์เพิ่มเพื่อขยายธุรกิจแล้ว และจะไม่มีการปล่อยกู้ให้กับโรงสีใหม่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม แสดงว่า ธุรกิจโรงสีก็ไม่ง่าย ส่วนผู้ส่งออก ราคาข้าวขึ้นจะได้ประโยชน์ แต่ขายตอนราคาข้าวไม่ขึ้น แล้วอยู่ ๆ อินเดียประกาศว่าไม่ส่งออก ราคาขึ้น ผู้ส่งออกก็ไม่ง่าย ฉะนั้น ต้องดูแลทั้งหมด เพราะในห่วงโซ่นี้ขาดใครไม่ได้เลย และเรื่องเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมาโทษกัน แต่ควรหาคนมีความรู้ ความสามารถ ความถนัดในด้านนั้น มาช่วยกัน

“ผมถนัดเรื่องรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าว โรงสีถนัดเรื่องการสี ผู้ส่งออกถนัดเรื่องขาย นักปรับปรุงพันธุ์ ถนัดเรื่องวิจัยพันธุ์ ชาวนาถนัดการปลูก กรมการข้าวถนัดการทำเรื่องของข้าวให้ประสบความสำเร็จ จึงถึงเวลาที่จะต้องมีเจ้าภาพมาคุยกันกับทุกหน่วยงานที่มีความถนัดแต่ละด้าน ว่าแต่ละฝ่ายเจอปัญหาอะไร และมีแนวทางแก้ไขอย่างไร” นายนิทัศน์กล่าว

นายนิทัศน์ กล่าวว่า ปัญหาที่ต้องคุยกัน เช่น ข้าววัชพืชที่ระบาดรุนแรงมาก จากการที่รถเกี่ยวข้าวจากภาคกลางไปภาคอีสาน โดยไม่ได้ทำความสะอาด ทำให้วัชพืชไปขยาย รวมถึงการพูดคุยเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อวางแผนการปลูก เพราะการทำอะไรโดยไม่วางแผนมีแต่เจ๊งอย่างเดียว และการวางแผนจะช่วยชาวนาด้วย เพราะข้าวต้องปลูกไม่ให้ตั้งท้องออกดอกในภูมิอากาศร้อนจัด หนาวจัด ไม่เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูมรสุม คือ เดือนกันยายน และตุลาคม

และจากการเก็บสถิติ ได้พบความบังเอิญที่น่ามหัศจรรย์ คือ 3 วันในวันมหามงคลของไทย ที่ช่วยชาวนารอดพ้นได้ คือ ถ้าปลูก 5 ธันวาคม จะไม่มีทางถูกอากาศหนาวเย็นที่ทำให้ผลผลิตเหลือ 20-30 ถังต่อไร่ ปลูก 5 ธันวาคม ข้าวออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ เก็บเกี่ยว มีนาคม จากสถิติที่เก็บได้ พบว่าได้ผลผลิตสูงสุดในรอบปี ช่วงที่ 2 คือ ปลูกวันที่ 2 เมษายน วันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ถ้าปลูก 2 เมษายน จะเลยช่วงอากาศร้อนไปแล้ว และเก็บเกี่ยวก่อนฤดูฝน คือ เดือนสิงหาคม และพบว่าผลผลิตต่อไร่สูง ประมาณ 1,100 กก.ต่อไร่ ส่วนข้าวนาปรัง ปลูก 12 สิงหาคม และเก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน จะทำให้หลุดฤดูมรสุม ฉะนั้น การบริหารจัดการช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกจึงทำได้ รวมถึงกรมชลประทานช่วยกำหนดน้ำให้

นายสุภชัย ปิติวุฒิ เจ้าของเพจ ชาวนาวันหยุด กล่าวว่า ชาวนาในอนาคตนั้น บทบาทสำคัญคือคนรุ่นลูก ทั้งลูกหลานชาวนา ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ส่งออก เป็นเจนเนอเรชั่นต่อที่ต้องโตไปด้วยกัน และเป็นความยั่งยืน ถ้าคนรุ่นลูกไม่เอาด้วย ความยั่งยืนก็หมด แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้รุ่นลูกหรือมนุษย์เงินเดือนลาออกจากงานประจำ แต่ให้ทำคู่ขนานกันไป อย่างน้อยมีองค์ความรู้ มีประสบการณ์ ที่สำคัญ คือ การเชื่อมต่อองค์ความรู้สากล หรือตัวอย่างดี ๆ ไปสู่ครอบครัว เป็นชาวนาวันหยุดก็ไม่เสียโอกาสทางเศรษฐกิจด้วย เพราะภาคเกษตรใช้แรงงานน้อย จากการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

อนาคตชาวนา พูดกันมากเรื่องพันธ์ข้าว แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว เพราะผลผลิตเท่ากับ G x E ซึ่ง E คือ Environment ซึ่งชาวนารับความเสี่ยงมากที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และยังมีปัญหาทางกายภาพ เพราะไทยมีพื้นที่ชลประทานไม่ถึง 20% ขณะที่ตัวแปรสำคัญที่จะมาช่วยชาวนาในอนาคต คือ ความร่วมมือ ทุกฝ่าย คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องมาคุยกัน

อินเดียตัวแปรสำคัญต่อราคาข้าวโลก

การเสวนาช่วงที่ 2 เรื่อง “อนาคตของการค้าข้าวไทย” โดยนายวันนิวัต กิติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ในฐานะกรรมการบริหาร สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายนิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย นายยงยุทธ พฤกษ์มหาดํารง นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และนายสุทธิ สานกิงทอง นายกสมาคมค้าข้าวไทย (หยง)

นายวันนิวัติ กิตติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ในฐานะกรรมการบริหาร สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวในตลาดโลกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะมีหลายปัจจัย เช่น อยู่ ๆ อินเดียก็ห้ามส่งออกข้าว โดยปัจจุบัน อินเดียมีการส่งออกข้าวมากที่สุด ปี 2566 ส่งออก 22.25 ล้านตัน ขณะที่ ไทย เวียดนาม ปากีสถานและสหรัฐ ยังส่งออกรวมกันไม่เท่าอินเดีย ฉะนั้นถ้าอินเดียมีปัญหา ประเทศอื่นก็มีปัญหาตาม โดยปี 2566 ปัญหาที่เกิดกับอินเดียจนต้องห้ามส่งออก คือ food inflation เดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 11% หรือเพิ่มกว่าเท่าตัวจากปกติ เป็นสาเหตุให้รัฐบาลอินเดียต้องออกมาดำเนินการ เพราะอินเดียมีประชากรรายได้ต่ำค่อนข้างสูง และรัฐบาลก็ใกล้เลือกตั้งปีหน้า ถ้าปล่อยสถานการณ์นี้ไป รัฐบาลคงไม่ได้อยู่ต่อแน่ และรัฐบาลอินเดียไม่สนใจเรื่องส่งออก แต่สนใจว่าประชากรที่มีพันล้านคนต้องอยู่รอด จึงไม่ส่งออกข้าวขาวเลย ทำให้ food inflation เดือนตุลาคม ลงมาเหลือ 6.24%

“ผมคิดว่า เขาจะพยุงแบบนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ปีหน้า แล้วถึงจะเปิดให้มีการส่งออกข้าวตามปกติ ฉะนั้นปีหน้า จึงคาดว่าการส่งออกข้าวของอินเดียจะกลับมาเหมือนเดิม เมื่อเห็นภาพนี้จะพบว่า ราคาข้าวในตลาดโลกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะไม่รู้ว่าอินเดียจะเกิดอะไรขึ้น อยู่ดี ๆ เขาอาจจะลดราคาข้าว หรือแบนการส่งออก เพื่อประชากรของเขา หรืออยู่ดี ๆ อินเดียข้าวล้นตลาด อยากส่งออกปริมาณมาก เพราะข้าวนาปีของอินเดียมีผลผลิต 100 กว่าล้านตันข้าวสาร ถ้าปลูกข้าวดีขึ้น 10% นั่นคือ 10 ล้านตันมากกว่าไทยส่งออกทั้งปี การเคลื่อนไหวของข้าวอินเดียจึงมีผลต่อคนทั้งโลกแน่นอน”

ในด้านผู้นำเข้า สำหรับผู้ส่งออกจะพูดถึงประเทศฟิลิปปินส์ ที่นำเข้าปีละ 4 ล้านตัน ขณะที่ไทยส่งออกปีละไม่เกิน 8 ล้านตัน หรือซื้อข้าวไทยได้ครึ่งหนึ่ง ถ้าไทยผลิตข้าวที่ถูกใจฟิลิปปินส์ แต่ปรากฏว่า ประเทศที่ส่งออกให้ฟิลิปปินส์มากที่สุด คือเวียดนาม 2.3 ล้านตันในปี 2564 ไทยส่งออก 1.3 แสนตัน ปี 2565 ฟิลิปปินส์ นำเข้า 3.8 ล้านตัน มาจากเวียดนาม 3.1 ล้านตัน ไทย 1.8 แสนตัน แทบไม่เหลือส่วนแบ่งตลาดให้ไทยเลย ไม่ใช่ผู้ส่งออกไทยไม่เก่ง แต่เขาไม่ซื้อ เพราะเวียดนามผลิตข้าวนุ่ม กินแล้วหวานหอมอร่อย แต่ราคาใกล้เคียงข้าวขาว ซึ่งไทยไม่มี ล่าสุด ฟิลิปปินส์มาซื้อข้าวไทยเพราะเวียดนามส่งออกมากเกินไปจนราคาขึ้นไปสูงสุด ราคาต่างเป็นร้อยเหรียญ ขณะที่ฟิลิปินส์ บริโภคข้าวต่อหัว 100 กิโลกรัมขึ้นไปต่อปี ข้าวจึงสำคัญ และถ้าข้าวไม่อร่อยเขาก็ไม่กิน

แนะรัฐใช้แอปรวบรวม Big Data

นายวันนิวัติ ยังได้เสนอกลยุทธ์ ข้อเสนอแนะในการพัฒนาสินค้าข้าวไทย ว่า ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ตลอดเวลา เพื่อลดต้นทุนชาวนาและโรงสี ปรับปรุงคุณภาพข้าว เช่นให้มีรสชาตดีขึ้น กลิ่นหอมขึ้น โภชนาการทางอาหารดีขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตร โดยเฉพาะระบบชลประทานที่ให้ชาวนาใช้ได้จริงและทั่วถึง รวมถึง การสร้างฐานข้อมูลกลาง (Database/Application) สำหรับเกษตรกรเพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ

เพราะทุกวันนี้เวลาไปประชุมทุกปีเพื่อรู้ผลผลิตข้าว จะได้ข้อมูลเดิม บวกลบ 5% ไม่ได้บอกว่าข้อมูลผิด แต่ก็ไม่ได้ถูก และไม่มีใครเชื่อ Database ที่ว่า เช่น การทำพิกัดนาแต่ละแปลง ใครเป็นเจ้าของ ปลูกพันธุ์อะไร ใส่ข้อมูลเหล่านี้ไว้ที่ฐานข้อมูลกลางของรัฐบาล จานดาวเทียมควรมีขนาดที่สามารถซูมไปดูที่นาแต่ละแปลงได้ ว่า มีแมลงหรือไม่ และควรทำคล้ายแอปเป๋าตัง ที่ปัจจุบันมีกันเกือบทุกคน เพราะรัฐบาลแจกเงินผ่านแอปนี้ ฐานข้อมูลเกษตร รัฐบาลก็ทำได้เพราะต้องจ่ายเงินสนับสนุน 1 พันบาทอยู่แล้ว โดยก่อนจะได้รับเงิน ก็ต้องลงทะเบียนก่อนว่า ที่นาอยู่ไหน แล้วเอาข้อมูลเทียบกับกรมที่ดิน เพื่อให้รู้ว่าเป็นเจ้าของที่จริงหรือไม่ หรือเช่าที่ซ้ำซ้อน โดยอัพเดทข้อมูลทุกปี สามารถเรียกดูข้อมูลได้ทันที

นายนิพนธ์ สมิทธาพิพัฒน์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโรงสีไทยมีกำลังการผลิตมากกว่า 3 เท่าของปริมาณข้าวที่ผลิตได้ การแข่งขันของโรงสีไทยจึงสูงมาก และอัตรากำไรต่ำมานานมาก ขณะที่รูปแบบการค้าข้าวในอนาคต ต้องมีการ joint venture กันระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โรงสี และผู้ส่งออก คุยกัน รับฟังความเห็น ว่าต้องปลูกข้าวอะไร เพื่อให้ขายได้ ซึ่งในอดีตสื่อสารกันน้อยมาก จะสื่อสารเรื่องราคาเป็นหลัก และสิ่งที่ควรแก้ไข คือ

Big Data หรือข้อมูลการปลูกข้าว ที่ตัวเลขคล้ายเดิมทุกปี และใช้ไม่ค่อยได้ ทั้งที่ข้อมูลมีประโยชน์ อย่างข้าวเวียดนามที่มาเพาะปลูกในไทย ไม่มีการลงในข้อมูล เพราะเกษตรกรก็ไม่กล้าแจ้ง กลัวไม่ได้รับเงินชดเชย ทำให้ข้อมูลไม่ตรง ไม่สามารถประมวลผลได้ ขณะที่โรงสี ผู้ส่งออก ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ ทำให้การค้าเป็นไปด้วยความยากลำบาก

การพัฒนาพันธ์ข้าวที่ตอบโจทย์ทุกฝ่าย ปัจจุบันประเด็นหนึ่งที่คุยกัน คือ ปริมาณผลผลิต ทำไมข้าวเวียดนามจึงผลผลิตดีกว่าไทย ส่วนหนึ่ง มาจากแนวคิดที่ว่า ข้าวไทยที่มีคุณภาพสูง เมล็ดต้องยาว 7 มิลลิเมตร แต่เมื่อคุยกับนักวิจัย พบว่า ข้าวยิ่งเมล็ดยาว ผลผลิตต่อไร่จะลดลง เป็นไปได้หรือไม่ที่ ปรับไฟท์ติ้งแบรนด์ เป็น ตลาดกินให้อิ่ม ข้าวไม่ต้องยาว 7 มิลลิเมตร สั้นลงหน่อยแต่ผลผลิตดีขึ้น นอกจากนี้ พันธ์ข้าวต้องตอบทุกฝ่าย เกษตรกร ต้องการพันธ์ที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตดี ใช้เวลาสั้น เป็น 3 ประเด็นหลัก ราคายังเป็นปัจจัยรองลงมา หรือการยึดติดว่าข้าวหอมมะลิไทยดีที่สุด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม หอมกว่าเดิม กินดีกว่าเดิม