ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ นัด “อันวาร์ อิบราฮิม” ถกความร่วมมือ 4 ด้าน-มติ ครม. เคาะขึ้นค่าแรง 2-16 บาท เริ่ม 1 ม.ค. ปี ’67

นายกฯ นัด “อันวาร์ อิบราฮิม” ถกความร่วมมือ 4 ด้าน-มติ ครม. เคาะขึ้นค่าแรง 2-16 บาท เริ่ม 1 ม.ค. ปี ’67

26 ธันวาคม 2023


เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์หน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
  • นายกฯ แย้มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบ 2 ไม่เกิน มี.ค. ปีหน้า
  • นัด ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ถกความร่วมมือ 4 ด้าน
  • เตรียมแจกข้าวสายพันธุ์ดีให้เกษตรกรปีหน้า
  • ยอมรับฉายา ‘เซลล์แมนสแตนด์ ชิน’
  • มติ ครม. เคาะขึ้นค่าแรง 2-16 บาท เริ่ม 1 ม.ค. ปรับอีกครั้ง มี.ค. ปี ’67
  • ลดเวลาต่อโควตานำเข้าอาหารสัตว์เหลือปีต่อปี
  • ผ่านแผนการคลังฯ ปี ’68 ตั้งงบฯ 3.6 ล้านล้าน ขาดดุล 7 แสนล้าน
  • ขยายเวลาลดภาษีรถ EV ต่อ ถึงสิ้นปี ’68
  • ตั้ง “สุดฤทัย เลิศเกษม” นั่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
  • เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    สั่งกรมอุตุฯ เตือน ปชช. รับมือมรสุมภาคใต้

    นายเศรษฐากล่าวว่า เนื่องจากมีสภาพอากาศแปรปรวน จึงสั่งการให้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนประชาชนเรื่องสภาพมรสุมทางภาคใต้ และสั่งการเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าอากาศจะคืนสู่ภาวะปกติก็ตามที เป็นฤดูท่องเที่ยว แต่กำชับให้ดูแลเรื่องจำนวนคนบนเรือ เสื้อชูชีพ และอย่าประมาท

    เตรียมแจกข้าวสายพันธุ์ดีให้เกษตรกรปีหน้า

    นายเศรษฐากล่าวต่อว่า เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา กำลังผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศไทยค่อนข้างต่ำ ดังนั้น จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเมล็ดข้าวพันธุ์ใหม่คุณภาพดี เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรก่อนถึงฤดูการเพาะปลูกข้าวนาปีในปี 2567

    “กระทรวงเกษตรฯ เองก็ต้องยอมรับว่าได้ทำงานไว้เยอะ แต่ยังไม่มีการชี้แจง รู้สึกว่าเดือนหน้าจะมีการประกาศข้าวพันธุ์ใหม่อีกหลายพันธุ์ และมีการใช้เกษตรแม่น้ำ ใช้ปุ๋ยให้ตรงสูตรเพื่อเพิ่มผลผลิตระยะสั้น ได้บอกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปว่าควรจะมีการแถลงให้มากกว่านี้ พี่น้องจะได้สบายใจว่าข้าวของเราผลิตผลไม่ได้ต่ำมากนัก” นายเศรษฐากล่าว

    สั่งคลังขยายเวลาลดหย่อนภาษี บริจาคเงินให้ กสศ.

    นายเศรษฐากล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการกระทรวงการคลัง ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อช่วยเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาให้กลับมาอยู่ในระบบการศึกษา

    ไฟเขียวไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD

    นายเศรษฐากล่าวต่อว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ครม. ได้อนุมัติตามที่สภาพัฒน์ฯ เสนอให้เข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) หรือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาอีก 3 – 4 ปี กว่าที่ประเทศจะได้เข้าเป็นสมาชิกฯ

    “แต่ในขั้นแรกที่ผมเรียนไปแล้ว ตอนผมไปญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นเชิญเราเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์การเข้าประชุมในปี 2567” นายเศรษฐากล่าว

    แย้มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบ 2 ไม่เกิน มี.ค. ปีหน้า

    นายเศรษฐากล่าวถึงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า คณะกรรมการไตรภาคีเกี่ยวกับเรื่องค่าแรงจะมีการประชุมอีกครั้งในต้นปีหน้า หรือภายในเดือนมกราคม 2567 เพื่อกำหนดอัตราใหม่ ที่จะพยายามทำให้สูงขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายพยายามทำอย่างเต็มที่ และจะประกาศใช้ให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2567 ใหม่อีกรอบ

    “มันจำเป็นต้องขึ้นปีละหน อาจไปดูตามรายอำเภอหรือรายอาชีพตามความเป็นจริง ที่สามารถจะทำให้ชีวิตของประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายเศรษฐากล่าว

    นัด ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ถกความร่วมมือ 4 ด้าน

    นายเศรษฐากล่าวต่อว่า ช่วงบ่ายของวันนี้ (26 ธ.ค. 2566) ตนจะไปดูเรื่องยาเสพติดที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และมีทุกหน่วยงานเข้าร่วมประชุม จากนั้นจะเดินทางไปอำเภอจะนะ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากมี 3-4 จังหวัดในภาคใต้และมีหลายหมื่นครอบครัวที่เดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วมฉับพลัน แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว เพราะเมื่อเช้าน้ำสามารถระบายลงทะเลได้ แต่ยังมีความเสียหายอยู่ ดังนั้น ตนจะไปพบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่

    “จากนราธิวาสบินเข้าภูเก็ตถึงประมาณ 18.00 น. ทานข้าวกับนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ซึ่งมาภูเก็ตเป็นการส่วนตัว แต่เราสนิทกันก็ไปพูดคุยกัน จะมีการตั้งคณะกรรมการไทยมาเลเซีย 4 ด้าน ได้แก่ การค้าชายแดน การเกษตร การท่องเที่ยว และความมั่นคง และพูดคุยเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโกลก ที่ขณะนี้กำลังทำ EIA เรื่องการท่องเที่ยวในรูปแบบ 2 countries 1 destination” นายเศรษฐากล่าว

    นายเศรษฐากล่าวต่อว่า จากที่ได้ปรับมาตรการเข้าเมืองของคนมาเลเซียเข้าประเทศไทย ทำให้มีนักท่องมาเลเซียเพิ่มขึ้นจาก 10,000 คน เป็น 30,000 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมาก

    “เราเองก็ต้องช่วยดูตรงนี้เหมือนกัน ว่าของเขาไม่ได้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเลย เราก็ช่วยโปรโมททั้งสองประเทศ เพื่อให้ภูมิภาคนี้เจริญขึ้น ตอนเหนือของมาเลเซียกับตอนใต้ของประเทศไทย และพูดคุยเรื่องสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก” นายเศรษฐากล่าว

    ยอมรับฉายาเซลล์แมนสแตนด์ “ชิน”

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องฉายานายกฯ ที่ถูกตั้งชื่อว่าเป็นเซลส์แมนสแตนด์ “ชิน” โดยนายเศรษฐาบอกว่า “เข้าใจว่าทุกปีก็มีฉายา ซึ่งเป็นสีสัน เรื่องนายกฯ ‘เซลส์แมน’ ผมก็เป็นอยู่แล้ว ประกาศตัวอยู่แล้ว ส่วน ‘สแตนด์ชิน’ เป็นคำควบกล้ำระหว่างไทยกับภาษาอังกฤษหรือเปล่า ผมก็เข้าใจหลวมๆ”

    นายเศรษฐากล่าวต่อว่า “วันนี้ผมก็เป็นนายกฯ อยู่ แล้วก็ปฏิบัติให้อย่างเต็มที่ แล้วก็พยายามตั้งใจจะเอาให้ครบ 4 ปีให้ได้ แต่สำคัญมากกว่านั้นไม่ใช่อยู่ให้ครบ 4 ปีแล้วแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนไม่ได้ดีขึ้น แล้วก็ถ้าเกิด สแตนด์ ‘ชิน’ คือ คอยสำหรับให้ครอบครัวไหนเข้ามา คือ อันนี้พี่น้องประชาชนจะเป็นคนตัดสินมากกว่า ตรงนี้ก็ต้องคอยการเลือกตั้งครั้งต่อไป”

    เมื่อถามถึงฉายารัฐบาล แกงส้ม “ผลัก” รวม นายเศรษฐา ตอบว่า “ผมไม่เข้าใจคำว่า ‘ผลัก’ เท่าไร แต่ ‘แกงส้ม’ เป็นแกงที่มีรสชาติดี รัฐบาลนี้ก็รวมกันหลายพรรคอยู่แล้ว รสชาติแกงส้มมีทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ผมว่ารัฐมนตรีทุกคนก็ครบเครื่อง พร้อมที่จะทำงานเพื่อประชาชน มองตรงนั้นมากกว่า”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า ‘แกง’ หมายถึง ‘แกล้ง’ ทำให้นายเศรษฐาพูดว่า “ก่อนหน้านั้นพรรคเพื่อไทยก็ได้ให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกลมาโดยตลอด แต่เมื่อพรรคก้าวไกลไม่สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ และไม่สามารถจะคอยได้ 9 ถึง 10 เดือน ดังนั้น ก็ต้องทำหน้าที่กันไป เพราะประเทศชาติก็คอยไม่ได้ จึงไม่ใช่การแกล้งแน่นอน ยืนยันตามที่เคยพูดมาตลอดว่า พร้อมสนับสนุน หากพรรคก้าวไกลสามารถทำได้”

    ขอบคุณ 24 หน่วยงานมอบของขวัญปีใหม่ ปชช.

    นายชัยกล่าวต่อว่า นายกฯ ขอบคุณของขวัญ 254 รายการ จาก 24 หน่วยงานที่มอบให้ประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ เช่น ทางด่วนออกต่างจังหวัด สธ. เช่น มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจคัดกรองมะเร็ง หรือหน่วยงานระดับอื่น ก็มีเสนอของขวัญเช่นกัน

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ, นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    เคาะขึ้นค่าแรง 2-16 บาท เริ่ม 1 ม.ค. – ปรับอีกครั้ง มี.ค. ปี ’67

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ตามมติของคณะกรรมการไตรภาคี เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้นำเรื่องดังกล่าวกลับมาเสนอที่ประชุม ครม. รับทราบอีกครั้ง เพื่อยืนยันมติของคณะกรรมการไตรภาคีเดิมที่ให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาท โดยจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปรับขึ้นจากวันละ 228 บาท เป็น 330 บาท ส่วนจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรงมากที่สุด คือจังหวัดภูเก็ต จากเดิมวันละ 354 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 370 บาท

    “โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรัฐมนตรี แจ้งที่ประชุม ครม. ว่า ถึงแม้ค่าจ้างขั้นต่ำต้องปฏิบัติตามมติคณะกรรมการไตรภาคี และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้น ทางกระทรวงแรงงานเรียกประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้งในวันที่ 17 มกราคม 2567 เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคณะพิเศษ ขึ้นมาพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเจาะลงลึกในรายละเอียด แยกเป็นรายสาขาอาชีพ โดยจะเร่งหาข้อสรุปเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแยกตามสาขาอาชีพเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้งภายในเดือนมีนาคม 2567” นายชัยกล่าว

    นายชัยกล่าวต่อว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแจ้งให้ที่ประชุม ครม. ทราบว่าจะขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมกันทำการศึกษาลงลึกในรายละเอียด สรุปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ก็จะมีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการไตรภาคีเสนอ จากนั้นในวันที่ 17 มกราคม 2567 จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษขึ้นมาศึกษาเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามสาขาอาชีพ คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเข้ามาที่ ครม. อีกครั้งภายในเดือนมีนาคม 2567

    ลดเวลาต่อโควตานำเข้าอาหารสัตว์เหลือปีต่อปี

    นายชัยกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) ระยะเวลา 1 ปี โดยกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) ปี 2567 ทุกกรอบการค้าและจากประเทศนอกความตกลง ตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายอาหาร (คณะกรรมการฯ) พิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) ระยะเวลา 1 ปี เพื่อบริหารวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม โดยให้คงนโยบายและมาตรการนำเข้าเช่นเดียวกับปี 2564-2566 ทุกกรอบการค้าและจากประเทศนอกความตกลง

    ทั้งนี้ นโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) ปี 2567 มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

    1. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พิกัดอัตราศุลกากร 1005.90.99 รหัสสถิติ 001 ดังนี้

      1.1 การนำเข้าภายใต้ WTO ในโควตา อัตราภาษีร้อยละ 20 ปริมาณ 54,700 ตัน โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า นอกโควตา อัตราภาษีร้อยละ 73 และค่าธรรมเนียมพิเศษตันละ 180 บาท ไม่จำกัดปริมาณ
      1.2 การนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อัตราภาษีร้อยละ 0 (ไม่จำกัดปริมาณ)

    • ให้ อคส. เป็นผู้นำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า
    • ผู้นำเข้าทั่วไป กำหนดช่วงเวลานำเข้าระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 สิงหาคม ของแต่ละปี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558
    • 1.3 การนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ในโควตา ภาษีร้อยละ 0 ไม่จำกัดปริมาณ โดยต้องมีหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนตามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย สำหรับภาษีในโควตา เพื่อประกอบการนำเข้า นอกโควตา ภาษีร้อยละ 65.70 ไม่จำกัดปริมาณ
      1.4 การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่นๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) อัตราภาษีร้อยละ 0 ไม่จำกัดปริมาณ] 1.5 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษีกิโลกรัมละ 2.75 บาท และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 1,000 บาท (ไม่จำกัดปริมาณ)

    2. กากถั่วเหลือง พิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 2304.00.29 รหัสสถิติ 001 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า ดังนี้

      2.1 การนำเข้าภายใต้ WTO ในโควตา อัตราภาษีร้อยละ 2 ผู้มีสิทธินำเข้าทั้งสิ้น 11 ราย หากมีผู้ยื่นขอมีสิทธินำเข้ารายใหม่ให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการนโยบายอาหารพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสม นอกโควตา อัตราภาษีร้อยละ 119
      2.2 การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่นๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษีร้อยละ 0 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษีร้อยละ 0] 2.3 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษีร้อยละ 6 และค่าธรรมเนียมพิศษ ตันละ 2,519 บาท

    3. ปลาป่น โปรตีนต่ำกว่าร้อยละ 60 พิกัดอัตราศุลกากร 2301.20.10 ต้องขออนุญาตนำเข้า และปลาป่นโปรตีนร้อยละ 60 ขึ้นไป พิกัดอัตราศุลกากร 2301.20.20 ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า ดังนี้

      3.1 การนำเข้าภายใต้ทุกกรอบการค้า เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษีร้อยละ 0 ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษีร้อยละ 0] 3.2 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง ปลาป่น โปรตีนต่ำกว่าร้อยละ 60 อัตราภาษีร้อยละ 6 ปลาป่นโปรตีนร้อยละ 60 ขึ้นไป อัตราภาษีร้อยละ 15

    ทั้งนี้ มอบกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร นำประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืง พิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 2304.00.29 รหัส 001 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปี 2567 และ พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศ นำประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องตามมติคณะกรรมการฯ เสนอต่อ ครม. ในคราวเดียวกัน (ขณะนี้ กค. และ พณ. อยู่ระหว่างการร่างประกาศดังกล่าวจึงยังไม่ได้นำเสนอประกาศที่เกี่ยวข้องมาในคราวนี้)

    ผ่านแผนการคลังฯ-ปี ’68 ตั้งงบฯ 3.6 ล้านล้าน ขาดดุล 7 แสนล้าน

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังมีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ต่อไป

    สาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ

    แผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

    1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ

    ในปี 2568 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.1-4.1 (ค่ากลางร้อยละ 3.6) และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 สำหรับในปี 2569 และ 2570 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9-3.9 (ค่ากลางร้อยละ 3.4) และ ในปี 2571 จะขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569-2571 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5

    2. สถานะและประมาณการการคลัง

      2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568-2571 เท่ากับ 2,887,000 3,040,000 3,204,000 และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ
      2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568-2571 เท่ากับ 3,600,000 3,743,000 3,897,000 และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ
      2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568-2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 713,000 703,000 693,000 และ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.56 3.33 3.11 และ 2.92 ต่อ GDP ตามลำดับ
      2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.44 ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2568-2571 เท่ากับร้อยละ 63.73 64.07 และ 63.61 ตามลำดับ

    3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง

    ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง ปัจจุบันภาคเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการฟื้นตัวเพื่อเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเครื่องมือทางการคลังยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรที่สูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และชะลออัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากการดำเนินมาตรการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ภาครัฐมีภาระต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ประกอบกับการก้าวเข้าสู่มิติการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ของชาติมหาอำนาจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันพร้อมรับความเสี่ยงต่างๆ หรือสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่กับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ภาครัฐจึงมีความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อตอบสนองความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และทันการณ์

    ดังนั้น ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐยังคงเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต ภายใต้แนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลัง (Fiscal Discipline) อย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและการเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง (Fiscal Buffer) ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น (Policy Space) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

    สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลในระยะปานกลาง ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

    ประโยชน์และผลกระทบ

    การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางฯ จะเป็นแผนแม่บทหลักให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการคลังของประเทศในด้านต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต

    ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงควบคุมยาเสพติดชุดใหญ่

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารมกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เช่น มอร์ฟีน โคคาอีน ฝิ่นยา หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เช่น เคตามีน (ยาในกลุ่มยาสลบ) ซูโดอีเฟดรีน (ยาในกลุ่มยาแก้คัดจมูก) โดยในการขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกตามร่างกฎกระทรวง ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ของประเทศ การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์เพื่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเพื่อการผลิตเพื่อส่งออกหรือส่งออกตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

    ดังนั้น ผู้ขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จึงมีทั้งหน่วยงานของรัฐ เช่น องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัย และบริษัทยาเอกชน ซึ่งได้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้า หรือ สั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ปรับปรุงเนื้อหาจากกฎหมายปัจจุบัน เช่น ปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาตโดยแยกตามวัตถุประสงค์ในการขออนุญาต ปรับปรุงการยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ปรับปรุงให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน (จากเดิม 45 วัน) กรณีไม่อนุญาตให้แจ้งผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 15 วัน (จากเดิม 7 วัน) เพื่อให้การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือ วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือ วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ให้มีคุณภาพ และป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการของผู้ประกอบการซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นชอบด้วยแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการ

    นายคารมกล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

    นายคารมกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้จำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เช่น มอร์ฟีน, โคคาอีน, ฝิ่นยา หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เช่น เคตามีน (ยาในกลุ่มยาสลบ), ซูโดอีเฟดรีน (ยาในกลุ่มยาแก้คัดจมูก), ไนตราซีแพม (ยาในกลุ่มยานอนหลับ) เพื่อควบคุมกำกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนำไปใช้ หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง โดยได้ปรับปรุงจากกฎกระทรวงปัจจุบัน ได้แก่ ให้ยื่นคำขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เพิ่มหน่วยกระจายยา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุญาต ใบอนุญาตใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ 2 นับจากปีที่อนุญาต (เดิมใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่อนุญาต) กำหนดให้การขออนุญาตจำหน่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น เพื่อการรักษา หรือ ป้องกันโรค เพื่อการวิเคราะห์หรือ ศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์

    ดังนั้น ผู้ขออนุญาตจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งมีทั้งหน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย และภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลสัตว์ โดยผู้ขออนุญาตจำหน่ายสามารถจำหน่ายให้แก่ผู้ป่วย หรือสัตว์ป่วยที่มารักษากับโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลนั้น ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นชอบด้วยแล้ว ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

    นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือ วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารมกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้จำหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เช่น มอร์ฟีน โคคาอีน ฝิ่นยา และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เช่น เคตามีน (ยาในกลุ่มยาสลบ) ซูโดอีเฟดรีน (ยาในกลุ่มยาแก้คัดจมูก) ประเภท 3 เช่น อะโมบาร์บิทาล (ยาในกลุ่มยานอนหลับ) เพนตาโซซีน (ยาในกลุ่มยาแก้ปวด) หรือประเภท 4 เช่น ไดอะซีแพม (ยาในกลุ่มยานอนหลับ) ลอราซีแพม (ยาในกลุ่มยาช่วยคลายกังวล) โดยในในการขออนุญาตให้มีไว้ในครอบครองตามร่างกฎกระทรวงได้กำหนดวัตถุประสงค์การดำเนินการเพื่อผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 (มีลักษณะเป็นตำรับยา) เพื่อการบำบัดรักษาหรือป้องกันโรคให้แก่ผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยในทางการแพทย์ เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม เพื่อใช้ประจำในการปฐมพยาบาลหรือกรณ๊เกิดเหตุฉุกเฉินในเรือหรือเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร และเพื่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

    ดังนั้น ผู้ขออนุญาตให้มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือ ประเภท 4 จึงมีทั้งหน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย สถานพยาบาลและภาคเอกชนที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ มีโครงการศึกษาวิจัย หรือการอุตสาหกรรม

    นายคารม กล่าวต่อไปว่า ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ปรับปรุงเนื้อหาจากกฎหมายปัจจุบัน เช่น กำหนดให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน โดยจะขยายระยะเวลาพิจารณาไม่ได้ (จากเดิมสามารถขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน) กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต โดยแยกคุณสมบัติออกตามวัตถุประสงค์ของการอนุญาตครอบครอง เพื่อให้เกิดความชัดเจนกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่สอง นับจากปีที่ได้รับอนุญาต (จากเดิมกำหนดให้มีอายุถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ได้รับอนุญาต) เป็นต้น เพื่อให้การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประเภท 3 หรือ ประเภท 4 สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลและป้องกันการนำยาเสพติดให้โทษ และวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดได้เห็นชอบด้วยแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    และฉบับสุดท้ายที่ประชุม ครม. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ 2. ให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารมกล่าวว่า สาระสำคัญของร่างฯ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 เช่น อาเซติค แอนไฮไดรด์ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน) หรือประเภท 2 (ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟิน โคเคอีน) โดยกำหนดวัตถุประสงค์และผู้มีอำนาจในการอนุญาตไว้แต่ละกรณี ได้แก่ (1) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกใบอนุญาตนำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง กรณีผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของทางราชการเพื่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (2) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีอำนาจออกใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ มีไว้ในครอบครอง กรณีผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาวิจัย และเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม และ (3) กำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจออกใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง กรณีผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์ที่นำไปใช้เป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์ในปริมาณเล็กน้อย

    ดังนั้น ผู้ขออนุญาตตามร่างกฎกระทรวงนี้ในการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดในประเภท 4 จึงมีทั้งหน่วยงานของรัฐ สภากาชาดไทย เอกชนที่เป็นนิติบุคคลและไม่ใช่นิติบุคคล ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ได้ปรับปรุงเนื้อหาจากกฎหมายปัจจุบัน เช่น ปรับปรุงอำนาจในการออกใบอนุญาต และคุณสมบัติผู้ขอรับอนุญาตโดยแยกตามวัตถุประสงค์ในการขออนุญาต ปรับปรุงการยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก กำหนดเพิ่มเติมระยะเวลาให้ผู้อนุญาตพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ กำหนดเพิ่มเติมหน้าที่ผู้รับอนุญาตจำหน่าย ต้องจัดให้มีการทำรายงานการจำหน่าย ตามที่ได้รับอนุญาตต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาภายใน 30 วันหลังจากที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อให้การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 ให้มีคุณภาพและป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นชอบด้วยแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการ

    ผ่านร่าง กม. เพิ่มประสิทธิภาพ ป.ป.ส. ปราบยาเสพติด

    นายคารมกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดฐานสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

    นายคารมกล่าวว่า สาระสำคัญของการร่างกฎกระทรวง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงว่าด้วยการแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดฐานสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2565 โดยเพิ่มบทบัญญัติในกรณีหลังจากศาลออกหมายจับแก่ผู้กระทำความผิดฐานสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด โดยกำหนดให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ยื่นคำขออนุมัติแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. และให้นำไปดำเนินการกับพนักงานสอบสวนต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งมีอำนาจจับกุม สอบสวน หรือ ควบคุมตัวผู้ถูกจับซึ่งได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดังนี้

    เดิมการขออนุมัติแจ้งข้อหาในกรณีที่ศาลออกหมายจับแก่ผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฐานสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือ สมคบกันกระทำความผิด (มาตรา 125 หรือมาตรา 127 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด) ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรายงานหัวหน้าพนักงานสอบสวน และให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนยื่นคำขออนุมัติแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ส. มอบหมายโดยเร็ว เพิ่มเติมเป็นการขออนุมัติแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดฐานสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือสมคบกันกระทำความผิด (มาตรา 125 หรือมาตรา 127 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด) หลังจากศาลออกหมายจับแก่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวแล้วให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สังกัดสำนักงาน ป.ป.ส. ยื่นคำขออนุมัติแจ้งข้อหาต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ก่อน และให้นำไปดำเนินการกับพนักงานสอบสวนต่อไป

    เพิ่มเวลาส่งเงินสมทบ สปส. อีก 7 วัน เริ่ม 1 ม.ค. ปีหน้า

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยขยายกำหนดเวลา กรณีนายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ออกไปอีก 7 วันทำการนับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ สำหรับการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ และการนำส่งเงินสมทบไว้สำหรับการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบ สำหรับค่าจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถึงเดือนธันวาคม 2567 เป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

    ขยายเวลาลดภาษีรถ EV ต่อ ถึงสิ้นปี ’68

    นางรัดเกล้า อินทวงค์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จำนวน 2 ร่าง ดังนี้

    1. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน (ฉบับที่ ..) โดยขยายระยะเวลาการลดอัตราอากร หรือยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่นำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ลงไม่เกินร้อยละ 40 ทั้งนี้ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวต้องแสดงหนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิจากกรมสรรพสามิต กรณีที่ผู้นำเข้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด และกรมสรรพสามิตได้แจ้งยกเลิกหรือเพิกถอนการได้รับสิทธิสำหรับของนั้นกับกรมศุลกากรแล้ว ให้ถือว่าของนั้นไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรตามประกาศฉบับนี้ตั้งแต่วันนำของเข้า โดยผู้นำของเข้ามีหน้าที่ต้องแจ้งขอชำระและต้องชำระค่าภาษีอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนสิทธิ แต่ไม่ถูกตัดสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรในการลดอัตราอากร หรือยกเว้นอากรตามความตกลงการค้าเสรีที่ได้ยื่นไว้ในขณะนำของเข้า

    2. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สินค้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รุ่นที่ 1) โดยขยายระยะเวลาการใช้บังคับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้ารถยนต์หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน (ประเภทที่ 06.01 และ 06.02 แบบประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รุ่นที่ 1 (ECO Car phase 1) ในอัตราร้อยละ 14 ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2568 ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

    “ทั้ง 2 วาระที่ ก.การคลังนำเสนอในวันนี้ สืบเนื่องมาจาก คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) ในการประชุมครั้งก่อนหน้า (19 ธันวาคม 2566) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคืบหน้าของการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค” นางรัดเกล้า กล่าว

    ชงร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’67 เข้าสภาฯวาระแรก 3-4 ม.ค.ปี’67

    นางรัดเกล้า กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ และให้เสนอสภาผู้แทนราษฏรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ วาระที่ 1 ในวันที่ 3 – 4 มกราคม 2567 ต่อไป

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,480,000 ล้านบาท โดยจำแนกตามประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

      1. จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ดังนี้ 1) รายจ่ายงบกลาง จำนวน 606,765.0 ล้านบาท 2) รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,150,114.0 ล้านบาท 3) รายจ่ายบูรณาการ 214,601.7 ล้านบาท 4) รายจ่ายบุคลากร 786,957.6 ล้านบาท 5) รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 257,790.5 ล้านบาท 6) รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 346,380.1 ล้านบาท และ 7) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361.1 ล้านบาท
      2. จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐสรุปได้ ดังนี้ 1) ด้านความมั่นคง 390,149.3 ล้านบาท 2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 393,517.9 ล้านบาท 3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 516,954.2 ล้านบาท 4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 834,240.6 ล้านบาท 5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 131,292.3 ล้านบาท และ 6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 604,804.5 ล้านบาท

    โดยมีรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 564,041.20 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นการชำระหนี้ภาครัฐ และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง

    “ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ ครม.รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็น และให้ความเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ โดยให้ สงป.ดำเนินการพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ และเอกสารประกอบงบประมาณเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้ง ได้ผลิตเอกสารงบประมาณฉบับประชาชน โดยใช้ infographic เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจในเนื้อหาได้ง่ายขึ้น ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ งบประมาณตามช่วงวัย ตามความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และตามยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องงบประมาณประเทศเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ประชาชนจะต้องรู้ว่าได้อะไรบ้างจากงบประมาณปี 2567 ขอชวนเชิญให้สแกนคิวอาร์โค้ดได้จากเฟสบุ๊คของสำนักโฆษก นางรัดเกล้า กล่าวย้ำ

    เปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย – นม – ครีม เพิ่มเติม

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย นมและครีม ปี 2566 เพิ่มเติม ตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

      1. เห็นชอบในการอนุมัติเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2566 เพิ่มเติม ปริมาณ 10,031.55 ตัน ในอัตราภาษีร้อยละ 5 ตามติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (คณะกรรมการโคนมฯ) ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 และเนื่องจากการขอโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2566 เพิ่มเติม เป็นการพิจารณาจัดสรรให้กับผู้ประกอบการตามความจำเป็น และเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจึงให้ยกเว้นการจัดสรรโควตาตามสัดส่วนผู้ประกอบการ ตามมติคคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548
      2. เห็นชอบในการเปิดตลาดนำเข้านมและครีม ปี 2566 เพิ่มเติม ปริมาณ 700.18 ตัน ในอัตราภาษี ร้อยละ 20 ตามมติคณะกรรมการโคนมฯ ในการประชุม ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566
      3. มอบหมายให้คณะกรรมการโคนมฯ เป็นผู้บริหารการจัดสรรโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย นมและครีม ปี 2566 เพิ่มเติมดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการตามความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต โดยต้องนำเข้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และต้องไม่กระทบต่อมาตรการและปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

    ทั้งนี้ การขอเปิดตลาดนำเข้าเพิ่มเติมสำหรับสินค้านมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอในครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิตผลิตภัณฑ์นม เพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรการและปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศ เนื่องจากได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงการซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างองค์กรเกษตรกรโคนมและผู้ประกอบการไว้แล้ว

    ตั้ง “สุดฤทัย เลิศเกษม” นั่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

    นายชัย กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

      1. นางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

      2. นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

      3. นางมาลินี ภาวิไล ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

      4. นายอุฬาร จิ๋วเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    ดัน “บัญชา สุขแก้ว” ขึ้นอธิบดีกรมประมง

    ส่วนนางสาวเกณิกา กล่าวที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติเห็นชอบ และแต่งตั้ง ตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ดังนี้

    1. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

    นายรุ่งเรือง กิจผาติ นายแพทย์ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) (ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี (ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง) กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 3 ราย ดังนี้

      1) นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมชลประทาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      2) นายวุฒิพงศ์ เนียมหอม รองเลขาธิการ (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการ กระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
      3) นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมประมง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมประมง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2566 เพิ่มเติม