ThaiPublica > เกาะกระแส > จากหนังสือ Dust on the Throne การกลับมาศรัทธาพุทธศาสนา ในอินเดียสมัยใหม่

จากหนังสือ Dust on the Throne การกลับมาศรัทธาพุทธศาสนา ในอินเดียสมัยใหม่

7 ธันวาคม 2023


ปรีดี บุญซื่อ รายงาน

ที่มาภาพ : https://mahabodhi.info/2007-images/

ในช่วงประกาศเอกราชของอินเดีย เมื่อเดือนสิงหาคม 1947 มีเหตุการณ์สามอย่างเกิดขึ้น ที่สะท้อนสัญลักษณ์สูงสุดของอำนาจรัฐ ในวันที่ 14 สิงหาคม 1947 รัฐสภาเฉพาะกาล ที่เกิดขึ้นหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ อนุมัติธงชาติของอินเดีย ที่เปลี่ยนจากเดิมมีรูปเครื่องปั่นด้ายด้วยมือ สัญลักษณ์ของมหาตมะคานธี มาเป็นรูป “ธรรมจักร”

เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อคณะรัฐมนตรีเปิดเผยต่อสาธารณชนเรื่องตราสัญลักษณ์เป็นทางการของอินเดีย ในฐานะประเทศเกิดใหม่ สัญลักษณ์คือ “หัวเสาอโศกรูปสิงห์” ที่เคยตั้งอยู่ที่เมืองสารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า และเหตุการณ์ที่สาม Rajendra Prasad สาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินเดีย ต่อหน้าพระพุทธรูปขนาดใหญ่อายุ 1,800 ปี

พุทธศาสนาเคยหายไปจากอินเดีย

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ 3 อย่างของอินเดีย อาจทำให้คนบางส่วนสับสน เพราะอินเดียเป็นประเทศที่แยกศาสนาออกจากรัฐ (secular state) แม้คนนับถือศาสนาฮินดูจำนวนมากจะไม่พอใจในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ในช่วงประกาศเอกราช เมื่อ 76 ปีที่ผ่านมา พุทธศาสนาถูกถือว่า “สูญหายไปแล้ว” จากอินเดีย เป็นเวลาเกือบ 800 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีคนอินเดียเพียง 1% ที่บอกว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ

หลายร้อยปีหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ชนชั้นนำทางการเมืองและพ่อค้าวิณิชย์ในเอเชียใต้ ยังให้การสนับสนุนแก่คณะสงฆ์ทางพุทธศาสนา ผู้ให้การอุปถัมภ์สำคัญคือ พระเจ้าอโศก (พศ. 775-812) โดยแรงบันดาลใจจากคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องความเท่าเทียมทางสากล และความเมตตากรุณา ทำให้พระเจ้าอโศกประกาศเลิกทำสงคราม และทำการเผยแพร่คำสอนพระพุทธเจ้า

ในเวลาต่อมา พุทธศาสนาเริ่มไม่ได้รับการสนับสนุนในดินแดนบ้านเกิด นักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันว่า อะไรคือสาเหตุทำให้พุทธศาสนาตกต่ำในอินเดีย โดยสาเหตุอาจมาจากหลายประการ เช่น การเสื่อมถอยของคณะสงฆ์ และท่าทีเป็นปฏิปักษ์จากศาสนาพราหมณ์ แต่นักประวัติศาสตร์เห็นตรงกันว่า ประมาณศตวรรษ 13 และ 14 พุทธศาสนาได้สูญหายไปจากอินเดีย

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือ Dust on the Throne กล่าวว่า การฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดียเกิดขึ้น ทั้งจากคนอินเดียเอง คนเอเชีย และคนยุโรป การหันมาศรัทธาใหม่ในพุทธศาสนานี้ เกิดขึ้นก่อนปีคศ. 1956 (พศ. 2499) ที่รัฐบาลอินเดียจัดงานฉลอง “2500 ปีของพุทธศาสนา” และเหตุการณ์ในปี 1956 ที่คนวรรณะจัณฑาลครึ่งล้านคน หันมานับถือพุทธศาสนา ภายใต้การนำของนักสิทธิพลเมืองชื่อ B. R. Ambedkar
แต่ในช่วงระหว่างการสูญหายของพุทธศาสนา มาจนถึงการฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดียขึ้นมาใหม่ นักประวัติศาสตร์เห็นตรงกันอยู่ 3 อย่าง ประการแรก ชาวพุทธอินเดียในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นคนวรรณะจัณฑาล ประการที่สอง ในอดีต สถานที่ทางพุทธศาสนา อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม คนที่ไปเยือนเป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษ มากกว่าพระสงฆ์

ในประการที่สาม ในปี 1891 (พศ. 2434) หลังจากมีการจัดตั้ง “สมาคมมหาโพธิแห่งอินเดีย” (Maha Bohdi Society) ที่กัลกัตต้า ชาวพุทธจากทั่วโลกจำนวนมาก เริ่มเดินทางมาอินเดีย ทำให้เกิดเครือข่ายการแสวงบุญ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม สมาคมมหาโพธิ ตั้งโดยผู้นำชาวพุทธศรีลังกา มีวัตถุประสงค์ต้องการฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดีย โดยการบูรณะพุทธสถานที่พุทธคยา สารนาท และกุชินารา
ประเทศพระพุทธเจ้า

หนังสือ Dust on the Throne เขียนไว้ว่า หลายเดือนก่อนที่อินเดียจะประกาศเอกราชในเดือนสิงหาคม 1947 ชนชั้นนำทางการเมืองมีความเห็นร่วมกันว่า อนาคตของประเทศอยู่ที่มองไปในอดีต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจของประเทศเกิดใหม่

การที่รัฐสภาเฉพาะกาลอนุมัติธงชาติให้ใช้สัญลักษณ์ธรรมจักร และตราสัญลักษณ์เป็นทางการของรัฐ ที่เป็นรูปหัวอโศกรูปสิงห์ คือการนำประเทศอินเดียไปเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้า และสัญลักษณ์อาณาจักรของพระเจ้าอโศก

สำนักงาน สมาคมมหาโพธิแห่งอินเดีย ที่กัลกัตต้า ที่มาภาพ : wikipedia

เมื่ออินเดียประกาศรัฐธรรมใหม่ ที่ระบุว่า การกีดกันทางวรรณะ คือสิ่งที่ผิดกฎหมาย สมาคมมหาโพธิแห่งอินเดีย ก็แถลงว่า “บางครั้ง หนทางข้างหน้าคือหนทางที่เคยผ่านมาแล้ว ในกรณีนี้คือการกลับไปสู่ความสำนึกระดับสูง ที่อินเดียเคยบรรลุถึง เมื่อครั้งพุทธศาสนาได้รับความเชื่อถือ และการกีดกันทางวรรณะเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ”

จุดสูงสุดของความเชื่อมั่นครั้งใหม่ของอินเดียต่อพุทธศาสนา คือการจัดงานฉลองการประสูติของพระพุทธเจ้าครบ 2,500 ปี ที่มีขึ้นในปีคศ. 1956 งานฉลองประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นตลอดปี เช่น เทศกาล การประชุม และการแสดงงานทางศิลปะ

กิจกรรมต่างๆเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล อดีตนายกรัฐมนตรี ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู (1889-1964) ส่วนหนึ่งเพื่อสื่อสารกับคนอินเดีย และอีกส่วนหนึ่งเป็นแนวทางด้านนโยบายต่างประเทศ เนห์รูมองว่า พุทธศาสนาคือศาสนาของเหตุผลในยุคสมัยใหม่ เป็นกฎระเบียบทางวิทยาศาสตร์และศีลธรรม ที่คนเราสามารถยอมรับได้ โดยไม่ต้องมีแบบแผนทางการ

ในหนังสือชื่อ The Discovery of India เนห์รูเขียนไว้ว่า “พระพุทธเจ้าทรงกล้าหาญที่จะวิจารณ์ศาสนาที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ไสยศาสตร์ พิธีกรรม และอิทธิพลของนักบวช พระองค์ได้วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับทัศนะคติแบบอภิปรัชญา ความมหัศจรรย์ คำประกาศของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งเหนือธรรมชาติ พระองค์เรียกร้องในเรื่องของตรรกะ เหตุผล และประสบการณ์ เน้นหนักในจริยธรรม และวิธีการของพระองค์คือการวิเคราะห์ด้านจิตใจ สิ่งที่โดดเด่นคือปรัชญาพุทธศาสตร์ ทำให้เราเข้าไปใกล้กับแนวคิดฟิสิกส์และปรัชญาสมัยใหม่”

เนห์รูและบรรดาผู้นำอินเดียร่วมสมัยต่างก็เชื่อว่า พระพุทธเจ้าคือนักสากลนิยมที่ยิ่งใหญ่บุคคลแรก พระองค์เป็นผู้สนับสนุนการใช้เหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง และการยึดถือจริยธรรม คนชั้นนำของอินเดียเวลานั้นมีความภูมิใจอย่างมาก ในความจริงที่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นชาวอินเดีย และธรรมเนียมประเพณีของอินเดีย มีอิทธิพลความหมายอย่างมากต่อโลกเรา

เส้นทางแสวงบุญชาวพุทธ ที่มาภาพ : หนังสือ Journey of a Lifetime

หนังสือ Dust on the Throne บอกว่า ปัจจุบันนี้ พุทธศาสนายังมีบทบาทสำคัญในสังคมอินเดีย แม้บางครั้งจะถูกมองข้ามไปก็ตาม ในปี 2015 เมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการครั้งแรก จุดแรกในการแวะเยือนคือรัฐคุชราต เพื่อเข้าชมนิทรรศการพุทธศาสนา ในโอกาสฉลองการเดินทางมาแสวงบุญที่อินเดียในศตวรรษที่ 7 ของพระถังซัมจั๋ง

เมื่อเดือนสิงหาคม 2014 เมื่อนายกรัฐมนตรีอินเดีย นาเรนทรา โมดี เดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ก็ได้ไปร่วมสวดมนต์กับชินโซะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่วัดพุทธแห่งหนึ่ง ชินโซะ อาเบะ เขียนลงในทวิตเตอร์ว่า “เมื่อมองไปที่พระพุทธรูป ทำให้เราระลึกถึงความผูกพันทางประวัติศาสตร์ที่ลุ่มลึก ระหว่างญี่ปุ่นกับอินเดีย”

ในแต่ละปี ผู้แสวงบุญชาวพุทธหลายแสนคนจากทั่วโลก เดินทางมาพุทธสถานสำคัญในอินเดีย เพื่อสวดมนต์และสักการะสังเวชนียสถาน 4 แห่งคือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ที่สำคัญเช่นกัน การท่องเที่ยวเพื่อแสวงบุญยังนำเงินหลายล้านดอลลาร์ มาสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น

แต่มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างหลังทศวรรษ 1950 ที่มีผลต่อทิศทางการพัฒนาของพุทธศาสนาในอินเดีย เช่น อิทธิพลพุทธศาสนาแบบทิเบตต่ออินเดีย ความนิยมและอิทธิพลของดาไลลามะ ที่มีในประเทศต่างๆ และผู้อพยพชาวทิเบตนับแสนคน ทำให้พุทธศาสนาแถบเทือกเขาหิมาลัย ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ และพุทธศาสนานิกายวัชรยาน ได้รับความนิยมเลื่อมใสในหมู่คนชั้นกลางของอินเดีย

มหาโพธิวิหาร ที่มาภาพ : wikipedia.org

หนังสือ Dust on the Throne สรุปว่า การที่ชาวอินเดียหวนกลับไปมีชีวิต ในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกาล เพื่อค้นหาสังคมที่เสมอภาค ปราศจากการแบ่งวรรณะ เป็นอิสระจากการกดขี่ของอาณานิคม และจากวัตถุนิยมของตะวันตก พวกเขาค้นพบสิ่งนี้ในพระพุทธเจ้า

เอกสารประกอบ
History of Buddhism in India, Wikipedia.org
Dust on the Throne: The Search for Buddhism in Modern India, Douglas Ober, Standford University Press, 2023.