ThaiPublica > เกาะกระแส > ปตท. เดินหน้า Reinvest สร้างบ้านใหม่…Future Energy and Beyond

ปตท. เดินหน้า Reinvest สร้างบ้านใหม่…Future Energy and Beyond

6 พฤศจิกายน 2023


วันนี้เมื่อโลกเปลี่ยน ทุกองค์กรต่างมองหา “ทางรอดอย่างยั่งยืน”

ยิ่งองค์กรขนาดใหญ่อย่างกลุ่ม ปตท. เมื่อการลงทุนที่เคยสร้างความยิ่งใหญ่มาอย่างต่อเนื่องมา 45 ปีเริ่มไม่เหมือนเดิม การวางแผนลงทุนใหม่จึงเป็นโอกาสและทางเลือกที่สำคัญ

ภายใต้วิสัยทัศน์ของกลุ่ม ปตท. “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเพื่อสนับสนุนแผนการดำเนินงาน ให้เติบโตไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน ถึงเวลาที่กลุ่ม ปตท. จำเป็นต้อง reinvest อีกครั้ง ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่ มีเป้าหมายใน 3 ด้าน คือ

1. Business Growth ปรับพอร์ตการลงทุน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
2. New Growth ธุรกิจพลังงานใหม่และธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากพลังงานต้องสร้างกำไรในปี 2573 มากกว่าร้อยละ 30 พร้อมลงทุนและเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่เป็น future energy และที่ไกลกว่าพลังงานกลุ่ม beyond
3. Clean Growth ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบจากปี 2563 (ค.ศ. 2020) ลง 15% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)

Reinvest 5 ปี (2566-2570) เพื่อก้าวที่ยั่งยืน

ปตท. ได้เตรียมงบประมาณเพื่อการลงทุนใน 5 ปี (2566 – 2570) จำนวน 100,227 ล้านบาท และงบลงทุนในอนาคต หรือ provisional capital expenditure 5 ปีอีก 302,168 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond และสอดคล้องกับเจตนารมณ์มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2583 (ค.ศ. 2040) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เช่น

  • ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (future energy) ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน
  • ธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (beyond) เช่น ธุรกิจ life science (ยา nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์) ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (mobility & lifestyle) ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีก non-oil ธุรกิจหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI, robotics & digitalization)
  • สำหรับปี 2566 ปตท. มีแผนลงทุน 93,598 ล้านบาท ได้แก่ การก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 โครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 การขยายการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle หรือ EV) รวมถึงจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่และให้บริการเช่าใช้ EV ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มกว่า 1,000 คัน พร้อมขยายสถานีอัดประจุ EV ครอบคลุมทั่วประเทศ กว่า 400 หัวจ่าย ตลอดจนลงทุนในกลุ่มธุรกิจโภชนาการเพื่อสุขภาพ ทั้งการจัดตั้งโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชครบวงจร พร้อมเดินสายการผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์อินโนบิก

    ปตท. Net Zero

    ปตท. มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ในปี 2030 เทียบกับปี 2020 บรรลุเป้าหมาย carbon neutrality ภายในปี 2040 และ บรรลุเป้าหมาย net zero emission ภายในปี 2050 โดยมี “แนวทางการดำเนินงาน 3P ” เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

    1. Pursuit of Lower Emissions

    โครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการ ได้แก่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

    2. Portfolio Transformation

    สร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (future energy and beyond) เพิ่มสัดส่วน green portfolio และบริหารจัดการ hydrocarbon portfolio โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 50%

    3. Partnership with Nature and Society

    การเพิ่มปริมาณการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและดูแลรักษาป่าไม้และพื้นที่สีเขียวพร้อมวางแผนในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดย ปตท. มีเป้าหมายและจะดำเนินการปลูกป่าบกและป่าชายเลนเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ และความร่วมมือบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 ซึ่งเมื่อรวมกับพื้นที่ป่าเก่า 1 ล้านไร่ ของ ปตท. แล้ว ในอนาคตพื้นที่แปลงปลูกป่าของกลุ่ม ปตท. กว่า 3 ล้านไร่นี้ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตัน/ปี

    ……

    จากนโยบายที่ต้อง reinvest ใหม่ ล่าสุด ปตท. ได้เชิญสื่อร่วมดูงานกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนใหม่ ได้แก่

  • ท่าเรือเซบีญา (Port of Seville)
  • ท่าเรือเซบีญา เป็นท่าเรือเชิงพาณิชย์แห่งเดียวของสเปนที่ตั้งอยู่ตอนในของประเทศ (inland maritime) ริมแม่น้ำกวาดัลกีบีร์ ใจกลางเมืองเซบีญา และห่างจากทางออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกประมาณ 90 กิโลเมตร เป็นท่าเรือหลายรูปแบบที่สมบูรณ์ เนื่องจากมีระบบโลจิสติกส์ที่ดีเยี่ยม เชื่อมต่อกับท่าเรือทั้งทางรถไฟและทางบก และมีการจัดตั้งเขตปลอดอากร (free zone) มีพื้นที่ขนาด 850 เฮกตาร์ สำหรับการใช้งานด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมเป็นหลัก เช่น การขนส่งผลิตภัณฑ์อาหารเกษตร เหล็ก ตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าทางตอนใต้ประเทศ เช่น การผลิตโครงสร้างโลหะสำหรับกังหันลมชายฝั่ง รวมถึงมีประชากรโดยรอบกว่า 1.5 ล้านคน พร้อมยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวล่องเรือสำราญ เป็นการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

    ท่าเรือนี้จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับสหภาพยุโรปและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการขนส่งข้ามทวีปยุโรป (TEN-T) และมีเส้นทางเดินเรือของแม่น้ำกัวดัลกิบีร์ (Guadalquivir) เส้นทางเดินเรือที่สำคัญในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแคว้นอันดาลูเซีย ที่มีบริษัท 200 แห่ง ช่วยสร้างงานมากกว่า 23,000 ตำแหน่งในพื้นที่โดยรอบ อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,100 ล้านยูโร

    จุดแข็งของท่าเรือ

  • ทำเลใจกลางเมืองเป็นจุดขนส่งสินค้าในทางตอนใต้ของประเทศสเปน
  • เป็นท่าเรือแห่งเดียวบนผืนดินของสเปน
  • สภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง
  • พื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับการจัดการด้านโลจิสติกส์และด้านอุตสาหกรรม
  • มีการเชื่อมต่อการคมนาคมภาคพื้นดินอย่างหลากหลายได้ดี
  • มีตำแหน่งไม่ไกลจากตัวเมือง
  • มีพื้นที่สำหรับการจัดการการขนส่ง 8 แห่ง (อาคารผู้โดยสารส่วนตัว 5 แห่ง และ 3 แห่งเป็นท่าเรือสาธารณะ)
  • เป็นแหล่งอุตสาหกรรม การขนส่งทั้งทางบก ทางรางและทางทะเล
  • พื้นที่จอดเรือมากกว่า 4,000 เมตร พื้นที่จัดเก็บ 1 ล้านตารางเมตร และท่าเทียบเรือสำราญ 1 แห่งในใจกลางเมือง
  • อย่างไรก็ตาม ท่าเรือเซบีญามีการพัฒนาศักยภาพมาเพื่อเพิ่มความหลากหลายและความสมบูรณ์ด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้นไปอีก เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ หรือการผลิตพลังงานชีวมวล และจะทำให้แคว้นอันดาลูซีอาแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมหลักในอนาคตอันใกล้

    ท่าเรือเซบีญา สเปน

    สำหรับกลุ่ม ปตท. ได้ลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F โดยจัดตั้งบริษัท GPC International Terminal ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ บริษัท PTT Tank ถือหุ้นในสัดส่วน 30% โดยเป็นโครงการที่เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (public private partnership) ระหว่าง บริษัท GPC International Terminal และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 35 ปี มีมูลค่าการลงทุนร่วมกันในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าประมาณ 30,000 ล้านบาท

    ท่าเทียบเรือ F สามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้อย่างน้อย 4,000,000 ทีอียูต่อปี เพื่อรองรับการนำเข้าส่งออกตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เป็นท่าเรือที่มีความลึกมากที่สุดของท่าเรือแหลมฉบังที่ความลึก 18.5 เมตร สามารถรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ได้ถึง 23,000 ทีอียู โดยจะมีการพัฒนาโครงการโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการบริหารจัดการท่าเรือและการจัดการพลังงาน รวมถึงใช้เทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด มุ่งสู่ความเป็น green port ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของ ปตท. ในการขยายธุรกิจด้าน logistics & infrastructure พร้อมทั้งสนับสนุนการเติบโตของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และลดการปลดปล่อยคาร์บอน มุ่งสู่การความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

    ปัจจุบัน การท่าเรือแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการถมทะเลในพื้นที่โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และบริษัท GPC อยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขอใบอนุญาตก่อสร้างของท่าเทียบเรือ F ซึ่งคาดว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะสามารถส่งมอบพื้นที่ถมทะเลได้ภายในปี พ.ศ. 2568 และบริษัท GPC สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างหน้าท่าเทียบเรือและจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี พ.ศ. 2570

    โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นโครงการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นจุดกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค มุ่งสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำของโลก มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท โดยจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจากปัจจุบัน 11 ล้านทีอียูต่อปี (ทีอียู คือ เทียบเท่าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จากปัจจุบัน 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี รวมถึงมีโครงสร้างพื้นที่ที่รองรับการขนส่งหลายรูปแบบ (multimodal transportation) ทั้งทาง รถ รถไฟ และเรืออย่างครบวงจร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในปี พ.ศ. 2570

    โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีเป้าหมายสู่การเป็นท่าเรือสีเขียว (green port) ที่จะใช้พลังงานสะอาดและมีระบบจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการให้การขนส่งทางทะเลมีการใช้พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน ลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะมีแนวทางในการพัฒนา green port ดังนี้

      1. การใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรภายในท่า
      2. การใช้แบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
      3. การใช้พลังงานทางเลือก เช่น แสงอาทิตย์ ลม hydrogen fuel cell
      4. การเปลี่ยนระบบการขนส่ง จากรถบรรทุกเป็นรถไฟและเรือ มากยิ่งขึ้น
      5. การใช้ระบบ IT intelligence ในการจัดการพลังงานภายในท่า และจราจร
      6. การบริหารจัดการของเสีย และรีไซเคิล น้ำภายในท่าเรือ

    ……

    Iberdrola

  • Iberdrola Green Hydrogen Plant
  • บริษัท Iberdrola เป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดจากประเทศสเปน ธุรกิจมี 3 สาขา คือ พลังงานหมุนเวียน ธุรกิจเครือข่ายกระแสไฟฟ้า และธุรกิจขายส่งและขายปลีกพลังงานไฟฟ้า มีความสามารถในการผลิตพลังงานหมุนเวียนจำนวน 40 กิกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานลมบนบก (onshore wind) ลมนอกชายฝั่งทะเล (offshore wind) พลังงานน้ำ โซลาร์เซลล์ และกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาห่วงโซ่ทางธุรกิจกรีนไฮโดรเจน โดยเป้าหมายในปี 2030 ของบริษัท Iberdrola คือ ติดตั้งอิเล็กโทรไลเซอร์ 3 กิกะวัตต์ / ผลิตกรีนไฮโดรเจน 350,000 ตัน / ลงทุนทั้งหมด 9 พันล้านยูโร

    หนึ่งในธุรกิจไฮโดรเจนสีเขียวของบริษัท Iberdrola คือ โรงงานผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่เมือง Puertollano ประเทศสเปน ถือเป็นโรงงานผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสำหรับอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 100 เมกะวัตต์ ระบบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีความจุ 20 เมกะวัตต์ชั่วโมง และระบบการผลิตไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า (electrolyser) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (20 เมกะวัตต์) เป็นหนึ่งในโรงงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในสหภาพยุโรป โดยมีกำลังการผลิตมากกว่า 200,000 ตันต่อปี ไฮโดรเจนสีเขียวจะถูกนำมาใช้ที่โรงงานปุ๋ย Fertiberia ในเมือง Puertollano ทำให้ Fertiberia เป็นบริษัทในยุโรปแห่งแรกในอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย ที่พัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการผลิตแอมโมเนียสีเขียวขนาดใหญ่ โดยมีงบลงทุน 150 ล้านยูโร สร้างงานได้มากถึง 1,000 ตำแหน่ง และป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 48,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี

    Battery : โครงการนี้ประกอบด้วยระบบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 5 เมกะวัตต์ที่มีความจุ 20 เมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้สามารถจัดการโรงงานได้มากขึ้นและปรับกลยุทธ์การควบคุมให้เหมาะสม

    โรงงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ : เพื่อใช้สำหรับการผลิต H2 สีเขียวจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 100 เมกะวัตต์ การติดตั้งนี้รวมเอาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น แผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถรับแสงได้ 2 ด้าน (bifacial panels) ซึ่งช่วยให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น และอินเวอร์เตอร์แบบสตริง เพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์จากพื้นที่รับแสงได้ดียิ่งขึ้น

    สายไฟฟ้าใต้ดิน : มีสายไฟใต้ดินสำหรับส่งไฟฟ้าไปใช้ในโครงการโดยเฉพาะ เพื่อให้แน่ใจว่าพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในอิเล็กโทรไลเซอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจน และออกซิเจนโดยใช้กระแสไฟฟ้า เป็นพลังงานหมุนเวียนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

    การผลิตไฮโดรเจนสีเขียว : ไฮโดรเจนสีเขียวผลิตโดยเซลล์อิเล็กโทรไลซิส ที่ขับเคลื่อนโดยทั้งพลังงานที่เกิดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ ในกระบวนการที่ไม่มีการปล่อย CO2 ที่เกี่ยวข้องและช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานไฟฟ้าได้ กระบวนการผลิตดำเนินการด้วยระบบพอลิเมอร์อิเล็กโทรไลซิสที่มีแหล่งจ่ายไฟขนาด 20 เมกะวัตต์ และความสามารถในการผลิตไฮโดรเจน 360 กิโลกรัมต่อชั่วโมง

    H2 Tanks : การจัดเก็บไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญในการรับประกันความเสถียรของอุปทานที่โรงงาน Fertiberia ต้องการ และเพื่อใช้การผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ มีถังทั้งหมด 11 ถังที่สามารถเก็บไฮโดรเจนสีเขียวได้ 6,000 กก. ที่ความดัน 60 บาร์ แต่ละถังมีปริมาตร 133 ลบ.ม. และมีขนาดสูง 23.5 ม. และเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.8 ม. ถังเก็บไฮโดรเจนเปล่ามีน้ำหนัก 77 ตัน และทำจากเหล็กพิเศษที่มีความหนา 4.5 ซม. เพื่อบรรจุไฮโดรเจน เนื่องจากอนุภาคนี้มีขนาดเล็ก

    Distribution Network : พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะถูกป้อนเข้าสู่เครือข่ายระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อขายต่อไป

    Iberdrola Campus คือ ศูนย์นวัตกรรมระดับโลกสำหรับฝึกอบรมทางธุรกิจด้านพลังงานให้กับพนักงานและผู้เกี่ยวข้องของบริษัท Iberdrola เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่มีนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ทำให้ Campus ได้รับรางวัล LEED Gold 2009 เช่น มีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 100 กิโลวัตต์สำหรับการผลิตเอง และระบบความร้อนจากแสงอาทิตย์สำหรับน้ำร้อนในครัวเรือนที่ครอบคลุมพื้นที่ 400 ตร.ม. รวมถึงจุดชาร์จ 60 จุดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

    สำหรับ ปตท. ได้ดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ACWA Power ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในโครงการนี้ ทั้งสามหน่วยงานจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทยด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยจะครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศเพื่อใช้ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว โรงงานผลิตไฮโดรเจนสีเขียว เทคโนโลยีการผลิตอิเล็กโตรไลเซอร์ และสถานที่ตั้งของโรงงาน และที่สำคัญก็คือ ลูกค้าที่จะรับซื้อไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตได้ในโครงการ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินงานและหารือกับผู้ที่อาจได้ร่วมงานกันในอนาคต

    ดังนั้น โรงงานผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่เมือง Puertollano ของบริษัท Iberdrola จะเป็นตัวอย่างที่ดีของโรงงานผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ที่มีแนวคิดของโครงการคล้ายกับโครงการที่ ปตท., กฟผ. และ ACWA Power อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ อนึ่ง ไฮโดรเจนสีเขียวกำลังเป็นที่สนใจทั่วโลกเนื่องจากทั้งกระบวนการผลิตที่ไม่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลย และตอบโจทย์การเข้าสู่ carbon neutrality และ net zero และเนื่องด้วยราคาของพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับเทคโนโลยีอิเล็กโทรไลเซอร์ก็จะมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้ราคาไฮโดรเจนสีเขียวมีแนวโน้มลดลงในอนาคต และจะสามารถแข่งขันกับราคาของไฮโดรเจนสีเทา (grey hydrogen) ที่ผลิตได้จากก๊าซธรรมชาติได้ในบางประเทศในช่วงปี 2040-2050

    การศึกษาดูงาน Iberdrola Green Hydrogen Plant ณ ประเทศสเปน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไฮโดรเจนสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในครั้งนี้ จะช่วยให้ได้แนวทางในการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจน หรือพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศสเปน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนที่ประสบความสำเร็จแล้ว เพื่อนำมาสนับสนุนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจไฮโดรเจนของ ปตท. และประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

    ……

    ความรู้เรื่อง Future Energy

  • เทรนด์พลังงานในปัจจุบันและอนาคต
  • ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำให้เกิดภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณของก๊าซเรือนกระจก (green house gas หรือ GHG) โดยมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงมีข้อตกลงระหว่างประเทศในการลดปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศ ทำให้แนวโน้มการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และกำลังจะหมดไปในอนาคตอันใกล้

    พลังงานฟอสซิลจะถูกแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ที่มีอยู่ในธรรมชาติ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อม ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น เป็นพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี

  • เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
  • เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ มีการพัฒนาและนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่

    1. พลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตยค่อนข้างสูง เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย คือ เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดซิลิคอน (silicon-based solar cell) อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีใหม่ๆ ของเซลล์แสงอาทิตย์ยังมีพัฒนาอยู่ตลอดเพื่อให้ได้พลังงานไฟฟ้าสูงขึ้น (higher efficiency) และครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลาย เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบางที่มีน้ำหนักเบาและสามารถโค้งงอได้ เป็นต้น

    2. พลังงานน้ำ (hydropower) แปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบของเขื่อน เพื่อสะสมกำลังในการสร้างพลังงานศักย์ สู่กังหันน้ำ ดันใบพัดกังหันหมุนเพลาที่เชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพลังงานน้ำเป็นพลังงานทดแทนที่มีการใช้มาอย่างยาวในประเทศไทย มีการใช้พลังงานน้ำในการผลิตไฟฟ้าอย่างจริงจังในปี 2507 โดยการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก

    3. พลังงานลม (wind energy) ซึ่งนำการเคลื่อนที่ของอากาศที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ หรือแรงกดดันจากชั้นบรรยากาศ มาผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีของกังหันลม (wind turbine) ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่มีลักษณะเป็นใบพัดรับแรงเคลื่อนที่ของลม และเปลี่ยนพลังงานจลน์ (kinetic energy) จากการเคลื่อนที่ของลมให้กลายเป็นพลังงานกล (mechanical energy) ในการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (generator) เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยกังหันลมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือกังหันลมแกนตั้ง (vertical-axis type wind turbine หรือ VAWT) และกังหันลมแกนนอน (horizontal-axis type wind turbine หรือ HAWT) กังหันลมส่วนใหญ่ที่ใช้งานอยู่ทั่วไปจะเป็นแบบแกนนอน ซึ่งต้องติดตั้งอยู่บนเสาสูง และมีอุปกรณ์ควบคุมเพื่อให้กังหันลมสามารถหันหน้าเข้าหาลมและรับลมได้ทุกทิศทาง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมทั้งสิ้น 1,400 MW (ณ ม.ค. 66) และพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไทยจะอยู่ที่ความสูงระดับ 100 เมตรขึ้นไปจากระดับผิวดิน

    4. พลังงานไฮโดรเจน (hydrogen) เนื่องก๊าซไฮโดรเจนไม่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ การใช้ไฮโดรเจนจึงไม่ปล่อยก๊าซ CO2 ฝุ่นละออง หรือมลพิษไอเสียอื่นๆ นอกจากนี้ ไฮโดรเจนยังมีค่าพลังงานความร้อนต่อน้ำหนักสูงกว่าน้ำมัน gasoline ประมาณ 3 เท่า พลังงานไฮโดรเจนสามารถผลิตได้จากหลายรูปแบบ เช่น

    • การผลิตจากถ่านหิน ด้วยเทคโนโลยี gasification เรียกว่าไฮโดรเจนสีน้ำตาล
    • การผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (natural gas) ด้วยเทคโนโลยี steam methane reforming (SMR) เรียกว่าไฮโดรเจนสีเทา
    • การผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (natural gas) ด้วยเทคโนโลยี steam methane reforming (SMR) แต่มีกระบวนการ ดักจับ CO2 ทำให้เหลือ CO2 ในปริมาณที่น้อยกว่า เรียกว่าไฮโดรเจนสีน้ำเงิน
    • การผลิตจากน้ำผ่านกระบวนการแยกน้ำด้วยกระแสไฟฟ้า (electrolysis) โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เรียกว่าไฮโดรเจนสีเขียว

    ไฮโดรเจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเผาไหม้โดยตรง การใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในรถสันดาปภายใน การเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้า สารตั้งต้นในการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (synthetic fuels) เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน (sustainable aviation fuel หรือ SAF) เป็นต้น ซึ่งการใช้พลังงานไฮโดรเจนมีข้อดีคือไม่มีการปลดปล่อย CO2 จากการเผาไหม้ โดยเฉพาะถ้าเป็นไฮโดรเจนที่ผลิตจากน้ำหรือกระบวนการที่มีการกักเก็บคาร์บอน (carbon capture storage) จึงกล่าวได้ว่าไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาด ที่ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี

  • ทิศทางและภารกิจด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านพลังงาน ของ ปตท.
  • นวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญที่ ปตท. จะใช้ขับเคลื่อนประเทศไทย โดยเฉพาะในธุรกิจ Future Energy and Beyond ที่ ปตท. มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ทั้งการพัฒนานวัตกรรมขึ้นจากภายใน และการสร้างความร่วมมือกับภายนอก โดยมี สถาบันนวัตกรรม ปตท. (Innovation Institute หรือ InI) เป็น technology solution provider ให้กับกลุ่ม ปตท. มายาวนานถึง 25 ปี โดยมีหน้าที่ในการวิจัย พัฒนา สร้างนวัตกรรม สนับสนุนเทคนิค และประเมินการลงทุนให้กับธุรกิจต่างๆ รวมถึงวิเคราะห์ประเมินแนวโน้มเทคโนโลยีเพื่อนำไปกำหนดทิศทางธุรกิจสู่ new s-curve ของ ปตท.

    • ปัจจุบัน ปตท. ได้ดำเนินการผลักดันนวัตกรรมให้สอดรับกับทิศทางการดำเนินธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแบบองค์รวม เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากแหล่งปิโตรเลียม เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด ซึ่งรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า โครงการ Carbon Capture and Storage (CCS) ในการอัด CO2 ลงในชั้นหินใต้อ่าวไทย และโครงการ Carbon Capture and Utilization (CCU) การใช้ประโยชน์จาก CO2 ในการแปรรูปเป็นสารเคมีอื่นๆ เช่น ผงฟูและเมทานอล เป็นต้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ตามเป้าหมายของ ปตท. เรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2040 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050
    • ในด้านธุรกิจไฮโดรเจน ปตท. มีกลยุทธ์ในการแสวงหาโอกาสในการลงทุนโครงการผลิตไฮโดรเจนสะอาดหรือไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) และมุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำด้านไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (upstream to downstream) โดยจะดำเนินการร่วมกับภาครัฐในการผลักดันนโยบายการส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนในประเทศไทย รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์ เพื่อตอบสนองตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ