ThaiPublica > คอลัมน์ > Live and Learn : อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน… ปรัชญา Stoicsm ในเพลง “บอย โกสิยพงษ์”

Live and Learn : อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน… ปรัชญา Stoicsm ในเพลง “บอย โกสิยพงษ์”

2 กันยายน 2023


Hesse004

Live and Learn : อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน… ปรัชญา Stoicsm ในเพลง “บอย โกสิยพงษ์”

เกือบยี่สิบปีมาแล้ว บอย โกสิยพงษ์ นักแต่งเพลง คนทำดนตรีแนว feel good ได้ปล่อยเพลง Live and Learn ขับร้องโดยคุณกมลา สุโกศล… วันนี้เพลง Live and Learn กลายเป็นอีกบทเพลงในตำนานเพลงปลอบประโลมผู้คนในห้วงยามที่ผิดหวังท้อแท้

สไตล์เพลงแนว Broadway บวกด้วยความไพเราะของท่วงทำนองและเสียงอันทรงพลังของคุณกมลา ยิ่งทำให้ Live and Learn “ขึ้นหิ้ง” เพลงอมตะ

Live and Learn เปรียบเสมือนภาคต่อของ Season Change “ฤดูที่แตกต่าง” สมัยที่บอยออกอัลบั้มชุดแรก

“อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง… เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ”

Season Change นับเป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่สร้างกำลังใจให้ผู้คนจำนวนมาก

การใช้เวลานั่งฟังเพลงคนเดียวเงียบๆ ทบทวนตัวเอง ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต และมองไปข้างหน้า ก่อนตัดสินใจว่า เราต้อง move on ก้าวข้ามต่อไปอย่างไร มีค่าพอๆ กับการนั่งอ่านหนังสือดีๆ หรือนั่งสนทนากับผู้คนดีๆ ที่ผ่านมาในชีวิต

วัฏจักรแห่งอารมณ์ ทุกข์ สุข สมหวัง ผิดหวัง สลับสับเปลี่ยนกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเรา…“เรียนรู้และยอมรับมัน”

แต่ละวันของชีวิต เราแก่ขึ้นเรื่อยๆ สภาพร่างกายเราไม่เหมือนเดิม โรคภัยถามหามากขึ้น… ฝรั่งเรียกว่าสภาวะนี้ว่า growing old

ขณะเดียวกัน เมื่อเรา growing old แล้ว การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่ง คือ การเติบโตทางความคิด จิตวิญญาณ หรือ growing up ซึ่งบ่อยครั้งอาจไม่สัมพันธ์กับ growing old

เหมือนที่ Walt Disney ราชาการ์ตูน เคยกล่าวว่า Growing old is mandatory, Growing up is optional.

“… อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิด สติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”

เนื้อหาของเพลง Live and Learn ท่อนนี้สะท้อนภาพชีวิต

…เพราะชีวิต คือ ชีวิต…
ชีวิต คือ การเรียนรู้ในทุกวัน การเรียนรู้ทำให้เราเติบโต การเติบโตทำให้เราเข้าใจตัวเองในแต่ละช่วงเวลา

เพลง Live and Learn มีกลิ่นอายแนวคิดความเป็นสโตอิก หรือ Stoicism กล่าวคือ แนวคิด Stoicism เริ่มต้นที่กรีกโดยพ่อค้าคนหนึ่งที่ชื่อ Seno

Seno เจอวิกฤติใหญ่ในชีวิตหลังจากเขาล่องเรือนำสินค้าราคาแพงข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียนไปขาย แต่เรือเขาอับปางลง เคราะห์ดีที่ Seno รอดชีวิตกลับมายัง Athens ได้

Seno กลับมาอย่างคนหมดเนื้อหมดตัว สิ่งที่เหลืออย่างเดียวคือหนังสือ ตำรับตำราที่พ่อทิ้งไว้ให้ Seno อ่านหนังสือ ใช้ชีวิตนั่งคิดทบทวนชีวิตที่ผ่านมา จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบปราชญ์แห่งยุค คือ Socretes

Seno เรียนรู้ปรัชญาของ Socretes จนกลายเป็นหนึ่งในศิษย์เอกของ Socretes หลังจากที่ Socretes สิ้นบุญแล้ว Seno ได้ตระเวนสอนปรัชญา เผยแพร่แนวคิดของ Socretes บวกกับแนวคิดที่ตกผลึกด้วยตัวเขาเอง

การเผยแพร่ปรัชญาอยู่ตาม “ระเบียงภาพวาดทางประวัติศาสตร์” ใจกลางกรุง Athens ทำให้ปรัชญาที่ Seno สอนถูกขนานนามว่าเป็นปรัชญาข้างถนน (philosophy of the street) ปรัชญาข้างระเบียง ซึ่งคำว่าระเบียงภาษากรีกเรียกว่า Stoa Poikile

ต่อมาจึงรู้จักกันในชื่อ Stoic

นักปรัชญาสาย Stoic คนสำคัญในยุคต่อๆ คือ Epitetus อดีตทาสในยุคโรมัน… ภายหลังเมื่อได้รับปลดปล่อยแล้ว Epitetus ได้ใช้ประสบการณ์ความทุกข์ในชีวิตสมัยเป็นทาสมาหล่อหลอมรวมเข้ากับความเป็น Stoic

ด้วยความที่ Stoicism เป็นปรัชญาริมถนน ผู้คนจึงเข้าถึงได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเหล่าทหารโรมันล้วนศึกษาวิธีคิดแบบ Stoic เพื่อพัฒนาตัวเองให้เป็นนักรบที่ดี

จะว่าไปแล้ววิถี Stoic ของโรมกับวิถี Bushido ของซามูไรญี่ปุ่น มีความคล้ายคลึงกันพอสมควร

Stoic เติบโตรุ่งเรืองในโรมันโดยจักรพรรดินักปรัชญา Marcus Aurelius ได้ทำให้ Stoicism กลายเป็นปรัชญาที่ทรงคุณค่า

Marcus ยึดมั่นในความเป็น Stoicism โดยเฉพาะการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ใช้ชีวิตโดยคำนึงว่าทุกวันคือวันสุดท้ายของชีวิต

จักรพรรดิ Marcus บันทึกความคิดของเขาทุกวัน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนังสือ ชื่อ Meditations

ถึงวันนี้ Stoicism ถูกหยิบมาตีความมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยของการฟื้นตัวจากความบอบช้ำจากโควิด-19

กำลังใจจากตัวเองเพื่อรับมือกับอภิมหาวิกฤติ ทำให้มนุษย์ต้องการสิ่งที่มาเสริมความแข็งแกร่งให้ชีวิต ที่ไม่ใช่มองแค่โลกสวยเพียงอย่างเดียว

แก่นของ Stoicism คือ อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

Stoicism ให้ความสำคัญกับเรื่องความกล้าหาญ ที่พร้อมยอมรับการโชคชะตา ความจริงที่เข้ามาในชีวิต โดยพยายามทำความเข้าอกเข้าใจกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่

Stoicism เป็นปรัชญาที่มุ่งไปสู่การขัดเกลาตัวเอง โดยไม่โอ้อวด ไม่ได้พูดให้ดูเท่ ดูหรูหราหมาเห่า

… แต่ Stoicism หวังเพียงแค่การค้นหาวิถีที่เหมาะกับตัวเองและแสวงหาความสงบสุขในชีวิตอย่างสันติ

Stoicism แนะนำให้เรามีวินัยกับตัวเอง เคี่ยวกรำตัวเองตั้งแต่ฝึกให้ตื่นเช้า หมั่นเขียนบันทึกสิ่งที่ตนเองคิด มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตชัดเจนตามสภาพกำลังที่ตัวเองมี และที่สำคัญมองโลกตามความเป็นจริง

Stoicism สอนให้เราปล่อยวางปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้ดีที่สุด คือ ตัวเราเอง ควบคุมว่าเราควรจะ respond อย่างไรกับสถานการณ์ที่เข้ามาไม่ใช่เพียง react แบบฉับพลัน

พูดง่ายๆ คือ Stoicism แนะนำให้เราคิดด้วย System 2 คือ ใคร่ครวญ ไตร่ตรองอยู่เสมอ ก่อนลงมือทำอะไร หรือก่อนจะตอบสนองต่อเรื่องใด

เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่ Stoicism กล่าวถึง มันคือเรื่องพื้นฐานแนว best practices ที่ใครๆ ก็รู้ ใครๆ ก็พูดไดั แต่เอาจริงๆ แล้ว เราทำได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

บ่อยครั้ง “สังเวียนชีวิต” มันโหดร้ายกว่าที่เราคิด การอยู่รอดได้ของมนุษย์คนหนึ่ง คือ การรู้จักตัวเองว่า เราสามารถรับมือกับความโหดร้ายเหล่านั้นอย่างไร

…บ่นได้ ทดท้อเป็น แต่ไม่ใช่ give up ยอมแพ้

Stoicism ยังชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราไม่ได้มีต้นทุนเริ่มต้นชีวิตมากมายนัก เราจะสร้างชีวิตเราอย่างไร พูดง่ายๆ คือ เราจะเล่นไพ่ในมือที่เราจั่วมาได้นั้นแบบไหน จึงจะดีที่สุดสำหรับเรา

แม้ไพ่ที่เราจั่วขึ้นมาอาจไม่เป็นใจกับเรานัก

… การใช้ชีวิตในแต่วันก็เช่นกัน บางวันก็เป็นวันที่ดี บางวันก็เป็นวันที่แย่ แต่ไม่ใช่ทุกวัน

“… อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิด สติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”